SDG Recommends | ดูสารคดีข่าวเรื่อง (ลด) ขยะอาหารใน 3 ตอน เก็บไว้เป็นไอเดียง่าย ๆ ให้ลองทำตาม

พบกับคอลัมน์ SDG Recommends เช่นเดิม เพิ่มเติมคือปรับลุคใหม่ ชวนติดตามประเด็นใน SDGs กับการ ‘อ่าน – ดู – ฟัง’ หาความยั่งยืนในทุกแง่มุม

ในแต่ละปี โลกสร้างขยะอาหารราว 1.3 พันล้านตัน คิดเป็น 1 ใน 3 ของอาหารที่เราบริโภคเข้าสู่ร่างกายเลยทีเดียว ความพยายามลดขยะอาหาร (food waste) ลดปริมาณอาหารที่สูญเสียไปตลอดห่วงโซ่อุปทานรวมถึงหลังการเก็บเกี่ยว (food losses) โดยเฉพาะการไม่ทิ้งขว้างหรือเลือกที่จะไม่ซื้ออาหารที่กินได้ เพียงเพราะไม่พึงใจในรูปลักษณ์ที่อัปลักษณ์ จึงสำคัญมากในโลกที่ยังคงมีประชากรอีกจำนวนมากอยู่กับ “ความหิวโหย” และความไม่มั่นคงทางอาหาร

ดู – ความยั่งยืนในสารคดีข่าว วันนี้ ชวนติดตามสารคดีข่าวในซีรีส์ Food, Wasted จัดทำโดย CNA Insider สิงคโปร์ ที่จะพาไปสำรวจสาเหตุนานัปการในบริบทของเอเชีย ว่าทำไมขยะอาหารจึงเกิดขึ้น ผู้คนแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้บริโภคเองมีปฏิกิริยา ความคิดเห็น หรือพฤติกรรมต่อประเด็นขยะอาหารอย่างไร และในท้ายที่สุดคือเข้ามาร่วมแก้ไขอย่างไร เผื่อว่าผู้ชมจะได้ไอเดียดี ๆ จากสารคดีข่าว 3 ตอนฉบับเข้าใจง่ายนี้ นำไปลองปรับใช้ลดขยะอาหารในแต่ละวันได้


| Food, Wasted 1/3 : Why Are We Throwing Away Perfectly Edible Food?

ตามข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า มากกว่า 50% ของขยะอาหารในเมืองอุตสาหกรรมของเอเชียอย่างฮ่องกง จาการ์ตา และสิงคโปร์ เกิดขึ้นจาก “ผู้บริโภค” กับ “ร้านค้าปลีก”

ซีรีส์ตอนแรกนี้ สารคดีพาไปสำรวจดูอาหารที่ยังกินได้แต่กลับถูกโยนทิ้งเป็นหลักตันในแต่ละวันจากผู้ผลิตตั้งแต่ยังไม่ถึงชั้นวางของซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ว่าจะเป็นอกไก่ แอปเปิล (ที่มีรอยช้ำนิดหน่อย) และโยเกิร์ตที่เกือบจะหมดอายุ เบื้องหลังของการเลือกกระทำที่ว่านี้ ไม่เพียงแต่เรื่องการติดป้ายวันหมดอายุ หรือความพยายามตุนอาหารที่สดใหม่ไว้บนชั้นวาง แต่ยังมาจากมุมมองต่ออาหารและการตัดสินใจของผู้บริโภคที่เลือกจะไม่ซื้ออาหารที่ “ดูไม่สวย”


| Food, Wasted 2/3 : Why So Much Food Is Lost In The Supply Chain

การสูญเสียอาหารในห่วงโซ่อุปทานและหลังการเก็บเกี่ยวเกิดขึ้นมาเสมอ ตามข้อมูลของ FAO ระบุว่า ในเอเชียเอง มีอาหารมากถึง 40% ที่สูญเสียไปหลังจากการเก็บเกี่ยว อาทิ การขนส่งและการเก็บในคลังอาหารที่ย่ำแย่ โดยที่ไม่เคยส่งไปถึงมือของร้านค้าเลยด้วยซ้ำ

ซีรีส์ในตอนที่สองนี้ สารคดีพาไปสำรวจฟากของผู้ผลิต ว่าในกระบวนการบริหารจัดการอาหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้อาหารที่ยังสดใหม่ต้องเสียหายไปโดยใช่เหตุอย่างไร แล้วควรจะทำอย่างไรบ้างเพื่อที่จะปรับปรุงให้สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น


| Food, Wasted 3/3 : Can Urban Farming Fix Our Broken Relationship With Food?

หากมองจากบริบทของเมืองอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว ความเป็นเมืองทำให้อาหารอยู่เพียงใกล้มือเพียงกดสั่งทางออนไลน์หรือเดินไปซูเปอร์มาร์เก็ต ซื้อหาอาหารได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ความสะดวกสบายเช่นนี้ แลกมาด้วยการผลักตัวเองออกห่างจากกระบวนการที่ได้มาซึ่งอาหาร หรือการปลูกอาหาร ทำให้ในท้ายที่สุด การทิ้งอาหารให้กลายเป็นขยะสามารถทำได้ง่ายโดยไม่ทันได้ฉุกคิด

ซีรีส์ตอนสุดท้ายนี้ นำเสนออีกหนึ่งแนวทางที่จะเติมช่องว่างของความห่างเหินระหว่างคนกับอาหารลง ด้วย “การทำฟาร์มในเมือง” (urban farming) หรือในอพาร์ทเม้นท์ เพื่อให้คนเมืองเข้าใจว่ากว่าจะได้มาซึ่งอาหารนั้นไม่ง่ายและเราควรจะขอบคุณที่มีอาหารให้ได้ทาน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่
SDG 101 | รู้หรือไม่? อาหารที่เรากินกับเศษอาหารเหลือทิ้งอยู่ใน SDGs คนละเป้าหมายกัน
Food Waste Index Report 2021 เผยว่า ผู้บริโภคทั่วโลกทิ้งอาหารไปเกือบ 17% โดยมาจากครัวเรือนมากที่สุด
อ่าน E-Book ‘Food Waste’ จาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แล้วขยะอาหารจะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น