Global Housing Watch โดย IMF ชี้ ราคาที่อยู่อาศัยยังคงพุ่งสูงขึ้นในหลายประเทศ

ข้อมูลดัชนีราคาที่อยู่อาศัยทั่วโลก (Global House Price Index) ล่าสุดในไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2563 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ ราคาที่อยู่อาศัยของประเทศส่วนใหญ่จาก 60 ประเทศที่ดัชนีและทีม Global Housing Watch ได้ติดตามสถานการณ์ มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ – อุปทานตามสภาพแวดล้อมของการทำงานในช่วงโรคระบาดและ (คาดการณ์ถึง) หลังโรคระบาด อาทิ การทำงานจากบ้าน – การทำงานโดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้สูงต้องการที่อยู่อาศัยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น/แพงขึ้น ส่งผลต่อกันถึงกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า ที่จะไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยเพราะราคาสูงขึ้นและเป็นราคาที่ไม่สามารถซื้อหาได้ (unaffordable)

ภาพจาก Global Housing Watch – IMF

การเติบโตของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย/สินเชื่อบ้านเป็นสองเท่าในช่วงก่อนวิกฤติการเงินโลกราว พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยทะยานสูงขึ้นมาก และตั้งแต่ห้วงทศวรรษที่ผ่านมา ราคาที่อยู่อาศัยก็ยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจัยในแต่ละบริบทสถานการณ์อาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว โดยตามการประเมินของ IMF อัตราดอกเบี้ยต่ำและอุปสงค์ที่มีมาก เป็น 2 ปัจจัยเด่น ๆ จากหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยมีราคาสูงขึ้น

ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นช่วงการระบาดของโรค หลาย ๆ ประเทศได้มีนโยบายสนับสนุนให้ทำงานจากบ้าน (work from home) “บ้าน” จึงเป็นคำค้นหาทางออนไลน์ติดอันดับยอดฮิตที่คนให้ความสนใจ และการที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำก็มีส่วนทำให้ราคาที่อยู่อาศัยราคาพุ่ง เช่นเดียวกับอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาบ้านก็คือ วัสดุ/วัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานสำหรับใช้ในกระบวนการก่อสร้างเองที่มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยมีราคาสูงขึ้นด้วย

ภาพจาก Global Housing Watch – IMF

อย่างไรก็ดี ราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้ไม่สัมพันธ์กับรายได้ ทำให้เป็นราคาที่อยู่อาศัย ที่ไม่สามารถซื้อหาได้ (unaffordable) สำหรับหลายกลุ่มประชากร หรือในกรณีการประเมินของ IMF ประเด็นราคาที่อยู่อาศัยที่ว่านี้ ยังเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของประเทศในภูมิภาคยุโรป

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมในการทำงานที่จะมีการจัดสรร-ปรับเปลี่ยนใหม่ในโลกยุคหลังโรคระบาด มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความกังวลเรื่องความเหลื่อมล้ำที่อาจขยายกว้าง กล่าวคือ กลุ่มคนที่มีรายได้สูงและสามารถทำงานโดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ จะมีความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น/แพงขึ้น ทำให้ที่อยู่อาศัยและบ้านมีราคาแพงจนกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่าอาจไม่สามารถจับจองได้ ในขณะเดียวกัน สถานการณ์เช่นนี้จะมีผลต่อเงินเฟ้อในบางประเทศด้วย

IMF ระบุต่อไปว่า หากเป็นไปได้ในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจเริ่มฟื้นฟูกลับมาแล้ว การปรับให้อัตราดอกเบี้ยสูง มาฟื้นฟูอุปทานภาคการก่อสร้าง และปรับนโยบายการสนับสนุนด้านการทำงาน จะสามารถช่วยให้สามารถปรับสถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัยคืนสู่ภาวะปกติได้

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | พรุ่งนี้เรายังจะมี ‘ที่อยู่’ ไหม? เมื่อราคาที่อยู่อาศัยไม่สัมพันธ์กับรายได้ และจำนวนไม่น้อย ‘เช่า’ เขาอยู่
SDG Vocab | 36 – Adequate and Affordable Housing – ที่อยู่อาศัยที่เพียงพอและมีราคาที่สามารถจ่ายได้

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 การตั้งถิ่นฐานและเมืองที่ยั่งยืน
– (11.1) หลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียง ปลอดภัย และในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัด ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
Housing Prices Continue to Soar in Many Countries Around the World (IMF)
Global housing watch (IMF)

Last Updated on ตุลาคม 29, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น