SDG Updates | (EP.3) Futures Literacy: ร่วมคิดร่วมสร้างอนาคตผ่านการศึกษาเพื่อการสร้างพลเมือง บทสนทนา และการมีส่วนร่วมในสังคมของเยาวชน

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หลายคนคงได้รับรู้บทบาทของเยาวชนไทยในฐานะพลเมืองของประเทศที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมอย่างแข็งขันในหลาย ๆ รูปแบบผ่านหน้าสื่อต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับกลุ่มขนาดเล็กในชุมชนรอบตัว ไปจนถึงกลุ่มขนาดใหญ่เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเด็นสำคัญระดับประเทศ โดยมีบริบทความท้าทายต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ผนวกความรู้สึกสำนึกของการเป็นสมาชิกร่วมของสังคมเป็นแรงผลักให้เกิดการลงมือทำเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น

SDG Updates ฉบับนี้ขอพาผู้อ่านร่วมเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษาถึงหนทางที่มหาวิทยาลัย หรือ สถานศึกษาในทุกระดับ ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อร่างสร้างตัวของคนรุ่นต่อไป จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ที่ช่วยส่งเสริม “ความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยของเยาวชน” เปิดกว้างให้เกิดบทสนทนา เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาในปัจจุบัน และสร้างอนาคตร่วมกันกับสมาชิกในสังคมทั้งไทยและโลกที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างยั่งยืนต่อไปได้อย่างไร

เข้าถึงภาพประกอบ Visual Note ขนาดเต็มที่นี่: https://www.sdgmove.com/wp-content/uploads/2022/05/FL-EP3


01 – บริบทการเมืองในประเทศ – แรงผลักสร้างความเป็นพลเมืองให้เยาวชน นอกห้องเรียน

| การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของเยาวชนไทย ในฐานะพลเมือง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พาเราทบทวนบริบทความท้าทายที่ประเทศไทยเผชิญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งปัญหาการเมืองและความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ไปจนถึงวิกฤตโควิด-19 ล่าสุด จนทำให้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้เห็นการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกทางการเมืองของเยาวชน โดยเฉพาะจากนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการไม่ทนต่อประชาธิปไตยที่ถดถอยในประเทศ วัฒนธรรมเผด็จการในสถานศึกษา และการบริหารงานของรัฐที่ขาดประสิทธิภาพในช่วงการระบาดของโควิด-19

แม้ว่าในระบบการศึกษาหลักของไทยจะบรรจุการศึกษาเพื่อการสร้างพลเมือง (Civic Education) ไว้ภายใต้ชื่อวิชาหน้าที่พลเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาบังคับสังคมศึกษา แต่ในทางปฏิบัติ เยาวชนได้เรียนรู้การเป็นพลเมืองของตนผ่านกิจกรรมการเคลื่อนไหวนอกห้องเรียน โดยมีพื้นที่สังคมออนไลน์เป็นสื่อกลางเพื่อจัดกิจกรรม แบ่งปันข้อมูล แสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยร่วมกับเยาวชนกลุ่มอื่น ๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในอีกหลายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

| พลังของเยาวชนที่ประจักษ์ชัดในอดีต จุดประกายเยาวชนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง

Ahmad Rifai ผู้อำนวยการมูลนิธิ Kota Kita จากประเทศอินโดนีเซีย กล่าวถึงแรงกระเพื่อมที่ส่งต่อมาจากในอดีต นับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมมาสู่ประชาธิปไตยในประเทศเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีพลังของขบวนการนักศึกษาเป็นส่วนสำคัญ ได้สร้างจุดเปลี่ยนให้เยาวชนในระดับท้องถิ่นรับรู้และตื่นตัวถึงสิทธิพลเมืองของตนเองและหันมาสนใจเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมมากขึ้น

Ahmad ได้นำเสนอโครงการริเริ่มโดย Kota Kita ชื่อ Urban Citizenship Academy (UCA) ที่ทำหน้าที่ดึงให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่เขตเมืองที่ตนอาศัย โดยบทบาทหลักของสถาบัน คือการส่งเสริมการทำงานเพื่อสังคมในระดับชุมชนด้วยการลงมือทำจริงและการให้ความรู้เพื่อสร้างศักยภาพแก่ผู้นำเยาวชน บนหลัก 4 ประการ ได้แก่ ความเข้าอกเข้าใจปัญหาและความยากลำบากของพื้นที่ (empathy) การรับรู้ถึงความสามารถของกลุ่ม (agency) ความเสียสละ (dedication) และความเคารพซึ่งกันละกัน (respect) โดยการทำงานของ UCA ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนประเด็นส่ิงแวดล้อมในชุมชนที่ประสบความสำเร็จมากมาย


02 – สร้างบทเรียนเพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้าง และความแตกต่างในสังคม

| ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองที่มุ่งเน้นความยุติธรรม

ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เชื่อว่าการศึกษาทุกรูปแบบคือการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง โดยบทเรียนที่ถูกกำหนดในระบบการศึกษานั้นมีแนวคิดทางการเมืองหนึ่งแฝงอยู่เสมอ ซึ่งอาจไม่ได้สนับสนุนการเป็นพลเมืองประชาธิปไตยแบบสากลเต็มที่ โดยอาจเห็นได้จากการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองแบบดั้งเดิมที่ต้องการสร้างเยาวชนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณลักษณะที่เป็น “คนดี มีความรับผิดชอบ และมีความตื่นรู้ตื่นตัว” ผ่านการทำงานงานอาสาสมัครและบริการชุมชน ซึ่งก็มีข้อดีคือทำให้เยาวชนได้รับทักษะผู้นำและชุมชนก็ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ทำให้ แต่ข้อเสียคืออาจทำให้เกิดการแก้ปัญหาแบบฉาบฉวย ง่าย และไว และไม่ได้สร้างกิจกรรมให้เยาวชนได้คิดวิเคราะห์มากขึ้น หรือลงมือทำในสิ่งที่สร้างผลกระทบที่ใหญ่กว่าสู่สังคม

ดร.วัชรฤทัย เสนอการปฏิรูปให้การศึกษาเพื่อการสร้างพลเมืองนั้น ต้องสร้าง “พลเมืองที่มุ่งเน้นความยุติธรรม” (justice-oriented citizen) ซึ่งจะมีความสามารถในเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงบวก มีความเข้าใจว่าประเด็นความท้าทายในโลกปัจจุบันนั้นซับซ้อนและต้องการโซลูชันที่มีประสิทธิภาพกว่าการทำงานอาสาสมัคร ดังนั้นการเรียนรู้จึงต้องทำให้ผู้เรียนมี “ทักษะ 3ค” คือ การคิดเชิงวิพากษ์ การคิดเชิงอาทร การคิดเชิงสร้างสรรค์ (3Cs: critical thinking, caring thinking, creative thinking) จึงจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจและสร้างบทสนทนาในประเด็นปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน เปิดกว้าง และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างได้

| การศึกษาเพื่อสร้างสันติภาพ ผ่านบทสนทนาที่สานอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไว้ด้วยกัน

Mariko Komatsu ผู้ประสานงานจาก Hiroshima Organization for Global Peace ประเทศญี่ปุ่น ได้แบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ในฐานะผู้ที่ทำงานด้านสันติภาพ โดยยกตัวอย่างบทเรียนราคาแพงของความขัดแย้งของมนุษย์ที่เกิดขึ้นที่เมืองฮิโรชิมา เมื่อสิ้นสุดหายนะจากระเบิดนิวเคลียร์ การสร้างสันติภาพจึงเป็นแนวทางสำคัญของญี่ปุ่นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยหนทางหนึ่งคือการเรียนรู้ผ่านเรื่องราวของ “ฮิบะคุชะ” (hibakusha) หรือผู้รอดชีวิตจากสงคราม ให้แก่คนรุ่นหลัง

อย่างไรก็ตาม การศึกษาเพื่อสันติภาพ (Peace education) ในแต่ละที่ทั่วโลกก็ถูกถ่ายทอดออกมาไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งในประเทศเอง ตั้งแต่นิยามความแตกต่างของคำว่า “สันติภาพ” ที่คนแต่ละกลุ่มต้องการ เรื่องราวที่ถ่ายทอดจากผู้ที่เกี่ยวข้องย่อมอยู่ภายใต้มุมมองทางการเมืองที่หลากหลาย ดังนั้น การมีพื้นที่ที่ทุกมุมมองต่อประเด็นสันติภาพได้มีส่วนร่วมในบทสนทนา โดยเฉพาะพื้นที่ในสถาบันอุมศึกษาที่เป็นประตูสู่ทั้งอดีตและอนาคต จึงจะสามารถร่วมคิดร่วมสร้างสังคมที่ทุกคนที่มีความแตกต่างดำรงอยู่ร่วมกันได้ (co-exist) อย่างยั่งยืน

ในการเสวนาครั้งนี้ Mariko แนะนำให้รู้จัก Mapping Peace Education แหล่งข้อมูลงานวิจัยและแพล็ตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเป็นตัวช่วยในการเพิ่มมุมมองและพัฒนาบริบทในการเรียนรู้และการสอนการศึกษาเพื่อสันติภาพ ให้ทั้งผู้สอน นักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาทั่วโลกได้

| เสริมพลังการมีส่วนร่วม ด้วยเทคโนโลยี

Dr. Toshiyuki Doi ที่ปรึกษาด้านวิชาการ จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอประเด็นการศึกษาเพื่อการสร้างพลเมืองที่ตัดข้าม (cross-cutting) ในทุกสถานการณ์และทุกบริบท นั่นคือ การทำอย่างไรให้ผู้เรียนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นหนึ่ง ๆ มีส่วนร่วมมากขึ้นในวงสนทนา โดยโซลูชันหนึ่งคือการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ การสร้างห้องเรียนใน metaverse หรือที่เรียกว่า “Metaversity” ซึ่งสามารถเปิดโอกาสให้ทุกคนในคลาสเรียนสามารถเป็นใครก็ได้ในโลกเสมือนนั้น ทั้งนี้ เพื่อต้องการก้าวข้ามความท้าทายในการมีส่วนร่วมในห้องเรียนหรือวงสนทนาที่ถูกยึดติดกับโครงสร้างทางสังคม จนทำให้คนที่รู้สึกว่าตนเองเป็น “ผู้รู้น้อยกว่า” อย่างนักเรียนหรือเด็ก ไม่กล้าหรือรู้สึกอึดอัดในการร่วมแสดงความคิดเห็นกับผู้ที่ถูกมองว่าเป็น “ผู้รู้มากกว่า” อย่างอาจารย์หรือผู้ใหญ่ เทคโนโลยีจะมีส่วนเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงการปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบเดิมนั้น เพื่อยุติการผลิตซ้ำการสร้างคุณค่าบางรูปแบบในการมีส่วนร่วมในสังคมต่อไป


03 – ส่งท้าย: ก้าวข้ามความท้าทาย เพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยให้เยาวชน

ดร.วัชรฤทัย กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ต้องการพื้นที่ในการแสดงออก ในการส่งเสียงความคิดเห็นของพวกเขา ไม่เฉพาะเรื่องการกำหนดว่าการศึกษาที่พวกเขาต้องการเป็นเช่นไรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือยังคงไม่เห็นความพร้อมและความต้องการเช่นเดียวกันจากผู้มีอำนาจ ที่จะเปิดพื้นที่ตรงกลางที่ปลอดภัยให้เยาวชนสามารถพูดสิ่งที่คิด สะท้อนความคิดของตน และเรียนรู้จากคนต่างรุ่นได้

เช่นกันกับ Mariko ที่ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเสียงของทุกคนในสังคม เนื่องจากเราทุกคนอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลาหนึ่งเสมอ ประเด็นทางสังคมหนึ่งจึงมีคนมากมายทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันเกี่ยวข้องเกี่ยวพัน ดังนั้น การมีความเคารพซึ่งกันและกัน รับฟังซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้เกิดบทสนทนาที่มีความหมายได้

นอกจากเรื่องบทเรียน วิธีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาก็เป็นการเรียนรู้เพื่อการสร้างพลเมืองเช่นกัน ผศ.อรรถพล กล่าวถึงการเพิ่มวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่จะฟังของผู้สอน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนกล้าจะแสดงความคิดเห็นแย้งและมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมไปถึงการเชื่อมโยงการเรียนรู้ทั้งจากในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ด้วยการหยิบยกสถานการณ์ปัจจุบันมาพูดคุยถกเถียงกันได้

และไม่ลืมที่จะคำนึงถึงความครอบคลุม Ahmad ร่วมแชร์ข้อมูลเชิงลึกจากการทำงานในประเทศ ที่จำเป็นต้องมีการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เปิดกว้างและพัฒนาวิธีการให้เหมาะสมกับข้อจำกัดของเยาวชนแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่


เรียบเรียงใหม่จากการสัมมนา Panel ที่สี่ Co-Creation of our Futures through Civic Education, Dialogue and Engagement – พงศ์นรินทร์ สุขแจ่ม และ เนตรธิดาร์ บุนนาค
ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง


SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่สามในซีรีส์องค์ความรู้ชุด “ทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต” (Futures Literacy) ในฐานะหนึ่งเครื่องมือสำคัญแห่งยุคสมัยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนผ่านปัจจุบันจากฐานราก ร่วมขับเคลื่อนหลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตลอดจนการเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่มีความผันผวนและซับซ้อนได้อย่างยั่งยืน (Resilience) โดยซีรีส์ดังกล่าวเป็นบทสังเคราะห์จากงานสัมมนานานาชาติ “Futures Literacy in a Post-Covid-19 Asia: Solidarity and Transformative Learning” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The Thai National Commission for UNESCO) เมื่อวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะดำเนินการเผยแพร่บทความผ่านช่องทางของ SDG Move ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565

รับฟังเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook: Office of International Affairs and Global Network, Chulalongkorn U. และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของ Chula Futures Literacy Week ได้ที่เว็บไซต์ www.inter.chula.ac.th/futuresliteracy/

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | ปรับโฉมการศึกษาในเอเชียเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต – สรุปการแสดงปาฐกถา โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์
SDG Vocab | 12 – Education for Sustainable Development – การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD)
นักเรียนเป็นศูนย์กลางและมีทักษะการให้เหตุผลในปัญหาที่ซับซ้อน: กุญแจฟื้นวิชาความเป็นพลเมืองสู่การมีส่วนร่วมที่แข็งขันในสังคม
การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD) เป็นความเร่งด่วนสำหรับเด็ก แต่หลักสูตรการศึกษาในอาเซียนยังพัฒนาช้าเกินไป

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

แหล่งที่มา: Panel Session 4: Co-Creation of our Futures through Civic Education, Dialogue and Engagement

Last Updated on พฤษภาคม 12, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น