Tvasta ใช้เทคโนโลยีภาพพิมพ์ 3 มิติ ช่วยอินเดียสร้างบ้านหลังใหม่ที่มีราคาถูก – ลดคนไร้บ้าน ตามนโยบาย Housing for All

จำนวนคนไร้บ้านในโลกมีเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรค โดยมีการประมาณว่ามีคนไร้บ้านราว 150 ล้านคนทั่วโลก หรือคิดเป็น 2% ของประชากรโลก ซึ่งจำนวนที่แท้จริงอาจจะมีมากกว่านี้ ขณะที่ในกรณีของยุโรปนั้น พบว่ามีจำนวนคนที่อยู่ในที่อยู่อาศัยแบบชั่วคราวสูงขึ้นถึง 70% ในทศวรรษที่ผ่านมานี้

เมื่อมองหาทางออก หนึ่งในวิธีการที่กำลังเป็นที่นิยมในโลกโดยที่มีบริษัทจำนวนหนึ่งเริ่มดำเนินการก็คือ “การใช้เทคโนโลยีภาพพิมพ์สามมิติ” (3D-printing) มาช่วยสร้างบ้านให้เสร็จในเร็ววัน และยังเป็นการเพิ่มจำนวนบ้านที่มีราคาที่ซื้อหาได้หรือมีราคาถูก (affordable) พร้อมกระบวนการสร้างที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยคาดว่าตลาดของโครงการสร้างบ้านด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวจะเติบโตขึ้นคิดเป็นมากกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2567

ตัวอย่างของความพยายามแก้ปัญหาคนไร้บ้านโดยการใช้เทคโนโลยีสร้างบ้านที่ว่านี้ มีที่ประเทศอินเดีย เริ่มจากที่รัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรี Narendra Modi ให้คำมั่นจะสร้างบ้านในเมืองหลังใหม่ให้ได้ 20 ล้านหลัง และบ้านในชนบทหลังใหม่อีก 30 ล้านหลังภายในปี 2565 ตามนโยบาย “บ้านสำหรับทุกคน” (Housing for All) โดยเฉพาะสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ถึงกระนั้น ความคืบหน้ายังเป็นไปอย่างช้า

เทคโนโลยีสร้างบ้านด้วยภาพพิมพ์สามมิติของบริษัทสตาร์ทอัพ Tvasta ซึ่งพัฒนาขึ้นในอินเดีย โดยการสนับสนุนของกระทรวงการเคหะและกิจการเมือง (Ministry of Housing and Urban Affairs) จึงเข้ามาร่วมช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบ้านราคาถูก ตั้งแต่การลดระยะเวลาการก่อสร้างให้เสร็จเร็วขึ้น ลดจำนวนขยะและพลังงานจากกระบวนการ และราคาบ้านในท้ายที่สุดมีราคาถูกกว่าการก่อสร้างแบบดั้งเดิม 30% โดยสามารถตอบโจทย์ในแง่ของราคาการรองรับปริมาณความต้องการ ตลอดจนในภาวะที่ต้องการที่พักพิงในช่วงภัยพิบัติธรรมชาติ

โดยบ้านขนาด 56 ตร.ม.นี้ ก่อสร้างขึ้นครั้งแรกทางใต้ของอินเดีย ณ เมืองเจนไน โดยความร่วมมือกับ Terwilliger Center for Innovation in Shelter ภายใต้ Habitat for Humanity

ดูเพิ่มเติมเรื่องการสร้างบ้านด้วยเทคโนโลยีภาพพิมพ์สามมิติในแอฟริกา ที่นี่

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืน
-(11.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียง ปลอดภัย และในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัด ภายในปี 2573
-(11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
These innovative projects are tackling homelessness around the world (World Economic Forum)
India’s first 3D-printed home offers affordable housing ‘solution’ (Reaters)

Last Updated on พฤศจิกายน 3, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น