‘Closing the Loop’ บริการเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ปิดลูปขยะที่จัดการไม่ได้ในแอฟริกา ส่งไปยุโรปให้ช่วยทำแทน

ภูมิภาคแอฟริกาซื้อโทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมากถึงราว 230 ล้านเครื่องในแต่ละปี อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลของ Global E-waste Monitor แอฟริกาถือเป็นที่เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2.9 ล้านตันในปี 2562 แต่มีเพียง 1% เท่านั้นที่ถูกเก็บและนำไปรีไซเคิล ปัญหาหลักมาจากการขาดกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน และไม่มีเครื่องมือดำเนินการที่จะช่วยให้กระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์เสร็จสิ้น อาทิ โรงถลุงแร่เหล็กเพื่อแยกชิ้นส่วนวัสดุสำหรับประกอบทำโทรศัพท์มือถือ

บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ “Closing the Loop” จึงเข้ามาช่วยอุดช่องว่างในสถานการณ์นี้ ร่วมด้วยกับทีมชาวแอฟริกันในพื้นที่ เก็บเศษซากโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้งานแล้วส่งไปยังยุโรปเพื่อเข้าโรงถลุงแร่เหล็ก แยกชิ้นส่วนและเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ที่ลำพังการใช้แรงงานมนุษย์ในการคัดแยกไม่สามารถทำได้

ภาพจาก Closing the Loop / BBC

โดยทีมชาวแอฟริกันที่ทำงานร่วมกับบริษัท Closing the Loop จะใช้เวลาในช่วงสุดสัปดาห์ออกเก็บโทรศัพท์มือถือที่พังแล้วถูกโยนทิ้ง หรือซื้อเครื่องเก่าที่ใช้งานไม่ได้จากเจ้าของในราคาถูก อย่างในปีนี้ก็ตั้งเป้าหมายว่าจะเก็บให้ได้ 30,000 เครื่อง ในขณะเดียวกัน บริษัทและองค์กรที่สนใจยังสามารถตกลงกับทางบริษัท Closing the Loop เพื่อใช้บริการเทคโนโลยีในการรีไซเคิลได้ โดยค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 5 ยูโรต่อโทรศัพท์หนึ่งเครื่อง ครอบคลุมขั้นตอนการเก็บ การขนส่งไปยุโรป และการรีไซเคิล ในจำนวนนี้ยังสามารถสร้างกำไรให้กับบริษัทได้ด้วย ถือว่าเป็นธุรกิจที่ได้ผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

เพราะจุดขายของบริษัท Closing the Loop คือการให้บริการเทคโนโลยีการรีไซเคิล โดยผู้ใช้บริการสามารถลงทุนด้วยจำนวนเงินไม่มากนัก แต่เป็นการดำเนินการที่ส่งผลกระทบ (ด้านดี) อย่างมีนัยสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสำหรับประเทศที่ขาดเครื่องไม้เครื่องมือ

ทั้งนี้ นอกจากลูกค้าที่สนใจในเทคโนโลยีและการให้บริการของบริษัทจะมีทั้งรัฐบาลของเนเธอร์แลนด์เอง และบริษัทเอกชนที่ให้บริการทางการเงิน KPMG อีกฝากหนึ่งคือ หัวหน้าฝ่ายการค้าของ Waste Electrical and Electronic Equipment Centre (WEEE) ที่ทำหน้าที่รีไซเคิลวัสดุในประเทศเคนยา ประเทศที่แข็งขันในการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประชาชนมีความตระหนักรู้ และมีความเคลื่อนไหวผลักดันหลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility legislation) ทว่าก็ยังประสบกับอุปสรรคสำคัญอย่างเทคโนโลยีรีไซเคิลเฉพาะทาง ที่บริษัท Closing the Loop เองคาดหวังว่าในอนาคตจะสามารถเดินหน้าช่วยสนับสนุนทางการเงินหรือกระทั่งลงทุนสร้างโรงถลุงแร่เหล็กเพื่อแยกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกา

ดูภารกิจงานของบริษัท Closing the Loop และความเชื่อมโยงกับ SDGs ที่นี่

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรม
-(9.5) เพิ่มพูนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และให้ภายในปี 2573 มีการส่งเสริมนวัตกรรมและให้เพิ่มจำนวนผู้ทำงานวิจัยและพัฒนาต่อประชากร 1 ล้านคนและการใช้จ่ายในภาคสาธารณะและเอกชนในการวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มมากขึ้น
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้น และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี 2563
-(12.5) ลดการผลิตของเสียโดยการป้องกัน การลด การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำมาใช้ซ้ำภายในปี 2573
-(12.a) สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไปสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
Why broken African phones are shipped to Europe (BBC)

Last Updated on ธันวาคม 1, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น