ขจัดปัญหา “ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน” มาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลไทย เทียบแนวทางที่เป็นรูปธรรมจากต่างประเทศ

ปัญหาความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน (gun violence) เป็นอีกหนึ่งในสาเหตุการตายจากอาชญากรรมที่สำคัญของประเทศไทย จาก ข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศด้านการวางแผนและนโยบายป้องกันการบาดเจ็บ (International firearm injury prevention and policy) พบว่า ในแต่ละวัน ทั่วโลกมีการใช้ปืนเพื่อก่ออาชญากรรมต่อผู้คนจำนวนมาก สำหรับประเทศไทยข้อมูลของ World Population Review เผยแพร่ผลสำรวจประเทศที่มีกรณีการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ประจำปี 2022 พบว่าประเทศไทย ติดอันดับที่ 15 มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืนจำนวน 2,804 คน และมีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน เฉลี่ย 3.91 คน ต่อประชากร 1 แสนคน 

จากเหตุการณ์การกราดยิงล่าสุดในจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ 36 ราย มีผู้บาดเจ็บไม่น้อยกว่า 10 ราย ความสูญเสียเหล่านี้สร้างความสะเทือนใจและผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าต้นตอที่สำคัญประการหนึ่ง คือ มาตรการควบคุมการใช้อาวุธปืนที่มีความหละหลวม มีความเสี่ยงที่ผู้ถือครองอาวุธอาจนำไปใช้ก่ออาชญกรรมได้โดยง่าย กอปรกับความรุนแรงของการระบาดยาเสพติดอันเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาชญกรรมขึ้น

หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการประชุมสั่งการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นหนึ่งชุด เพื่อขับเคลื่อน ‘วาระแห่งชาติ’ ด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้เข้มงวด และบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม พลเอก ประยุทธ์ นั่งเป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน โดยมีมาตรการเร่งด่วนกำหนดออกมา สรุปได้ดังนี้

  • มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน : กวดขันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนและกระสุนอย่างเข้มงวด มีการต่อใบอนุญาตและการพกพาผู้ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตรงตามกฎหมาย ซึ่งจะมีมาตรการตรวจสอบทบทวนเพื่อพิจารณาเป็นรอบระยะเวลา เพิกถอนใบอนุญาตเมื่อพบปัญหาทางจิตหรือพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม รวมถึงทบทวนกฎหมายที่จำเป็นให้มีความทันสมัย
  • มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด : บูรณาการนำผู้เสพเข้าระบบศูนย์ข้อมูลที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วย โดยเฉพาะประเด็นปริมาณการครอบครองเพื่อนำไปสู่การบำบัดฟื้นฟู
  • มาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด : ค้นหาคัดกรองผู้ป่วย SMIV หรือผู้ป่วยทางจิตที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง เข้าสู่สถานฟื้นฟูภาคีเครือข่าย บูรณาการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐานให้ครอบคลุมทุกตำบล
  • การพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต : จัดตั้งระบบดูแลสุขภาพจิตในสถานศึกษาทุกแห่ง จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอ จัดตั้งหน่วยบูรณาการ จิตเวชฉุกเฉินทุกอำเภอ ระบบดูแลเบื้องต้นทางจิตเวชทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใช้ชุมชนบำบัด 
ภาพจาก : THAIRATH ONLINE

ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ตั้งคำถามว่าการแก้ปัญหาเช่นนี้ตรงจุดหรือไม่ เพราะหลากหลายครั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากตำรวจและทหารผู้ที่มีสิทธิ์ในครอบครองอาวุธปืน ซึ่งย้อนไปหาต้นเหตุ ก็มักพบว่าเกิดจากความไม่เป็นธรรมภายในองค์กร ทำให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยรู้สึกว่าตนถูกผู้มีอำนาจเหนือกว่ากดทับ เกิดความเครียด ก่อนนำไปสู่การลงมือก่อเหตุบางอย่าง ซึ่งจากมาตรการของรัฐบาลมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ การทบทวนกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน เพื่อให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงมาตรการทบทวนตรวจเช็กผู้มีอาวุธปืนเป็นระยะ ๆ อย่างไรก็ดี กฎหมายควบคุมอาวุธปืน ยาเสพติด จิตเวช ก็ต้องทำควบคู่กันไป และไม่ควรเพิกเฉยต่อการปฏิรูปตำรวจและทหาร ซึ่งคาดหวังว่ารัฐจะมีมาตรการที่เข้มข้นมากกว่านี้  นายรังสิมันต์ มองว่า “องค์กรที่มีอำนาจในการถืออาวุธปืน เราจำเป็นต้องทบทวนและปฏิรูป”

หากย้อนดูมาตรการขับเคลื่อนในเรื่องการมาตรการควบคุมอาวุธปืน จากรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ พบว่าในหลายประเทศมีมาตรการที่เข้มงวดและเป็นรูปธรรม อาทิ

  • ประเทศสิงคโปร์ มีกฎหมายเข้มงวด แม้จะเปิดให้ประชาชนสามารถมีสิทธิ์ในการครอบครองปืนได้ แต่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก หากพลเรือนทั่วไปต้องการมีปืน จะต้องเป็นสมาชิกของสมาคมปืนและไม่อนุญาตให้เก็บไว้เองที่บ้าน ทั้งนี้ ต้องมีการต่ออายุใบอนุญาตครอบครองปืนทุก 1 ปี
  • ประเทศญี่ปุ่น มีกฎหมายเข้มงวดที่สุดในโลก ตามกฎหมายควบคุมอาวุธพลเรือนทั่วไปไม่สามารถครอบครองหรือพกพา ดาบ และปืนได้ ยกเว้นเฉพาะผู้มีใบอนุญาต เช่น นักกีฬายิงปืนและนักล่าสัตว์เท่านั้น ซึ่งการครอบครองปืนกระบอกหนึ่ง ต้องผ่านการทดสอบทางจิตวิทยา การสอบข้อเขียนและภาคปฏิบัติ การตรวจสารเสพติด ตรวจสอบประวัติและพฤติกรรมมาก่อน รวมถึงผู้ครอบครองปืน ต้องเปิดเผยข้อมูลการเก็บปืนและกระสุนให้แก่ตำรวจตรวจสอบทุกปี
  • สหราชอาณาจักร หลังเกิดเหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมดันเบลน สกอตแลนด์ ในปี 1996 คร่าชีวิตเด็กนักเรียน 16 คน และครูอีก 1 คน ก่อนที่คนร้ายจะยิงตัวตาย ทำให้มีการผลักดันกฎหมายห้ามการครอบครองปืนพก กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วไป ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธปืน มีเพียงสมาชิกกองกำลังพิเศษ ที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อรับมือเหตุฉุกเฉิน หรือปฏิบัติภารกิจบางประเภทเท่านั้นที่สามารถปืนพกได้

อย่างไรก็ดี สะท้อนให้เห็นว่าประเทศที่มีกฎหมายที่เข้มงวดและรัดกุมอย่างญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร มีสถิติในการครอบครองปืนและเกิดอาชญากรรมจากปืนต่ำมาก การควบคุมอาวุธปืน จึงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลไทยต้องหันมาเอาจริงเอาจังกลับเรื่องนี้เสียที เพราะเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ระยะหลังเหตุรุนแรงเกี่ยวกับอาวุธปืนในไทยเกิดขึ้นบ่อยครั้งง จึงหวังว่ามาตรเร่งด่วนที่ภาครัฐได้ออกมาจะมีการดำเนินการเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม มิได้จางหายไปตามกาลเวลาเหมือนที่ผ่านมา

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
เหตุกราดยิงในระยะ 400 เมตรจากบ้านเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเด็กในสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้น
รายงานฉบับใหม่ของ UNODC ชี้ยาบ้าในอาเซียนราคาถูกลง เข้าถึงง่ายขึ้น ส่งผลให้การค้าและเสพขยายตัวสูงต่อเนื่อง
SDG Updates | ภาพรวมสถานการณ์ยาเสพติดโลกกับผลกระทบที่มีต่อ SDGs 
SDG Updates | การลดอาวุธและการควบคุมอาวุธ: สันติภาพที่ซ่อนไว้ในการขับเคลื่อน SDGs 
“Harm Reduction” การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด – มุ่งสร้างสังคมปลอดภัยและยั่งยืน แสวงหาความช่วยเหลือที่หลากหลายใช้ได้จริง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.5) เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เพื่อป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม

แหล่งที่มา: 
ปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ควรแก้ด้วย ‘มาตรการเร่งด่วน’ หรือต้องปฏิรูปตำรวจ ทหาร? –  THAIRATH ONLINE
โมเดล จำกัดการครอบครองปืนในต่างประเทศ : PPTVHD36 
สื่อต่างชาติ ตั้งคำถามถึงการควบคุมอาวุธปืนในไทย : PPTVHD36 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น