โลกยุติการใช้น้ำมันตะกั่ว แต่ตะกั่วในแบตเตอรี่ยังปล่อยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทและพัฒนาการเด็กเล็ก

แม้โลกจะประกาศยุติการใช้น้ำมันตะกั่วเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ยังคงมีความต้องการใช้สินค้าที่มีส่วนประกอบของตะกั่ว และอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ต้องใช้ตะกั่วอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะเพื่อผลิตแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด (lead-acid batteries) ที่มีราคาถูกและสามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด

ขณะเดียวกัน สารพิษจากตะกั่วกลับมีเพิ่มมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา โดยสามารถทำลายระบบประสาทและเป็นอันตรายต่อสมองของทารกและเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผลที่ตามมาคือการสูญเสียระดับ IQ เป็นไปได้ว่าเติบโตไปจะมีพฤติกรรมที่ชอบใช้ความรุนแรง และในขั้นอันตรายที่สุดคือเสียชีวิต

ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า ในกระบวนการของการรีไซเคิลหรือซ่อมแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด โดยที่ไม่มีการป้องกันหรือคำนึงถึงความปลอดภัย จะเป็นการปล่อยสารพิษจากตะกั่วออกมาหลายกิโลกรัม ทำให้ปนเปื้อนอากาศและสิ่งแวดล้อมของที่อยู่อาศัยและเมือง และผู้ที่อยู่อาศัยนั้นเองจะได้รับผลกระทบจากการสูดดมสารพิษ

และจะยิ่งน่ากังวลมากขึ้นสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะเศรษฐกิจของแอฟริกาที่กำลังเติบโตและพึ่งพิงการใช้แบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรดในหลายกิจกรรม ซึ่งแม้จะเป็นข่าวดีสำหรับคนทำงาน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นข่าวร้ายต่อสุขภาพของคนทำงานและของเด็กเล็ก ตลอดจนของเมือง ทั้งนี้ ยังมีการประมาณว่าสารพิษจากตะกั่วสามารถคร่าชีวิตของผู้คนทั่วโลกได้มากกว่าโรคมาลาเรียด้วย

ในกรณีของเมือง Kinshasa เมืองหลวงและเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of the Congo) การศึกษาของ University of Kinshasa พบว่า มีระดับค่าตะกั่วราว 50% ซึ่งสูงกว่าเมืองอื่น ๆ  โดยมักจะเกิดจากการใช้งานในครัวเรือน และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการผลิต-รีไซเคิลสินค้าที่ประกอบด้วยตะกั่ว โดยที่ไม่มีการควบคุมและไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัย

ขณะเดียวกัน ตามการศึกษาของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ยังมีที่ระบุว่า มากกว่า 40% ของเด็กในเมือง Kinshasa มีระดับของสารพิษในร่างกายที่อยู่ในขั้นอันตราย และเด็กเกือบ 24 ล้านคนทั่วประเทศ เสี่ยงได้รับผลกระทบจากสารพิษตะกั่ว หรือมีระดับสารตะกั่วในเลือดมากกว่า 5 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเป็นระดับที่ตามหน่วยงานของสหรัฐฯ Centers for Disease Control and Prevention จะเรียกร้องให้ใช้มาตรการตอบโต้ทางสาธารณสุขแล้ว เพราะสัมพันธ์กับทักษะทางปัญหาที่จะลดลง และเป็นไปได้ว่าจะส่งผลให้มีอาการก้าวร้าวหรือมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงเมื่อเติบโตขึ้น ซึ่งก็เป็นสถานการณ์ที่ตาม ข้อมูลจากรายงานของ UNICEF ปี 2563 ย้ำถึงอันตรายของสารพิษตะกั่วที่มีต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ มีการประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจของแอฟริกาจะสูญเสียราว 135 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เนื่องจากระดับ IQ ที่ลดต่ำลง มากกว่าจำนวนที่ทวีปแอฟริการับความช่วยเหลือระหว่างในทุกปีเสียอีก

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
UNEP ประกาศว่า ยุคการใช้น้ำมันเบนซินผสมสารตะกั่ว ที่เป็นภัยสำคัญต่อสุขภาพมนุษย์และโลก สิ้นสุดลงแล้ว
สารตะกั่วในน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถยนต์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ยังคงตกค้างอยู่ในอากาศกรุงลอนดอนจนถึงปัจจุบัน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
-(3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย และจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน
-(11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากร โดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศและการจัดการของเสียของเทศบาลและอื่นๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้น ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี 2563

แหล่งที่มา:
Toxic charge: How batteries are poisoning Kinshasa’s children (aljazeera)

Last Updated on พฤศจิกายน 2, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น