สหภาพยุโรปเตรียมเสนอมาตรฐานใหม่ ขจัดปัญหา “การฟอกสีเขียว” ที่ธุรกิจอ้างว่าคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ในวันที่ 30 มีนาคมนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมนำเสนอ “ข้อริเริ่มผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน” (Sustainable Products Initiative) ซึ่งเป็นการผลักดันให้สินค้าของสหภาพยุโรปมีความทนทาน นำกลับมาใช้ได้บ่อยครั้ง ซ่อมแซมได้ รีไซเคิลได้ และใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะใช้ระเบียบวิธีที่เรียกว่า “Product Environmental Footprint” (PEF) เป็นมาตรฐานวัด “ค่าทางสิ่งแวดล้อม” (green claims) หรือการวัดผลกระทบของผลิตภัณฑ์และผลการดำเนินงานของบริษัทตลอดห่วงโซ่คุณค่าที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การสกัดวัตถุดิบจนถึงสิ้นวงจรอายุของผลิตภัณฑ์นั้น

ความคืบหน้าในครั้งนี้ เป็นความพยายามขจัดปัญหา “การฟอกสีเขียว” (green washing) และคำอวดอ้างผิด ๆ ที่บริษัทระบุว่าได้มีการดำเนินการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยบริษัททั่วสหภาพยุโรปจะต้องยืนยันค่าทางสิ่งแวดล้อมของตนตามระเบียบวิธีดังกล่าว โดยคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า ข้อเสนอนี้จะช่วยสร้างมาตรฐานความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ และสอดคล้องกันของ “ข้อมูลรับรองความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” (green credentials) ของบริษัทต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป ทั้งยังจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกสนับสนุนสินค้าที่ยั่งยืน (อย่างแท้จริง) ด้วย

มาตรฐาน PEF ได้ถูกพัฒนามาเกือบทศวรรษ โดยตั้งอยู่บนฐานการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life-Cycle Assessments: LCA) ตั้งแต่การสกัดวัตถุดิบ ผ่านกระบวนการผลิต การใช้งาน จนถึงการจัดการขยะขั้นสุดท้ายซึ่งเป็นการจบวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้น แม้วิธีนี้จะค่อนข้างมีความซับซ้อนในการดำเนินการ แต่ Malte Lohan ผู้อำนวยการทั่วไปของเครือข่ายอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหภาพยุโรปมองว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะใช้วิธีดังกล่าวเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของสินค้าและผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

กระนั้น ยังมีข้อคำถามสำคัญต่อการดำเนินการนี้ โดยเฉพาะว่าข้อเสนอให้ใช้ PEF เป็นมาตรวัดนั้น เป็น “ขัอบังคับ” หรือเป็น “ความสมัครใจ” และจำเป็นหรือไม่ที่บรรดาธุรกิจและบริษัทต่าง ๆ จะต้องเพิ่มฉลากบนผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อชี้แจงว่าได้ดำเนินการที่ผ่านมาตรฐานตาม PEF

ทั้งนี้ ความเห็นบางส่วนมองว่า การบังคับให้ PEF เป็น “ข้อกำหนดที่จะต้องทำ” จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่คุ้มค่า เพราะทุก ๆ ธุรกิจจะต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนและจริงจังว่ามีการดำเนินการอย่างไร เป็นความโปร่งใสในการดำเนินการต่อทั้งผู้ตรวจสอบ ลูกค้า และผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี ความเห็นบางส่วนมองว่าข้อเสนอนี้อาจมีข้อเสียบางประการ ด้วยเหตุผลที่ว่าการประเมิน PEF มีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง เพราะจะต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของการสิ้นสุดอายุของผลิตภัณฑ์ โดยจะต้องอาศัยความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในการประเมิน ทำให้การประเมิน PEF อาจกลายเป็นอุปสรรคสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ ธุรกิจ SMEs เสียเอง ทั้งที่นับว่าเป็นขนาดธุรกิจซึ่งมีอยู่จำนวนมากและเป็น “สันหลัง” สำคัญของสหภาพยุโรป

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | จากฟอกความยั่งยืน SDG washing สู่ความยั่งยืนที่แท้จริง SDG enabling
SDG Insights | หลักการ EPR “ปิดลูปการจัดการซากผลิตภัณฑ์ด้วยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต”
EU บังคับใช้ ‘สิทธิในการซ่อม’ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผู้ผลิตต้องมีอะไหล่สำรองให้ 10 ปี เพื่อซ่อมก่อนจะต้องซื้อใหม่

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.5) ลดการผลิตของเสียโดยการป้องกัน การลด การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำมาใช้ซ้ำ ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
EU to tackle ‘green claims’ with unified product lifecycle methodology (euractiv)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น