บุรีรัมย์ยูไนเต็ด & ทรู เเบงค็อก ยูไนเต็ด เปิดตัวชุดเเข่งรับฤดูกาลใหม่ เน้นผลิตจากวัสดุรีไซเคิลและใช้เทคโนโลยี DryDye ย้อมสีผ้า ช่วยลดมลพิษทางน้ำ

การแข่งขันฟุตบอลไทยลีกจะเริ่มประเดิมนัดเเรกของฤดูกาล 2565/2566 ในวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม 2565  โดยก่อนหน้านี้ทีมแชมป์เก่าอย่าง “บุรีรัมย์ยูไนเต็ด” เพิ่งเปิดตัวชุดแข่งขันที่ทำจากวัสดุขวดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งใช้เส้นใยสองชนิดในการทอ ด้าน “ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด” ทีมอันดับสามของฤดูกาลที่แล้วก็เปิดตัวชุดแข่งภายใต้แนวคิดรักษ์โลกที่ผลิตมาจากเนื้อผ้าที่มีส่วนผสมของเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล (recycled polyester) ซึ่งเป็นเส้นใยที่ได้จากกระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติก พร้อมกับการใช้นวัตกรรมการย้อมผ้าด้วยเทคโนโลยี DryDye ซึ่งเป็นการย้อมผ้าโดยไม่ใช้น้ำ ลดการปล่อยน้ำเสียสู่ธรรมชาติ และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอนับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเปลืองมากเป็นอันดับสองรองจากอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์โดยปกติการย้อมเสื้อหนึ่งตัวต้องใช้น้ำมากถึง 25 ลิตร เพื่อแก้ไขปัญหานี้จึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรมการย้อมสีผ้าด้วยเทคโนโลยี DryDye ที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปแทนที่การใช้น้ำเพื่อนำสีไปจับกับโครงสร้างผ้า ซึ่งประโยชน์ของการย้อมสีด้วยระบบนี้คือไม่มีการใช้น้ำแม้แต่หยดเดียวและลดการใช้สารเคมีถึง 50% เมื่อเทียบกับการย้อมผ้าแบบดั้งเดิม 

ส่วนการผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุขวดพลาสติกรีไซเคิลนั้น จะรวบรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกมาทำความสะอาด ทำให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ด้วยวิธีการหั่นหรือนำไปฉีกบด แล้วจึงแปลงเป็นเม็ด จากนั้นจึงนำเม็ดที่ได้มาปั่นเป็นเส้นด้ายชนิดใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณของเสียแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานที่ต้องใช้สำหรับการรีดผ้าอีกด้วย เนื่องจากผ้าที่มีส่วนผสมของเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลนั้นคงความเรียบได้นาน ไม่ยับง่าย ทำให้ไม่ต้องรีดก็สวมใส่ได้ และหากเปรียบเทียบกับโพลีเอสเตอร์บริสุทธิ์ การผลิตเสื้อผ้าจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลนับว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเนื่องจากลดการปล่อยคาร์บอนลงมากถึง 30%

กล่าวได้ว่ากระแสความสนใจใช้ชุดแข่งขันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในแวดวงลูกหนัง โดยเฉพาะในการแข่งขันฟุตบอลลีกในยุโรป ซึ่งก่อนหน้านี้แบรนด์กีฬาอย่าง Nike ได้ริเริ่มโครงการ Move To Zero เพื่อลดปริมาณขยะและปริมาณคาร์บอน โดยผลิตชุดแข่งจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลให้กับทีมฟุตบอลชื่อดัง อาทิ เชลซี (Chelsea) ลิเวอร์พูล (Liverpool) และ บาร์เซโลนา (Barcelona) เป็นต้น ด้าน Adidas ร่วมมือกับ Parley For The Ocean ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม รวบรวมขยะพลาสติกจากทะเลมารีไซเคิลเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ผลิตชุดแข่งฟุตบอลให้กับทีมเรอัล มาดริด (Real Madrid)  บาร์เยิน มิวนิค (Bayern Munich) และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United) 

การขยับปรับเปลี่ยนมาใช้ชุดแข่งที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลและย้อมสีผ้าด้วยเทคโนโลยี DryDye จึงนับว่าเป็นความพยายามอีกก้าวของวงการฟุตบอลในการมีส่วนร่วมประหยัดการใช้น้ำและลดกระบวนการผลิตที่สร้างมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรการผลิต อย่างคุ้มค่า ตอกย้ำความเป็นไปได้ของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
#TOGETHERBAND สร้างการรับรู้และกระตุ้นการดำเนินการ SDGs ผ่านเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ทุกคนใส่ได้
NextWave Plastics จับมือคู่แข่งทางธุรกิจ สร้างเครือข่ายระดับโลกแห่งแรกที่ปฏิรูปห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดขยะพลาสติกในมหาสมุทร
เพราะเสื้อผ้าจะดูดีบนตัวคุณ ก็ต้องดีกับโลกด้วย ให้เว็ปไซต์และแอป ‘Good on You’ หาแบรนด์แฟชั่นที่ยั่งยืน
ร่วมเรียนรู้ประเด็นการผลิตและการบริโภคเพื่อความยั่งยืนจากเรื่องราวของอิตาลี และอาเซียน ผ่านฟอรัมเสวนา

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ 
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.3) ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี 2573
– (6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568

แหล่งที่มา
“THERE IS NO GIVING UP IN OUR RULES” “กฎเรา…ไม่มีคำว่ายอมแพ้” ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด เปิดตัวชุดแข่งฤดูกาล 2022/23 (เฟซบุ๊กเพจ True Bangkok United)
วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมที่ยั่งยืน (Nike)
เสื้อฟุตบอลรักษ์โลก โครงการชุดแข่งฟุตบอลจากขยะรีไซเคิลของ 2 แบรนด์กีฬาชื่อดัง (True ID)
‘DryDye’ อีโคอินโนเวชั่น ปฏิวัติวงการย้อมผ้าไม่ใช้น้ำ (กรุงเทพธุรกิจ)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on สิงหาคม 10, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น