SDG Updates | บทวิเคราะห์ความท้าทายและนโยบาย เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมภายใต้รัฐบาล โจ ไบเดน (EP.8)

พรพรหม วิกิตเศรษฐ์
ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจาก UN Environment Programme (UNEP)
และอาจารย์ด้านการพัฒนายั่งยืน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ใกล้เข้ามาเต็มทีสำหรับการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties: COP) ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายนนี้ ณ กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ความสำคัญของงานนี้คือการเป็นเวทีที่ประชาชนทั่วโลกจะได้มาดูกันว่ารัฐบาลแต่ละประเทศได้ลงมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้สัญญากันไว้ใน Paris Agreement จาก COP 21 หรือไม่

สิ่งที่ผู้คนคอยติดตามคือความเคลื่อนไหวของเหล่าประเทศมหาอำนาจ เพราะไม่เพียงเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่เป็นกลุ่มประเทศที่กำหนดทิศทางและความเป็นไปได้ของการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงของโลกในเชิงเศรษฐกิจ การค้า การเมือง ที่ส่งผลต่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ณ ตอนนี้ คงปฏิเสธได้ยากว่า “แสง” กำลังตกไปที่สหรัฐอเมริกา

SDG Updates ฉบับนี้ ชวนอ่านภารกิจการต่อสู้และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2 ภารกิจหลัก กับ 3 ประเด็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ได้แก่ การจ้างงาน ค่าครองชีพ และห่วงโซ่อุปทานใหม่ ของสหรัฐฯ ในฐานะประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งผลกระทบในมิติต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาจากนโยบายในด้านนี้ ตลอดจนแนวทางที่รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้วางแผนและเตรียมการในการรับมือ ทั้งนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นกรณีศึกษาสำคัญสำหรับประเทศไทย ที่กำลังดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำเช่นกัน

ฟังในรูปแบบบทความเสียง

ภารกิจการต่อสู้และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มี 2 ภารกิจหลัก

ภารกิจแรก คือการ “ฟื้นฟูความเชื่อมั่น” กับสังคมโลกอีกครั้ง หลังจาก 4 ปีของการ “หันหลัง” ของนายโดนัล ทรัมป์ ที่ทำให้สหรัฐฯ ได้เสียสถานะการเป็นประเทศผู้นำโลกในประเด็นนี้ และมีประเทศจีนขึ้นมาเป็นผู้นำแทน โจทย์หลักคือการที่ไบเดนจะต้องแสดงให้โลกเห็นว่าการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ เป็นการต่อสู้แบบระยะยาว ไม่ใช่กลับไปกลับมาทุก 4 ปี ตามรอบการเลือกตั้งเหมือนในอดีต ซึ่งการนำพาสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสอีกครั้ง และการตั้งเป้าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net-Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2593 เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ส่วนบทบาทในการประชุม COP26 ก็เป็นประเด็นที่คนจับตามองอย่างใกล้ชิด

โจทย์หลักคือการที่ไบเดนจะต้องแสดงให้โลกเห็นว่าการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ เป็นการต่อสู้แบบระยะยาว ไม่ใช่กลับไปกลับมาทุก 4 ปี ตามรอบการเลือกตั้งเหมือนในอดีต

ภารกิจที่สอง คือการเร่งดำเนินการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) จากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานสะอาด ภารกิจนี้ มีกรอบนโยบาย “Build Back Better” เป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งประกอบด้วย “แผนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้น” มูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมการสร้างและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทั่วประเทศ (ปัจจุบันผ่านวุฒิสภาแล้ว) และ “แผนโครงสร้างพื้นฐานหลัก” มูลค่า 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ครอบคลุมสารพัดประเด็นตั้งแต่สังคม สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนหารือในวุฒิสภา) โดยแผนทั้งสองมีมาตราการรับมือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหัวใจสำคัญ

แน่นอนว่าการที่โจ ไบเดนได้ยกระดับความสำคัญของประเด็นสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เป็นเรื่องที่ดีต่อทั้งสหรัฐฯ เองและสำหรับโลกแล้ว (สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ก่อมลพิษมากที่สุดอันดับ 2 รองจากจีน) ข้อสำคัญคือการยึดมั่นให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ มีความเป็นธรรม และมีการคำนึงถึงทุกภาคส่วนในสังคม โดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรายได้น้อย ชนกลุ่มน้อย และที่ขาดไม่ได้คือกลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมฟอสซิลที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง บทความนี้ได้สำรวจถึงผลกระทบในแต่ละมิติจากการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ประกอบด้วยประเด็นการจ้างงาน ค่าครองชีพ และห่วงโซ่อุปทานใหม่ โดยได้วิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหา ข้อกังวลที่ตามมา และแนวทางการรับมือของรัฐบาลไบเดน

การเปลี่ยนผ่านพลังงานกับ “การจ้างงาน”

หนึ่งในประเด็นสำคัญของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและบริโภคพลังงาน คือ เรื่องการจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความเห็นต่างและมีการถกเถียงอย่างมาก ฝ่ายก้าวหน้าที่สนับสนุนพลังงานสะอาด – นำโดย โจ ไบเดน และกลุ่มเสียงข้างมากของพรรคเดโมแครต – มองว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานครั้งนี้ เป็นการ “ปัญผลทวีคูณ” หรือการเติบโตแบบ “สองเด้ง” ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ (ผ่านการสร้างงาน) และปกป้องสิ่งแวดล้อมพร้อมกัน สังเกตได้ว่าหัวใจสำคัญของแผนการปฏิวัติด้านพลังงานสะอาดของ โจ ไบเดน คือ มิติการสร้าง “งานสีเขียว” หรือ “Green Jobs

“งานสีเขียว” ได้รับความสนใจเนื่องจากมีงานวิจัยจากหลายแห่งที่พบว่างานประเภทนี้มีคุณภาพที่สูงกว่างานอื่นๆ เช่น งานวิจัยจาก Brookings Institute [1] ระบุว่างานในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับแรงงานทั่วไปในสหรัฐฯ โดยค่าจ้างรายชั่วโมงเกินค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 8 – 19% ส่วนแรงงานทักษะต่ำในอุตสาหกรรมเหล่านี้ ก็ยังได้ค่าจ้างมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในขั้นทักษะเดียวกันถึง 5 – 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อชั่วโมง

ภายใต้ “Build Back Better” ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตั้งเป้าการสร้าง “งานสีเขียว” 10 ล้านงาน [2] เพิ่มจาก 3 ล้านงานในปัจจุบัน โดยเน้นการลงทุนใน

  1. “พลังงานสะอาด” สอดคล้องกับแผนการปรับให้ภาคพลังงานไฟฟ้า (power sector) ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2578
  2. “โครงสร้างพื้นฐาน” เช่น เมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 แสนคนจะต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพภายในปี พ.ศ. 2573 [3]
  3. “อุตสาหกรรมรถยนต์” ที่ตั้งเป้าการสร้างงานไว้ 1 ล้านงานที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ [4] หรือโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ อย่างเช่นการสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ พร้อมงบ 174,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ [5]

แต่ในทางกลับกัน ก็มีกลุ่มเห็นต่างที่มองว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานครั้งนี้ จะก่อให้เกิดผลร้ายต่อประเด็นแรงงานในประเทศอย่างมหาศาล แม้แนวคิดนี้ จะถูกเชื่อมโยงกับพรรคริพับลิกันและฐานเสียงฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ที่จริงแล้วภายในพรรคเดโมแครตก็มีกลุ่มเสียงข้างน้อยที่ต่อต้านอย่างหนักแน่น ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับ โจ ไบเดนในการผลักดันข้อเสนอนี้ให้กลายเป็นกฎหมาย

แกนนำสำคัญของพรรคเดโมแครตที่ต่อต้าน คือ นายโจ มันชิน (Joe Manchin) วุฒิสมาชิกแห่งรัฐเวสต์เวอร์จิเนียหลายสมัย และประธานกรรมาธิการพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติประจำวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม จุดยืนของนายโจ มันชินนั้น มิใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเนื่องจากอุตสาหกรรมถ่านหินกับรัฐเวสต์เวอร์จิเนียนั้น เป็นของคู่กันมายาวนาน โดย 17% ของ GDP รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย – 77,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1 ในทุกๆ 6 ดอลลาร์ – มาจากอุตสาหกรรมถ่านหิน [6] และข้อมูลปี 2562 ของสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานสหรัฐ (US EIA) ระบุว่า เวสต์เวอร์จิเนียเป็นผู้ผลิตถ่านหินอันดับสองของสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนถึง 13% ส่วนในมิติด้านการบริโภคนั้น ทางรัฐมีการใช้ถ่านหินสำหรับการผลิตไฟฟ้ามากถึง 91% [7] มากไปกว่านั้นยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเดโมแครตจากรัฐเท็กซัส 7 คนที่ต่อต้านอย่างหนัก โดยรัฐเท็กซัสเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 1 ของสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนการผลิตอยู่ที่ 43% สำหรับน้ำมัน และ 26% สำหรับก๊าซ [8]

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดจะมีผลกระทบต่อรัฐอย่างเวสต์เวอร์จิเนียและเท็กซัส และต่อแรงงานในอุตสาหกรรมฟอสซิล ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 (ในปี 2563 มีคนตกงานจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซมากถึง 186,000 คน หรือ 21% ของทั้งหมด) [9]

ทั้งหมดนี้เป็นข้อกังวลที่ โจ ไบเดน จะต้องเตรียมรับมือ ทางผู้เขียนมองว่าไบเดนมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาและปิดช่องว่างในหลายประเด็น และน่าติดตามว่าจะทำได้จริงหรือไม่ เช่น..

  1. สร้างงานในหลายภาคส่วน” – นอกเหนือจากการส่งเสริมพลังงานสะอาดแล้ว ทางรัฐบาลยังได้คำนึงถึงการสร้างงานในมิติอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น “การปรับปรุงอาคาร”  ซึ่งมีการ ตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านงานภายใน 4 ปี แบ่งออกเป็นการปรับปรุงอาคารพาณิชย์ 4 ล้านแห่ง และปรับอาคารที่อยู่อาศัยรายได้ต่ำให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ หรือ “Weatherization” อีก 2 ล้านแห่ง [10] โดยจะช่วยลดค่าใช้จ่ายผ่านการประหยัดพลังงาน และเพิ่มความแข็งแกร่งในการป้องกันจากภัยธรรมชาติ
  2. ส่งเสริมแรงงานในอุตสาหกรรมฟอสซิล” – ไบเดนประกาศว่าจะลงทุน 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการบูรณะและซ่อมแซมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสกัดทรัพยากรในอดีต เช่น บ่อน้ำมัน หรือเหมืองถ่านหิน [11] โดยคาดการณ์ว่าจะสร้างงานมากถึง 250,000 งาน เจาะจงไปที่ผู้ที่ตกงานจากอุตสาหกรรมถ่านหินซึ่งมีทักษะและประสบการณ์ที่เหมาะสม
  3. จ้างงานทุกระดับ” – งานที่จะเกิดขึ้นมีทั้งสำหรับแรงงานทักษะสูงและต่ำ มีการก่อตั้ง “Civilian Climate Corps” [12] หรือกองกำลังพลเรือนต่อสู้สภาพภูมิอากาศ ที่เน้นการอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติและป้องกันอุทกภัย สำหรับแรงงานทักษะต่ำ
  4. คุ้มครองแรงงาน” – หนึ่งในเหตุผลที่อุตสาหกรรมฟอสซิลเป็นที่นิยมและมีค่าจ้างสูงมาจากความแข็งแกร่งของสหภาพแรงงาน โดยทางรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมสหภาพแรงงานสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และเอื้ออำนวยความสะดวกต่างๆ

การเปลี่ยนผ่านพลังงานกับ “ค่าครองชีพ”

เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2551 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สำหรับสหรัฐฯ และสำหรับโลก นั้นก็คือ “การปฏิวัติเชลออยล์” หลังจากได้มีการลงทุนอย่างมหาศาล ภาคเอกชนในสหรัฐฯ ได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ด้านการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “Fracking” ซึ่งจะขุดเจาะจากชั้นหินดินดาน (shale) และผลิกโฉมประเทศจากผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ (net energy importer) ที่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลางที่มีความไม่แน่นอนด้านราคาและปริมาณอุปทาน มาเป็นผู้ส่งออกสุทธิ อุปทานที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาพลังงานในสหรัฐฯ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่ประเมินไว้ว่าราคาก๊าซธรรมชาติจะขึ้นสูงไปถึง 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อลูกบาศก์ฟุต กลับกลายเป็นเหลือประมาณ 2 – 3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อลูกบาศก์ฟุตในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (ก่อนสถานการณ์ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดลงนั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตและลดราคาสินค้าให้กับผู้บริโภค ทางหอการค้าสหรัฐฯ พบว่า [13] สถานการณ์นี้ได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการเติบโตมากถึง 237,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ในทางกลับกันแหล่งพลังงานสะอาดยังมีราคาที่สูง ซึ่งจะส่งผลต่อค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้น แม้ปัจจุบันต้นทุนเฉลี่ยตลอดอายุโครงการโรงไฟฟ้า (Levelized Cost of Electricity – LCOE) ของโซล่าร์จะถูกกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ (ข้อมูล EIA: LCOE โซล่าร์เท่ากับ 31.30 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนก๊าซธรรมชาติแบบพลังความร้อนร่วมเท่ากับ 34.51 เหรียญสหรัฐฯ) [14] แต่ประเด็นของความไม่ต่อเนื่อง (intermittency) ของพลังงานสะอาดยังเป็นที่ถูกโจมตี และทำให้จะต้องมีการลงทุนเพิ่มในหลายด้าน เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) การปรับปรุงสายส่ง หรือ การตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่ได้ถูกคำนึงถึงในการคำนวณ LCOE

ประเทศเยอรมนีเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่สร้างผลกระทบต่อราคาพลังงาน ระหว่างปี พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ. 2558 พบว่าค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนมากถึง 125,000 ล้านยูโร [15] โดยภาระตกอยู่กับผู้บริโภคที่ต้องจ่ายค่าไฟสูงขึ้น ค่าไฟเฉลี่ยสำหรับครัวเรือนเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี พ.ศ. 2543 โดยปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ 0.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ซึ่งเทียบกับสหรัฐฯ อยู่ที่ 0.13 ต่อหน่วย [16]

วิกฤตพลังงานที่เป็นข่าวในปัจจุบันนี้ ยังถูกวิเคราะห์ว่าเป็นผลลัพธ์จากการปรับตัวสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่เร็วเกินไป แถมมีการประเมินว่าสถานการณ์ของจีนที่เผชิญกับค่าไฟที่สูงขึ้นนั้น มาจากการออกกฎเกณฑ์ที่จำกัดการผลิตถ่านหินในเหมืองและการตั้งเกณฑ์ลดมลพิษของแต่ละมณฑล โดยสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอื่น ๆ (เช่น ผู้ผลิต iPhone) [17] และส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม นอกเหนือจากนั้น ยังมีการวิเคราะห์ว่าราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นในสหรัฐฯ มีส่วนจากภาคการเงินที่เริ่มมองข้ามธุรกิจฟอสซิล ซึ่งลดลงจากเดิมที่ Wall Street เคยลงทุนมากถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ผ่านตลาดหุ้นและพันธบัตร [18] ทำให้แต่ละบริษัทต้องลดการผลิตของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม รายงาน World Energy Outlook 2021 (Section: Prices and Affordability) [19] ขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนนี้ ได้เสนอถึงข้อมูลตรงกันข้ามที่ชี้แจงว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ Net Zero Scenario ของประเทศพัฒนาแล้ว จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำหรับผู้บริโภคลดลง โดยได้ระบุตัวเลขในช่วงปี พ.ศ. 2559 – 2563 ที่ค่าไฟเฉลี่ยในครัวเรือนอยู่ที่ 3,200 เหรียญสหรัฐฯ (1,685 เหรียญจากค่าน้ำมัน ส่วน 1,004 เหรียญจากค่าไฟ) กับตัวเลขคาดการณ์ในปี พ.ศ. 2573 ที่ลดเป็น 2,400 เหรียญสหรัฐฯ (ค่าน้ำมันเหลือเพียง 707 เหรียญ ส่วนค่าไฟเพิ่มเป็น 1,155 เหรียญ)

ทั้งหมดนี้สื่อถึงปัญหาค่าครองชีพของผู้บริโภคที่สูงขึ้นที่รัฐบาลไบเดนจะต้องรับมือ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายทางตรงจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น หรือทางอ้อมจากราคาสินค้าบริโภคต่างๆ (สะท้อนมาจากการปรับขึ้นของค่าการผลิต) ซึ่งโจทย์สำคัญคือการปกป้องผู้บริโภครายได้ต่ำที่มีความเปราะบาง และที่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่ากลุ่มอื่นจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

จากแผนด้านความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมของไบเดน [20] ที่ตั้งเป้าในการปกป้องกลุ่มรายได้ต่ำและส่งเสริมด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานโดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” สังเกตได้ว่ามีสองมิติหลัก

  1. การลงทุน” – เช่น การจัดสรร 40% ของงบการลงทุนในพลังงานสะอาดไปที่กลุ่มรายได้ต่ำ ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านพลังงาน ขนส่งมวลชน หรือการพัฒนาทักษะ สำหรับการเคหะ มีแผนการลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของแต่ละอาคารผ่านมาตรการ cash rebate หรือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยคาดว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานปีละ 500 เหรียญสหรัฐฯ
  2. การปรับปรุงระบบการดูแลและติดตาม” – จัดตั้งกรมความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม ภายในกระทรวงยุติธรรม ที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนทั้งในมิติของการรับมือจากผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการควบคุมการปล่อยมลพิษของแต่อุตสาหกรรมอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบต่อแรงงานและชุมชน และสร้างระบบการคัดกรองและวินิจฉัยกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้ข้อมูล โดยจะใช้สำหรับการตัดสินใจในการลงทุนด้านพลังงานสะอาด

| Net-Metering

นอกเหนือจากแผนด้านความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกแนวทางที่จะตอบโจทย์ประเด็นค่าครองชีพ คือ การออกแบบนโยบายที่สอดคล้องกับหลักคิดของการเติบโตแบบ “สองเด้ง” เหมือนในมิติของแรงงาน หนึ่งในมาตรการที่ตอบโจทย์เรื่องนี้คือ “Net-Metering” ซึ่งคือการเปิดเสรีให้กับผู้บริโภคที่ผลิตพลังงานจากครัวเรือน (เช่น มีแผงโซล่าร์บนหลังคาบ้าน) ขายไฟกลับเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าในราคาปลีก ทำให้เปลี่ยนสถานะจากแค่ “Consumer” เป็น “Prosumer” โดยจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเครดิตสำหรับค่าไฟทุกเดือน มาตรการนี้ทำให้การติดตั้งพลังงานสะอาดเปรียบเสมือนเป็นแหล่งรายได้พิเศษ หรือเป็น “Passive Income” สำหรับครัวเรือน

ปัจจุบัน 34 มลรัฐในสหรัฐฯ ได้มีการออกมาตรการนี้ และนับว่าเป็นมาตรการสำคัญในการทำให้ปริมาณการติดตั้งโซล่าร์ในภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ เติบโตอย่างมาก เมื่อปี พ.ศ. 2563 มีผู้บริโภคที่อยู่ในส่วนของมาตรการนี้มีมากถึง 2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1,300% จาก 140,000 คนเมื่อปี พ.ศ. 2553 และในปี พ.ศ. 2562 ได้ขายไฟกลับเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้ามากถึง 1.5 gWh [21] นอกเหนือจากนั้นมี 17 มลรัฐที่ออกมาตรการ “Aggregate Net Metering” [22] หรือแบบรวมที่อนุญาตให้สถานที่ที่มีมิเตอร์ไฟฟ้าหลายจุดสามารถรวมเป็นหนึ่งระบบเพื่อขายไฟได้ เช่น ตึกคอนโด หรือในพื้นที่เกษตรกรรม ขั้นถัดไปคือการผลักดันมาตรการนี้ในระดับประเทศ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงมลรัฐที่เหลือได้

การเปลี่ยนผ่านพลังงานกับ “ห่วงโซ่อุปทานใหม่”

หนึ่งในหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน คือ แบตเตอรี่ เนื่องจากเป็นองค์ประกอบหลักของรถยนต์ไฟฟ้าและบทบาทการกักเก็บพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน (เก็บพลังงานจากโซล่าร์มาใช้ตอนกลางคืน) และเป็นส่วนสำคัญของค่าผลิต (คิดเป็น 50% ของราคารถยนต์ไฟฟ้า) ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มการเติบโตที่น่าตื่นเต้น รายงาน “Electric Vehicle Outlook 2020” [23] ของ Bloomberg New Energy Finance (BNEF) ได้คาดการณ์ว่าปริมาณการขายรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านคัน หรือ 2.7% ของรถใหม่ในปี พ.ศ. 2563 เป็น 26 ล้านคัน หรือ 28% ของรถใหม่ในปี พ.ศ. 2573 และมากถึง 54 ล้านคันในปี พ.ศ. 2583

แต่อย่างไรก็ตามการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของรถยนต์ไฟฟ้ากับความต้องการของแบตเตอรี่ก็มาพร้อมกับข้อกังวลเช่นกัน จากขั้นตอนการผลิตที่ต้องใช้แร่ธาตุต่าง ๆ ในปริมาณสูง (มีการคาดการณ์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าใช้แร่ธาตุมากกว่ารถยนต์สันดาปถึง 6 เท่า) ซึ่งมี 3 ประเด็นหลักที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

  1. ผลกระทบของอุตสาหกรรมแร่ธาตุต่อสิ่งแวดล้อม” – ปัจจุบันการสกัดแร่นั้นส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เช่น สำหรับการผลิตลิเธียม (ส่วนสำคัญของแบตเตอรรี่) 1 ตันจากบ่อน้ำเกลือนั้นเทียบเท่ากับปล่อยคาร์บอน 5,000 กิโลกรัม และการใช้น้ำ 469 ลูกบาศก์เมตร [24] และแน่นอนผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ชุมชนและเกษตรกรรายได้ต่ำในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งที่ผ่านมาการสกัดแร่ธาตุส่วนใหญ่อยู่นอกสหรัฐฯ ทำให้มีการมองข้ามประเด็นนี้มาตลอด (เช่น ผลกระทบของการผลิตลิเธียมที่ชิลี หรือนิกเกิลที่อินโดนีเซีย เป็นต้น) แต่ความพยายามของสหรัฐฯ ในการเพิ่มบทบาทตัวเองในห่วงโซ่อุปทานนี้ ทำให้จะเริ่มมีการสกัดแร่ธาตุภายในประเทศมากขึ้น (โดยเฉพาะในมลรัฐเนวาดา) และจะทำให้สหรัฐฯ ไม่มองข้ามอีกต่อไป
  2. ผลกระทบของอุตสาหกรรมแร่ธาตุต่อการใช้ที่ดิน” – หลายกรณีที่การขยายพื้นที่ของอุตสาหกรรมแร่ธาตุกระทบต่อการแย่งชิงพื้นที่กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการผลิต การแต่งแร่ (mineral processing) และการขนส่ง จากข้อมูลวิจัยพบว่าปัจจุบัน 0.3 – 1% ของพื้นที่ผิวดินทั้งหมดถูกกระทบโดยกิจกรรมสกัดแร่ และการสกัดแร่ทองแดงทุก ๆ หนึ่งพันตันจะต้องใช้พื้นที่ประมาณ 5 – 20 เฮกตาร์ (31 – 125 ไร่) [25]
  3. ความมั่นคงของแร่ธาตุ” – ในสังคมคาร์บอนต่ำ ประเด็นความมั่งคงทางพลังงานจะเปลี่ยนจากเรื่อง “น้ำมัน” เป็น “แร่ธาตุ” IEA ได้เปรียบเทียบอัตราสัดส่วนของผู้ผลิตใหญ่ 3 อันดับแรกของน้ำมันกับแร่ธาตุต่าง ๆ [26] สำหรับน้ำมันผู้ผลิต 3 อันดับแรก (สหรัฐ ซาอุดิอาราเบีย รัสเซีย) มีสัดส่วนอยู่ที่ 42% ส่วนสำหรับลิเทียม 3 อันดับแรกมีสัดส่วนมากถึง 88% (ออสเตรเลีย ชิลี จีน) และสำหรับกลุ่มธาตุโลหะหายาก (REE) ประเทศจีนประเทศเดียวมีสัดส่วนถึง 60% มากไปกว่านั้น ยังมีความกังวลด้านการแต่งแร่ ซึ่งประเทศจีนครองตลาดอย่างเด็ดขาด มีสัดส่วนการแต่งแร่ของ REE มากถึง 88% ของโคบอลต์ 64% และของลิเทียม 58% – ทั้งหมดนี้ทำให้ราคาและอุปทานของสินค้าที่ต้องใช้แบตเตอรี่ (ไม่ใช่แค่รถยนต์ไฟฟ้า แต่รวมถึงมือถือ และคอมพิวเตอร์) มีความไม่แน่นอนและที่สำคัญ เป็นปัจจัยที่รัฐบาลสหรัฐฯ ควบคุมไม่ได้ ซึ่งผู้ที่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น คือผู้บริโภคนั่นเอง

แน่นอนว่าประเด็น “ห่วงโซ่อุปทาน” ที่เกิดขึ้นใหม่จากการเปลี่ยนผ่านพลังงานนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรัฐบาลไบเดน (นอกเหนือจากแบตเตอรี่แล้วยังมีไมโครชิปและอื่น ๆ) โดยจะต้องพิจารณาทั้ง 3 ประเด็นที่ระบุข้างต้น ซึ่งไบเดนได้สั่งทำการประเมินผลของประเด็นนี้อย่างเร่งด่วน (ภายใน 100 วัน) และมีการออกพิมพ์เขียวแห่งชาติสำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมปี พ.ศ. 2564 – 2573 ซึ่งเจาะจงไปที่การเพิ่มบทบาทของสหรัฐฯ ในห่วงโซ่อุปทานโลก เพิ่มศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตแร่ธาตุและผู้แต่งแร่ และลดการพึ่งพาการนำเข้า หนึ่งในวาระสำคัญคือ การรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่จะสกัดแร่ธาตุต่าง ๆ จากแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว โดยนำมาใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ใหม่และลดปริมาณแร่ธาตุจากเหมือง รัฐบาลไบเดนได้ตั้งงบประมาณ 75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการสร้างระบบรีไซเคิลระดับประเทศ และส่งเสริมศูนย์ ReCell Center ที่ทำการวิจัยเรื่องการรีไซเคิลแบตเตอรี่

บทสรุป

หากโลกเราจะบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสในการควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องมีบทบาทที่หนักแน่นและชัดเจน ทั้งในมิติของการลดมลพิษของตัวเอง และการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา (ในการลดมลพิษและการรับมือจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง)… ทุกประเทศจะต้องมีความรับผิดชอบด้วยการรับรองว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานนั้น มาพร้อมกับความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วนของสังคม

การเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำคืออนาคตที่สดใสที่ประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันพยายามผลักดันและส่งเสริมเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ตามที่ได้ระบุตั้งแต่ต้นของบทความนี้ การยกระดับความสำคัญของประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลไบเดนเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทั้งสหรัฐฯ และสำหรับโลก หากโลกเราจะบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสในการควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องมีบทบาทที่หนักแน่นและชัดเจน ทั้งในมิติของการลดมลพิษของตัวเอง และการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา (ในการลดมลพิษและการรับมือจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ก็มาพร้อมกับความซับซ้อนและข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่าง ๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคม ทุกประเทศจะต้องมีความรับผิดชอบด้วยการรับรองว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานนั้นมาพร้อมกับความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วนของสังคม บทความนี้ได้วิเคราะห์ถึง 3 ประเด็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน – การจ้างงาน ค่าครองชีพ และห่วงโซ่อุปทานใหม่ – และนำเสนอผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะตามมา โดยได้ยกตัวอย่างของสหรัฐฯ ในฐานะประเทศพัฒนาแล้ว ปัญหาที่สหรัฐฯ เผชิญ และแนวทางต่าง ๆ ในการรับมือกับประเด็นนี้จะเป็นตัวอย่างและกรณีศึกษาสำคัญสำหรับประเทศไทยที่กำลังดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำเช่นกัน

SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่ 8 ในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564

ประเด็น Just Energy Transition ในบทความชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสมัยใหม่ ในด้านหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และเชื่อถือได้ ภายในปี 2573 (7.1) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573 (7.2) และการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573 (7.a)
.
ในขณะเดียวกัน ยังสัมพันธ์การรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตาม #SDG13 ด้านการบูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ (13.2) และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า (13.3)
.
โดยคำนึงถึง #SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ (8.1) การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ (8.2) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริม/เติบโตไปพร้อมกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่ทำลาย/ขัดแย้งกัน (8.4) ส่งเสริมโอกาสงานที่มีคุณค่าและเท่าเทียมสำหรับทุกคน (8.5) และการปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน (8.8) โดยที่ตระหนักถึงปัญหาความยากจนและความเปราะบางของชนชายขอบตาม #SDG1
.
และสัมพันธ์กับโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม นวัตกรรม และเทคโนโลยีตาม #SDG9 (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิการการใช้ทรัพยากร เทคโนโลยี และกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573 และการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน #SDG12 (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
.
โดยอาศัยองค์ประกอบสำคัญ #SDG16 สังคมสงบสุขเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน (16.3) สถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ (16.6) และการมีกระบวนการตัดสินใจที่ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ (16.7)


แหล่งอ้างอิง

[1] Mark Muro, Adie Tomer, Ranjitha Shivaram, and Joseph W. Kane (2019), “Advancing inclusion through clean energy jobs,” URL: https://www.brookings.edu/research/advancing-inclusion-through-clean-energy-jobs/.

[2] “CLIMATE: 10 MILLION CLEAN ENERGY JOBS,” URL:                                                       https://joebiden.com/climate-labor-fact-sheet/.

[3] “THE BIDEN PLAN TO BUILD A MODERN, SUSTAINABLE INFRASTRUCTURE AND AN EQUITABLE CLEAN ENERGY FUTURE,” URL: https://joebiden.com/clean-energy/

[4] Lauren Feiner (2021), “Biden signs executive order to address chip shortage through a review to strengthen supply chains,” URL: https://www.cnbc.com/2021/02/24/biden-signs-executive-order-to-address-chip-shortage-through-a-supply-chain-review.html.

[5] Michael Wayland (2021), “Biden wants to build a national EV charging system under $2 trillion infrastructure plan, but it won’t be easy,” URL: https://www.cnbc.com/2021/03/31/us-ev-charging-system-a-priority-under-bidens-2-trillion-infrastructure-plan.html.

[6] Fred Pace (2021), “Coal is still king in West Virginia, but for how long?,” URL: https://www.herald-dispatch.com/business/coal-is-still-king-in-west-virginia-but-for-how-long/article_b34a512d-c239-56e5-ac4f-3ccfb5ea77d4.html.

[7] eia (2020), “West Virginia State Energy Profile,” URL: https://www.eia.gov/state/print.php?sid=WV.

[8] eia, “Texas: State Profile and Energy Estimates,” URL: https://www.eia.gov/state/?sid=TX.

[9] Reuters (2021), “Biden clean energy plan key to restoring industry job losses, says U.S. official,” URL: https://www.reuters.com/business/energy/biden-clean-energy-plan-key-restoring-industry-job-losses-says-us-official-2021-07-19/.

[10] Lauren Urbanek and Khalil Shahyd (2020), “Biden Plan Promises Better Buildings, for Climate and Equity,” URL: https://www.nrdc.org/experts/lauren-urbanek/biden-plan-promises-better-buildings-climate-and-equity.

[11] Matt Egan (2021), “How Biden’s infrastructure plan could create a jobs boom — in fossil fuels,” URL: https://edition.cnn.com/2021/03/31/business/jobs-infrastructure-oil-gas-coal-mines/index.html.

[12] Tik Root (2021), “9 questions about the Civilian Climate Corps, answered,” URL: https://www.washingtonpost.com/climate-solutions/2021/09/16/civilian-climate-corps-explained/.

[13] Sandy Fielden (2013), “The economic bounty of shale oil & gas,” URL: https://www.globalenergyinstitute.org/economic-bounty-shale-oil-gas.

[14] eia (2021), “Levelized Costs of New Generation Resources in the Annual Energy

Outlook 2021,” URL: https://www.eia.gov/outlooks/aeo/pdf/electricity_generation.pdf.

[15] Mark A. Andor, Manuel Frondel and Colin Vance (2017), “Germany’s Energiewende: A Tale of Increasing Costs and Decreasing Willingness-To-Pay,” URL: https://www.iaee.org/en/publications/newsletterdl.aspx?id=439.

[16] Vaclav Smil (2020), “Germany’s Energiewende, 20 Years Later,” URL: https://spectrum.ieee.org/germanys-energiewende-20-years-later#toggle-gdpr.

[17] Jeff Sutherland and Tom Hancock (2021), “China’s Energy Crisis Is Hitting Everything From iPhones to Milk,” URL: https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-10-07/china-s-energy-crisis-envelops-an-already-slowing-global-economy.

[18] The NYT, “Energy Prices Spike as Producers Worry Over Pandemic and Climate,” URL: https://www.nytimes.com/2021/10/04/business/energy-environment/oil-and-gas-prices-clean-energy.html.

[19] IEA, “Report extract Prices and affordability,” URL: https://www.iea.org/reports/world-energy-outlook-2021/prices-and-affordability.

[20] “THE BIDEN PLAN TO SECURE ENVIRONMENTAL JUSTICE AND EQUITABLE ECONOMIC OPPORTUNITY,” URL: https://joebiden.com/environmental-justice-plan/.

[21] SGLF, “NET METERING IN THE STATES: A 2020 UPDATE,” URL: https://www.sglf.org/blog/net-metering-in-the-states-a-2020-update.

[22] NCSL (2017), “State Net Metering Policies,” URL: https://www.ncsl.org/research/energy/net-metering-policy-overview-and-state-legislative-updates.aspx.

[23] BloombergNEF (2021), “Electric Vehicle Outlook 2021,” URL: https://about.bnef.com/electric-vehicle-outlook/.

[24] Catherine Early (2020), “Lithium is crucial for the transition to renewables, but mining it has been environmentally costly. Now a more sustainable source of lithium has been found deep beneath our feet.,” URL: https://www.bbc.com/future/article/20201124-how-geothermal-lithium-could-revolutionise-green-energy.

[25] IEA, “The Role of Critical World Energy Outlook Special Report Minerals in Clean Energy Transitions.,” URL: https://iea.blob.core.windows.net/assets/24d5dfbb-a77a-4647-abcc-667867207f74/TheRoleofCriticalMineralsinCleanEnergyTransitions.pdf.

[26] อ้างแล้ว

Last Updated on มีนาคม 10, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น