SDG Updates | การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและบทบาทของตลาดในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (EP.12)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูรี สิรสุนทร
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กิจการพลังงานของประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การผลิตและการใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification) มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) ด้วยเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงและความร่วมมือในระดับนานาชาติ

SDG Updates ในครั้งนี้ต้องการนำเสนอแง่มุมความเป็นธรรมของฝั่งผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าในรูปแบบกิจการที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงฝั่งผู้บริโภคในรูปแบบของค่าไฟ ผ่านการลากจุดต่อจุดของผู้มีบทบาทสำคัญใน “โครงสร้างกิจการไฟฟ้า” สู่ความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน

ฟังในรูปแบบบทความเสียง

| นวัตกรรม และ โอกาสทางเศรษฐกิจ ‘ใหม่ๆ’ ในกิจการไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

ณ ปัจจุบัน ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนนั้นลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสามารถแข่งขันทางด้านต้นทุนกับไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกิจการไฟฟ้าและภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่นำไปสู่แบบจำลองธุรกิจ (Business Model) ใหม่ ๆ ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้า เช่น การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการสร้าง Peer-to-Peer (P2P) Trading Platform เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายไฟฟ้าสามารถซื้อขายไฟฟ้าได้โดยตรง ณ เวลาที่ต้องการซื้อขายแลกเปลี่ยน (Real Time) และการใช้มิเตอร์อัจฉริยะ เป็นต้น 

นอกจากนี้  นโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน การให้แรงจูงใจทางการเงินโดยอาศัยมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed-in-Tariff: FiT) และนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน เช่น มาตรการการลดไฟฟ้าตามโหลด (Demand Response) และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในอาคารพาณิชย์และโรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าในระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Power Grid) และพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคซึ่งมีส่วนช่วยให้ลดปริมาณสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin) ที่มีอยู่ในระบบของไทยเป็นจำนวนมาก ก็มีส่วนผลักดันทำให้ “การเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน” เป็นไปอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

 คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
Feed-in-Tariff หมายถึง มาตรการการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในรูปแบบอัตราคงที่ตลอดอายุสัญญา และไม่ผันแปรไปตามค่าไฟฟ้าฐาน[1] (ค่าไฟฟ้าฐานเป็นค่าไฟฟ้าที่สะท้อนต้นทุนในการก่อนสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจำหน่าย และค่าการผลิตพลังงานไฟฟ้า) และค่า Ft[1] (ค่าไฟฟ้าผันแปร กำหนดขึ้นเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าเชื้อเพลิง ต้นทุนการซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฟ้าฐาน และผลกระทบจากนโยบายของรัฐในเรื่องต่างๆ เช่นการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนด้วยการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หรือมาตรการ Feed-in Tariff เป็นต้น)

Demand Response หมายถึง มาตรการในการลดหรือเฉลี่ยความต้องการใช้ไฟฟ้าจากช่วงเวลาที่ระบบมีความต้องการใช้กำลังการผลิตไฟฟ้าสูงไปสู่ช่วงเวลาอื่น โดยให้ค่าตอบแทนแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้าเป็นเงินค่าชดเชยตามปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่สามารถบริหารจัดการให้มีการใช้ลดลง[2]

Energy Efficiency หมายถึง ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน หรือสัดส่วนการใช้พลังงานต่อกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ การขนส่ง และภาคครัวเรือน ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน คือการลดปริมาณการใช้พลังงานในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง[3]

การเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้า หมายถึง การเชื่อมโยงระบบการส่งไฟฟ้า หรือระบบการจำหน่ายไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการบูรณาการและใช้ทรัพยากรร่วมกัน[4]

การเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานไฟฟ้าก่อให้เกิด “กิจกรรมที่ใช้นวัตกรรมใหม่” ในกิจการไฟฟ้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการเข้าสู่ตลาดของ “ผู้ประกอบการรายใหม่” ได้มากยิ่งขึ้น “ประโยชน์” ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืนที่เห็นได้ชัดคือการลดการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีในประเทศให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าและช่วยลดการขาดดุลทางการค้า เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ขึ้นภายในประเทศ ภายในพื้นที่และภายในชุมชนจากการขยายตัวของห่วงโซ่มูลค่า โดยเฉพาะเชื้อเพลิงที่มาจากวัสดุเหลือใช้ในภาคการเกษตรและขยะ นวัตกรรมใหม่ยังช่วยให้เกิดการค้าและการลงทุนที่มากขึ้น ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ขึ้นภายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ธุรกิจแพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น 

นอกจากนี้ การใช้นวัตกรรมในกิจการไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าหรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ไฟฟ้าก็จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน และในท้ายที่สุด “ผู้บริโภค หรือ ผู้ใช้ไฟฟ้า” จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านพลังงานในรูปของอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงอันเกิดจากการกำกับดูแลและการแข่งขันในกิจการผลิตและกิจการจำหน่ายไฟฟ้า การได้รับบริการที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการที่หลากหลายในระดับเรียลไทม์จากนวัตกรรมในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งจากธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 


| โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของไทย ที่ไม่กระจายศูนย์

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยแล้ว พบว่า “โครงสร้างกิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว” (Enhanced Single Buyer Model: ESB) ไม่สามารถอำนวยประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานไฟฟ้าไปสู่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เนื่องจากโครงสร้างกิจการไฟฟ้านี้กำหนดให้มี “ผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Single Buyer)” คือ อันได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียวนี้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ามาเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบกิจการระบบจำหน่ายและจำหน่ายไฟฟ้าอันได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง ต่อจากนั้น กฟน. และ กฟภ. จะจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ที่รับผิดชอบในอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกตามนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าอัตราเดียวกันสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเดียวกันทั่วประเทศ (Uniform Tariff)

 คำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
อัตราค่าไฟฟ้าฐาน หมายถึง ค่าไฟฟ้าฐานเป็นค่าไฟฟ้าที่สะท้อนต้นทุนในการก่อนสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจำหน่าย และค่าการผลิตพลังงานไฟฟ้า

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้ผลิตไฟฟ้าอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีขนาดโรงไฟฟ้า กำลังการผลิต เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่แตกต่างหลากหลาย อันประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ผู้ผลิตไฟฟ้าเล็ก ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก รวมไปถึงผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Independent Power Supply: IPS) แต่การซื้อขายไฟฟ้ายังเป็นการซื้อขายไฟฟ้าโดยใช้ “สัญญารับซื้อไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA)” ที่ทำกับผู้ซื้อรายเดียว (ยกเว้น IPS) ซึ่งจะเป็นสัญญาที่ได้ราคาในอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าและมีความเสี่ยงน้อยกว่าสัญญารับซื้อไฟฟ้าเอกชน (Private PPA)  ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจึงมักจะเข้าสู่ธุรกิจไฟฟ้าโดย “การประมูล” แข่งขันเพื่อให้ได้ PPA ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ถึงแม้ว่าในการประมูลแต่ละครั้งจะมีผู้เข้าร่วมประมูลแข่งขันเป็นจำนวนมาก แต่การแข่งขันนี้เป็น “การแข่งขันเพื่อเข้าสู่กิจการผลิตไฟฟ้า (Competition for Market)” ไม่ใช่ “การแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้า (Competition in Market)” ผลการประมูลแข่งขันจะได้ผู้ผลิตไฟฟ้าและราคาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียวเท่านั้น โดยราคานี้ไม่ได้เกิดจาก “การแข่งขันในตลาดไฟฟ้าขายส่ง” โดยตรง


| ปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า เพิ่มการแข่งขันในตลาดผู้ผลิต ลดต้นทุนให้ผู้ใช้

โครงสร้างกิจการไฟฟ้ามีบทบาทสำคัญในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าฐาน เนื่องจาก อัตราค่าไฟฟ้าฐานจะถูกคำนวณจากอัตราค่าไฟฟ้าฐานของกิจการต่าง ๆ ที่อยู่ในโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ในกรณีของประเทศไทย โครงสร้างกิจการไฟฟ้า ESB ประกอบด้วย 5 กิจการ ได้แก่ กิจการผลิตไฟฟ้า กิจการระบบส่งไฟฟ้า กิจการควบคุมระบบไฟฟ้า กิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า และกิจการจำหน่ายไฟฟ้า โดยอัตราค่าไฟฟ้าฐานของกิจการผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนที่มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับค่าไฟฟ้าจากกิจการอื่น ๆ ดังนั้น หากมี “การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า” ให้มีการแข่งขันในกิจการผลิตไฟฟ้าอย่างแท้จริงแล้ว จะทำให้อัตราค่าไฟฟ้าฐานของกิจการผลิตไฟฟ้าลดลง และส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าฐานโดยรวมลดลงได้ในท้ายที่สุด นอกจากนี้ ในการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านพลังงานยังสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการลดต้นทุนและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้อีกด้วย ในท้ายที่สุด จะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่คุ้มค่า และอำนวยประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านพลังงานไฟฟ้าในด้านต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น 

ในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน บทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบการในกิจการผลิตไฟฟ้า กิจการระบบส่งไฟฟ้า กิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า และกิจการจำหน่ายไฟฟ้า ยังคงควรไว้เช่นเดิม เพียงแต่ว่า เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดผลิตไฟฟ้าหรือตลาดขายส่งไฟฟ้า ควรปรับบทบาทและแบ่งแยกหน้าที่ของผู้ประกอบการใน “กิจการควบคุมระบบไฟฟ้า” ให้มีหน้าที่เป็น (1) “ผู้ประกอบกิจการตลาดขายส่งไฟฟ้า (Wholesale Market Operation)” เพื่อทำหน้าที่ขายส่งไฟฟ้าให้แก่ผู้จำหน่ายไฟฟ้า และบริหารจัดการ “ข้อมูล” ด้านต้นทุนการผลิตและการประมาณการณ์ความต้องการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อคำนวณราคาขายส่งไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้า ผู้จำหน่ายไฟฟ้า และ ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลาง (Aggregators) และ (2) “ผู้ให้บริการรักษาสมดุลไฟฟ้า (Balancing Services)” โดยมีหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างตลาดขายส่งไฟฟ้าและกิจการจำหน่ายไฟฟ้า ทำหน้าที่รักษาสมดุลและรับประกันว่าปริมาณไฟฟ้าที่สำรองให้แก่ผู้จำหน่ายไฟฟ้ามีผู้บริโภคนำไปใช้จริง เพื่อไม่ให้มีการผลิตเกินความต้องการโดยสูญเสียทรัพยากรในการผลิตไปโดยไม่จำเป็น

เพื่อรองรับนวัตกรรมในธุรกิจไฟฟ้า ในโครงสร้างกิจการไฟฟ้าควรมีผู้ประกอบการที่มีบทบาทหน้าที่เป็น “Aggregators” ให้บริการในฐานะตัวกลางระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ประกอบการประเภทต่าง ๆ ในโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยรับผิดชอบในการออกแบบและจัดหาและรวบรวมอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อให้ผู้ใช้ได้ใช้ร่วมกัน อุปกรณ์เหล่านี้อาจจะเป็นของผู้ใช้งานหลาย ๆ รายที่ต้องการใช้งานส่วนตัว หรือเป็นของนิติบุคคลรายเดียวที่เป็นตัวแทนของผู้ใช้งานหลายๆ ราย ก็ได้ เช่น ผู้ให้บริการอัดประจุไฟฟ้า แพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ควรให้มี ผู้ให้บริการด้าน “การจัดการพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน” ตัวอย่างเช่น ผู้จัดการฟลีทยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ประกอบการในธุรกิจแบตเตอรี่ บริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company: ESCOs) และ บริษัทจัดการพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Service Company: ESCOs) เป็นต้น ผู้ให้บริการเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง Aggregator และผู้ใช้ไฟฟ้า โดยจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์จ่ายไฟยานยนต์ไฟฟ้า มิเตอร์อัจฉริยะ ระบบบริหารจัดการอาคาร และ ระบบการทำงานอัตโนมัติ เป็นต้น


| บทบาทของผู้เล่นในตลาดไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ได้มีแค่ ‘ผู้ผลิต’ และ ‘ผู้บริโภค’ อีกต่อไป  

แม้แต่การบริโภคไฟฟ้า ก็สามารถแบ่งออกได้เป็นผู้บริโภคไฟฟ้าสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือ “ผู้บริโภคไฟฟ้าโดยใช้อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ โดยตรงแบบเรียลไทม์”  และกลุ่มที่สองคือ “การกักเก็บพลังงานโดยแบตเตอรี่” ซึ่งจะบริโภคพลังงานไฟฟ้าและกักเก็บไว้เพื่อนำมาใช้กับอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่อไป หรือจำหน่ายไฟฟ้าที่กักเก็บได้กลับเข้าสู่ระบบ แบตเตอรี่ไม่ได้ผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ แต่บริโภคพลังงานไฟฟ้าและส่งกลับเข้าสู่ระบบเพื่อลดปริมาณการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด

ผู้ประกอบการสามารถประกอบกิจการใดกิจการหนึ่ง หรือประกอบกิจการมากกว่าหนึ่งประเภท อีกทั้งผู้บริโภคยังสามารถเป็นผู้ประกอบการเองได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นผู้บริโภคไฟฟ้าจากระบบเพื่อใช้งานอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ สามารถเป็นผู้จัดหาไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ในกรณีหลัง คือการจัดหาไฟฟ้าโดยผู้บริโภคหรือที่เรียกว่า “Prosumer” เมื่อบทบาทของผู้จัดหาไฟฟ้า (Producer) และผู้ใช้ไฟฟ้า (Consumer) ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน

การเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานไฟฟ้าโดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ “ตัวแทน” Prosumer มีแบบจำลองธุรกิจได้หลากหลายมากกว่าการกักเก็บพลังงาน ได้แก่ (1) Prosumer ในฐานะผู้บริโภคที่ไม่ผลิตไฟฟ้าแต่เข้าร่วมโครงการ Demand Response และสามารถลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (2) Prosumer ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์ขนาดเล็กที่ใช้ในบ้านที่อยู่อาศัย และขายกลับเข้าสู่ระบบ (3) Prosumer ในฐานะเจ้าของอุปกรณ์ในการกักเก็บพลังงานและใช้พลังงานไฟฟ้าที่กักเก็บได้เองหรือจำหน่ายอุปกรณ์ให้แก่ตัวแทนรายอื่น และ (4) Prosumer ที่ใช้แบบจำลองธุรกิจต่าง ๆ มาผสมกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ ที่ประกอบกิจการหลาย ๆ ประเภทในบทบาทและหน้าที่ต่าง ๆ กันนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้าที่ตัดสินใจเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเอง เพื่อลดความเสี่ยงและการพึ่งพาตลาดขายส่งไฟฟ้าที่อาจเกิดราคาผันผวนได้ ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้านี้มีบทบาทเป็น “Pretailers” หรือ ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้าที่หันมาทำหน้าที่เป็น Aggregators เองเพื่อเก็บเกี่ยวประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้บริโภคที่มีอยู่ เป็นต้น 


| วิเคราะห์การไหลเวียนของพลังงานไฟฟ้า ทางการเงิน และข้อมูลในตลาดไฟฟ้า เพื่อสร้างระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและปลอดภัย รวมทั้งส่งเสริมการแข่งขันและนวัตกรรมในกิจการไฟฟ้า

การกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบการและผู้บริโภคแต่ละประเภทให้ชัดเจน และการศึกษาการไหลเวียนของพลังงานไฟฟ้า (Energy Flow) การไหลเวียนทางการเงิน (Cash Flow) ในรูปของอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และการไหลเวียนของข้อมูล (Data Flow) โดยเฉพาะข้อมูลต้นทุนในการประกอบกิจการ อัตราค่าไฟฟ้า ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในกิจการแต่ละประเภท พฤติกรรม ช่วงเวลา และปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าของผู้บริโภค รวมทั้งปริมาณการซื้อขาย แลกเปลี่ยน และให้บริการในกิจการไฟฟ้า และการเลือกเชื้อเพลิงและต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาตลาดไฟฟ้าอย่างยั่งยืน

ผลการศึกษาและวิเคราะห์ “การไหลเวียนของพลังงานไฟฟ้า ทางการเงิน และข้อมูล” ในกิจการไฟฟ้าสามารถนำไปใช้ใน “การวิเคราะห์ตลาดไฟฟ้า (Market Analysis)” และบ่งชี้ได้ว่ากิจการประเภทใดเป็นกิจการที่แข่งขันได้และสามารถมีผู้ซื้อผู้ขายได้หลายราย กิจการใดควรเปิดเสรี ให้มีผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมการแข่งขัน และกิจการใดเป็นกิจการที่แข่งขันไม่ได้ มีผู้ประกอบการน้อยรายหรือเพียงรายเดียว และจำเป็นต้องมีการกำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้า ค่าบริการ และค่าธรรมเนียม หรือ การกำกับดูแลการเข้าสู่ตลาดโดยใช้ระบบการให้ใบอนุญาตเพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการก่อให้เกิดความปลอดภัยและความมั่นคงในระบบไฟฟ้า

“การไหลเวียนของข้อมูล” จะสามารถบ่งชี้ได้ว่าผู้ประกอบการที่มีข้อมูลได้แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจจากข้อมูล (Information Rent) หรือไม่ และพฤติกรรมนี้ทำให้ผู้ประกอบการดังกล่าวมีความได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่นรวมทั้งรายใหม่ที่ต้องการเข้าสู่กิจการไฟฟ้าหรือไม่ ซึ่งจะทำให้องค์กรกำกับดูแลสามารถป้องกันการใช้อำนาจเหนือข้อมูลที่ไม่เป็นธรรมได้อย่างเหมาะสม และยังต้องกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองข้อมูล (Data Protection) และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy) ของผู้ใช้ไฟฟ้าอีกด้วย 

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ตลาดยังเป็น “เงื่อนไขจำเป็น” ในการสร้างโอกาสการลงทุนในกิจการไฟฟ้าของประเทศไทย การให้ใบอนุญาตในการประกอบกิจการ การส่งเสริมการแข่งขัน และการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมหรือใช้นวัตกรรมในการสร้างแบบจำลองธุรกิจใหม่ ๆ ในกิจการไฟฟ้าเพื่อสนองตอบความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้อีกด้วย


| บทสรุป

จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมจำเป็นต้องปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเพื่อรักษาความมั่นคงและอนุรักษ์พลังงานในระยะยาว เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายเดิมปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดที่แข่งขันได้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดแบบจำลองทางธุรกิจใหม่ ๆ ในการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าให้เหมาะสมกับสภาพตลาดและการแข่งขัน และเพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาและการใช้นวัตกรรมในการผลิต จำหน่าย และให้บริการในกิจการไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนในกิจการไฟฟ้าต่าง ๆ ลดลง และ ในท้ายที่สุด ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับสวัสดิการสังคมที่ดีขึ้นจากอัตราค่าไฟฟ้าที่สมเหตุสมผลและจากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีโอกาสเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภายใต้ขีดความสามารถของตนเองอีกด้วย  


SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่ 12 ในชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เป็นชุดความรู้ที่มิเพียงแค่นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนการใช้พลังงานหมุนเวียนพลังงานสะอาดในมิติเชิงการลดผลกระทบต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่เน้นไปที่มิติความยั่งยืนอันรวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศสังคม (socio-ecological transition) ที่คำนึงถึงการได้รับความเคารพในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และกระทั่งสิทธิของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตอื่นที่จะได้รับผลกระทบทั้งระหว่างและหลังการเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้ จะมีการยกบทสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นบริบทปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีลักษณะปัญหาแตกต่างกันอยู่มาก และระหว่างกรณีในประเทศและกรณีระดับภูมิภาคที่มีระดับความซับซ้อนขึ้นไป ตลอดจนบทสัมภาษณ์จากหลากมุมมองผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564

ประเด็น Just Energy Transition ในบทความนี้เกี่ยวข้องกับ
#SDG7 การเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาที่จ่ายได้ ทั้งในด้านการเพิ่มสัดส่วนของประชากรที่พึ่งพาเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีสะอาด (7.1) และ การเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก (7.2) และการเปลี่ยนมาใช้พลังงงานทดแทนนั้น ยังเป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน #SDG13 และยังได้กล่าวถึงโอกาสของการเกิดการจ้างงานตาม #SDG8 ที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืน


เอกสารอ้างอิง

[1] คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (2563), “สาระน่ารู้เกี่ยวกับค่าไฟฟ้า”, Retrieved from https://www.erc.or.th/ERCWeb2/Front/StaticPage/StaticPage.aspx?p=276&Tag=สาระน่ารู้เกี่ยวกับค่าไฟฟ้า&muid=23&prid=114

[2] คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (2560), “โครงการ Demand Response รองรับการขาดแคลนก๊าซฯ เดือน มีนาคม-เมษายน 2560,” Retrieved from https://www.erc.or.th/ERCWeb2/Front/News/NewsDetail.aspx?rid=13662&muid=36&prid=21.

[3] สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (2559), “แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558-2579,” Retrieved from http://www.eppo.go.th/images/POLICY/PDF/EEP2015.pdf.

[4] การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (2563), “ASEAN Power Grid เชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าอาเซียน สร้าง “โอกาสและคุณค่าใหม่” เพื่อก้าวสู่อนาคตร่วมกัน,” Retrieved from https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=3346:20200228.

Last Updated on มีนาคม 10, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น