Director’s Note: 18: SDG Move บนเวทีเปิดตัวรายงาน Asia and the Pacific SDGs Progress Report 2022

สวัสดีครับทุกท่าน

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมาผมได้รับเชิญจากคณะกรรมการเศรษฐกิจสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก หรือ UNESCAP ให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา (panellist) ในกลุ่มอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในงานเปิดตัว รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2022″ (Asia and the Pacific SDGs Progress Report 2022) เป็นเวลาประมาณ 5 นาที จึงขออนุญาตนำทัศนะที่ได้นำเสนอไว้ในงานดังกล่าวมาแปลเป็นภาษาไทยและนำเสนอใน Director’s Note ฉบับนี้ครับ

เซสชั่นย่อยของการให้ความเห็นต่อผลการดำเนินงานเพื่อการบรรลุ SDGs ในอนุภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย จากรายงาน Asia and the Pacific SDG Progress Report 2022

” อรุณสวัสดิ์ครับทุกท่าน ผมชื่อ ชล บุนนาค เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้จัดการเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทยหรือ SDSN Thailand ขอบคุณที่เชิญผมเข้ามาร่วมในงานนี้และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ ณ ที่นี้

ผมขอเริ่มแสดงความคิดเห็นด้วยการแสดงความยินดีกับทีมของ UN ESCAP ที่ผลิตรายงานระดับภูมิภาคที่มีความครอบคลุมครบถ้วนเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รายงานฉบับนี้อธิบายสถานะของ SDGs และทิศทางในอนาคตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอนุภูมิภาค รวมถึงได้นำเสนอเครื่องมือใหม่ ๆ อาทิ Dissimilarity Index ที่ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับสถานะของ SDGs ผ่านเลนส์ของแนวคิดการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive Development) นั่นคือการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั่นเอง (Leave No One Behind)

ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะมีความสำคัญและเหนี่ยวรั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รายงานฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นว่ายังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายปัจจัยที่ขัดขวางการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

การมีตัวชี้วัด (Indicators) ที่ใช้ประโยชน์ได้เป็นหนึ่งในความท้าทายหลักนับตั้งแต่มีการเริ่มดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จากหกปีอนุภูมิภาคของเรายังคงขาดข้อมูลตัวชี้วัดของเป้าหมายย่อย (Targets) ที่สำคัญหลายเป้าหมายโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมระหว่างเพศสภาวะ ความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สันติภาพ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เป้าหมายย่อยเหล่านี้มีความสำคัญในการบ่งชี้ว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นมีความครอบคลุมและยั่งยืนหรือไม่ การมีข้อมูลที่ทันกาลก็มีความสำคัญโดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตเช่นการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา 

ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้จะต้องมีการดำเนินการคิดถึงจังในการจัดการกับความท้าทายทางด้านตัวชี้วัดที่กล่าวข้างต้นนั้นคือการมีอยู่และใช้ประโยชน์ได้และความทันกาลของข้อมูล ผมสนับสนุนข้อเสนอของรายงานฉบับนี้ในการทำให้กระบวนการรายงาน SDGs มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการเพิ่มความร่วมมือระหว่างระบบสถิติระดับชาติกับองค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลตัวชี้วัดนั้น (Custodian Agencies) การเพิ่มการลงทุนในการจัดทำการสำรวจระดับครัวเรือนอย่างสม่ำเสมอที่มีองค์ประกอบและคำถามที่สอดคล้องกับ SDGs การเพิ่มการบูรณาการข้อมูลและการประสานงานในระดับชาติเพื่อการทำให้สามารถควบคุมและรวบรวมข้อมูลจากการบริหารหรืองานทะเบียน (Administrative data) ให้มาสนับสนุนตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องเร่งรัดการขับเคลื่อนเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทันเวลาเนื่องจากเราเหลือเวลาอีกเพียง 3,211 วันก่อนที่จะถึงสิ้นปีค.ศ. 2030 ผมเชื่อว่าถ้ารายงานนี้สามารถขยับต่อไปอีกขั้นหนึ่งในการประเมินไม่เพียงสถานะความก้าวหน้าของ SDGs แต่ประเมิน ‘กระบวนการ’ ของการขับเคลื่อน SDGs ด้วย มันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศทุกประเทศ แต่ละประเทศสามารถเรียนรู้จากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าในหลายด้านของกระบวนการขับเคลื่อนและสามารถเรียนรู้จากประเทศเหล่านั้นได้

การประเมินกระบวนการขับเคลื่อนอาจครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้ เช่น ระดับของการผนวก SDGs เข้าไปในนโยบายของรัฐบาลและกลไกที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐสภาและระบบงานยุติธรรม การมีอยู่และใช้ประโยชน์ได้ของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการเงินเพื่อการพัฒนา การมีแพลตฟอร์มความภาคส่วนที่ทำงานได้อย่างมีความหมาย ระดับของความตระหนักรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้คนโดยรวมในประเทศนั้นนั้นเกี่ยวกับ SDGs ระดับของการลงทุนในการวิจัยและนวัตกรรมสำหรับแต่ละ SDGs สถานะของการเสริมสร้างศักยภาพที่จำเป็นในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา 2030 และการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกระดับ

ผมคาดการณ์ได้ว่ามันจะมีอุปสรรคค่อนข้างมากในการประเมินกระบวนการขับเคลื่อน แต่หากเราไม่พิจารณาปัจจัยพื้นฐานและกระบวนการการขับเคลื่อน SDGs มันจะยากมากที่เราจะบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ทันเวลา ในทางกลับกัน หากเราให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานและกระบวนการการขับเคลื่อน SDGs เราอาจสามารถเพิ่มอัตราเร่งของการขับเคลื่อนไปอีกระดับหนึ่งเลยก็เป็นได้

ประการสุดท้ายซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน คือประเด็นเกี่ยวกับภูมิภาคอาเซียน เมื่อเปรียบเทียบสถานะของประเทศในภูมิภาคอาเซียนกับ ASEAN Complementarities ซึ่งก็คือประเด็นภายใต้ SDGs ห้าประเด็น ที่ถูกให้ความสำคัญในเอกสาร ASEAN Vision 2025 จะพบว่า การบรรลุวิสัยทัศน์ที่ยั่งยืนของอาเซียนนั้นอาจจะไม่สดใสนัก 

ความก้าวหน้าของการลดความยากจน – Poverty eradication (เกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDG 1) และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยง – Infrastructure and connectivity (เกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDG 9) มีปรากฏแต่ช้ากว่าที่ควรจะเป็นและยังไม่ถึงระดับเป้าหมายที่ควรจะถึงในปีค.ศ. 2021 ยิ่งไปกว่านั้น ความก้าวหน้าในเรื่องของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน – Sustainable management of natural resources (เกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDG 6, 14, 15) การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน – Sustainable consumption and production (เกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDG 12) และความสามารถในการตั้งรับปรับตัวกับวิกฤติ – Resilience (เกี่ยวข้องโดยตรงกับ เป้าหมายย่อยที่ 1.5, 11.5 และ 13.1) ค่อนข้างมีความน่าเป็นห่วง ทั้งนี้เพราะข้อมูลที่บ่งชี้สถานะของเป้าหมายย่อยส่วนใหญ่นั้นชี้ให้เห็นว่าความก้าวหน้าของเป้าหมายเหล่านี้มีความล่าช้าอย่างยิ่งและบางเป้าหมายมีความถดถอยอีกด้วย นอกจากนี้เป้าหมายย่อยมากกว่าครึ่งหนึ่งในสามประเด็นนี้ยังขาดข้อมูลตัวชี้วัดอีกด้วย

ผมอยากให้กำลังใจกับทีมสถิติในอาเซียนและทีมที่เกี่ยวข้องที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อจัดทำข้อมูล SDGs ของอาเซียนและนโยบายที่เกี่ยวข้อง ถึงกระนั้นอาเซียนจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการขับเคลื่อน SDGs ให้มากขึ้นและหยุดดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs แบบแยกส่วนให้ไปอยู่ในเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งภายใต้ ASEAN Vision เท่านั้น SDGs จำเป็นต้องถูกบูรณาการเข้าไปในทุกส่วนของการทำงานของอาเซียน นโยบายอย่าง Bio-Circular-Green Economy (BCG Policy) ที่อาเซียนให้ความสำคัญ จะเป็นเพียงแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ใช้การเติบโตเป็นตัวนำ (Growth-led development strategy) เท่านั้นหากไม่ยึดหลักการ SDGs 

ASEAN Centre for Sustainable Development Studies and Dialogue (ACSDSD) จำเป็นต้องทำงานอย่างแข็งขันมากขึ้นในการเป็นกลไกในการระดมความเชี่ยวชาญของนักวิชาการในภูมิภาคมาแก้ปัญหาความท้าทายที่เกี่ยวกับตัวชี้วัดข้างต้นและระดมสมองเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาข้างต้น

ทุกประเทศในภูมิภาคจะต้องรับหลักการและเป้าหมาย SDGs เข้าไปในการดำเนินงานในทุกนโยบายของรัฐบาล หาใช่แบ่งส่วนให้นโยบายการบรรลุ SDGs เป็นเพียงหนึ่งนโยบายที่แยกออกจากนโยบายอื่นแต่เพียงเท่านั้น (ทั้งนี้ เพราะเป้าหมาย SDGs และหลักการที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นหลักการในการพิจารณาผลกระทบของนโยบายต่าง ๆ ได้ และจะช่วยชี้ให้เห็นว่านโยบายหนึ่ง ๆ มีผลกระทบทางลบอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง และมีอะไรต้องเยียวยา นโยบายที่สร้างผลกระทบทางลบให้กับ SDGs หลายเป้าหมาย และขัดกับหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind) และการพยายามลดผลกระทบของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อสิ่งแวดล้อม (Decoupling) ไม่ควรจะเป็นนโยบายที่รัฐบาลใดดำเนินการตั้งแต่ต้น – เพิ่มเติมโดยผู้เขียน)

ขอบคุณอีกครั้งที่ให้โอกาสผมมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ครับ”


อ่านสรุป "รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2022" (Asia and the Pacific SDGs Progress Report 2022) ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง 

Last Updated on มีนาคม 28, 2022

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น