Director Notes: 25: ขับเคลื่อน SDGs ไปสู่ความยั่งยืนที่แท้ ให้ไกลกว่าแค่การทำ SDG Mapping

สวัสดีครับทุกท่าน

ปัจจุบันเป็นปีที่เจ็ดของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จากการประเมินของหลายหน่วยงานในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนานาชาติ อาทิ องค์การสหประชาชาติ (UN) ระดับภูมิภาค อาทิ อาเซียน หรือคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) หรือกระทั่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ประเมินว่าการขับเคลื่อน SDGs ยังคง “ช้ากว่าที่ควรจะเป็น” ดังนั้นการที่ทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อน SDGs นั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยและโลกบรรลุ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายได้ตามที่นานาประเทศได้ให้คำมั่นไว้

อย่างไรก็ดี การนำ SDGs ไปปฏิบัติจริงนั้น ยังคงใช้วิธีการที่มีความหลากหลายกันอยู่มาก วิธีการหนึ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ มักใช้ก็คือ การนำเป้าหมาย (Goals) และเป้าหมายย่อย (Targets) ของ SDGs ไปเชื่อมโยงกับงานที่ทำอยู่เดิม หรือที่อาจจะเรียกเป็นการทำ ‘SDG Mapping’ ในลำดับต่อมา วิธีการที่มีความลึกซึ้งกว่าการทำ SDG Mapping คือการพิจารณาห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของการดำเนินการ และหาวิธีการลดผลกระทบจากแต่ละกิจกรรมในห่วงโซ่คุณค่าเหล่านั้น ถึงกระนั้นก็ยังมีการนำ SDGs ไปปฏิบัติที่อาจไม่นำไปสู่ความยั่งยืนจริง ในหลายกรณีถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจริง ๆ แล้วเป็นเพียงการใช้ภาษาของ SDGs ในการฟอกให้การดำเนินงานของหน่วยงานนั้นมีความยั่งยืนเพิ่มขึ้นหรือดูมีความยั่งยืนเพิ่มขึ้นเท่านั้น

ดังนั้นใน Director’s Note ฉบับนี้ผมอยากจะเสนอแนวทางการนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับองค์กร ในลักษณะที่จะทำให้การขับเคลื่อน SDGs นั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ของวาระการพัฒนา 2030 ได้อย่างแท้จริง ทั้งหมด 4 ขั้นตอน โดยข้อเสนอที่จะกล่าวต่อไแนี้มาจากประสบการณ์ในการติดตามการขับเคลื่อน SDGs ตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา

1 – เลือกเป้าหมายย่อยที่ต้องการรับผิดชอบ

ขั้นตอนแรกของการนำ SDGs ไปปฏิบัติ คือ การเลือกเป้าหมายย่อยที่เราต้องการรับผิดชอบ หลายคนเข้าใจว่าการขับเคลื่อน SDGs จะต้องทำงานตอบโจทย์ให้ได้ทั้งหมดทุกเป้าหมายและเป้าหมายย่อย ในขณะที่หลายคนก็คิดว่าเราสามารถเลือกทำหรือพิจารณาเพียงเป้าหมายเดียวเลยก็เพียงพอ สิ่งที่จะเสนอต่อไปนี้คือ “เราไม่สามารถทำงานเพื่อเป้าหมายทั้งหมดได้แต่เราก็ไม่สามารถจะทำงานเพื่อแค่เป้าหมายเดียวได้เช่นกัน” ทั้งนี้เพราะการทำงานขับเคลื่อน SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย 169 เป้าหมายย่อยนั้นอาศัยทรัพยากรจำนวนมหาศาล อีกทั้งก็หลาย ๆ องค์กร/หน่วยงาน/โครงการก็มักมีภารกิจเฉพาะของตนในด้านใดด้านหนึ่งอยู่เดิมแล้ว ในทางกลับกัน การทำงานกับ SDGs แค่เพียงบางเป้าหมายย่อยนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ เพราะ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายนั้นมีทั้งส่วนที่เสริมกัน (synergies) และส่วนที่ขัดกัน (trade-offs) หากเราทำงานเฉพาะกับเป้าหมายย่อยที่เราพิจารณาโดยไม่มองถึงผลกระทบที่จะมีต่อเป้าหมายอื่น ก็จะเกิดปัญหาตามมา

2 – เข้าใจความเชื่อมโยงและผลกระทบข้ามเป้าหมายย่อย

ขั้นที่สอง ดูความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายย่อยที่องค์กรพิจารณากับเป้าหมายย่อยอื่น โดยต้องพิจารณาผลกระทบทางบวกและลบที่อาจเกิดขึ้นกับเป้าหมายย่อยอื่นตลอดเส้นทางของงานที่ทำเพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงข้ามเป้าหมาย สิ่งที่ต้องทำคือ หาวิธีการหรือออกแบบโครงการเพื่อบรรลุเป้าหมายย่อยขององค์กรในลักษณะที่จะไม่สร้างปัญหาให้กับเป้าหมายย่อยอื่น ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่หน่วยงาน/องค์กร/โครงการ เลือกพิจารณาและรับผิดชอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนลำดับที่ 2 เป้าหมายย่อยที่ 2.3 (SDG 2.3) ที่ว่าด้วยการเพิ่มผลิตภาพและรายได้ให้กับผู้ผลิตอาหารรายเล็ก ประเด็นที่ต้องคิดให้รอบคอบ คือ หากเรายังดำเนินการด้วยรูปแบบการทำเกษตรแบบเดิม ผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นต่อเป้าหมาย/เป้าหมายย่อยอื่นอาจมีดังนี้ อาทิ ปริมาณการใช้น้ำอาจเพิ่มขึ้นและเพิ่มแรงกดดันด้านทรัพยากรน้ำ (SDG 6) โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง การใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงอาจมีความเข้มข้นมากขึ้นทำเกษตรกรมีความเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตราย (SDG 3.9) นำไปสู่การเกิดมลพิษทางน้ำ (SDG 6.3) และทางทะเล (SDG 14.1) ตามลำดับ รวมไปถึงว่าการส่งเสริมการสร้างรายได้ให้เกษตรกรรายเล็กอาจนำไปสู่การขยายพื้นที่เพาะปลูกด้วยการตัดไม้ทำลายป่า (SDG 15.2) แต่แน่นอนว่าก็ได้สร้างผลกระทบทางบวกต่อเป้าหมาย/เป้าหมายอื่นด้วยเช่นกัน อาทิ ช่วยลดความยากจน (SDG 1.1, 1.2) และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะทำให้กลุ่มประชากรที่มีรายได้ช่วง 40% ล่างสุดมีรายได้เพิ่มขึ้น (SDG 10.1)

ดังนั้น สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ “เราจะออกแบบการเพิ่มผลิตภาพและรายได้ของเกษตรกรรายย่อยให้ไม่สร้างแรงกดดันต่อทรัพยากรน้ำ แรงกดดันต่อประเด็นมลพิษสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพได้อย่างไร ในขณะเดียวกันก็ยังคงหรือเพิ่มผลบวกในเชิงของการลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ”

3 – พิจารณาการนำไปปฏิบัติในบริบทพื้นที่จริง

ขั้นที่สาม คือการนำแนวคิดที่คิดได้จากข้อที่สองนั้นมาพิจารณาปรับให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่จริง เพราะในแต่ละพื้นที่นั้นมีศักยภาพ ข้อจำกัด โอกาส และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างกัน ขั้นตอนนี้จะทำให้โครงการหรือการดำเนินการที่วางแผนไว้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและไม่ส่งผลที่ไม่คาดคิดตามมา

ต่อเนื่องจากสถานการณ์ตัวอย่างข้างต้น หากเรานำแนวคิดของการทำงานบรรลุ SDG 2.3 ในขั้นที่สองมาพิจารณาในบริบทการทำงานหนึ่ง ๆ เช่น ในท้องถิ่นที่เกษตรกรจำนวนมากเป็นผู้สูงอายุ เราจำเป็นต้องคิดหาวิธีการทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ยั่งยืนทางการเกษตรใหม่ ๆ ได้ด้วย ซึ่งจะมีความท้าทายแตกต่างจากพื้นที่ที่เกษตรกรอยู่ในวัยทำงานหรือในวัยรุ่นซึ่งมีความสามารถในการเรียนรู้มากกว่าผู้สูงอายุ เป็นต้น

4 – ตรวจสอบด้วยหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ขั้นสุดท้าย เมื่อออกแบบโครงการต่าง ๆ แล้ว ตรวจสอบอีกรอบด้วยกรอบของหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าเรากำลังดำเนินการในสิ่งที่ตรงตามเจตนารมณ์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ แนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นฐานของ SDGs นั้นประกอบด้วยสามเรื่อง คือ การพัฒนาที่สมดุลและรับผิดชอบต่อคนทุกรุ่น (sustainable) การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (inclusive) และเสริมสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (resilience)

ดังนั้น สิ่งที่เราจะต้องตรวจสอบในการทำงานคือก็คือ หนึ่ง – โครงการหรือแนวทางที่เราออกแบบมานั้นยังสร้างผลกระทบทางลบให้กับเป้าหมายย่อย SDGs ด้านใดอีกหรือไม่ สอง – โครงการหรือแผนงานที่เราวางแผนไว้นั้นจะส่งผลกระทบทางลบต่อใครเพิ่มเติมหรือไม่หรือเราสามารถที่จะกระจายผลประโยชน์ให้ทั่วถึง เพิ่มเติมกว่าเดิมได้อย่างไรบ้าง สาม – โครงการที่เกิดขึ้นนั้นไปมีผลทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีความเปราะบางหรือลดความสามารถในการตั้งรับปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดการพึ่งพาและไม่สามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่


การดำเนินงาน 4 ขั้นตอนนี้น่าจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำ SDGs ไปปรับใช้กับการทำงานขององค์กรได้ในลักษณะที่ตรงกับเจตนารมณ์กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้าใจมากขึ้น นำไปสู่ความยั่งยืนแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงการกล่าวอ้างว่าได้ทำงานตอบโจทย์ SDGs แล้ว


Last Updated on กันยายน 12, 2022

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น