SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนธันวาคม 2565

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  10 – 16 ธันวาคม 2565 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ไทย-EU ลงนามนามร่างกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน

วันที่ 14 ธันวาคม 2565 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู สมัยพิเศษ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: Thai-EU PCA)  และรัฐสมาชิก กับ Petr Fiala นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็กในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และ Josep Borrell รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง  

กรอบความตกลงดังกล่าว ครอบคลุมประเด็นความร่วมมือระหว่างไทยและสหภาพยุโรปทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกระดับทั้งทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี ให้มีแบบแผนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อไทยในการเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่านการสัมมนา ฝึกอบรม และแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญกับสหภาพยุโรป รวมทั้งเป็นโอกาสขยายพื้นที่ในการนำเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ของไทย อาทิ แนวคิดเศรษฐกิจ BCG และระบบสาธารณสุขที่โดดเด่น จึงนับว่าการเป็นหุ้นส่วนที่จะช่วยหนุนเสริมความครอบคลุมและยั่งยืนแก่การพัฒนาระหว่างทั้งสองฝ่าย 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 17.16 ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายและเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม 

เข้าถึงได้ที่ : ไทยและ EU ลงนามร่างกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement: Thai-EU PCA) (กระทวงการต่างประเทศ)

‘Write for Rights’ แคมเปญส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 21

วันที่ 10 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล Amnesty International ประกาศจัดแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ อีกครั้งหลังจากจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 21 โดยแคมเปญนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วโลกสามารถเข้าร่วมเพื่อสนับสนุนผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การจัดคอนเสิร์ตที่ไอวอรี่ โคสต์ การวิ่งฮาล์ฟมาราธอนที่ซิมบับเว และกิจกรรมเขียนจดหมายสาธารณะที่เบลเยียม เดนมาร์ก แคนาดา และอีกหลายประเทศ ขณะที่ในประเทศไทย Amnesty International Thailand จัดกิจกรรม “Taste of Rights: ผัสสะแห่งสิทธิ” ที่ชวนผู้คนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรับรู้ ดื่มด่ำ และเข้าใจเรื่องราวของสิทธิผ่านรสชาติ เสียง กลิ่น สัมผัสผ่านมือ และสัมผัสผ่านใจ

สำหรับปีนี้ การรณรงค์พุ่งเป้าไปที่การเคียงข้างและสนับสนุนบุคคล 13 คนที่ต้องเสียสละเพื่อจะได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของตน อาทิ อีเรน โรเตลา และมารีอานา เซปูลเวดา สองผู้หญิงข้ามเพศที่ต่อสู้เพื่อสิทธิคนข้ามเพศในปารากวัย และ อเล็กซานดรา สโกชิเลนโก ศิลปินชาวรัสเซียที่ต่อต้านการทำสงครามรัสเซีย-ยูเครน และถูกรัฐบาลจับกุม

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่ง เป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ เป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และเป้าหมายย่อยที่ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เข้าถึงได้ที่ : กลับมาอีกครั้งและเปิดตัวอย่างเป็นทางการ กับแคมเปญ ‘Write for Rights’ กิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Amnesty International Thailand)

ม็อบชาวนาหวนกลับมาชุมนุมใน กทม. นานนับเดือน เพื่อทวงสัญญาจากมติคณะรัฐมนตรี

ตลอดเดือนพฤศจิกายน 2565 สมาชิกเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย หวนกลับมาปักหลักชุมนุมในกรุงเทพมหานครอีกครั้ง ภายหลังจากเคยชุมนุมอย่างยืดเยื้อเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา โดยการชุมนุมครั้งล่าสุดมุ่งเน้นไปที่การทวงถามความคืบหน้าของคำสัญญาจากมติคณะรัฐบาลที่ให้ไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ว่าจะแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ซึ่งหลังจากนั้นกลับไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ไม่มีการดำเนินการจัดทำสัญญาโอนหนี้เกษตรกร และลงนามสัญญาระหว่าง 3 ฝ่าย คือ ธนาคารเจ้าหนี้เดิม เกษตรกร (ลูกหนี้) และกองทุนฟื้นฟูฯ ที่จะเป็นผู้ซื้อหนี้ของเกษตรกรมาจากเจ้าหนี้เดิม 

ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาและแกนนำ เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ว่าการชุมนุมครั้งล่าสุดกำลังได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ โดยจากการเจรจากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เป็นเจ้าหนี้หลัก และกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ได้ข้อสรุป 2 เรื่อง คือ หนึ่ง เรื่องดอกเบี้ย สรุปว่าต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี คือไม่มีดอกเบี้ย ซึ่ง ธ.ก.ส. ก็ยอมรับในเรื่องนี้แล้ว และข้อสรุปที่สอง คือ ให้กองทุนเริ่มดำเนินการเรื่องสัญญาของเกษตรกร 20,000 กว่ารายที่สำรวจและยืนยันตัวตนแล้วไปก่อน พร้อมกับเดินหน้าสำรวจรายอื่น ๆ ที่เหลือต่อไปให้แล้วเสร็จ อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นข้อตกลงที่น่าพอใจแต่ชาวนาก็ยังไม่ตัดสินใจกลับบ้าน โดยจะรอเซ็นสัญญากับ ธ.ก.ส. ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ SDG 2 เป้าหมายย่อยที่ 2.3 เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็กผ่านความมั่นคงและความเท่าเทียมในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้  SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน เป้าหมายย่อยที่ 10.4 นำนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาค และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่ : “การเจรจาน่าพอใจ แต่ไม่ไว้วางใจ” เสียงจากม็อบชาวนา ที่มาเรียกร้องการแก้หนี้อีกครั้ง เพราะข้อสรุปครั้งก่อนไม่ถูกดำเนินการ (ไทยรัฐพลัส)

รายงาน SDG 16 Data Initiative ชี้ SDG 16 เป็นพื้นฐานของการบรรลุ 2030 Agenda

17 พฤศจิกายน 2565 กลุ่ม SDG 16 Data Initiative ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากหลากหลายองค์กรที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตยและการพัฒนา อาทิ Sustainable Development Solutions Network (SDSN) และ Institute for Economics & Peace ได้เผยแพร่รายงาน SDG16 Data Initiative Report 2022: Are We on Track to Meeting the 2030 Agenda? ที่ระบุถึงความสำคัญของ SDG 16 (ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง) ในฐานะพื้นฐานของการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 โดยเฉพาะประเด็นความสงบสุขและประชาธิปไตย 

ประเด็นสำคัญในรายงานที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าและการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDG 16 อาทิ การใช้ข้อมูลเพื่อสำรวจการทำงานร่วมกันระหว่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเรื่องข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและการวิเคราะห์แนวโน้ม การประเมินความก้าวหน้าในการเข้าถึงข้อมูลและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีแนวโน้มบ่งชี้ว่าอยู่ในระดับที่อ่อนแอ และความท้าทายในการลดความรุนแรงถึงตาย โดยเฉพาะในประเทศที่เปราะบาง ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และในสังคมที่มีอัตราการฆาตกรรมสูง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ SDG16 และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.18 ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนาให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลทีมีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้

เข้าถึงได้ที่ : Failure to Reach SDG 16 Threatens 2030 Agenda: SDG16 Data Initiative Report (IISD)

การประชุม UN –  Water ครั้งที่ 37 มุ่งเน้นความร่วมมือขับเคลื่อน SDG 6

การประชุม UN –  Water ครั้งที่ 37 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก (UN Education, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 5 –  6 ธันวาคม 2565 มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเร่งรัดการขับเคลื่อน SDG6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาลในการจัดการ การสนับสนุนเงินทุน ข้อมูล ความสามารถในการพัฒนา และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ผู้แทนจากเนเธอร์แลนด์และทาจิกิสถาน สองเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมครั้งนี้ ร่างภาพเค้าโครงวิธีที่การประชุมจะสามารถช่วยหนุนเสริมการขยับปรับพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง และการดำเนินการที่เกี่ยวกับ SDG16 และเรียกร้องให้เกิดข้อผูกพันทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศต่าง ๆ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ SDG6 และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม 

เข้าถึงได้ที่ : UN-Water Meeting Serves as Springboard to UN 2023 Water Conference (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น