การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ “COP 26” ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า (31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2021) แน่นอนว่ามีคำศัพท์คีย์เวิร์ดสำคัญที่อาจจะยากบ้างง่ายบ้าง แต่หากไม่รู้เราจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง
และนี่คือ 13 คำศัพท์ที่ UN คัดมาให้เป็นคู่มือช่วยทำความเข้าใจองค์ประกอบของบทสนทนาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างรวดเร็วและรวบรัด
| COP26
เป็น ‘ชื่อเล่น’ ของเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการในทุกปี โดยมีรัฐสมาชิก 197 ประเทศ อันหมายรวมถึงมีประเทศชั้นนำ – ผู้นำโลกเข้าร่วมการประชุมด้วย ในแง่นี้ เวทีดังกล่าวจึงมีนัยสำคัญของการแสดงความมุ่งมั่นทางการเมืองและก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนในประเด็นว่าด้วยการต่อสู้และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อป้องกันไม่ให้กิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะร้ายแรงขึ้นไปกว่าเดิม
สำหรับปี 2564 นี้ การประชุม COP จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน และนับเป็นครั้งที่ 26 แล้ว โดยเลื่อนมาจากปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค
โดยการประชุมนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2538 ภายหลังจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development – UNCED) หรือ “การประชุม Earth Summit” ณ เมืองริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี 2535
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– COP26 – “โอกาสสุดท้าย” รักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นถึง 1.5 °C และ 4 หัวข้อหลักที่จะอภิปรายในการประชุม COP26
– SDG Recommends | 5 ช่องยูทูบเติมความรู้ – ติดตาม COP26 ให้เข้าใจมากขึ้น
– SDG Updates | บทวิเคราะห์ความท้าทายและนโยบาย เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมภายใต้รัฐบาล โจ ไบเดน (EP.8)
– SDG Updates | สำรวจความท้าทายและนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมของจีน (EP.9)
| SDGs
แน่นอนว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกี่ยวข้องกับ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals – SDGs) หรือ “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030” (2030 Agenda for Sustainable Development) เพราะถือเป็น 1 เป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมาย โดยประเด็นดังกล่าวตรงกับ เป้าหมายที่ 13 การต่อสู้และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ SDGs เปรียบเสมือนกับแผนที่นำทาง/พิมพ์เขียวระดับโลก วางเป็นกรอบการพัฒนาที่นานาประเทศสามารถรับไปดำเนินการ – ถ่ายระดับสู่การปฏิบัติในระดับประเทศได้ โดยประกอบไปด้วย 17 เป้าหมายที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่มิติด้านผู้คนและสังคม (People) เศรษฐกิจ (Prosperity) สิ่งแวดล้อม (Planet) และสันติภาพ (Peace) นั่นหมายความว่า เป้าหมายที่ 13 นี้ ย่อมสัมพันธ์และเกี่ยวพันกับเป้าหมายด้านอื่น ๆ ด้วย ไม่ในฐานะตัวเร่งปฏิกิริยาก็เป็นผลกระทบที่ส่งต่อถึงกัน เป็นต้น ทำให้การให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่เชิงนโยบาย งบประมาณ สู่การลงมือทำ มีผลต่อเป้าหมายการพัฒนาเป้าหมายอื่น ๆ ด้วย
● ติดตามบทความ/ข่าวเกี่ยวกับ #SDG13 ได้ ที่นี่
| NDC
คำนี้ย่อมาจาก “Nationally Determined Contributions” หรือแปลเป็นไทยว่า “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด” หมายถึง การที่รัฐแต่ละรัฐที่ลงนามรับข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2558 จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ได้อย่างไร หรือ การกำหนดแผนงาน – การดำเนินการของรัฐแต่ละรัฐ ที่แสดงถึงการเข้ามามีส่วนร่วมกับกระแสของการต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงดังกล่าว โดยที่จะต้องมีการทบทวน NDC ของตนในแต่ละปี เพื่อรักษาระดับการมีส่วนร่วมและระดับของความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำจริงให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ทั้งนี้ โดยที่จะต้องจัดทำรายงานส่งมอบให้เลขาธิการ UNFCCC ทุก ๆ 5 ปี