SDG Insights | (EP.1/2) ‘กิ่งแก้ว’ จะเป็นอย่างไร? ถ้าตอนนั้นประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR : วิเคราะห์เจาะลึกร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ

วิชญ์พาส พิมพ์อักษร

28 กรกฎาคม ที่ผ่านมาสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) ซึ่งเป็นการประชุมของประเทศสมาชิกทั้งหมดเพื่อปรึกษาหารือและตัดสินใจประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาระดับโลกร่วมกัน ได้ลงข้อมติว่า ‘การเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน เป็นสิทธิมนุษยชนสากล ด้วยความมุ่งหวังว่าข้อมติดังกล่าวจะช่วยเต็มช่องว่าง (gap) ในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยให้รัฐต่าง ๆ เร่งนำพันธกรณีและเจตจำนงด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติ

นับเป็นอีกครั้งที่กลไกระหว่างประเทศพยายามตอกย้ำจุดยืนให้นานาประเทศตระหนักถึงความสำคัญ หลังจากที่เคยเกิดกระบวนการทำนองนี้แล้วครั้งหนึ่งในการประชุม Earth Summit 1992 (จะกล่าวโดยละเอียดในบทความหน้า)  แต่การจะทำให้มนุษย์ทุกคนเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ กฎหมายและมาตรการบังคับใช้ที่เป็นรูปธรรม สำหรับประเทศไทยเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็มีความเคลื่อนไหวผลักดันร่างกฎหมายฉบับหนึ่งเพื่อประกันการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด สร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของคนไทยนั่นคือ “ร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ภาคประชาชน” ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน” ที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนได้ยื่นเรื่องริเริ่มเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา [1]

ภาพโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ในงานเสวนาเสวนาเปิดตัว “ร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ(PRTR) ภาคประชาชน” ในวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00 – 13.00 น. ณ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กรีนพีซ ประเทศไทย ภาพจากเว็บไซต์ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

กฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) เป็นกฎหมายที่กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่จัดทำทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษรวมถึงเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชนเพื่อให้ประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวรับรู้ถึงความเคลื่อนไหว หรือการดำเนินการที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย และอาจช่วยป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางอุตสาหกรรม ซึ่งนับวันยิ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน มิใช่ร่างกฎหมายฉบับแรกที่ผลักดันสู่กระบวนการนิติบัญญัติ ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2564 เคยมีการเสนอร่างกฎหมายเนื้อหาทำนองเดียวกันเข้าสู่การพิจารณาชื่อว่า  “ร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….” เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “ร่างกฎหมาย PRTR ฉบับพรรคก้าวไกล” แต่ร่างดังกล่าวถูกที่ประชุมคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรลงความเห็นว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน [2] ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็มีบัญชาการไม่รับรองร่างกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 [3]

ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และกฎหมายลูก 3 ฉบับ คือ

  1. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดทำรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ. 2558
  2. ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง กําหนดประเภทหรือชนิดของโรงงานที่ต้องจัดทํารายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ. 2553 และ
  3. ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง แบบรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดให้โรงงานที่มีสารมลพิษหรือสารเคมีตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่ว่าจะเกิดจากการผลิต การครอบครอง หรือการใช้ หรือเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน ต้องจัดทำรายงานข้อมูลต้องจัดทำรายงานข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด แต่ยังไม่มีกลไกบังคับให้หน่วยงานของรัฐจัดทำทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers) หรือ PRTR จึงกล่าวได้ว่า

“ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย PRTR”



| ถ้าตอนนี้มีกฎหมาย PRTR จะส่งผลต่อเหตุการณ์ใดบ้าง

หากปีที่แล้ว (2564) ประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR บังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งมีสารเคมี หรือสารมลพิษเอาไว้ในครอบครองต้องเปิดเผยข้อมูลการถือครอง เคลื่อนย้าย และปล่อยสารพิษดังกล่าว ก็จะทำให้ประชาชนผู้อาศัยโดยรอบรับรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และอาจมีวิธีรับมือกับความเสียหายในเหตุการณ์ต่อไปนี้ได้ดีกว่าที่เคยเป็น

วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกหรือที่รู้จักในชื่อ “หมิงตี้เคมีคอล”  ซ.กิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เวลา 3.20 น. ถังบรรจุสารเคมีภายในโรงงานระเบิด พบผู้บาดเจ็บประมาณ 10 ราย สาหัส 2 ราย อาคารในรัศมี 2 กิโลเมตรได้รับความเสียหายนับร้อยหลังคาเรือน ต่อมา เวลาประมาณ 9.00 น. เกือบ 6 ชั่วโมงหลังการระเบิด นายอำเภอบางพลีประกาศให้ประชาชนในรัศมี 5 กม. อพยพเป็นจำนวนเกือบ 2,000 คน เนื่องจากเกรงว่าเพลิงจะลุกลามไปติดถังสารเคมีในบริเวณใกล้เคียงประมาณ 20,000 ลิตร อาจเกิดการระเบิดและมลพิษทางอากาศ เวลา 12.00 น. เกิดการระเบิดระลอกที่สอง พนักงานดับเพลิงถูกไฟคลอกได้รับบาดเจ็บ 3 รายและเสียชีวิต 1 ราย เวลา 15.10 น. จนถึงเวลา 17.00 น. ของวันต่อมา เจ้าหน้าที่พยายามดับเพลิงโดยใช้เฮลิคอปเตอร์และรถดับเพลิงหลายรอบทำให้เข้าไปปิดวาล์วถังบรรจุสารเคมีได้หลายจุด แต่ไฟก็กลับมาลุกไหม้รุนแรงหลายครั้ง ใช้เวลาเกือบ 38 ชั่วโมงจึงควบคุมเพลิงได้สำเร็จ[4] หากตอนนั้นประเทศไทยมี PRTR พนักงานดับเพลิง นายอำเภอ และประชาชนคงทราบได้ว่าในโรงงานแห่งนี้มีสารสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer) มากกว่า 1,600 ตัน เพนเทน (Pentane) 60-70 ตัน และสารเคมีอื่น ๆ ทั้งหมดที่เป็นสารก่อมะเร็ง สารที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ สารที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ฯลฯ การวางแผนดับเพลิงด้วยข้อมูลที่ชัดเจนอาจทำให้สามารถควบคุมเพลิงได้ภายใน 24 ชั่วโมง การคาดการณ์ว่าจะมีการระเบิดระลอกที่สองอาจเพิ่มโอกาสป้องกันหรือลดความรุนแรงของการสูญเสีย คำสั่งอพยพที่น่าจะสั่งได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง และคนในพื้นที่โดยรอบซึ่งมีโอกาสมากขึ้นในการเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน

ภาพเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานของบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด โรงงานผลิตเมล็ดโฟม ซอยกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ
ภาพจาก PPTV HD

ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี จังหวัดสมุทรปราการมีเหตุเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรมอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง เช่น ไฟไหม้โรงงานผลิตเครื่องสำอางใน ต. บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ภายในโกดังมีแอลกอฮอล์ ใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการควบคุมเพลิง โครงสร้างโกดังเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท[5] ไฟไหม้โรงงานผลิตน้ำผลไม้ ต.สำโรง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ภายในมีถังไฮโดรเจนขนาดใหญ่หลายถัง แอลกอฮอล์เหลว และทินเนอร์ ใช้เวลา 3 ชั่วโมงในการควบคุมเพลิง[6] และไฟไหม้โรงงานผสมสี ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ภายในมีถังสีและถังสารเคมีจำพวกทินเนอร์เก็บอยู่จำนวนมาก เมื่อเกิดการระเบิดจึงมีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้รับบาดเจ็บ 4 ราย นับเป็นเหตุเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรมที่ร้ายแรงรองลงมาจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกใน ซ.กิ่งแก้ว[7]

เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการมีพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่นเดียวกับจังหวัดระยอง 2 จังหวัดนี้จึงอยู่ในโครงการนำร่องการจัดทำ PRTR ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งหากเข้าไปดูในเว็บไซต์ จะพบว่ามีข้อมูล PRTR ให้ลองสืบค้น แม้ตอนนี้จะมีเพียงข้อมูลจากปี 2556-2558 ในจังหวัดระยองและจังหวัดสมุทรปราการเท่านั้น แต่หลายประเทศที่มีระบบฐานข้อมูล PRTR ในปัจจุบันก็เริ่มต้นจากการรวบรวมรายงานและสร้างฐานข้อมูลก่อนที่จะมีกฎหมาย PRTR บังคับใช้ให้เป็นระบบ  ดังนั้น ในอนาคตเมื่อประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR ใช้บังคับ ตอนนั้นก็น่าจะมีฐานข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงได้

| ร่างกฎหมายภาคประชาชนจะได้ไปต่อหรือไม่?

เนื่องจากร่างกฎหมาย PRTR ของพรรคก้าวไกลมีหลักการและเหตุผลใกล้เคียงกับ ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน จึงมักมีคำถามว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะถูกผลักดันจนสามารถมีผลบังคับใช้ได้หรือไม่  หรืออาจถูกมองว่าเป็นพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินอีก เพื่อหาคำตอบให้กับคำถามดังกล่าว เราอาจต้องเริ่มจากการศึกษาเปรียบเทียบว่า “ร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ภาคประชาชน” หรือ “ร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ. ….” (ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน) เหมือนหรือแตกต่างกับ “ร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….” (ร่างกฎหมาย PRTR ของพรรคก้าวไกล) อย่างไร? โดยใช้ร่างพระราชบัญญัติจากระบบรับฟังความคิดเห็น[8] และร่างพระราชบัญญัติจากข่าวการเปิดตัวร่างกฎหมาย[9] ซึ่งจะเห็นได้ว่า ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนยังคงมีสาระสำคัญของร่างกฎหมาย PRTR ของพรรคก้าวไกล แต่ได้รับการปรับปรุงทั้งในเรื่องข้อกฎหมายและการใช้ภาษาที่ชัดเจนขึ้นดังข้อสังเกตต่อไปนี้

ตารางเปรียบเทียบสาระสำคัญร่างกฎหมาย PRTR ระหว่างฉบับภาคประชาชน กับ พรรคก้าวไกล
เป็นเพียงการดึงเนื้อหาในประเด็นที่แตกต่างพอสังเขปเท่านั้น โปรดดูรายละเอียดในบทความ
  1. ชื่อพระราชบัญญัติและหลักการ ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนได้เพิ่ม “และเปิดเผยข้อมูล” เข้ามาในชื่อและหลักการของร่างกฎหมาย PRTR ของพรรคก้าวไกล ทำให้เห็นองค์ประกอบสำคัญของ PRTR คือ การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นการรับรองสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูล (Right-to-Know)
  2. เหตุผลในการตราพระราชบัญญัติ ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนยังคงอ้างถึงอนุสัญญาสตอกโฮล์ม ปฏิญญาริโอ และแผนปฏิบัติการ 21 เหมือนร่างกฎหมาย PRTR ของพรรคก้าวไกล และได้เพิ่มหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs)[10]

  3. การแจ้งให้ทราบถึงบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลโดยอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ร่างกฎหมาย PRTR ของพรรคก้าวไกลมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 28 มาตรา 32 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กล่าวคือ สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว สิทธิที่จะได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ สิทธิที่จะเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว และสิทธิที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ ส่วนร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 28 มาตรา 41 และมาตรา 43 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คือ สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย สิทธิที่จะได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะฯ สิทธิที่จะเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ฯ และสิทธิที่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐฯ รวมถึงสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ สิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ สิทธิในการเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือชุมชน และสิทธิในการจัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน[11]
  4. ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนตัดข้อยกเว้นตามมาตรา 2 ที่ร่างกฎหมาย PRTR ของพรรคก้าวไกลให้หมวด 2 การประเมินปริมาณสารมลพิษซึ่งไม่มีแหล่งกำเนิดแน่นอนมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาออก ซึ่งจะมีผลให้พระราชบัญญัติตามร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาทั้งฉบับ

  5. บทนิยาม “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” ตามร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนไม่มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
  6. มาตรา 5 ของร่างกฎหมาย PRTR ของพรรคก้าวไกลกำหนดให้อำนาจออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นอำนาจของคณะกรรมการข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ แต่ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ โดยอำนาจนี้ไม่รวมถึงการออกประกาศเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติเหมือนอย่างร่างกฎหมาย PRTR ของพรรคก้าวไกล และร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนยังได้เปลี่ยนสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการกำหนดบัญชีรายชื่อสารมลพิษและเกณฑ์ปริมาณการผลิต มีไว้ในครอบครอง เคลื่อนย้าย หรือปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ประการสุดท้ายจาก “คุณสมบัติความเป็นอันตรายและโอกาสที่สารเคมีนั้นจะแพร่กระจายหรือรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อม” เป็น “สิทธิของประชาชนและชุมชนในการดำรงชีพอย่างปกติและต่อเนื่อง” ซึ่งเป็นการให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางและมุ่งที่ผลลัพธ์มากกว่าร่างกฎหมาย PRTR ของพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกับมาตรา 6 วรรคสาม ที่เพิ่มเนื้อหาว่า ในการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต้องคำนึงถึง “สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการมีส่วนร่วมของประชาชน”

  7. มาตรา 11 ของร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนเปลี่ยนผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองจาก “บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม” เป็น “บุคคลผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้” ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 รวมทั้งเพิ่ม “หรือองค์กรเอกชนหรือคณะบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ” ซึ่งเป็นการรับรองสิทธิการฟ้องคดีของนิติบุคคลในคดีสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดของหลายประเทศในทวีปยุโรป
  8. มาตรา 15 ของร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนได้เปลี่ยนผู้มีอำนาจในการออกประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดประเภทแหล่งกำเนิดสารมลพิษชนิดซึ่งไม่มีแหล่งกำเนิดแน่นอนและหน่วยงานของ รัฐผู้รับผิดชอบจาก “คณะกรรมการ” เป็น “รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ” เช่นเดียวกับมาตรา 5
  9. มาตรา 20 ของร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนกำหนดให้การดำเนินการออกคำสั่งให้บุคคลหรือนิติบุคคลจัดส่งรายงานหรือจัดส่งข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการออกประกาศกำหนด จึงเป็นไปได้ว่าจะมีรายละเอียดมากกว่ามาตรา 20 วรรคสอง ของร่างกฎหมาย PRTR ของพรรคก้าวไกล และแก้ไขเพิ่มเติมได้ง่ายกว่าในอนาคต

  10. มาตรา 23 วรรคหนึ่ง (2) ของร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนได้เพิ่มกรรมการโดยตำแหน่งอีก 1 คน คือ ผู้แทนองค์กรเอกชนด้าน
    การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 โดยมาจากการคัดเลือกกันเอง และตัดองค์ประกอบกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 24 ของร่างกฎหมาย PRTR ของพรรคก้าวไกลซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ เป็นการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งน่าจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนได้มากขึ้น
  11. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ของร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนได้เพิ่มเงื่อนไขในหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษว่า นอกจากจะต้อง “โดยเร็วที่สุด” แล้วยังต้อง “ไม่เกินเดือนตุลาคมของทุกปี” ด้วยซึ่งเป็นการกำหนดกรอบเวลาเพื่อรับรองสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม
  12. มาตรา 30 ของร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนได้เพิ่มวรรคสอง ซึ่งกำหนดว่า ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องคำนึงถึงสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรชุมชนด้วย
  13. ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนได้เพิ่มมาตรา 38 ซึ่งกำหนดโทษทางอาญาของผู้สั่งการ ไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล

เหตุใดร่างกฎหมาย PRTR จึงถูกมองว่าเป็นพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน

เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับมีสาระสำคัญที่คล้ายกัน คำถามที่ว่า “ร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ภาคประชาชน” จะถูกลงความเห็นว่าเป็นพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินอีกหรือไม่ จึงอาจหาคำตอบได้จากคำถามที่ว่า “ร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….” เป็นพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินจริงหรือ? มาตรา 134 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า

ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึงร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1. การตั้งขึ้น ยกเลิก ลด เปลี่ยนแปลง แก้ไข ผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร
2. การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการโอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน
3. การกู้เงิน การค้ำประกัน การใช้เงินกู้ หรือการดำเนินการที่ผูกพันทรัพย์สินของรัฐ
4. เงินตรา
ในกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะเป็นผู้วินิจฉัย


ซึ่งหากใครได้อ่านร่างกฎหมาย PRTR ของพรรคก้าวไกล และร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนจะเห็นได้ว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ไม่มีองค์ประกอบใดตามมาตรา 134 วรรคหนึ่ง (1) – (4) เลย จึงเหลือเพียงกรณีที่เป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จึงเป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะเป็นผู้วินิจฉัย ดังการประชุมที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564

เมื่อดุลพินิจของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะทำให้เราไม่สามารถอธิบายด้วยหลักเหตุผลได้ว่า “ร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….” เป็นพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินได้อย่างไร เราจึงต้องไปยังคำถามต่อไปว่า ทำไมนายกรัฐมนตรีจึงไม่รับรองร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ถึงแม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีบัญชาการไม่รับรองร่างพระราชบัญญัติโดยไม่ให้เหตุผลใด ๆ แต่เราอาจหาคำตอบได้จากรายงานสรุปความคิดเห็นจากการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐสภา www.parliament.go.th จำนวน 58 ราย และผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจากการส่งประเด็นไปรับฟังผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงจำนวน 3 ราย ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ผลการรับฟังความคิดเห็นว่า จาก 10 ประเด็นการรับฟังความคิดเห็น มีประเด็นที่ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยถึง 5 ประเด็น เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 4 ประเด็น และเห็นด้วยอย่างเป็นเอกฉันท์เพียง 1 ประเด็น[12] จึงเห็นได้ว่า “ร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….” ที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ยังไม่เป็นที่ยอมรับในการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เท่าที่ควร แต่ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากรายงานสรุปความเห็นดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอแนะให้แก้ไขร่างพระราชบัญญัตินี้ มิใช่ให้ไม่รับรอง และการนำข้อมูลรายงานสรุปความเห็นมาประมวลผลเพื่อมีมติรับรองหรือไม่รับรองร่างพระราชบัญญัติที่จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนก็ควรกระทำโดยคณะบุคคลมากกว่าคนคนเดียว

ปลายทางของร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชนจะนำไปสู่การพิจารณาจนสามารถคลอดเป็นพระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่สังคมต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป แต่ในระหว่างที่ร่างกฎหมายฉบับนี้กำลังเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ ประชาชนคนธรรมดาเช่นไรทุกคนก็ควรรับรู้ และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจนว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับนี้ แล้วการมีกฎหมาย PRTR ช่วยลดความเสียหายจากสารมลพิษได้จริงหรือไม่ หาคำตอบร่วมกันได้ใน SDG Insights ฉบับหน้า


พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ -บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง 

SDG News | EnLaw จับมือภาคีเครือข่ายผลักดันกฎหมาย PRTR ชี้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและชีวิตที่ปลอดภัย รัฐและเอกชนต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยสารมลพิษ

อ้างอิง:

[1] “เปิดตัว “ร่างกฎหมาย PRTR ภาคประชาชน”.” สืบค้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565. https://enlawfoundation.org/launch-thaiprtr-draftact/.

[2] “กมธ.คว่ำร่างกม.ก้าวไกล.” ใน ข่าวสด ออนไลน์, 20 มกราคม 2564. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565. https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_5774347.

[3] ศิริกัญญา ตันสกุล. “ประยุทธ์ปัดตกร่าง พ.ร.บ. PRTR (อีกแล้ว).” สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565. https://www.moveforwardparty.org/news/parliament/3858/.

[4] “โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้: สารเคมีตกค้าง ปัญหาใหม่หลังเหตุไฟไหม้โรงงานสารเคมี จ.สมุทรปราการ.” ใน BBC News ไทย, 5 กรกฎาคม 2564. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565. https://www.bbc.com/thai/thailand-57723752; “โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้: ศูนย์พิษวิทยาศิริราช ให้ข้อมูล สารเคมีอันตราย.” ใน ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์, 5 กรกฎาคม 2564. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565. https://www.prachachat.net/general/news-706271; กนกพร โชคจรัสกุล. “ไฟไหม้ โรงงานกิ่งแก้ว “สารเคมี” ตัวไหน น่ากลัวกว่าที่เห็น.” ใน กรุงเทพธุรกิจ, 7 กรกฎาคม 2564. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565. https://www.bangkokbiznews.com/social/947601.

[5] “ไฟไหม้โกดัง บริษัทผลิต-เก็บเครื่องสำอาง ตัวแทนจำหน่ายหลายแบรนด์ ย่านบางพลี.” ใน จส 100, 2 พฤษภาคม 2565. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565. https://www.js100.com/en/site/news/view/117511.

[6] “เร่งคุมเพลิง-อพยพคน! ไฟไหม้โรงงานผลิตน้ำผลไม้ ทางรถไฟสายเก่า สมุทรปราการ.” ใน จส 100, 16 พฤษภาคม 2565. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565. https://www.js100.com/en/site/news/view/117941; “ไฟไหม้ระทึก โกดังโรงงานน้ำผลไม้ ควันดำพวยพุ่ง อาคารเริ่มร้าว พบมีถังไฮโดนเจนสะสม.” ใน ข่าวสด ออนไลน์, 16 พฤษภาคม 2565. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565. https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_7051772.

[7] “ระทึก! ไฟไหม้โรงงานผสมสีย่านบางพลี นักดับเพลิง-พนง.ถูกแรงระเบิดเจ็บ 4 ราย.” ใน กรุงเทพธุรกิจ, 18 มิถุนายน 2565. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565. https://www.bangkokbiznews.com/news/1010760.

[8]https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=124,https://www.parliament.go.th/section77/manage/files/file_20210118110253_1_124.pdf 

[9] https://enlawfoundation.org/launch-thaiprtr-draftact/, https://enlawfoundation.org/wp-content/uploads/2022/06/ThaiPRTR-DraftAct-Final.pdf

[10] “หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs).” สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565. https://jsccib.org/en/knowledge/view/99.

[11] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 40 ก/หน้า 1/6 เมษายน 2560. [12] คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดจากร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. ….. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2564. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565. https://www.parliament.go.th/section77/manage/files/file_20210402091405_2_124.pdf

Last Updated on สิงหาคม 15, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น