SDG Insights | ต่อจิ๊กซอว์การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมของไทย ไปกับภาคประชาสังคม (EP. 11)

เรียบเรียงและจัดทำโดย สมิตานัน หยงสตาร์

“เวลาพูดถึงคำว่าพัฒนา คำว่าเศรษฐกิจ แล้วประชาชนคัดค้านในพื้นที่ ภาครัฐมักมองว่าประชาชนขัดขวางการพัฒนา เชื่อมโยงภาพว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไม่ดี จริง ๆ ไม่ใช่ อาจต้องมองว่าการคัดค้านของคนในพื้นที่ ก็เพื่อขัดขวางการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน”

SDG Move มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณจริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ประจำกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) โดยร่วมสะท้อนว่า ไม่ได้มีเพียงกับดักทางนโยบายที่คนทำงานต้องต่อสู้มาต่อเนื่องหลายทศวรรษเท่านั้น แต่กับดักทางความคิดของทุกฝ่ายต่างหาก ที่เอาชนะยากยิ่งกว่า ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม

ย้อนกลับไปในบทความ SDG Updates ใครบ้างที่มีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (EP.7) ยกให้ประชาชน เป็นหนึ่งผู้เล่นคนสำคัญ และการที่เสียงของผู้คนจะดังได้ดียิ่งขึ้น “ภาคประชาสังคม” ก็เป็นหนึ่งจิ๊กซอว์ที่ร่วมต่อภาพการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมให้สมบูรณ์


ต่อภาพการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

| จิ๊กซอว์ 01 การเปลี่ยนผ่านนโยบาย

จริยาเริ่มต้นการพูดคุย โดยย้อนถึงเหตุการณ์สำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงานไทยที่พลิกโฉมการต่อสู้ไปตลอดกาลของชาวบ้านใน ต.บ่อนอก และ อ.บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภายใต้การนำของเจริญ วัดอักษร ที่ออกมาคัดค้านโรงไฟฟ้าหินกรูดและโรงไฟฟ้าบ่อนอกในช่วงปี พ.ศ. 2540 – 2547 ซึ่งเป็นโครงการของบริษัทเอกชนที่จะผลิตไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ผ่านไปกว่า 17 ปีแล้ว จากชาวบ้านธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่ไม่เคยเป็นผู้เข้าร่วมการเรียกร้องใด ๆ มีเพียงเป้าหมายที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมของบ้านเกิด จนมีบทสรุปที่คณะรัฐมนตรี มีมติยกเลิกการก่อสร้างโครงการดังกล่าว

แม้เขาอาจไม่ได้อยู่เห็นความสำเร็จ ด้วยเกิดเหตุการณ์ที่เชื่อว่าเป็นการตั้งใจ “ทำให้สูญหาย” เสียก่อน แต่จริยาก็มองว่าการต่อสู้ในเหตุการณ์นั้น นอกจากความเศร้าเสียใจของคนทำงาน ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานเชิงนโยบาย

“ปกติการคัดค้านที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ จะเป็นการคัดค้านเพื่อจะชะลอโครงงาน หรือหยุดโครงการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประจวบคีรีขันธ์ คือการคัดค้านในพื้นที่ และเปิดโปงความไม่เป็นธรรมเรื่องแผนพัฒนาพลังงานของไทยระดับใหญ่ ทำให้เห็นว่าแผนพลังงานของไทย จำเป็นต้องทำแผนทางเลือกขึ้นมา”

| จิ๊กซอว์ 02 การเปลี่ยนผ่านผู้บริโภค

Prosumer

คำยอดฮิตอย่าง “Prosumer” ถูกจริยายกมาพูดถึงเพื่ออธิบายถึงความก้าวหน้าของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ภายใต้นิยามที่ผู้บริโภคกลายเป็นหนึ่งผู้ผลิตเสียเอง อย่างกรณี โซลาร์รูฟท็อป (solar rooftop) ซึ่งคาดว่าในอนาคต เส้นแบ่งผู้บริโภคและผู้ผลิตในตลาดพลังงานจะค่อย ๆ เลือนรางลง

“จากเดิมเป็นผู้ที่ซื้อไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้า จ่ายค่าไฟฟ้า แต่สุดท้ายมาเป็นผู้ที่ผลิตไฟฟ้าเองด้วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ตัวเองใช้ ทั้งครัวเรือน ภาคธุรกิจ โรงเรียน หรือแม้แต่โรงพยาบาล… ผู้บริโภคที่เกิดขึ้นใหม่ จะลุกขึ้นมาปฏิวัติตนเอง และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในอนาคต”

แต่การเข้ามาในตลาดพลังงานของ Prosumer จริยาก็ยังมองว่า ยังมีเงื่อนไขในหลายส่วนที่หน่วยงานกลางจะต้องปรับปรุง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากกว่านี้

| จิ๊กซอว์ 03 การเปลี่ยนผ่านกลุ่มนักลงทุนใหม่

จริยาชี้ว่า ที่ผ่านมาธุรกิจพลังงานไม่ว่าจะเป็นฟอสซิล ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน หรือถ่านหิน ล้วนอยู่ในกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ และมีทิศทางมุ่งสู่ตลาดพลังงานดั้งเดิม แต่เมื่อทั่วโลกให้ความสนใจพลังงานสะอาด พวกเขาก็พร้อมกระโดดมาเป็นผู้เล่นคนสำคัญทันที

“อย่างน้อย 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็น green business มากขึ้น ลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ทางเลือกการลุงทุนที่ไม่จำเป็นต้องเป็นปลายทางที่ธุรกิจฟอสซิลอย่างเดียว มีการแข่งขันในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

| จิ๊กซอว์ 04 การเปลี่ยนผ่านเงินลงทุน

สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศ มีหลายรัฐบาลที่จากเดิมนำเงินกองทุนบำเหน็จ บำนาญ รวมถึงเงินกองทุนขนาดใหญ่ของประเทศไปต่อยอดลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหิน ในตอนนี้ ด้วยนโยบายที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทิศทางลงทุนเช่นนี้จึงลดน้อยถอยลง

“ไทยก็มีบางธนาคารที่ออกมาประกาศยกเลิกให้เงินลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมถ่านหิน… อีกมุมนึงมีการเปลี่ยนแปลงการให้กู้ ธนาคารประกาศสนับสนุนการให้กู้ลงทุนโซลาร์รูฟท็อป ทำให้คนที่ต้องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ปฏิวัติได้ตั้งแต่บนหลังคาของตัวเองและเข้าถึงเงินในการลงทุน”

เมื่อได้ติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด จริยากล่าวว่านี่ยังเป็นเพียงจิ๊กซอว์ไม่กี่ตัวที่กำลังประกอบสร้างขึ้น โดยที่ไม่มีชิ้นไหนสำคัญน้อยหน้าไปกว่ากัน เพราะการขยับเขยื้อนเพียงเล็กน้อยของแต่ละชิ้น ย่อมส่งผลต่อส่วนอื่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยกตัวอย่างหากประชาชนคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการพลังงานโครงการหนึ่ง จนต้องยกเลิกหรือชะลอโครงการ จิ๊กซอว์ที่มาสอดรับอย่างนักลงทุน ก็จำต้องผันการลงทุนมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม และต้นทุนทางสุขภาพของประชาชนด้วยเช่นกัน

“จะเห็นจิ๊กซอว์ที่เคลื่อนไปพร้อมกัน มันอาจจะสลับกันเกิดก็ได้นะ ขึ้นอยู่กับว่าจุดไหนเกิดก่อนกัน แต่เราจะเห็นการเคลื่อนขยับทั้งแผง เห็นปรากฏการณ์การชะลอ การหยุดโครงการ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนเชื้อเพลิงการผลิต”

แผลเรื้อรังของแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าไทย

สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือที่คุ้นหูว่า PDP นั้น เป็นแผนแม่บทในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ว่าด้วยการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 15 – 20 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงว่าไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้งาน มีไฟฟ้าสำรอง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อย่างนโยบายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน

โดยที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับหนึ่ง ๆ นั้นจะมีการทบทวนเป็นระยะ ๆ หรือทุก 1 – 2 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อย่างไรก็ตาม แผนแม่บทดังกล่าวกลับเป็น “ปัญหาเรื้อรัง” ตามความเห็นของจริยา ที่มองว่าไม่ได้สะท้อนการใช้พลังงานตามความเป็นจริงของประเทศ

“ทุกครั้งที่มีแผนเกิดขึ้น โดยเฉพาะ 3 – 5 ปีแรก จะเห็นสัดส่วนที่ชัดเจนว่า เอาแผนเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเข้าก่อน แต่เอาพลังงานหมุนเวียนไปอยู่ 10 ปีสุดท้าย… ซึ่งมันไม่เคย (ทำงาน) ทันเลย แล้วก็จบที่จะใช้นโยบาบแบบลักปิดลักเปิด”

จริยากล่าวว่า เมื่อการพยากรณ์การใช้พลังงานไม่ได้สะท้อนภาพการใช้พลังงานตามความเป็นจริงของประเทศ โดยเอียงไปทางการประเมินที่สูงเกินกว่าการใช้งาน ผลที่ตามมาคือ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะถูกอนุมัติการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจะเป็นการเพิ่มภาระความรับผิดชอบให้กับประชาชนผ่าน “ค่าไฟฟ้า”

จริยากล่าวว่า เมื่อการพยากรณ์การใช้พลังงานไม่ได้สะท้อนภาพการใช้พลังงานตามความเป็นจริงของประเทศ โดยเอียงไปทางการประเมินที่สูงเกินกว่าการใช้งาน ผลที่ตามมาคือ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะถูกอนุมัติการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจะเป็นการเพิ่มภาระความรับผิดชอบให้กับประชาชนผ่าน “ค่าไฟฟ้า”

ยกตัวอย่างที่ผ่านมา มีการใช้ไฟฟ้าลดลงในภาพรวมระดับประเทศ โรงไฟฟ้า 12 โรง ไม่ได้เดินเครื่อง 8 โรง แต่ประชาชนก็ยังต้องจ่าย ซึ่งเงินตรงนั้นที่จ่ายผ่านค่าไฟฟ้า เป็นเงินมากกว่า 22,000 ล้านบาท”

นอกจากนี้ จริยายังชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรมของแผนพลังงานอีกประการหนึ่งคือ การที่ไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานได้สูงสุด อย่างกรณีที่ไทยสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังไม่มีมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟระดับครัวเรือน หรือ Net-Metering (ดูเพิ่มเติม ที่นี่) ซึ่งเป็นกลไกเชิงนโยบายที่รับประกันถึงสิทธิของประชาชนในระดับครัวเรือน

“บ้านหลังหนึ่งใช้ไฟฟ้า 100 หน่วย ผลิตไฟฟ้าได้ 50 หน่วย เขาก็จะจ่ายแค่ 50 หน่วย อีกอย่างราคาต่อหน่วยต้องเท่าหรือใกล้เคียงกับราคาที่เขาซื้อมา… ถ้านโยบายของประเทศที่จะลดคาร์บอน มุ่งไปสู่พลังงานหมุนเวียน แสดงว่านโยบายเรื่องพลังงานหมุนเวียนก็ต้องปรับให้เป็นธรรม”

ก้าวต่อไปของภาคประชาสังคม

“ทุกครั้งที่เปิดสวิตส์ คุณต้องรู้ว่าถ้าเรายังพึ่งพาเชื้อเพลิงถ่านหิน ก็มีการสัมปทานถ่านหินที่อินโดนีเซียนะ โดยบริษัทสัญชาติไทยลงทุนแล้วรัฐบาลสัมปทานเปิดหน้าดินทำลายป่า ทำให้มีการปนเปื้อนในแหล่งน้ำและทางอากาศ มีชาวบ้านกาลีมันตันต้องออกจากบ้านตัวเองจากผลกระทบสุขภาพ”

การเชื่อมโยงให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ผ่านโจทย์ที่ว่าพลังงานที่ทุกคนใช้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร ไม่ได้นับว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนต่อเนื่องมาตลอด

ด้วยจุดแข่งของการทำงานต่อเนื่อง ทำให้ความเห็นของภาคประชาชน จะช่วยเสริมและลดช่องว่างของการทำงานเชื่อมกันทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน  ทั้งนี้ ยังช่วยหยิบหยกประเด็นความเป็นธรรมในมิติที่อาจไม่ถูกพูดถึงมาก่อน อย่างที่เกิดขึ้นกับการศึกษาความเป็นธรรมเรื่องการจ้างงาน ที่ทำงานร่วมกับบรรดานักวิชาการ

“ตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ทั้งแสงอาทิตย์ พืชเกษตร มีการคำนวนมาว่าจะสร้างการจ้างงานในไทยราว 140,000 ตำแหน่ง ถ้ามิติการจ้างงานเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ในสถาบันการศึกษาก็จะรองรับ เพื่อสร้างอาชีพใหม่”

ในการทำงานย่อมมีอุปสรรค นั่นเป็นสิ่งที่จริยาได้เรียนรู้มาตลอดหลายปี ไม่เพียงต้องพบกับปัญหาจากกการทำงานในพื้นที่ แต่แรงเสียดทานที่เกิดขึ้นจากผู้ที่รับข่าวสารในพื้นที่ห่างไกลออกไป ก็เป็นหนึ่งความท้าทายของภาคประชาสังคม

“ไม่เจอกับตัวเอง ไม่มีโครงการทำลายสิ่งแวดล้อมเข้าไปในพื้นที่ตัวเอง วันนั้นคุณจะไม่รู้หรอว่าการเรียกร้องที่เกิดในจังหวัดอื่น ที่อื่นทำไมถึงได้เกิด”

ความเงียบระหว่างการสนทนาที่เกิดขึ้นเป็นเวลาสั้น ๆ นับเป็นอีกหนึ่งคำตอบของจริยา ว่าอุปสรรคเหล่านี้ท้าทายมากเพียงใด อย่างที่ปรากฏเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายครั้ง เมื่อมีชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

“ต้องทำให้คนเป็นเจ้าของในสิ่งที่เรากำลังพูดถึงมัน ถ้ากำลังพูดถึงทรัพยากรที่เกิดขึ้น ที่จะหายไป หรือจำเป็นต้องแลกกับโครงการใดโครงการหนึ่ง จำเป็นต้องฉายภาพให้เห็น ถ้าวันหนึ่งหายไปคุณเองก็มีส่วน ถ้าวันนี้ไม่ได้รู้สึกอยากปกป้อง ให้คิดต่อว่ายอมรับว่าไม่ต้องการส่งต่อทรัพยากรที่ดีให้คนรุ่นต่อไปใช่หรือไม่”

นี่มักเป็นแนวทางการทำงานที่จริยา ย้ำเตือนตนเองและผู้ที่ร่วมทำงานอยู่เสมอ ว่าการสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง

แรงปะทะจากปฏิบัติการปิดปาก

ในทุกครั้งที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง เพื่อเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ย่อมไม่อาจหลีกหนีแรงปะทะที่อาจนำอันตรายมาสู่คน ๆ นั้นได้ ย้อนไปหลายสิบปี แรงปะทะที่มาพร้อมการใช้ความรุนแรง อย่างการบังคับข่มขู่ หรืออุ้มหาย อาจเป็นรูปแบบที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง แต่ในปัจจุบัน “SLAPP” กลายเป็นความท้าทายใหม่ที่ไม่มีใครอยากประสบ

โดยคำว่า SLAPP นั้นมาจาก Strategic Lawsuit Against Public Participation คือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ ที่หลายคนคุ้นกันในชื่อ “การฟ้องคดีปิดปาก” ที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อจะชนะคดี เป็นเพียงการขู่อีกฝ่ายให้กลัวและสร้างความลำบากจนหลายคนต้องหยุดการมีส่วนร่วมไป

ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนกำลังประสบในทุกวันนี้

“การต่อสู้ที่ผ่านมาช่วง 2 -3 ปี มีหลายคดีที่ประชาชน นักวิชาการ หรือภาคประชาสังคม ที่ออกมานำเสนอความจริงอีกด้าน หรือเรียกร้องถูกฟ้องคดี เป็นสิ่งที่บั่นทอนสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างหนัก คดีบางคดี ถ้าเป็นประชาชนธรรมดาในพื้นที่ เขาต้องใช้ทรัพยากรนั้นในช่วงฟ้องคดี ต้องมีทนาย ค้นหลักฐาน ค่าใช้จ่ายการเดินทางอีก”

แม้จะมีบรรดากลุ่มนักกฎหมายคอยให้ความช่วยเหลือ แต่นั่นก็สร้างความลำบากอยู่มาก

อย่างไรก็ตาม จริยามองว่า อีกมุมหนึ่งการฟ้องร้องคดีลักษณะนี้ จะเป็นโอกาสที่สังคมจะได้เห็นความจริงระหว่างทาง ผ่านพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ในพื้นที่ และเป็นบทพิสูจน์ความเข้มแข็งของกระบวนการยุติกรรมไทย ว่าจะสามารถคุ้มครองประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม และสิทธิด้านสุขภาพได้มากน้อยเพียงใด

“สิทธิมนุษยชนนี่แหละ ที่ทำให้คนรู้สึกว่าทำไมความเป็นธรรมของทุกคน หรือการเคารพสิทธิถึงจำเป็น โดยเฉพาะการเคารพกันเรื่องการจัดการทรัพยากร ก็จะเห็นความเคลื่อนไหวของผู้คนที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น ไม่ได้อยู่ผืนป่านั้น แต่ฉันยินดีที่จะปกป้องมัน”

ซึ่งนี่เป็นความปรารถนาที่คนทำงานภาคประชาสังคมอย่างจริยาใฝ่ฝันจะได้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่ออนาคตของการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม


อ่าน SDG Insights บทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง
SDG Insights | ตรวจข้อสอบการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมของพลังงานไทย ผ่านสายตา รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ (EP.3)
SDG Insights | ส่องบทบาทและความท้าทายของภาคเอกชน ในการเปลี่ยนผ่านพลังงานไทย (EP.6)

SDG Insights ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่ 11 ในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 

ประเด็น Just Energy Transition ในบทความชิ้นนี้เกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสมัยใหม่ ในด้านหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ และเชื่อถือได้ ภายในปี 2573 (7.1) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573 (7.2) และการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573 (7.a)
.
ซึ่งเกี่ยวพันกับการรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตาม #SDG13 โดยเฉพาะที่การหันมาใช้พลังงานสะอาด เป็นหนึ่งก้าวที่สะท้อนการตระหนักรู้และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า (13.3)
.
โดยคำนึงถึง #SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า โดยทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ (8.1) การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ (8.2) ส่งเสริมโอกาสงานที่มีคุณค่าและเท่าเทียมสำหรับทุกคน (8.5)
.
โดยในการหันมาเลือกใช้พลังงานสะอาด ยังสัมพันธ์กับการส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม นวัตกรรม และเทคโนโลยีตาม #SDG9
.
ทั้งนี้ ก็ด้วยอาศัยองค์ประกอบสำคัญอย่าง #SDG16 สังคมสงบสุขเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกคน (16.3) สถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดรับชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ (16.6) และการมีกระบวนการตัดสินใจที่ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ (16.7)

Last Updated on พฤศจิกายน 12, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น