อ่านรายงานดัชนีความยากจนหลายมิติ ปี 2565 พบ ‘คนจนหลายมิติ’ มีมากถึง 1.2 พันล้านคน – ไทยมีดัชนีต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

SDG Recommends ชวนอ่านรายงานดัชนีความยากจนหลายมิติฉบับล่าสุด (Multidimensional Poverty Index: MPI) เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ภายใต้ชื่อ “Unpacking deprivation bundles to reduce multidimensional poverty” จัดทำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) ร่วมกับโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford Poverty and Human Development Initiative – OPHI) 

รายงานดังกล่าวนำเสนอดัชนีความยากจนหลายมิติของประเทศกำลังพัฒนา 111 ประเทศทั่วโลก โดยใช้เรื่องสำคัญ 10 เรื่องเป็นตัวชี้วัด ได้แก่ ภาวะโภชนาการ (nutrition) การตายของเด็กแรกเกิด (child mortality) ระยะเวลาในการศึกษาสำเร็จ (years in schooling) การเข้าเรียน (school attendance) เชื้อเพลิงประกอบอาหาร (cooking fuel) การสุขาภิบาล (sanitation) น้ำดื่ม (drinking water) ไฟฟ้า (electricity) ที่อยู่อาศัย (housing) และการครอบครองสินทรัพย์ (asset) โดยค่าดัชนีที่ต่ำลงหมายถึงระดับความยากจนที่ลดลง

สำหรับดัชนีความยากจนหลายมิติของประเทศไทยอยู่ที่ 0.002 ขณะที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับเดียวกันทั้งหมดมีดัชนีที่สูงกว่าไทย ได้แก่ เมียนมาร์ อยู่ที่ 0.176 กัมพูชา อยู่ที่ 0.170 ลาว อยู่ที่  0.108 ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 0.24 อินโดนีเซีย 0.014 เเละเวียดนาม 0.008

ข้อค้นพบอื่น ๆ ที่น่าสนใจในรายงาน อาทิ 

  • คนจนหลายมิติมีมากถึง 1.2 พันล้านคน ในจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี กว่า 593 ล้านคน
  • คนจนมากกว่า 50% หรือ 593 ล้านคน ขาดไฟฟ้าและเชื้อเพลิงสะอาดสำหรับทำอาหาร
  • เกือบ 40% ของคนจน หรือ 437 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มและการสุขาภิบาล
  • มากกว่า 30% ของคนจน หรือ 374 ล้านคน ขาดสารอาหาร เชื้อเพลิงประกอบอาหาร สุขอนามัย และที่อยู่อาศัยในเวลาเดียวกัน
  • คนที่ยากจนหลายมิติกว่า 83% หรือเกือบ 579 ล้านคน อาศัยอยู่ในภูมิภาคแอฟิกาใต้ซาฮารา (Sub-Saharan Africa) และอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียใต้ กว่า 385 ล้านคน 
  • 2 ใน 3 ของคนจนอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง 

“ความยากจน” เป็นทั้งสาเหตุ และผลกระทบที่เกี่ยวพันกับปัญหาอื่น ๆ ที่มนุษย์เผชิญอย่างซับซ้อน การทำความเข้าใจและมองเห็นถึงความสัมพันธ์ของความยากจนจากหลากหลายมิติดังกล่าว ช่วยให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคส่วนที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ภาคส่วนปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศต่างได้เห็นความก้าวหน้าและถดถอยของระดับสถานการณ์ความยากจนของประเทศตนได้ทั้งภาพรวมและภาพย่อยรายประเด็น 

ทั้งนี้ SDG Move จะนำเสนอข้อค้นพบที่น่าสนใจจากรายงาน MPI ติดตามได้ทาง Facebook page และเว็บไซต์ sdgmove.com เร็ว ๆ นี้

●อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
 WHO ชี้ ประเทศที่ยากจนยังตามหลังประเทศที่ร่ำรวยในการเข้าถึงอากาศสะอาด ตามเกณฑ์ของ AQGs
 หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหยุดชะงักเพราะโควิด-19 ทำให้หลายคนยากจนขั้นรุนแรงเพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล
 ประเทศยากจนยังขาดการเข้าถึงยาปฏิชีวนะที่จำเป็น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อดื้อยา
 ความยากจน-ความเหลื่อมล้ำ และการว่างงาน แซงหน้าโควิด-19 เป็น 2 อันดับแรกที่ผู้คน “กังวล” มากที่สุด
 การสนับสนุนเงินทุนในโครงการขจัดความยากจน สามารถลดจำนวนการทารุณกรรมในเด็กและการละเลยทอดทิ้งเด็กได้
 รายงานตัวชี้วัดการพัฒนาของ ADB พบว่าโควิด-19 ทำให้มี 80 ล้านคนในเอเชียและแปซิฟิกตกอยู่ในความยากจนขั้นรุนแรง
UNDESA ออกรายงาน ‘SDGs Report 2021’ พบผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกเพิ่มขึ้นในรอบ 20 ปี
 จะยุติความยากจนอย่างไรภายในปี 2573 เมื่อเกิดใน ‘รัฐที่เปราะบาง’ ก็มีโอกาสยากจนขั้นรุนแรงแล้ว 50%

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.2) ภายในปี 2573 ลดสัดส่วน ชาย หญิง และเด็ก ในทุกช่วงวัย ที่อยู่ภายใต้ความยากจนในทุกมิติ ตามนิยามของแต่ละประเทศ ให้ลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
– (1.4) ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น มรดก ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานให้แก่คนยากจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบางและลดการเผชิญหน้าและความเสี่ยงต่อเหตุการณ์รุนแรง/ภัยพิบัติอันเนื่องมาจากภูมิอากาศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
– (1.a) สร้างหลักประกันว่าจะมีการระดมทรัพยากรอย่างมีนัยสำคัญจากแหล่งต่างๆ รวมถึง การยกระดับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อที่จะจัดให้มีแนวทางที่เพียงพอและวิธีการที่เป็นไปได้ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในการดำเนินงานตามแผนงานและนโยบายเพื่อยุติความยากจนในทุกมิติ
– (1.b) สร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ บนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สนับสนุนความยากจน (pro-poor) และคำนึงถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender-sensitive) เพื่อจะสนับสนุนการเร่งการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 รวมถึงการบรรลุเป้าประสงค์ที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเน้นความต้องการโภชนาการของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2568
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารกลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อ การเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี 2573
– (4.3) สร้างหลักประกันให้ชายและหญิงทุกคนเข้าถึงการศึกษาด้านเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้ ภายในปี 2573
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.1) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (6.2) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อความต้องการของผู้หญิง เด็กหญิง และกลุ่มที่อยู่ใต้สถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573

แหล่งที่มา: 2022 Global Multidimensional Poverty Index (MPI) (UNDP)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on ตุลาคม 28, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น