SDG Insights | มองไปข้างหน้าหลังการประชุม COP26: จุดเปลี่ยนหรือจุดจบของการต่อสู้กับ Climate Change?

เผ่าไทย สินอำพล
ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“เราเลือกได้ว่าจะบรรลุเป้าหมายเร่งด่วนขนาดใหญ่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือเลือกที่จะยอมรับให้มนุษย์เผชิญกับอนาคตของโลกใบนี้ที่มืดมัว” – คำกล่าวเปิดสำคัญแห่งยุคสมัยโดยเลขาธิการบริหาร UNFCCC ในการประชุม COP26 ที่ผ่านพ้นไปไม่นานนี้ ที่ถือเป็นโอกาสสำคัญ ตัดสินชะตา ขีดเส้นความเร่งด่วนที่จะต้องเปลี่ยนจากคำมั่นสัญญาสู่การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง

ก่อนที่ปี 2564 จะสิ้นสุดลง SDG Insights วันนี้ อาจารย์เผ่าไทย สินอำพล ชวนตั้งคำถามถึงทิศทางของโลกต่อจากนี้ไปที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญของประชาคมโลก โดยพาย้อนไปดู 30 ปีที่ผ่านมาของความพยายาม ตั้งแต่การประชุม Earth Summit ปี 2535 พิธีสารเกียวโตในการประชุม COP3 ข้อตกลงปารีสในการประชุม COP21 ปี 2558 จนถึงการประชุม COP26 ในปีนี้ ที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะมีแนวทางและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ด้วยเป้าหมายของการรับมือเพื่อลดการปล่อยก๊าซ (mitigation) การปรับตัว (adaptation) การระดมเงินทุนให้ประเทศกำลังพัฒนา (finance) และการเร่งรับมือร่วมกัน (collaboration) ไปจนถึงชวนดูข้อเท็จจริงของประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงความเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาสังคมขนาดใหญ่ในหมู่เกาะแปซิฟิกอย่าง PICAN

ว่าในท้ายที่สุดแล้ว นานาประเทศจะมีส่วนร่วมในประเด็นดังกล่าวโดย ‘มองอนาคตร่วมกัน’หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงความคืบหน้าแบบ “เดินหน้าหนึ่งก้าว แต่ถอยหลังสองก้าว” จากจุดเปลี่ยนกลายเป็นจุดจบของการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ?


การรับมือด้านภูมิอากาศ: สามสิบปีที่ว่างเปล่า?

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว การประชุม Earth Summit ปี 1992 (พ.ศ. 2535) ณ กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ได้ริเริ่มดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายการมีอากาศสะอาด การฟื้นฟูป่าไม้ และการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อชะลอการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

5 ปีต่อมา วาระทั้งหลายเหล่านี้นำมาสู่การลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในการประชุม COP (Conference of the Parties) ครั้งที่ 3 ปี 1997 (พ.ศ. 2540) บนหลักการความรับผิดร่วมแต่แตกต่างกัน (common but differentiated responsibilities) ระหว่างประเทศอุตสาหกรรมกับประเทศที่ไม่ใช่อุตสาหกรรม [1] หรือแม้กระทั่งการกำหนดเพดานการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเฉลี่ยไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ด้วยการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามข้อตกลงปารีสในการประชุม COP21 เมื่อปี 2015 (พ.ศ. 2558) [2, 3]

แต่การประชุม COP25 ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 (พ.ศ. 2562) ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน ก็ไม่สามารถเจรจากฎเกี่ยวกับตลาดคาร์บอนระดับโลกได้ลงตัว ทั้งที่ควรจะมีข้อตกลงที่ชัดเจนก่อนปี 2021 (พ.ศ. 2564) [4] มิหนำซ้ำ ยังไม่พบความคืบหน้าในแนวทางที่ประเทศร่ำรวยจะร่วมมือกันลงทุนเพื่อลดความสูญเสียที่เกิดกับประเทศยากจนและประเทศที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศหมู่เกาะกำลังพัฒนาขนาดเล็ก (Small Islands Developing States) [5] ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนภาพของการมุ่งประโยชน์ที่แต่ละรัฐพึงได้จากการผลิต มากกว่าที่ประชาคมโลกจะตื่นตัวแก้ไขปัญหาร่วมกัน

เพราะฉะนั้น ความกดดันทั้งหลายจึงตกอยู่ที่การประชุม COP26 ณ กรุงกลาสโกลว์ สหราชอาณาจักร การประชุมครั้งนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญในการฝ่าทาง (เกือบ) ตันในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาคมโลกและการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือจะเป็นเพียงแค่จุดตอกย้ำความล้มเหลวในการสร้างการทูตด้านภูมิอากาศ ใครจะเข้ามามีส่วนร่วมในการฝ่าทาง (เกือบ) ตันครั้งนี้ จะเป็นเพียงรัฐอย่างเดียว หรือรัฐจะร่วมมือกับภาคประชาสังคมที่มีบทบาทหลากหลาย และการต่อสู้ของโลกใบนี้จะดำเนินไปอย่างไร บทความนี้จะชี้ให้เห็นแง่มุมของการต่อสู้ที่จะกำหนดชะตาของสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ผ่านการประชุม COP26 และความเคลื่อนไหวจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกรณีของประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก

หรือ COP26 จะเป็นเดอะแบกของอนาคตโลก?

“เราเลือกได้ว่าจะบรรลุเป้าหมายเร่งด่วนขนาดใหญ่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือเลือกที่จะยอมรับให้มนุษย์เผชิญกับอนาคตของโลกใบนี้ที่มืดมัว”

คำกล่าวเปิดการประชุม COP26 ของ Patricia Espinosa เลขาธิการบริหารกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) บ่งชี้ถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญว่า มวลมนุษยชาติจะเดินตามแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ริเริ่มมาอย่างช้านานเพื่อความอยู่รอด หรือเลือกที่จะปล่อยให้ผู้คนล้มตาย ทุกข์ทรมาน หรือได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ความพยายามอย่างทะเยอทะยานจากทุกชาติในโลกผ่านการระดมทุนไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาได้ปรับตัวต่อวิกฤตในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น มากไปกว่าตัวเลข 1.5 องศาเซลเซียส เสียงของประชาชนในประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก ผู้หญิงที่เคยไม่มีสิทธิ์มีเสียง นักเรียนและเยาวชนที่ต้องอยู่กับอนาคตที่น่าวิตกกังวล ควรมีความหมายอย่างยิ่งยวดในการเยียวยาภาวะวิกฤตฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ (climate emergency) [6] การเปิดพื้นที่ให้คนในแต่ละท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้อธิบายและสื่อสารองค์ความรู้รวมถึงสิ่งที่พวกเขากำลังประสบอยู่ไปยังผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนการให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้การรับมือกับความเสี่ยงเหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่มากขึ้น [7] เพราะฉะนั้น เป้าหมายที่สำคัญของการประชุม COP26 ทั้ง 4 ประการ [8, 9] จึงประกอบไปด้วย

01 – การรับมือเพื่อลดการปล่อยก๊าซ (mitigation): ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ (global net-zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593)

การรับมือนี้เกิดขึ้นเพื่อพยุงอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสโดยเร่งการยุติการใช้ถ่านหิน ลดการตัดไม้ทำลายป่า เร่งการเปลี่ยนยานพาหนะเป็นระบบไฟฟ้า และส่งเสริมการลงทุนในพลังงานทดแทน จากการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDCs) โดยให้แต่ละประเทศปรับปรุงเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซสืบเนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละภาคการผลิตทุก ๆ 5 ปี เป้าหมายดังกล่าวควรแสดงถึงความก้าวหน้าและความพยายามขั้นสูงสุดตามเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้ว ในการนี้ แต่ละประเทศจะต้องปรับปรุงเป้าหมายล่วงหน้าสำหรับปี 2030 (พ.ศ. 2573) ให้แล้วเสร็จก่อนการประชุม COP26[8, 9] เป้าหมายที่มีการลงนามแล้วระหว่างการประชุม COP26 ประกอบไปด้วย

  • ปฏิญญาผู้นำกลาสโกลว์เกี่ยวกับป่าไม้และการใช้ที่ดิน มีเป้าหมายเพื่อยุติการทำลายป่าไม้ ระบบนิเวศ และที่ดิน รวมไปถึงการปฏิรูปวิถีชีวิตของชุมชนชนบทและกลุ่มชาติพันธุ์อย่างยั่งยืนภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) โดยมีผู้นำจาก 141 ประเทศลงนาม ครอบคลุมพื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกกว่าร้อยละ 85 (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564) อย่างไรก็ดี ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในปฏิญญาดังกล่าว [10, 11]
  • สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นผู้นำในการปฏิญาณเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณก๊าซในปี 2020 (พ.ศ. 2563) [12]
  • การปฏิญาณต่อเป้าหมายการยุติการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในปี 2030 (พ.ศ. 2573) สำหรับประเทศร่ำรวย และปี 2040 (พ.ศ. 2583) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา [13] ประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเวียดนามและอินโดนีเซียได้ให้คำปฏิญาณครั้งนี้ทั้ง ๆ ที่เคยพึ่งพาพลังงานถ่านหินเป็นหลัก [14, 15]

02 – การปรับตัว (adaptation) เพื่อปกป้องชุมชนและที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

เป็นการปรับตัวท่ามกลางสภาพอากาศสุดขั้ว ด้วยการ 1) ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ 2) สร้างระบบเตือนภัย ระบบป้องกันน้ำท่วมและพายุ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันภัย และระบบการเกษตรที่มีความสามารถในการรู้รับปรับตัวให้แก่กลุ่มที่เปราะบางที่สุด และ 3) ผลิตบทสรุปการสื่อสารเพื่อปรับตัว (adaptation communication) เป็นแผนและแนวปฏิบัติในการลดผลกระทบจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และแบ่งปันบทเรียนที่ดีระหว่างประเทศ การปรับตัวทั้งสามด้านมีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียต่อที่อยู่อาศัย วิถีชีวิต หรือแม้กระทั่งการสูญเสียชีวิต นำไปสู่การสร้างอนาคตให้ทุกคนรู้รับปรับตัวต่อภูมิอากาศ (climate resilient future for all) ก่อนการประชุม COP27 ในปี 2022 (พ.ศ. 2565)[8, 9] โดยเพิ่มปริมาณการลงทุนต่อวิธีแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นฐาน (Nature-based Solutions: NbS) ในปัจจุบัน NbS มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูระบบนิเวศ การอนุรักษ์ป่าไม้-ดิน-น้ำ การเกษตร และความหลากหลายทางชีวภาพ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาคเอกชนและภาคการเงินควรมีบทบาทในการเพิ่มการลงทุนอย่างน้อย 3 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อให้ NbS ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ [17]

03 – ระดมเงินทุนให้ประเทศกำลังพัฒนา (finance)

ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ควรระดมทุนอย่างน้อย 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2020 (พ.ศ. 2563) เงินจำนวนดังกล่าวจะนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) นำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและการเติบโตระหว่างประเทศอย่างทั่วถึงและโปร่งใสโดยปราศจากการปล่อยคาร์บอน [8, 9] ในปัจจุบัน องค์กรการเงินระหว่างประเทศที่ถือครองเงินทุนกว่า 130 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ลงนามเพื่อสนับสนุนเป้าหมายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) แต่การกำหนดเป้าหมายในทางปฏิบัติยังไม่มีความชัดเจน และเป็นที่กังวลว่างบประมาณที่ได้จะนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์โครงการเสียมากกว่า [18]

04 – เร่งรับมือร่วมกัน (collaboration)

เพื่อต่อสู้กับวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการจัดทำ Paris Agreement Rulebook ให้แล้วเสร็จ ด้วยการมีฉันทามติใน 3 ด้าน คือ การแสวงหาระบบที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนตลาดคาร์บอน การแก้ไขปัญหาความโปร่งใสเพื่อให้แต่ละประเทศได้บรรลุเป้าหมาย global net-zero และการเจรจาข้อตกลงให้รัฐบาลของแต่ละประเทศปฏิบัติตามแนวทางการควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หัวใจสำคัญที่จะทำให้ฉันทามติด้านความร่วมมือสำเร็จได้ คือ การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมเพื่อปฏิรูปแนวทางการผลิตสินค้า บริการ อาหาร และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงการฟังเสียงของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างหนัก [8, 9]  

การบรรลุเป้าหมายทั้ง 4 ด้านจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ กล่าวคือ เป็นความร่วมมือระหว่างตัวแสดงในระดับโลกจนถึงท้องถิ่น รวมไปถึงการฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มเปราะบางอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม แต่ความร่วมมือที่กล่าวไปเกิดขึ้นจริงหรือไม่?

การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดมากกว่ามองอนาคตของโลกร่วมกัน?

Climate Action Tracker เป็นหน่วยงานที่ติดตามบทบาทภาครัฐในการรับมือตามเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสใน 3 ด้าน ได้แก่ ผลจากนโยบายและการปฏิบัติเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลจากการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดตามเป้าหมาย และการแบ่งปันอย่างเป็นธรรม (fair share) ต่อภาระในการรับมือตั้งแต่ปี 2009 (พ.ศ. 2552) [19] เมื่อเปรียบเทียบบทบาทของภาครัฐตามภาพที่ 1 พบว่า แม้ว่าโลกของเราพยายามที่จะมองหาทางออกเพื่อแก้ไขวิกฤตภูมิอากาศในอนาคตร่วมกัน แต่ภาครัฐแสดงบทบาทยังไม่เพียงพอ ทั้ง ๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมเกินกว่าอย่างน้อยร้อยละ 60 ของปริมาณทั้งโลก (ภาพที่ 2) [20]

เกือบ 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2018 (พ.ศ. 2561) มาจากประเทศร่ำรวย ปัญหาสำคัญที่ไม่สามารถก้าวผ่านได้ในทางปฏิบัติ คือ การเร่งการยุติพลังงานถ่านหินภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) และการเพิ่มงบประมาณเพื่อลงทุนในพลังงานสะอาดให้สมดุลกัน [19] แม้ว่าสหภาพยุโรป (EU) จะดำเนินนโยบาย แนวปฏิบัติ และการกำหนดเป้าหมายภายในประเทศเพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ในระดับที่ยอมรับได้ แต่ยังต้องการความพยายามที่จะแบ่งปันภาระการรับมืออย่างเป็นธรรมและการสนับสนุนทางการเงินให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกายังไม่สามารถฟื้นฟูบทบาทของตนเองให้กลับมาเป็นผู้นำของโลกในการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศได้ เนื่องจากรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ เคยปฏิเสธที่จะแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างไม่ใยดี [21] ด้วยการถอนสหรัฐอเมริกาจากข้อตกลงปารีส และชะลอการปฏิรูปนโยบายพลังงานสะอาด [22] แม้ว่าในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน สหรัฐอเมริกาจะกลับมาเริ่มต้นออกฎีกาเกี่ยวกับการฟื้นคืนกลับที่ดีกว่าเดิม (Build Back Better Bill) [23] และปรับปรุงนโยบายของประเทศเพื่อนำไปสู่การปล่อยก๊าซเป็นศูนย์แล้วก็ตาม ส่วนแคนาดาและออสเตรเลีย เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าแผนรับมือและแนวปฏิบัติของทั้งสองประเทศไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของข้อตกลงปารีส

ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน อินเดีย และบราซิล เผชิญปัญหาไม่ต่างจากกลุ่มประเทศร่ำรวย สามประเทศนี้มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโลกกว่า 1ใน 3 โดยเฉพาะจีนที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในโลกตั้งแต่ปี 2005 (พ.ศ. 2548) [20] และสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศในโลกรวมกัน [24] จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน ก่อสร้าง และเหล็กกล้าเป็นหลัก โดยบริษัทเหล็กกล้ายักษ์ใหญ่อย่าง Baowu ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ตลอดปีมากกว่าปริมาณทั้งปีของปากีสถาน ส่วน Sinopec Group บริษัทปิโตรเลียมและปิโตรเคมีที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของปล่อยก๊าซมากกว่าปริมาณทั้งปีของแคนาดา [25] ในขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม ล้วนต้องปรับเป้าหมายของตนเองให้จริงจังมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทยที่ไม่มีความชัดเจนในการลดการตัดไม้ทำลายป่า [26] และการใช้พลังงานถ่านหิน [27] และเพิ่งประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2065 (พ.ศ. 2608) ช้ากว่าประชาคมโลกถึง 15 ปี ในขณะที่จีนและอินโดนีเซียวางแผนที่จะกำหนดเป้าหมายเดียวกันในปี 2060 (พ.ศ. 2603) [28]

ภาพที่ 1 การเปรียบเทียบบทบาทของภาครัฐในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส (ที่มา: ดัดแปลงข้อมูลจาก [19])

ภาพที่ 2 สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปี 2018 (พ.ศ. 2561) จำแนกรายประเทศ (ที่มา: ดัดแปลงข้อมูลจาก [20])

ในสภาวะที่เอาแน่เอานอนกับเป้าหมายการรับมือไม่ได้ สหรัฐอเมริกาและจีนสร้างความพยายามครั้งใหม่ที่จะร่วมมือกันต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทิ้งท้ายการประชุม COP26 เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า ก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน และการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน [41, 44] แต่ความพยายามดังกล่าวประนีประนอมกับประโยชน์ในการพัฒนาและลดความยากจนของประเทศกำลังพัฒนาอย่างเป็นธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ด้วยการ “ลดการใช้” พลังงานถ่านหินที่ไม่มีการกักเก็บคาร์บอน แทนที่จะยุติตามที่ตกลงไว้ในช่วงแรกของการประชุม [42, 43] ข้อตกลงที่เกิดขึ้นในการประชุม COP 26 กลายเป็นสิ่งสะท้อนว่า ประเทศร่ำรวยล้มเหลวในการลงทุนเพื่อแก้ไขวิกฤตภูมิอากาศให้คนทั้งโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ [45] เช่นเดียวกับ Greta Thunberg เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่บอกว่าข้อตกลงทั้งหลาย “มีช่องโหว่” และ “คลุมเครืออย่างยิ่ง” [46]

ความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศโลกแบบ “เดินหน้าหนึ่งก้าว แต่ถอยหลังสองก้าว” กลายเป็นความจริงที่โหดร้ายสำหรับประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กที่เปราะบาง เพราะกลุ่มประเทศดังกล่าวต้องการเปลี่ยนการตัดสินใจให้กลายเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน [47] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของตูวาลู (Tuvalu) หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ตอกย้ำภาพแห่งความวิกฤตของภูมิอากาศด้วยการแถลงการณ์ระหว่างการประชุม COP26 ในทะเล:

“…พวกเราในตูวาลูกำลังอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น พวกเราไม่สามารถรอคำพูดใด ๆ ได้ในขณะที่ระดับน้ำทะเลรอบตัวเราเพิ่มสูงขึ้นทุกที การระดมทางเลือกในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต้องมาก่อน ต้องทำอย่างจริงจังในวันนี้ เพื่อปกป้องพวกเราในวันพรุ่งนี้…”  [29]

ภาพที่ 3 การยืนแถลงการณ์ในทะเลของรัฐมนตรีประเทศตูวาลูให้แก่การประชุม COP26 [29]

ผลลัพธ์จากการประชุม COP26 โดยเฉพาะการเปลี่ยนใจนาทีสุดท้ายเกี่ยวกับการยุติถ่านหิน (phasing out) เหลือเพียงการชะลอ (phasing down) สร้างความผิดหวังให้แก่ประเทศตูวาลูอย่างมาก [48] เพราะฉะนั้น การยืนแถลงการณ์ในทะเลตั้งแต่เริ่มต้นการประชุม COP26 จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริง

ตูวาลูอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries: LDCs) และเปราะบางที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ [30] ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นกำลังกำหนดชีวิตชาวตูวาลูซึ่งอาศัยอยู่บนที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง 3 เมตร และเสี่ยงต่อการเกิดพายุ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจึงเร่งการสูญเสียที่ดินชายฝั่ง เกิดน้ำท่วมและดินเค็มจนแทรกซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดิน ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ แนวปะการัง และความหลากหลายทางชีวภาพบนดินและในทะเลถูกทำลาย ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนขาดความมั่นคงทางอาหารเนื่องจากการเพาะปลูกและการประมงล้มเหลว ขาดแคลนแหล่งน้ำที่ใช้ในการบริโภค มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ (เช่น โรคที่เกิดจากน้ำเสีย มาลาเรีย ไข้เลือดออก ฯลฯ) และทำให้แสวงหารายได้จากการท่องเที่ยวยากกว่าเดิม [31] ในวันที่ตูวาลูกำลังจมลงสู่ท้องทะเล การย้ายถิ่นออกจากประเทศอาจเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ของเยาวชน ในขณะที่คนรุ่นเก่าไม่ต้องการสูญเสียอัตลักษณ์ ความเชื่อ และวัฒนธรรมดั้งเดิม แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลรุนแรงมากขึ้นทุกวัน [32]

จากสถานการณ์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า ประเทศร่ำรวยและประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่อรองนโยบายและแนวปฏิบัติกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากสถานะการพัฒนาที่แตกต่างกัน มากกว่าที่จะต่อสู้กับวิกฤตการณ์ด้านภูมิอากาศร่วมกันในระดับโลก ในขณะเดียวกัน เป้าหมายที่กำหนดขึ้นในการประชุม COP26 มุ่งเน้นแต่แนวทางการรับมือต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) และการลงทุนสนับสนุนทางการเงิน (finance) ที่ยังไม่ครอบคลุมประเทศผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและไม่มีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติเท่าที่ควร ในขณะที่เป้าหมายในการสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวให้แก่สังคม (adaptation) บนพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างภาคส่วน (collaboration) ก็ยังไม่มีความชัดเจน ตัวแสดงอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) โดยเฉพาะในหมู่เกาะแปซิฟิกจะช่วยเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งดำเนินการต่อสู่กับวิกฤตได้หรือไม่?

PICAN กับการปรับตัวของกลุ่มเปราะบางในหมู่เกาะแปซิฟิก

การมีส่วนร่วมระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ อย่างทั่วถึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อปี 2019 (พ.ศ. 2562) รายงานของสหประชาชาติระบุว่าภาครัฐและสหประชาชาติเป็นตัวแสดงสำคัญที่ขับเคลื่อนการแก้ไขวิกฤตภูมิอากาศในประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กถึงร้อยละ 52 ในขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และภาคประชาสังคมมีบทบาทในการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในหมู่เกาะแปซิฟิกเพียงร้อยละ 16 [34] การเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมจากเครือข่ายตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะช่วยให้การปรับตัวมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นและกลุ่มผู้เปราะบางมากขึ้น        

กลุ่มเปราะบางในการประชุม COP26 ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก ผู้หญิง และเยาวชน รวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์และประชาชนในชนบท เน้นย้ำถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาโดยตลอด แต่พวกเขากลับเป็นกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งมากที่สุด เพราะไม่มีกำลังมากพอที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมได้ ปรากฏการณ์นี้แสดงถึงกระบวนการตัดสินใจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เท่าเทียมมากขึ้นทุกที [33] เมื่อการประชุม COP26 ไม่ได้มีพื้นที่ให้กลุ่มเปราะบางได้สื่อสารอย่างเพียงพอ แล้วพวกเขาจะส่งเสียงอันมีค่านี้ได้ทางไหนอีก?

| ข้อเรียกร้อง 7 ข้อ

หนึ่งในเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับผู้คน ชุมชน และภาคประชาสังคมที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะแปซิฟิก คือ เครือข่ายปฏิบัติการด้านภูมิอากาศในหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Climate Action Network – PICAN) ซึ่งทำงานร่วมกับ NGOs กว่า 1,100 องค์กรใน 120 ประเทศ [35] ในการประชุม COP26 กลุ่ม PICAN ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องใน 7 ข้อ คือ

  1. ยุติการพัฒนาโครงงานพลังงานฟอสซิล
  2. การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดต้องจำกัดอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
  3. จัดหาเงิน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐมาจากผู้ก่อมลพิษทั้งหลายภายในปี 2025 (พ.ศ. 2568)
  4. แสดงเจตนาทางการเมืองที่ลดการสูญเสียชีวิตของประชาชนในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก
  5. ให้บทบาททางเพศและสิทธิสตรีเป็นเงื่อนไขในการสร้างความยุติธรรมด้านภูมิอากาศ สังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศ
  6. เรียกร้องความยุติธรรมคืนมาเพื่อชดเชยการสูญเสียสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม และ
  7. การต่อรองประเด็นภูมิอากาศระดับโลกในการประชุม COP26 ต้องให้โอกาสอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วนและครอบคลุมประชาชนทุกช่วงวัย ห้ามกีดกันเสียงของประชาชนจากหมู่เกาะแปซิฟิก [36]

ข้อเรียกร้องของเครือข่าย PICAN ครอบคลุมประเด็นความเปราะบางหลากหลายประเด็น กลุ่ม PICAN เล็งเห็นว่าบทบาทของผู้หญิง เด็กผู้หญิง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงคนยากจน และชาวบ้านในท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง เป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น แต่ละประเทศและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมเป็นพิเศษในการระบุความเสี่ยง สร้างองค์ความรู้ สร้างพันธกรณี และส่งเสริมสิทธิในการจัดการผลกระทบจากภูมิอากาศที่แปรปรวน ในขณะเดียวกัน ภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศควรผลักดันความคิดริเริ่มในการปรับตัวจากเยาวชนในหมู่เกาะแปซิฟิก รวมไปถึงการมีส่วนร่วมจากผู้แทนเยาวชน ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำนโยบายสิ่งแวดล้อมที่แต่ละประเทศกำหนด [36] เพราะกว่าครึ่งของประชาชนในหมู่เกาะแปซิฟิกเป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 23 ปี กลุ่มเยาวชนเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เพราะฉะนั้น การเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ ขยายโอกาสการทำงานในออสเตรเลียรายฤดูกาล และยกระดับสาธารณสุขให้แก่เยาวชนจึงเป็นเรื่องจำเป็น [37] นอกจากนี้ เมื่อเดือนตุลาคมปี 2021 (พ.ศ. 2564) เครือข่าย Youth4Pacific ได้เน้นย้ำว่า ‘การบังคับอพยพโยกย้ายประชาชนออกจากประเทศหมู่เกาะไม่ใช่มาตรการในการปรับตัว’ แต่สิ่งที่ควรดำเนินการอย่างมากในตอนนี้ คือ การส่งเสริมความยุติธรรมทางเพศและสิทธิมนุษยชนในการตอบสนองต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป [38]  

สิ่งที่ PICAN ในฐานะเครือข่ายภาคประชาคมต้องการเรียกร้องจากประชาคมโลก จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่คำสัญญา (ที่เปลี่ยนแปลงไปมา) เท่านั้น แต่ต้องการการลงมือปฏิบัติที่ทันท่วงที [39] และสร้างอำนาจต่อรองของกลุ่มผู้เปราะบางในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกในการประชุม COP26 โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ แสดงความพยายามที่จะระงับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสอย่างแท้จริง [40] ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาของประเทศตนเองเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อความอยู่รอดของกลุ่มคนที่ตกที่นั่งลำบากมากที่สุดในปัจจุบัน

ความคืบหน้าของ COP26 กับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

แน่นอนว่า COP26 เป็นกลไกสำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนของโลกใบนี้ที่จะยึดมั่นต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 ได้แก่ ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น การขับเคลื่อนนโยบายและการลงมือปฏิบัติหลังจากการประชุม COP26 มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ นำไปสู่จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ ผู้สูญหาย และผู้เสียชีวิตที่ลดลง (SDG 13.1) และส่งเสริมให้แต่ละประเทศที่อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ปรับปรุงเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDCs) ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (SDG 13.2)

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเล็งเห็นว่าผลลัพธ์จากการประชุม COP26 ยังไม่ได้เน้นย้ำถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว ความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน และการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอ ทั้ง ๆ ที่เครือข่ายภาคประชาสังคมของหมู่เกาะแปซิฟิกพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะอยู่รอดภายใต้การเปลี่ยนแปลงอันโหดร้ายนี้ ส่งผลให้ชีวิตของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาและหมู่เกาะแปซิฟิกในปัจจุบันยังคงเผชิญกับความเสี่ยงต่อวิกฤตภูมิอากาศโลกต่อไป ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของเป้าหมายย่อยที่ 13.a ด้านการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอ

ถ้าต้องการให้ COP26 เป็นการประชุมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวทางการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการระดมทุนและการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนเพื่อเพิ่มบทบาทของท้องถิ่นในการปรับตัวให้มากขึ้น (SDG 13.1) เพิ่มยุทธศาสตร์ในรายงานการดำเนินงานด้านการปรับตัว (SDG 13.2) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวการลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า (SDG 13.3) กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนและยกระดับความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ผู้หญิง เยาวชน ชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มชายขอบอย่างมีประสิทธิผลต่อไป (เป้าหมายย่อยที่ 13.b)

ถิรพร สิงห์ลอ – พิสูจน์อักษร

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
-(13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา ความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
-(13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญและมีความโปร่งใสในการดำเนินงาน และทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินงานอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน (capitalization)
-(13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ


แหล่งอ้างอิง

[1] Magrini, M. (2021, October 25). From COP1 to COP26: Flashes of brilliance; years of disappointment. https://geographical.co.uk/nature/climate/item/4182-from-cop1-to-cop26-flashes-of-brilliance-years-of-disappointment  

[2] SDG Move Team. (2564, 26 กุมภาพันธ์). การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำฟาร์มทั่วโลก คุกคามความพยายามลดโลกร้อนตามความตกลงปารีส. https://www.sdgmove.com/2021/02/26/greenhouse-gas-farming-paris-agreement/

[3] ถิรพร สิงห์ลอ. (2564, 3 พฤศจิกายน). ภาษาว่าด้วย COP26: 13 คีย์เวิร์ดใช้ทำความเข้าใจบทสนทนาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. https://www.sdgmove.com/2021/11/03/thirteen-key-buzz-words-cop26/

[4] Keating. D. (2019, December 15). Failure In Madrid As COP25 Climate Summit Ends In Disarray. https://www.forbes.com/sites/davekeating/2019/12/15/failure-in-madrid-as-cop25-climate-summit-ends-in-disarray/?sh=72c360fd3d1f

[5] Vaughan, A. (2019, December 16). COP25 climate summit ends in ‘staggering failure of leadership’. https://www.newscientist.com/article/2227541-cop25-climate-summit-ends-in-staggering-failure-of-leadership/

[6] UNFCCC. (2021, October 31). Remarks by UNFCCC Executive Secretary Patricia Espinosa to open COP26. https://unfccc.int/news/remarks-by-unfccc-executive-secretary-patricia-espinosa-to-open-cop26

[7] ชยา วรรธนะภูติ. (2561). ความสำคัญของความหมายเชิงวัฒนธรรมของลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศ ต่อกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. วารสารสิ่งแวดล้อม, 22(3), 32-40. http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6107/40

[8] UN Climate Change Conference UK 2021. (2021). What do we need to achieve at COP26? https://ukcop26.org/cop26-goals/

[9] เนตรธิดาร์ บุนนาค. (2564, 1 พฤศจิกายน). COP26 – “โอกาสสุดท้าย” รักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นถึง 1.5 °C และ 4 หัวข้อหลักที่จะอภิปรายในการประชุม COP26. https://www.sdgmove.com/2021/11/01/cop26-4-main-topics-of-discussion/

[10] Rannard, G. & Gillett, F. (2021, November 2). COP26: World leaders promise to end deforestation by 2030. https://www.bbc.com/news/science-environment-59088498

[11] UN Climate Change Conference UK 2021. (2021, November 2). Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use. https://ukcop26.org/glasgow-leaders-declaration-on-forests-and-land-use/

[12] BBC News. (2021, November 2). COP26: US to tackle methane leaks from oil and gas wells. https://www.bbc.com/news/world-us-canada-59131282  

[13] BBC News. (2021, November 5). COP26: More than 40 countries pledge to quit coal. https://www.bbc.com/news/science-environment-59159018

[14] Plumer, B. & Friedman, L. (2021, November 4). Over 40 Countries Pledge at U.N. Climate Summit to End Use of Coal Power. https://www.nytimes.com/2021/11/04/climate/cop26-coal-climate.html

[15] Wiriyapong, N. (2021, November 8). Not just empty words, hopefully. https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2211503/not-just-empty-words-hopefully

[16] Harvey, F., Ambrose, J., & Greenfield, P. (2021, November 3). More than 40 countries agree to phase out coal-fired power. https://www.theguardian.com/environment/2021/nov/03/more-than-40-countries-agree-to-phase-out-coal-fired-power

[17] ถิรพร สิงห์ลอ. (2564, 7 มิถุนายน). โลกต้องใช้เงินลงทุนกับ ‘Nature-based Solutions’ มากกว่าเดิม 3 เท่าภายในปี 2573 เพื่อสุขภาวะที่ดีของเราและโลก. https://www.sdgmove.com/2021/06/07/urging-tripling-investments-nature-based-solutions-by-2030/

[18] BBC News. (2021, November 10). What is COP26 and what was agreed at Glasgow climate conference?. https://www.bbc.com/news/science-environment-56901261  

[19] Climate Action Tracker – Countries https://climateactiontracker.org/countries/

[20] Crippa, M., Guizzardi, D., Solazzo, E., Muntean, M., Schaaf, E., Monforti-Ferrario, F., Banja, M., Olivier, J.G.J., Grassi, G., Rossi, S., Vignati, E.,GHG emissions of all world countries – 2021 Report, EUR 30831 EN, Publications Office of the European Union, Luxembourg, 2021, ISBN 978-92-76-41547-3, doi:10.2760/173513, JRC126363  https://edgar.jrc.ec.europa.eu/report_2021

[21] Chemnick, J. & E&E News. (2020, January 9). New Trump rule would allow government to ignore climate impacts of major projects. https://www.science.org/content/article/new-trump-rule-would-allow-government-ignore-climate-impacts-major-projects   

[22] Cheung, H. (2020, January 23). What does Trump actually believe on climate change?.  https://www.bbc.com/news/world-us-canada-51213003  

[23] Thomas-Peter, H. (2021, November 9). COP26: Nancy Pelosi flaunts US return to climate leadership after ‘unfortunate’ Trump years. https://news.sky.com/story/cop26-nancy-pelosi-flaunts-us-return-to-climate-leadership-after-unfortunate-trump-years-12464747

[24] BBC News. (2021, May 7). Report: China emissions exceed all developed nations combined. https://www.bbc.com/news/world-asia-57018837  

[25] Bloomberg News. (2021, October 25). The Chinese Companies Polluting the World More Than Entire Nations. https://www.bloomberg.com/graphics/2021-china-climate-change-biggest-carbon-polluters/

[26] ข่าวสด. (2564, 2 พฤศจิกายน). โลกร้อน : ไม่มีไทยใน 105 ชาติ ลงนามยุติการตัดไม้ทำลายป่า ภายในปี 2030 ที่ COP26. https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_6711090

[27] Greenpeace Thailand. (2564, 15 ตุลาคม). สรุปจากเสวนา ‘นายกฯ ไป COP26 = สภาพพ!!’. https://www.greenpeace.org/thailand/story/21223/climate-live-conclusion-thailand-cop26/

[28] พรพรหม วิกิตเศรษฐ์. (2564, 2 พฤศจิกายน). ประเทศไทยบนเวที COP26: บทบาทและจุดยืนคืออะไร จริงจังจริงใจแค่ไหน?. https://thestandard.co/thailand-cop26/

[29] Reuters. (2021, November 9). Tuvalu minister gives COP26 speech from the sea. https://www.youtube.com/watch?v=9EkSrtlapZQ

[30] UNDP. Tuvalu. https://www.adaptation-undp.org/explore/polynesia/tuvalu

[31] Ralston, H., Horstmann, B., & Holl, C. (2004). Climate Change Challenges Tuvalu. Bonn & Berlin: Germanwatch. https://germanwatch.org/sites/default/files/publication/3632.pdf

[32] Roy, E. A. (2019, May 16). ‘One day we’ll disappear’: Tuvalu’s sinking islands. https://www.theguardian.com/global-development/2019/may/16/one-day-disappear-tuvalu-sinking-islands-rising-seas-climate-change 

[33] de Ferrer, M. (2021, November 2). COP26: Who is being left out of the climate conversation?. https://www.euronews.com/green/2021/11/01/the-missing-voices-of-cop26-who-is-being-left-out-of-the-climate-conversation

[34] Goransson, O. Vierros, M., & Borrevik, C. (2019). Partnerships for Small Island Developing States. United Nations. https://sustainabledevelopment.un.org/content/documents/24591SIDS_Partnerships_May_2019_web.pdf 

[35] Pacific Islands Climate Action Network – PICAN https://www.facebook.com/CANPacificIslands/

[36] Pacific COP26 Demands: The Blue Pacific Demands Climate Justice and Action. https://pacificdemands.org/?fbclid=IwAR3HsKofgbT0khPlJNNPI2idpHLi110vQdcsBqScGEMKgPZEsRqjbzs93_o#one

[37] Wilson, C. (2020, July 8). Demanding the Future: Navigating the Pacific’s Youth Bulge. https://www.lowyinstitute.org/publications/demanding-future-navigating-pacific-youth-bulge

[38] Youth4Pacific Declaration on Climate Change. https://www.youth4pacific.org/declaration

[39] LEANNEM. (2021, May 24). Moving From “Promise To Action” In Pacific Fight Against Climate Change. https://www.sprep.org/news/moving-from-promise-to-action-in-pacific-fight-against-climate-change

[40] LEANNEM. (2021, September 23). Pacific Islands Continue Their Fight For A 1.5˚C World. https://www.sprep.org/news/pacific-islands-continue-their-fight-for-a-15c-world  

[41] VOA Thai. (2564, 15 พฤศจิกายน). คืบหน้าแต่ยังไปไม่ถึง! ที่ประชุม COP26 ตกลงพยายามคุมอุณหภูมิโลก-หารืออีกครั้งปีหน้า. https://www.voathai.com/a/a-fragile-win-from-cop26/6313330.html

[42] Workpoint Today. (2564, 11 พฤศจิกายน). จีน-สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ร่วม ประกาศจับมือกันสู้ Climate Change กลางเวทีประชุม COP26. https://workpointtoday.com/china-us-joint-statement-cop26/

[43] The Standard. (2564, 11 พฤศจิกายน). COP26 บรรลุข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อน หลังอินเดียเป็นแกนนำประนีประนอมลดใช้ถ่านหิน. https://thestandard.co/cop26-reached-agreement-solve-global-warming/

[44] U.S. Department of State. (2021, November 10). U.S.-China Joint Glasgow Declaration on Enhancing Climate Action in the 2020s. https://www.state.gov/u-s-china-joint-glasgow-declaration-on-enhancing-climate-action-in-the-2020s/

[45] Hohmann, S. (2021, November 15). COP26 deal: how rich countries failed to meet their obligations to the rest of the world. https://theconversation.com/cop26-deal-how-rich-countries-failed-to-meet-their-obligations-to-the-rest-of-the-world-171804

[46] BBC News. (2021, November 16). Greta Thunberg says ‘many loopholes’ in COP26 pact. https://www.bbc.com/news/uk-scotland-glasgow-west-59296859

[47] Euronews. (2021, November 11). COP26 latest: US and China agree to strengthen climate cooperation, says Beijing’s envoy. https://www.euronews.com/green/2021/11/10/cop26-latest-negotiations-enter-new-phase-as-draft-climate-deal-is-published

[48] Redmayne, J. (2021, November 15). Sinking Tuvalu laments watered down U.N. Glasgow climate pact. https://www.reuters.com/business/cop/sinking-tuvalu-laments-watered-down-un-glasgow-climate-pact-2021-11-15/  


Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น