เมื่อความหิวโหยจุดชนวนเหตุขัดแย้ง: Timeline ความล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศศรีลังกา

วิกฤตเศรษฐกิจที่ล่มสลาย “เมื่อความหิวโหยที่เกิดขึ้น นำพามาสู่ความขัดแย้ง” นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ประเทศศรีลังกา ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น ส่งผลให้ประชาชนชาวศรีลังกาต่างดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก แทบไม่มีแม้แต่อาหารสำหรับประทังชีวิต ผู้คนนับหมื่นตกงานจากผลกระทบโควิด-19 และซ้ำร้ายขึ้นไปอีกเมื่อราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคเเละบริโภคต่างทยอยปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ประชาชนในประเทศต้องเผชิญกับความอดอยากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยนานาปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เมื่อย้อนหาสาเหตุกลับพบว่าต้นตอมาจากรัฐบาลศรีลังกาบริหารจัดการเศรษฐกิจผิดพลาดจนนำมาซึ่งวิกฤต เป็นชนวนให้ประชาชนชาวศรีลังกาออกมาประท้วงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

สรุปลำดับเหตุการณ์ของปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศศรีลังกา ได้ดังนี้ 

  • ในปี 2552 หลังจากสงครามกลางเมืองอันยาวนานกว่าหลายทศวรรษในประเทศได้สิ้นสุดลง รัฐบาลศรีลังกา หันกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเน้นการผลิตและขายสินค้าในระดับท้องถิ่นแทนที่จะส่งออก ทำให้ประชาชนเกิดความต้องการพึ่งพาสินค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้น
  • ต่อมาปี 2562 ประธานาธิบดีนายโกตาบายา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) กลับดำเนินนโยบายลดภาษีเงินได้ (income tax) โดยไร้การวางแผน ส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล เกิดการขาดดุลทางการคลังที่เพิ่มมากขึ้น อันเป็นเหตุให้ต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนเงินสดภายในประเทศ
  • ปี 2563 จากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่กระทบไปทั่วโลก ส่งผลให้ต้องปิดกั้นพรมแดนระหว่างประเทศ เป็นเหตุให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่ทำกำไรมากที่สุดของศรีลังกาต้องหยุดชะงัก โดยก่อนเกิดโรคโควิด-19 การท่องเที่ยวมีส่วนสนับสนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ถึงร้อยละ 5 รวมถึงสร้างงานให้มากกว่า 388,000 ตำแหน่ง แต่ในปี 2563 ส่วนแบ่งจาก GDP ในการท่องเที่ยวกลับลดลงเหลือเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้น ส่งผลให้มีคนตกงานมากกว่า 40,000 คน ณ จุดนั้น นับได้ว่าเป็นการล่มสลายของการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรง
  • ปี 2564 รัฐบาลศรีลังกาได้ออกคำสั่งห้ามใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงที่ผลิตในต่างประเทศ ซึ่งการออกคำสั่งห้ามดังกล่าว มีมาเพื่อตอบโต้การล่มสลายของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของศรีลังกา (ดอลลาร์สหรัฐ) ทว่าการให้เปลี่ยนมาพึ่งพาปุ๋ยอินทรีย์ของท้องถิ่นกลับสร้างความล้มเหลวในการเพาะปลูก เพราะมีต้นทุนสูงกว่าและให้ผลผลิตต่ำกว่า ส่งผลให้ต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ เพื่อให้รอดพ้นจากภาวะขาดแคลนอาหาร
  • สำหรับปีนี้ (2565) เมื่อต้นเดือนเมษายน ได้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่เรียกร้องให้ประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษาลาออก ซึ่งจุดชนวนขึ้นในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา ทำให้ในเดือนพฤษภาคม ฝั่งผู้สนับสนุนรัฐบาลได้ออกโจมตีผู้ประท้วงอย่างโหดร้าย ส่งผลให้นายกรัฐมนตรี มหินทา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) น้องชายของประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา ต้องลาออกในเวลาต่อมา และแต่งตั้งให้รานิล วิกรมสิงเห (Ranil Wickremesinghe) อดีตนายกรัฐมนตรีขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน และในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลศรีลังกาออกคำสั่งอนุมัติให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานได้สัปดาห์ละ 4 วัน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำมันและสนับสนุนให้มีเวลาเพาะปลูกพืช เนื่องจากราคาอาหารพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อด้านอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่า ร้อยละ 57 ในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาธัญพืชและน้ำมันพุ่งสูงขึ้นทั่วโลกซ้ำเติมให้สถานการณ์ในศรีลังกานั้นเลวร้ายลงไปอีก
  • ล่าสุดจากการประท้วงของประชาชนชาวศรีลังกาที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ในวันที่ 15 กรกฎาคม โกตาบายา ราชปักษา ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ หลังต้องรีบลี้ภัยออกนอกประเทศเดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์

จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ล่มสลายของประเทศศรีลังกาในครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีรากฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ว่าควรวางแนวทางให้พร้อมรับมือกับปัญหาความท้าทายทางเศรษฐกิจบนความไม่แน่นอนนี้ เพื่อจะได้ปรับหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที อย่าเพียงรอเวลาให้ล่วงเลยจนวิกฤตนั้นยากเกินจะแก้ไขเฉกเช่นที่เกิดขึ้นในศรีลังกาปัจจุบัน  เพราะปัญหาทั้งหมดนั้น ถือเป็นสิ่งที่กดทับโอกาสในการมีชีวิตที่ดีและมีคุณภาพของประชาชนภายในประเทศ

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
สำนักเลขาธิการ UN รวบรวมสารสำคัญ VNR ปี 2022 นำเสนอความท้ายทายในการเร่งบรรลุ SDGs ของ 45 ประเทศ – SDG Move 
วิกฤตราคาอาหารพุ่งในศรีลังกา สู่ความโกรธาจากใจประชาชน – SDG Move
– LO ชี้ วิกฤติซ้อนวิกฤติแช่แข็งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด – SDG Move 
มลพิษทางทะเลครั้งร้ายแรง เมื่อ ‘เม็ดพลาสติก’ ทะลักลงทะเลศรีลังกาจากเหตุไฟไหม้เรือขนสินค้า – SDG Move 
SDG Updates | โลกไม่อาจยุติความหิวโหยได้ หากไม่สามารถยุติความขัดแย้ง และสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น – SDG Move 
จะยุติความยากจนอย่างไรภายในปี 2573 เมื่อเกิดใน ‘รัฐที่เปราะบาง’ ก็มีโอกาสยากจนขั้นรุนแรงแล้ว 50% – SDG Move 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.4) ทำให้เกิดความมั่นใจในระบบการผลิตอาหารและการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยืดหยุ่น เพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในศักยภาพในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ภูมิอากาศที่เลวร้าย, ความแห้งแล้ง, น้ำท่วม และความเสียหาย และเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและที่ดินอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา: 
This visual breaks down the economic crisis in Sri Lanka  
ศรีลังกา : เหตุประท้วงขับไล่ผู้นำศรีลังกาเริ่มคลี่คลาย หลังโกตาบายา ราชปักษา ยื่นจดหมายลาออกอย่างเป็นทางการ (BBC News)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย 

Last Updated on กรกฎาคม 21, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น