เชื้อเพลิงอากาศยานทางเลือกช่วยลดมลพิษทางอากาศ และลดการตายก่อนวัยของผู้อาศัยใกล้สนามบินจาก PM2.5

การศึกษาใหม่จากทีมนักวิจัยจาก University of North Carolina at Chapel Hill’s Institute for the Environment และ the Center for Climate, Health, and the Global Environment จาก Harvard T.H Chan School of Public Health (Harvard Chan C-CHANGE) พบว่า การใช้เชื้อเพลิงอากาศยานทางเลือก สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวันอันควรของคนที่อาศัยในพื้นที่ชุมชนใกล้สนามบินและพื้นที่ใต้ลมได้

‘Air quality and health-related impacts of traditional and alternate jet fuels from airport aircraft operations in the U.S.’ ตีพิมพ์ในวารสาร Environment International ใช้ข้อมูลตั้งแต่ปี 2011-2016 เพื่อคำนวณผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการลงจอดและบินขึ้น (Landing and Take-off Operations: LTO) ของเครื่องบินพาณิชย์ในพื้นที่ใกล้เคียงสนามบินในภาคพื้นทวีปของสหรัฐอเมริกา ด้วยการศึกษาปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ก๊าซโอโซน (O3) และไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหลายประการและนำมาซึ่งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

การศึกษาได้ทำการวัดผลกระทบด้านสุขภาพในแต่ละรัฐ พบว่า รัฐที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการปล่อยมลพิษในสนามบิน คือ รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐอื่น ๆ ที่ได้มีผลกระทบสูงเช่นกัน ได้แก่ นิวยอร์ก เพนซิลเวเนีย อิลลินอยส์ นิวเจอร์ซีย์ และโอไฮโอ

นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ยังได้ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงอากาศยานทางเลือกที่ยั่งยืน (Sustainable Alternative Jet Fuel: SAJF) ผสมในสัดส่วน 5% และ 50% พบว่า อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ในปี 2016 ลดลง 1% และ 18% ตามลำดับ

เชื้อเพลิงอากาศยานทางเลือกที่ยั่งยืน (Sustainable Alternative Jet Fuel: SAJF) คือ ประเภทของเชื้อเพลิงสำหรับการบินที่ไม่ได้ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างปิโตรเลียม แต่มาจากน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว ของเสียจากการเกษตร ขยะ เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวเลือกที่มีความยั่งยืนมากกว่าเนื่องจากสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิตลอดวัฎจักรชีวิตจากธุรกิจภาคการบินได้

ผู้วิจัยระบุว่า เมื่อมีการประกาศใช้นโยบายเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงอากาศยานทางเลือกที่ยั่งยืน ผลจากการศึกษานี้จะสามารถช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทราบว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนที่อาศัยในชุมชนใกล้สนามบินอย่างไร

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
- (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
#SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
- (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความแข็งแรง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและพื้นที่เขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งเป้าให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมในราคาที่สามารถจ่ายได้

ที่มา : New study finds alternative jet fuels decrease health impacts near airports and downwind (UNC Institute for the Environment)

Last Updated on ตุลาคม 29, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น