SDG Insights | หลักการ EPR “ปิดลูปการจัดการซากผลิตภัณฑ์ด้วยการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต”

เมื่อ 16 ธันวาคม 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม ประกาศจัดทำ MOU ร่วมกับ 50 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการผลิตและการบริโภคสินค้า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวมขยะ และโรงงานรีไซเคิลที่จะมาทำงานร่วมกัน โดยกำหนดให้เทศบาล 3 แห่งในจังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่นำร่องนำ “Extended Producer Responsibility: EPR” หรือ หลักการ “ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต” มาปรับใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตอบโจทย์โมเดล BCG Economy

ความคืบหน้าครั้งนี้หากผลักดันให้สำเร็จจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ดังนั้น SDG Insights จึงได้ร่วมพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ ผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (CEWT) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญศึกษานโยบาย EPR มากว่า 15 ปีของประเทศไทย เพื่อชวนผู้อ่าน Insights ฉบับนี้ได้ทำความรู้จักกับ EPR พร้อมสำรวจแง่มุม ปัจจัยสำคัญ และบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

1 – ความเป็นมาของ EPR

อ.ปเนต เริ่มต้นด้วยการปูพื้นให้เราเข้าใจว่าแท้จริงแล้วคอนเซปต์ EPR ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดและเป็นคำที่แปลมาจากภาษาสวีดิชว่า förlängt producentansvar (ฟอแลงท์ พรอดูเซนทานสวาร์) ที่ปรากฏในรายงานของ Thomas Lindhqvist ผู้ถูกขนานนามว่าเป็นบิดาของ EPR และ Professor Karl Lidgren ที่ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ต่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศสวีเดนในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) ดังนั้น หากนับอายุแล้วก็ถือว่าหลักการนี้มีมากว่า 30 ปีแล้ว

ในส่วนของประเทศไทยนั้น เราเริ่มพูดถึง EPR ประมาณในช่วง ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย หลังจากที่สหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบเชิงแนะนำ (Directive) อยู่หลายกฎที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการซากผลิตภัณฑ์และจำกัดการใช้สารอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อการรีไซเคิล ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นเกรงว่าจะได้รับผลกระทบเนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าส่งออกไปยุโรป และได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรมศึกษาหลักการที่ว่านี้ในฐานะของกลไกกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barrier) จนกระทั่งเกิดความสนใจในหน่วยงานและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่จะนำหลักการ EPR มายกร่างกฎหมายสำหรับซากผลิตภัณฑ์ที่จัดการได้ยากในประเทศไทย เช่น ยางรถยนต์ น้ำมันเครื่อง แบตเตอรี่ และซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (waste electrical and electronic equipment หรือ WEEE) ในเวลาต่อมา

อ.ปเนต เล่าต่อไปว่า การที่ได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศสวีเดนในช่วงเวลาเดียวกันจึงเกิดความสนใจและเลือกที่จะทำหัวข้อวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการนำหลักการ EPR มาประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา โดยมีกูรูของ EPR จากตะวันตกและตะวันออกคือ Thomas Lindhqvist และ Naoko Tojo เป็นที่ปรึกษาในการศึกษาการยกร่างกฎหมาย EPR ในประเทศอินเดีย ประเทศอาร์เจนตินาและประเทศไทยร่วมกับ Greenpeace International แม้ว่าความพยายามยกร่างกฎหมาย EPR สำหรับซาก WEEE ในประเทศไทยในครั้งนั้นจะไม่สำเร็จ แต่ก็ทำให้เข้าใจหลักการและความท้าทายอย่างลึกซึ้ง เมื่อ EPR กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในการแก้ไขปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์และมลพิษจากพลาสติกในท้องทะเล

“ต้องขอบคุณองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม องค์กร NGOs รวมถึงนักวิชาการ… และต้องขอบคุณรัฐบาลไทยที่มีความพยายามปรับตัว… ถ้าจะมองว่าเราตามหลังยุโรป เราก็อาจจะตามหลังอยู่ 20 – 30 ปี แต่ว่ามันก็ดีกว่าเราไม่ได้เริ่ม”

| อธิบายความหมายของ “หลักการความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต”

EPR มีคีย์เวิร์ดคือ “ความรับผิดชอบ” ที่เน้นไปที่ “ความรับผิดชอบของผู้ผลิต” ในลักษณะของการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมให้มากกว่าเดิม

อ.ปเนต อธิบายว่าแต่เดิมนั้นผู้ผลิตก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบจากกระบวนการผลิตและรับผิดชอบต่อตัวผลิตภัณฑ์ของเขาอยู่แล้ว กล่าวคือ หากโรงงานมีการปล่อยของเสียหรือน้ำเสียจากโรงงานของตนก็จะต้องรับผิดชอบจัดการและแบกรับต้นทุนการบำบัดและชดใช้ค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นให้เป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎหมายโรงงานและกฎหมายสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ในส่วนของความรับผิดชอบต่อตัวผลิตภัณฑ์ หากผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่ชำรุดหรือได้รับความเสียหาย ผู้ผลิตก็จะรับผิดชอบด้วยการคืนเงินหรือเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้ในระยะเวลาที่กำหนดหรือในระยะการประกัน  

สิ่งที่ขาดหายไปคือความรับผิดชอบเมื่อผลิตภัณฑ์กลายเป็นซาก เมื่อเกิด “ขยะ” ผู้ผลิตกลับบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของตน แต่ในระบบดั้งเดิมจะปัดให้เป็นความรับผิดชอบของเทศบาล กลายเป็นว่าความสัมพันธ์เปลี่ยนจากคู่ผู้ผลิตกับผู้บริโภคมาเป็นคู่ครัวเรือนกับเทศบาลไปเสียอย่างนั้น และการจัดการขยะก็กลายเป็นภาระหนักของเทศบาลเปรียบเสมือนเจ้าของโรงงานที่ต้องพยายามจัดการขยะให้ดี ทั้งที่ได้วัตถุดิบเข้าระบบเหมือนกล่องสุ่มที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยตามระบบการผลิตและการบริโภคสินค้า

“ในอดีต ขยะส่วนใหญ่เป็นขยะจำพวกขยะอินทรีย์ เศษอาหาร และขี้เถ้า ซึ่งเป็นขยะที่อยู่ในลักษณะที่จัดการได้ไม่ยาก ทำให้หน่วยงานรัฐในท้องถิ่นสามารถหาพื้นที่ มีวิธีการและเทคโนโลยีที่นำมาใช้จัดการขยะได้ แต่ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกเริ่มมีของต่าง ๆ ที่เราใช้แล้วหมดอายุ หรือแม้กระทั่งของที่ยังไม่หมดอายุที่ถูกทิ้งไปให้เทศบาลมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทำให้เกิดความท้าทายแก่เทศบาลที่จะจัดการกับขยะที่มีจำนวนมากขึ้นและหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการควบคุมมลพิษที่เกิดจากการจัดการขยะเหล่านี้ด้วย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดึงเอาขยะบางจำพวกออกมาจากความรับผิดชอบของเทศบาล เพราะมีคนจัดการได้ดีกว่า ซึ่งก็คือผู้ผลิตเองนั่นแหละ”

ตรงนี้ หลักการ EPR กำลังเข้ามาถามว่า ให้ปัญหาการจัดการขยะเป็นเรื่องของผู้ผลิตด้วยได้หรือไม่ เพราะถ้าผู้ผลิตรู้ว่าเขาต้องมีส่วนร่วมในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ของตัวเองก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้นำมารีไซเคิลหรือจัดการได้ง่ายขึ้น ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็นการ internalize ต้นทุนภายนอกเข้ามาในการตัดสินใจของผู้ผลิต

| จำเป็นด้วยหรือที่เอกชนต้องก้าวมามีส่วนรับผิดชอบมากกว่าเดิม ?

คำถามนี้เป็นคำถามสำคัญ ตามธรรมเนียมเดิมนั้นการจัดการขยะนับเป็นบริการสาธารณะ หรือเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรจะให้บริการ แต่เพราะประเภทและจำนวนของขยะที่มีมากขึ้นตามการพัฒนาทางเทคโนโลยี ทำให้เทศบาลเผชิญกับความท้าทายในการจัดการขยะเหล่านี้อย่างเหมาะสม ดังนั้นการมอบความรับผิดชอบต่อขยะบางจำพวกออกมาให้กับคนที่สามารถจัดการได้ดีกว่าจึงเป็นเรื่องจำเป็น

EPR ยังมองเห็นประโยชน์ที่สำคัญคือ การที่ผู้ผลิตตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องรับผิดชอบจัดการซากผลิตภัณฑ์ของตัวเอง จะนำไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นการออกแบบชิ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อประกอบรวมกันเป็นชิ้นได้ง่าย (Design for Assembly) เริ่มหันมาเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาแยกชิ้นส่วนได้ง่าย (Design for Disassembly) เพื่อที่จะได้แยกวัสดุที่ต่างกันออกไปรีไซเคิล (recycle) หรือแม้กระทั่งปรับสภาพเพื่อนำกลับมาใช้งาน (remanufacture) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อระบบนิเวศของการผลิตและการบริโภคในแบบใหม่ กล่าวคือ เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ที่ผลิตภัณฑ์ถูกผลิตจากผู้ผลิต ส่งต่อไปให้ผู้บริโภค ก่อนที่จะถูกทิ้งไปยังเทศบาล มาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ให้วัสดุและพลังงานถูกหมุนเวียนย้อนกลับมาสู่ ผู้ผลิต อีกครั้ง

อ.ปเนต เสริมต่อไปในมุมของการนำ EPR มาใช้ในการจัดการขยะว่า แม้จะเป็นนโยบายที่เพิ่มความรับผิดชอบของผู้ผลิต แต่ก็ต้องมีการวางแผนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และ EPR ต้องถูกผนวกให้เข้ากับการบริหารจัดการขยะที่มีอยู่จึงจะประสบความสำเร็จ ดังนั้นภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงระบบและพัฒนาการบริหารจัดการขยะในภาพใหญ่ให้ดียิ่งขึ้น

| หรือหลักการ EPR คือการทำ CSR ของเอกชน?

อ.ปเนต ช่วยไขความแตกต่างระหว่าง EPR กับ CSR ว่าแม้ทั้งสองคำจะมีตัว R – Responsibility หรือ “ความรับผิดชอบ” เป็นคีย์เวิร์ดเหมือนกัน แต่ก็มีนัยที่แตกต่างกัน  โดย EPR จะมีความเฉพาะเจาะจงกว่าการทำ CSR โดยทั่วไป กล่าวคือ ขณะที่ Corporate Social Responsibility หรือ CSR หมายถึงกิจกรรมใดก็ได้ที่ผู้ผลิตทำเพื่อให้เกิดผลดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นได้ตั้งแต่การปลูกต้นไม้ไปจนถึงการเก็บขยะในทะเลซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่อาจจะยังไม่ทำให้ระบบผลิตภัณฑ์ของตัวเองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  แต่หลักการ EPR จะเน้นการเข้าไปจัดการซากผลิตภัณฑ์หรือขยะบรรจุภัณฑ์จากการขายสินค้าหรือให้บริการของเอกชนรายนั้นเป็นสำคัญ ซึ่งผู้ผลิตจะต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกระบวนการภายในของตัวเองมากกว่า CSR ทั่วไป

การดำเนินการตามหลักการ EPR มี 2 ลักษณะ คือ (1) Voluntary หรือการที่ผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์/ปัญหาขยะโดยสมัครใจ และ (2) Mandatory หรือการที่ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์/ปัญหาขยะเพราะมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่าให้ทำ ในมุมนี้ EPR แบบสมัครใจอาจมองได้ว่าอยู่ใต้ร่มของ CSR ซึ่งเป็นภาพใหญ่ของการดำเนินการให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน

2 – การนำหลักการ EPR มาปฏิบัติ



EPR ในเยอรมนีกับสัญลักษณ์ Green Dot

Green Dot เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการนำหลักการ EPR มาใช้ในเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้ผู้ผลิตเข้ามาร่วมจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์นี้ประทับอยู่จะสื่อความหมายว่า ผู้ผลิตได้จ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ Producer Responsibility Organization หรือ PRO ให้รวมบรรจุภัณฑ์นี้เข้าสู่ระบบรวบรวมและจัดการซากบรรจุภัณฑ์ของท้องถิ่น  ในกรณีนี้ PRO นับเป็น “องค์กรกลาง” ที่ช่วยขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตออกไปให้ครอบคลุมการจัดการกับซากขยะของตนเองที่มีประสิทธิภาพยิ่ง  ซึ่งถือเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือและการหารือร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมและกฎหมายของประเทศที่เอื้อให้เกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ดี  การมี PRO ช่วยดูแลอยู่เพียงแห่งเดียว แม้มีข้อดีคือ รับเป็นจุดบริการที่เดียวที่จัดการกับบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดในประเทศได้อย่างเบ็ดเสร็จ สะดวก ใช้งานง่าย แต่ก็มีข้อเสีย คืออำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมราคา ที่ส่งผลให้ราคาค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูงตามเงื่อนไขของการผูกขาด ในภายหลัง เยอรมันได้สนับสนุนให้เกิด PRO ขึ้นมากหลายเจ้า ซึ่งเป็นผลดีตามหลักเศรษฐศาสตร์ และเห็นผลทั้งในด้านของราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้นและคุณภาพของการบริการที่ดีขึ้นด้วย

เมื่อถามถึงรูปแบบที่ดีที่สุดในการผลักดันหลักการ EPR สู่การปฏิบัติ  อ.ปเนต มองว่าไม่มีโซลูชันหรือโมเดลการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดแต่หากถามถึงปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ EPR สามารถทำงานของมันได้ก็คงจะต้องตอบว่า ความพร้อมของภาคเอกชน–ภาคอุตสาหกรรม เพราะไม่ว่าจะนำเสนอรูปแบบการปฏิบัติใดของ EPR มาใช้ แต่หากผู้ผลิตรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก ก็ไม่สามารถจะผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงการออกแบบระบบผลิตภัณฑ์ได้ อย่างที่เห็นจากกรณีการผลักดัน EPR ในไต้หวันหรือเกาหลีใต้ในช่วงปีค.ศ. 1990 – 2000 (พ.ศ. 2533 – 2543)

ในช่วงเวลาดังกล่าวทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันต่างประสบปัญหาการจัดการขยะและพยายามนำแนวคิด EPR ที่ได้รับการสนับสนุนโดย OECD เข้ามาใช้ แต่ผู้ผลิตในทั้งสองประเทศต่างไม่เข้าใจและไม่เห็นว่าการจัดการขยะควรเป็นหน้าที่ของตน ดังนั้นทั้งระบบที่ให้ภาคเอกชนนำในไต้หวันและระบบที่อาศัยกองทุนของรัฐที่เกาหลีใต้ต่างก็ล้มเหลวไม่สามารถพัฒนาระบบรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์และซาก WEEE ได้ และต้องใช้เวลายาวนานกว่าที่จะตื่นรู้ร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในภายหลัง จนต้องมีการแก้ไขกฎหมายในต้น ค.ศ. 2000 โดยไต้หวันหันมาใช้กลไกกองทุนของรัฐที่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มข้นให้เกิดความโปร่งใสโดยระบบผู้ตรวจบัญชีอิสระ (third-party auditing) ในขณะที่เกาหลีใต้เปลี่ยนมาให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นคนนำและสร้างองค์กร PRO ขึ้นมาเพื่อระดมทุนมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการรีไซเคิล

SDG Move ถามว่าประเทศไทยเราจะต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของระบบแบบเกาหลีใต้หรือไต้หวันหรือไม่ อ.ปเนต ชี้ว่าอาจจะไม่นานขนาดนั้น

“ผมมองว่า ประเทศไทยโชคดีถ้าเราได้เริ่มกันตอนนี้ เนื่องจากเรามีความพร้อมของภาคอุตสาหกรรม ที่ตอนนี้ไม่เหมือนกับภาคอุตสาหกรรมของใต้หวันหรือเกาหลีใต้เมื่อปี ค.ศ. 1990 เพราะเราขับเคลื่อนมาไกลพอสมควร  ปัญหาต่าง ๆ ถูกจุดขึ้นมาแล้ว ความตื่นตัวของภาคเอกชนก็มีแล้ว ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลากับการพยายามบังคับให้ใครทำ และ [บรรยากาศของทางผู้ผลิต] น่าจะมีความพร้อมที่จะเข้ามาคุยกันแล้ว”  

3 – ประเทศไทยกับบทบาทของผู้เล่นที่หลากหลายในวันที่รับหลักการ EPR

แม้ว่าไทยจะมีความพยายามผลักดันหลักการ EPR ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมหลายครั้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายไทยเรายังไม่มีกฎหมายว่าด้วย EPR เป็นการเฉพาะ ในขณะที่ฝั่งฟากยุโรปหรือประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน แอฟริกาใต้ ชิลี จีน อินเดีย หรือเวียดนาม มีการผ่านข้อกฎหมาย EPR ออกไปแล้วหลายฉบับว่าด้วยเรื่องบรรจุภัณฑ์ ซากแบตเตอรี่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซากรถ ในตอนนี้ยังมีการพูดถึงแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุอีกด้วย (ในประเทศอเมริกาและแคนาดา EPR จะอยู่ในกฎหมายระดับมลรัฐ)

แต่ในกรณีของประเทศไทยนั้น อ.ปเนต มีความเห็นว่าความรับผิดชอบของผู้ผลิตอาจจะต้องเป็นไปในรูปแบบของความสมัครใจโดยที่ไม่มีกฎหมายบังคับไปก่อนในระยะแรก เนื่องจากข้อจำกัดด้านกระบวนการทางกฎหมายและบรรยากาศทางการเมืองของบ้านเราเอง กระนั้น การที่มีโครงการนำร่องที่ได้มีการผลักดันกันล่าสุด หากทำได้ก็จะเป็นตัวอย่างสะท้อนว่าสามารถนำหลักการ EPR มาต่อยอดและขยายผลโครงการต่อไปซึ่งในอนาคตคงต้องอาศัยเครื่องมือทางกฎหมายของภาครัฐเข้ามาช่วยอีกทางหนึ่งเพื่อให้สามารถดึงให้ผู้ผลิตรายเล็กที่รวมกันแล้วอาจจะมีส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่พอสมควรให้เข้ามาอยู่ในระบบและร่วมรับผิดชอบไม่เป็น free riders

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นหลังจากที่รับนำ EPR เข้ามาใช้ในพื้นที่นำร่อง 3 แห่งในจังหวัดชลบุรีของสภาอุตสาหกรรมในโครงการ Pack Back ทั้งตัวระบบและบทบาทของผู้เล่นหน้าใหม่ในระบบการผลิตและการบริโภค อ.ปเนต ได้แสดงทรรศนะไว้อย่างน่าสนใจ

“เชื่อว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไรมาก เพราะเรามีระบบเดิม คือมีร้านรับซื้อของเก่าอยู่แล้ว … ไม่ได้ต้อง [ตั้งร้านใหม่] ไปแข่งขันกับเขา ให้ร้านเดิมที่มีอยู่เป็นคนทำ … และสภาอุตสาหกรรม เข้ามาช่วยเรื่องเงินอุดหนุนค่าดำเนินการและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้ก่อเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคก็จะกลายเป็นการสร้างกำลังใจในการคัดแยกขยะแต่ละประเภท  ทำให้เห็นภาพว่าเมื่อคัดแยกขยะแล้วจะถูกนำไปรีไซเคิล มีปลายทางที่เห็นเป็นรูปธรรม และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของผู้คนให้เกิดขึ้นจริงได้ กล่าวโดยสรุป คือ EPR ทำให้ User Experience หรือประสบการณ์ของผู้ใช้นั้นดีขึ้น”

อ.ปเนต ยังได้อธิบายว่าแทนที่จะต้องสร้างระบบขึ้นมาใหม่ การสนับสนุนของผู้ผลิตเองอาจเป็นการเพิ่ม “ชิ้นส่วนที่ขาดหายไป” ของระบบรีไซเคิล เช่นในกรณีของเกาะสีชังก็มีโครงการของมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทยเข้ามาร่วมทดลองอุดหนุนค่าขนส่งระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่ ในขณะที่สภาอุตสาหกรรมก็ประสานกับโครงการของเอกชนรายต่าง ๆ ในการเข้ามารับขยะบรรจุภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่ำ เช่น กล่องเครื่องดื่มและซองวัสดุผสม นอกเหนือไปจากขวด PET HDPE กระป๋อง และขวดแก้วที่มีการรับซื้ออยู่ทั่วไป

“สิ่งที่ประเทศไทยควรคำนึงมี 2 เรื่อง คือ (1) อย่าสร้างระบบซ้อน เพราะต้องอาศัยต้นทุนจำนวนมาก และหากบริหารจัดการไม่ดี อาจล้มเหลวทั้งสองระบบได้ (2) อย่าให้เกิดภาวะเสือนอนกิน [ในระบบรีไซเคิลที่มีอยู่] … จากการให้เงินอุดหนุนของผู้ผลิต โดยไม่ได้เกิดประโยชน์หรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงที่เราสามารถพิสูจน์ได้”

4 – ก่อนและหลังการใช้หลักการ EPR: การผลิตและการบริโภคต่างไปจากเดิมอย่างไร?

อ.ปเนต ยกตัวอย่างเทียบประเทศไทยกับยุโรปให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นผ่านกรณีการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วที่ “คนไทยใช้ 8 ถุงต่อวัน และคนยุโรปใช้เพียง 5 ถุงต่อเดือน” โดยอธิบายเหตุผลหลักที่ไทยและยุโรปใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยต่อวันต่างกันมากว่าเกิดจากระบบการผลิตและการบริโภคของประเทศไทยที่ไม่ได้คำนึงถึง “ขยะที่ตามมาจากการค้าขาย” ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่มีนโยบายเข้ามาควบคุมหรือจูงใจให้ผู้ผลิตลดปริมาณบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น

ประเทศไทยมีการใช้บรรจุภัณฑ์หลายชิ้นเพื่อห่อสินค้าชิ้นเดียว ซึ่งเราพบเห็นได้ในหลายกรณี เช่น การใส่ยาสีฟันในหลอดยาสีฟันพลาสติก บรรจุกล่องกระดาษ แล้วหุ้มพลาสติกใสอีกชั้น เป็นต้น แต่หากเป็นที่สวีเดนนั้น จะมีเพียงแต่ตัวสินค้าโดยที่ไม่มีบรรจุภัณฑ์อื่นเพิ่มขึ้นมาอีก เพราะมีกฎระเบียบว่าผู้ผลิตจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มถ้าหากมีการใช้วัสดุเป็น “บรรจุภัณฑ์” เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าการใส่กล่องหุ้มหลอดพลาสติกนั้นอาจจะมีเหตุผลเรื่องการขนส่ง การรักษาสภาพของยาสีฟัน และการโฆษณา แต่ถามว่าจำเป็นไหม เมื่อผู้ผลิตต้องจ่ายค่าจัดการขยะบรรจุภัณฑ์เหล่านี้สุดท้ายสวีเดนก็วางยาสีฟันเป็นหลอด ๆ ขายบนชั้นได้ไม่มีปัญหาอะไร แค่ออกแบบถาดแบบหลุมไว้เสียบเท่านั้นเอง เช่นเดียวกับการลดการใช้ถุงหิ้วที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้บริโภคต้องเสียเงินค่าถุงอย่างที่เราเห็นในร้านค้าหลายแห่ง

หรือกรณีตัวอย่างเปรียบเทียบด้านการแยกขยะจากครัวเรือน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นขั้นพื้นฐานของการจัดการขยะทุกวิธี เราจะเห็นว่าในประเทศไทยนั้น ครัวเรือนไม่ค่อยมีการคัดแยกขยะเท่าที่ควร ด้วยเข้าใจว่าสิ่งที่คัดแยกจะไปผสมรวมกันใหม่ในรถขยะ เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะจัดให้มีระบบจัดการขยะที่แยกจากกันอย่างชัดเจน แต่ในประเทศที่นำหลักการ EPR มาใช้จะเห็นว่าคนจะแยกขยะเป็นนิสัย เพราะผู้ผลิตจะต้องสร้างระบบจัดการผลิตภัณฑ์ของตน การที่กฎหมายบังคับและ PRO ของผู้ผลิตร่วมมือกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ติดตั้งตู้รับคืนขวดและกระป๋องเพื่อจ่ายคืนเงินมัดจำให้กับผู้บริโภคนั้นช่วยให้คนสวีเดนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม คือ คัดแยกขยะเป็น แล้วส่งต่อให้ผู้ที่มีหน้าที่จัดการขยะดำเนินการต่อและจัดการต่ออย่างถูกวิธี เพราะได้รับข้อมูลทั้งวิธีการจัดการคัดแยก และความมั่นใจว่าวัสดุที่คัดแยกแต่ละอย่างนั้นมีปลายทางรอรับอยู่

แม้ว่า EPR จะไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับขยะมูลฝอยได้ทุกอย่าง แต่การให้ภาคเอกชนที่เป็นผู้ผลิตและเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็งและความพร้อมทางการการเงิน เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทและความรับผิดชอบที่เหมาะสมก็จะเป็นกำลังสำคัญสำหรับการปฏิรูประบบการจัดการขยะของประเทศไทย

“ผมมีคำถามต่อไปว่าภาครัฐมีความพร้อมแล้วหรือยัง หากภาครัฐสามารถส่งสัญญาณอันดีออกไปได้ในเรื่องของ EPR ก็จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จได้”

5 – ทิ้งท้าย: ความท้าทายของ EPR จากปี 2564

อย่างที่ทราบกันดีว่าโลกในปี 2564 กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นำมาซึ่งการบริโภคแบบ New Normal ที่ทำให้ประเด็นการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่ง อ.ปเนต มองถึงสถานการณ์นี้ว่าในมุมของการผลักดันหลักการ EPR ที่ต้องการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตนั้น แม้อาจจะมีความซับซ้อนและยากลำบากมากขึ้นจากการขายของออนไลน์ที่อาจจะข้ามพรมแดนมาและทำให้มีปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์จากการขนส่งเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยิ่งทำให้ความรับผิดชอบของผู้ผลิตและผู้นำเข้ามีความสำคัญมากขึ้นด้วย เกิดเป็นคำถามว่า “สินค้า” มากมายหลายตันที่ส่งมาจากอีกประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะกลายเป็น “ขยะ” ควรอยู่ในความรับผิดชอบของใคร? หรือว่าหลักการ EPR ในยุคปกติใหม่จำต้องปรับตัวในระดับนานาชาติให้มีมิติที่ไปไกลกว่าพรมแดนของแต่ละประเทศตามรูปแบบการผลิต การกระจายและการบริโภคสินค้าหรือไม่ ประเด็นนี้เป็นหัวข้อที่จะต้องมีการหารือกันต่อไป

การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ 12 ว่าด้วยการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของไทยนั้น แม้จะมีความท้าทายมากมายแต่ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ได้รับความสนใจและมีกระแสความเคลื่อนไหวในทางเชิงบวกมาเสมอ SDG Move ขอให้กำลังใจผู้ที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนและหวังว่าเราจะได้เห็นความคืบหน้าของ EPR และประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต

ญาณิน จิวะกิดาการ หุยากรณ์ – สัมภาษณ์
ถิรพร สิงห์ลอ – เรียบเรียงและพิสูจน์อักษร


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย และจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน
-(11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากร โดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศและการจัดการของเสียของเทศบาลและอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
-(12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดในวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้น ลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อที่จะลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี 2563
-(12.5) ลดการผลิตของเสียโดยการป้องกัน การลด การแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำมาใช้ซ้ำภายในปี 2573
#SDG14 ทะเลและทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร
-(14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภท โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงซากปรักหักพังทางทะเลและมลพิษของสารอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม

Last Updated on มกราคม 7, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น