‘Global Climate & SDG Synergy Conference 2022’ หวังสร้างความเข้มแข็งเเก่นักเคลื่อนไหวเยาวชนในการจัดการสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงกับการบรรลุ SDGs

วันที่ 20 – 21 กรกฎาคม 2565 มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการหารือเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก นั่นคือการประชุมว่าด้วยการดำเนินการอย่างเชื่อมโยงกันระหว่างสภาพภูมิอากาศโลกและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Global Climate & SDG Synergy  Conference) จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations University) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในรูปแบบผสมผสาน (hybrid) ดำเนินการโดย สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs: UN DESA) เเละ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) โดยมีกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งสหประชาชาติ และสถาบันยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลก (Institute for Global Environmental Strategies: IGES)

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้ชื่อ “The Third Global Conference on Strengthening Synergies between the Paris Agreement on Climate Change and the 2030 Agenda for Sustainable Development” หรือ “การประชุมระดับโลกครั้งที่ 3 ว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่การดำเนินการที่เชื่อมโยงกันระหว่างความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement on Climate Change) และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (the 2030 Agenda)” โดยมีจุดเน้นที่สำคัญ ได้แก่

  • มุ่งพิจารณาความก้าวหน้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของการดำเนินการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ความร่วมมือในการส่งเสริมการขับเคลื่อนสภาพภูมิอากาศเพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส พร้อมกับดำเนินการให้โลกคงอยู่บนแนวทางที่ถูกต้องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 โดยการประชุมจะมุ่งขยายให้เห็นถึงการแบ่งปันประสบการณ์ ความท้าทาย และโอกาส ตลอดจนแนวทางในการเอาชนะหรือจัดการข้อจำกัดในการดำเนินการร่วมกันของวาระสำคัญทั้งสอง
  • มุ่งหมายที่จะรวมองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมที่นำโดยเยาวชน เนื่องจากเยาวชนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการมุ่งเน้นแต่การส่งเสียงเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะสะท้อนวิสัยทัศน์ในกระบวนการตัดสินใจของเยาวชน เช่นนั้นเยาวชนจะสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้รับการสนับสนุนทั้งด้านข้อมูลและการเงิน

Tsuyoshi Yamaguchi รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น กล่าวว่า “การประชุมที่จะเกิดขึ้นนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการดำเนินการที่เชื่อมโยงกันระหว่างสภาพภูมิอากาศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเร่งการดำเนินการไปสู่เป้าหมาย โดยผมจะแนะนำหน่วยงานชั้นนำด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของญี่ปุ่น และหวังว่าจะได้เห็นผู้เข้าร่วมในโตเกียวหรือออนไลน์ในวันที่ 20 และ 21 กรกฎาคมนี้”

สำหรับวันนี้ (20 กรกฎาคม 2565) เวลา 19.15 – 20.00 น. (ตามเวลาญี่ปุ่น) จะมีกิจกรรมพิเศษที่น่าสนใจ อาทิ พิธีมอบรางวัลโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่นแก่เมืองและภูมิภาคที่สามารถขับเคลื่อนไปสู่การลดคาร์บอน / การเปิดตัวรายงาน Global Compact Japan ประจำปี 2565 / การตรวจสอบแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนทางธุรกิจ เป็นต้น

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Insights | มองไปข้างหน้าหลังการประชุม COP26: จุดเปลี่ยนหรือจุดจบของการต่อสู้กับ Climate Change?
– ‘Glasgow Climate Pact’ ข้อตกลงจากการประชุม COP26 ที่ยังคงเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลก ‘1.5°C’ แต่ล้มเหลว ‘ยุติการใช้ถ่านหิน’
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำฟาร์มทั่วโลก คุกคามความพยายามลดโลกร้อนตามความตกลงปารีส
– รายงาน ‘ลดคาร์บอนเป็นศูนย์’ จากภาคการขนส่งในเอเชีย ชี้หลักสำคัญ 6 ข้อ สู่พลังงานสะอาดในอนาคต

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา: 
RAISING CLIMATE AND SDGS AMBITION (UN)
Global Climate and SDG Synergy Conference (IGES)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กรกฎาคม 20, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น