การจำลองโครงข่ายการจัดการขยะอย่างยั่งยืน สำหรับระบบการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ผ่านการสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์

ระบบการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน (municipal solid waste management: MSWM) ที่ไม่ถูกหลักสุขาภิบาลและไม่มีประสิทธิภาพเป็นปัญหาท้าทายที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยทั่วไปในเขตเมือง สถานที่กำจัดขยะที่ไม่ถูกหลักสุขาภิบาลมักก่อให้เกิดปัญหา เนื่องจากพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดและความสามารถในการกำจัดของเสียเพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองมีความเสี่ยงในการสัมผัสกับสารปนเปื้อนที่ปล่อยออกมาจากการกำจัดขยะมูลฝอยนั้นมากขึ้น

ความเสี่ยงจากการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่ผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองประสบ มีสาเหตุมาจาก

  1. การขาดศักยภาพในการกำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งเกิดจากการไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการรองรับขยะมูลฝอย หรือความล่าช้าในการสร้างพื้นที่รองรับให้เพียงพอ ทำให้ปริมาณของเสียที่เกินความสามารถในการจัดการสร้างก๊าซอันตรายและน้ำชะขยะมูลฝอย (leachate) ซึ่งอาจนำไปสู่กลิ่นรุนแรงที่ไม่พึงประสงค์และไฟไหม้ได้
  2. การขยายสถานที่กำจัดขยะหรือการตั้งสถานที่ใหม่ ทำในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น สารอันตรายจากการกำจัดขยะและการขนส่งสามารถก่อให้เกิดความเครียดอันเนื่องจากสิ่งแวดล้อม (environmental stress) ต่อผู้อยู่อาศัยในชุมชนโดยรอบ ประชาชนต้องรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นทันที (immediate impact) เช่น ความสกปรก กลิ่น และคุณภาพอากาศที่ไม่ดี ส่วนผลกระทบระยะยาว (long-term impact) ได้แก่ ความเสี่ยงด้านสุขภาพต่าง ๆ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง

ในประเทศกำลังพัฒนา การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินลดลงและสร้างภาระทางการเงินแก่ประชากรในท้องถิ่นในแง่ของค่าใช้จ่ายด้านสุขอนามัยที่สูงขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ จำเป็นต้องเพิ่มความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (environmental justice) เป็นหนึ่งในเป้าหมายเชิงกลยุทธ์เพื่อทำให้บรรลุผลสำเร็จ โดยอ้างถึงแนวคิดที่ว่าผู้อยู่อาศัยในชุมชนทั้งหมดต้องได้รับการปกป้องจากความเครียดอันเนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่มากเกินไปหรือไม่ได้สัดส่วน และจำเป็นต้องประเมินความสามารถของแต่ละชุมชนในการทนต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย

ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้มักต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านสุขอนามัย ความต้องการทางการเงินอาจทำให้ชุมชนมีงบประมาณไม่เพียงพอ และไม่สามารถรวบรวมและกำจัดขยะมูลฝอยในชุมชนได้อย่างเหมาะสม ทำให้สุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมถดถอยลง ดังนั้น การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่ยั่งยืนจึงต้องรวมประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมอยู่ในแผนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์

การจัดตั้งระบบจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่ยั่งยืนนั้นขึ้นอยู่กับขั้นตอนการออกแบบโครงข่ายและการวางแผนการขนส่ง การเลือกพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดินอย่างรอบคอบ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถานจัดการกับชุมชนท้องถิ่น รวมถึงปัจจัยทางภูมิศาสตร์ อุทกวิทยา และเศรษฐกิจสังคมจำเป็นต้องนำมาพิจารณาด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการศึกษา “Multiobjective Optimization Model for Sustainable Waste Management Network Design” โดย ผศ. ดร.สัณห์ โอฬาพิริยกุล ดร.วรุธ ปานนักฆ้อง วฤทธิ์ คชาปัญญา และ ดร.สเตฟาโน สตาริตา จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและระบบการผลิต สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์เพื่อหาค่าเหมาะสมที่สุด และเพื่อออกแบบห่วงโซ่อุปทานการจัดการของเสียที่มีความคุ้มทุน โดยระบุสถานที่ตั้ง ขนาด และเส้นทางเพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมถึงพิจารณาประเด็นด้านความยั่งยืน เช่น การใช้ที่ดินและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 15 ระบบนิเวศบนบก

ระบบการจัดการขยะในประเทศไทยค่อนข้างเป็นที่สนใจ เนื่องจากที่ผ่านมามีการวางแผนการจัดตั้งสถานที่กำจัดขยะน้อยมาก ในบรรดาสถานที่ทิ้งขยะมูลฝอยชุมชนทั้งหมด 2,490 แห่ง มีเพียง 499 แห่ง (20%) เท่านั้นที่มีมาตรฐานความปลอดภัย เช่น หลุมฝังกลบที่ถูกหลักสุขาภิบาล/วิศวกรรม การเทกองที่มีการควบคุม (controlled dumping) และการเผาด้วยระบบควบคุมมลพิษทางอากาศ ส่วนที่เหลือมีแนวทางปฏิบัติที่ไม่ถูกสุขอนามัย เช่น การเทกองขยะมูลฝอยบนพื้นที่โล่ง (open dumping) และการเผาโดยไม่มีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศ เป็นผลให้มีการปล่อยน้ำชะขยะมูลฝอยและก๊าซอันตรายจากสถานที่ทิ้งขยะเหล่านี้บ่อยครั้ง ซึ่งส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ผศ. ดร.สัณห์ และคณะ ใช้จังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่กรณีศึกษา (case study) ในครั้งนี้ โดยจังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ภายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีพื้นที่ทั้งหมด 1,525.9 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 7 อำเภอ 60 ตำบล 529 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมาเป็นประมาณ 1.2 ล้านคน ส่งผลให้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเป็น 0.612 ล้านตัน/ปี ปัจจุบันมีการรวบรวมขยะมูลฝอยจากชุมชนที่ศูนย์รวบรวม จากนั้นขยะที่ศูนย์รวบรวมจะถูกส่งไปยังโรงคัดแยก และส่งไปยังเตาเผาขยะหรือหลุมฝังกลบ

การศึกษาในครั้งนี้มีการประเมินผลกระทบต่าง ๆ ได้แก่

  • ผลกระทบด้านสาธารณสุข หมายถึง การเสียชีวิตโดยรวม (overall mortality) และภาระโรค (disease burden) ของผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงสถานจัดการขยะมูลฝอยชุมชน (MSWM facilities) ประเมินโดยใช้หน่วยของการสูญเสียปีสุขภาวะ (disability-adjusted life year: DALY) ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิต (life-cycle impact assessment: LCIA) ที่ได้รับการยอมรับ
  • ผลกระทบต่อการใช้ที่ดิน คำนวณจากจำนวนการใช้ที่ดินทั้งหมดทั้งทางตรงและทางอ้อม การใช้ประโยชน์ที่ดินทางตรง คือ พื้นที่จริงที่ใช้สำหรับการจัดตั้งสถานจัดการขยะมูลฝอยชุมชน ส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินทางอ้อมประเมินผ่านความเสียหายจากการใช้ที่ดิน (land occupation) ด้วยวิธี LCIA

ผศ. ดร.สัณห์ และคณะ สร้างโมเดลโครงข่ายการจัดการขยะอย่างยั่งยืน (sustainable waste management network: SWMN) จากการวิเคราะห์เชิงคำนวณ (computational analysis) เพื่อแก้ปัญหาด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ โดยผลการวิเคราะห์แบ่งเป็น 2 ส่วนย่อย ได้แก่

1. การหาค่าเหมาะสมที่สุดที่มีวัตถุประสงค์เดียว (single-objective optimization)

  • โมเดลค่าเหมาะสมที่สุดสำหรับต้นทุนรวม (total cost optimization: SWMN(FC))

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า หากใช้ต้นทุนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก จะทำให้สถานจัดการขยะมีจำนวนน้อย จากการวิเคราะห์โมเดล มีโรงคัดแยกขยะเพียง 6 แห่งเท่านั้น มีเตาเผาขยะ 1 แห่ง และหลุมฝังกลบ 3 แห่ง (ภาพที่ 1a) แม้ว่าสถานจัดการขยะเหล่านี้จะเพียงพอสำหรับทุกตำบล แต่ก็สร้างเส้นทางขนส่งยาวกว่า 30 กิโลเมตร
ค่าก่อสร้าง (construction cost) เป็นต้นทุนที่ใหญ่ที่สุด ดังนั้นจึงใช้การฝังกลบมากกว่าเตาเผาขยะ ต้นทุนที่เหมาะสมที่สุดของโครงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนคือประมาณ 50,944,315 ดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย การขนส่ง (11,973,205 ดอลลาร์สหรัฐ) ค่าที่ดิน (7,753,691 ดอลลาร์สหรัฐ) ค่าก่อสร้าง (17,114,396 ดอลลาร์สหรัฐ) และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (14,103,023 ดอลลาร์สหรัฐ) ความเครียดในการใช้ที่ดินโดยเฉลี่ย (average land-use stress) และผลกระทบด้านสาธารณสุขสำหรับแนวทางแก้ปัญหานี้อยู่ที่ประมาณ 0.573 และ 44,681 DALY ตามลำดับ โดยผลกระทบด้านสาธารณสุขมาจากการขนส่ง 13,042 DALY และสถานจัดการขยะ 31,639 DALY สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าแม้ว่าโมเดล SWMN(FC) จะใช้ต้นทุนต่ำ แต่ก็มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและการใช้ที่ดิน เนื่องจากสถานจัดการตั้งอยู่ใกล้กับเขตเมืองที่มีขยะเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดความเครียดในการใช้ที่ดินมากเกินไปและส่งผลกระทบด้านสาธารณสุขอย่างมาก

  • โมเดลค่าเหมาะสมที่สุดสำหรับความเครียดการใช้ที่ดินเฉลี่ย (average land-use stress optimization: SWMN(Fu))

โมเดลนี้เสนอโรงคัดแยกขยะ 4 แห่งและเตาเผาขยะ 4 แห่ง (ภาพที่ 1b) ตำแหน่งสถานที่มีความแตกต่างเมื่อเทียบกับโมเดล SWMN(FC) โรงคัดแยกและเตาเผาขยะในโมเดลนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบท ซึ่งช่วยลดความเครียดในการใช้ที่ดินที่มากเกินไป อย่างไรก็ตาม การย้ายสถานจัดการขยะออกจากเขตเมืองทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้นและผลกระทบด้านสาธารณสุขมากขึ้น
ผลการวิเคราะห์แสดงต้นทุนรวม 64,653,006 ดอลลาร์สหรัฐ ประกอบด้วย ค่าขนส่ง (24,053,902 ดอลลาร์สหรัฐ) ค่าที่ดิน (1,896,146 ดอลลาร์สหรัฐ) ค่าก่อสร้าง (19,898,341 ดอลลาร์สหรัฐ) และค่ากำจัดขยะ (20,274,072 ดอลลาร์สหรัฐ) ความเครียดการใช้ที่ดินโดยเฉลี่ยลดลงเหลือ 0.028 ส่วนผลกระทบด้านสาธารณสุขอยู่ที่ 57,940 DALY แบ่งเป็นจากการขนส่ง 47,868 DALY และจากสถานจัดการขยะ 10,072 DALY

  • โมเดลค่าเหมาะสมที่สุดสำหรับผลกระทบด้านสาธารณสุข (public health impact optimization: SWMN(Fh)

สำหรับโมเดล SWMN(Fh) เสนอแผนผังที่ค่อนข้างแตกต่าง สถานจัดการส่วนใหญ่ตั้งอยู่กระจายทั่วทั้งจังหวัด มีสถานจัดการทั้งสิ้น 22 แห่ง แบ่งเป็น โรงคัดแยก 12 แห่ง หลุมฝังกลบ 5 แห่ง และเตาเผาขยะ 5 แห่ง (ภาพที่ 1c) ผลการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่าผลกระทบด้านสาธารณสุขลดลงเหลือ 7,224 DALY ความเครียดในการใช้ที่ดินโดยเฉลี่ยและต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นเป็น 0.985 และ 74,740,757 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ค่าที่ดิน (21,035,012 ดอลลาร์สหรัฐฯ) และค่าก่อสร้าง (27,692,869 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นส่วนที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผลกระทบด้านสาธารณสุขที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากเส้นทางคมนาคมที่ลดลง ส่งผลให้ค่าขนส่ง (9,658,807 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ลดลงด้วย ซึ่งเป็นผลจากการตั้งสถานจัดการขยะจำนวนมากกระจายทั่วบริเวณ แต่ก็ส่งผลให้อัตราส่วนการใช้ที่ดินแย่ลงอย่างมาก

ภาพที่ 1 แผนผังค่าเหมาะสมที่สุดของระบบการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนภายใต้การวิเคราะห์แบบวัตถุประสงค์เดียว

2. การหาค่าเหมาะสมที่สุดที่มีหลายวัตถุประสงค์ (multiobjective optimization)

  • โมเดลค่าเหมาะสมที่สุดสำหรับต้นทุนรวมและความเครียดการใช้ที่ดินเฉลี่ย (SWMN(Fc, Fu)

สำหรับโมเดลนี้เสนอการลดต้นทุนและการใช้ที่ดินให้ต่ำที่สุด โดยโรงคัดแยกและเตาเผาขยะจะกระจายอย่างเท่าเทียมกันระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท หลุมฝังกลบตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทเนื่องจากความต้องการที่ดินขนาดใหญ่ โมเดลนี้เสนอเตาเผาขยะขนาดใหญ่ 3 เตา จำนวนโรงคัดแยกเพิ่มขึ้นเป็น 11 แห่ง (ขนาดเล็ก 7 แห่ง ขนาดกลาง 1 แห่ง และขนาดใหญ่ 3 แห่ง) (ภาพที่ 2a) โมเดลนี้แสดงระดับความพึงพอใจด้านต้นทุน (63%) และความเครียดในการใช้ที่ดิน (86%) ค่อนข้างสูง แต่ระดับความพึงพอใจด้านสาธารณสุขที่ต่ำมาก (5%)

  • โมเดลค่าเหมาะสมที่สุดสำหรับต้นทุนรวมและผลกระทบด้านสาธารณสุข (SWMN(Fc, Fh)

โมเดลนี้แสดงสถานจัดการขยะทั้งหมดอยู่อย่างกระจัดกระจายในเขตเมืองและชนบท เนื่องจากวัตถุประสงค์ทั้งสองมีเป้าหมายร่วมกันในการลดเส้นทางคมนาคม เพื่อลดทั้งผลกระทบด้านสุขภาพและต้นทุน ซึ่งเสนอโรงคัดแยก 3 แห่ง เตาเผาขยะขนาดใหญ่ 2 เตา และหลุมฝังกลบ 3 แห่ง (ขนาดเล็ก 2 แห่ง ขนาดใหญ่ 1 แห่ง) (ภาพที่ 2b) ระดับความพึงพอใจด้านต้นทุนอยู่ที่ 56% ส่วนด้านสาธารณสุขอยู่ที่ 69% ผลการวิเคราะห์นี้ชี้ให้เห็นถึงความขัดแย้งที่ชัดเจนระหว่างวัตถุประสงค์ทั้งสองนี้ แม้ว่าเป้าหมายร่วมกันคือการลดเส้นทางคมนาคม

  • โมเดลค่าเหมาะสมที่สุดสำหรับความเครียดการใช้ที่ดินเฉลี่ยและผลกระทบด้านสาธารณสุข (SWMN(Fu, Fh)

เมื่อพิจารณาค่าเหมาะสมของการใช้ที่ดินและผลกระทบต่อสุขภาพโดยไม่คำนึงถึงต้นทุน โมเดลนี้เสนอเตาเผาขยะขนาดเล็ก 1 แห่ง ขนาดกลาง 2 แห่ง และขนาดใหญ่ 2 แห่ง เนื่องจากมีการใช้ที่ดินน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการฝังกลบ จำนวนโรงคัดแยกเพิ่มขึ้นเป็น 11 แห่ง แบ่งเป็น ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ขนาดกลาง 2 แห่ง และขนาดเล็ก 4 แห่ง (ภาพที่ 2c) ระดับความพึงพอใจด้านความเครียดการใช้ที่ดิน (78%) และผลกระทบด้านสาธารณสุข (89%) อยู่ในระดับสูงทั้งคู่ แต่ระดับความพึงพอใจด้านต้นทุนลดลงอย่างมากจนถึง 28% ซึ่งบ่งชี้ว่าแนวทางนี้ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

  • โมเดลค่าเหมาะสมที่สุดสำหรับต้นทุนรวม ความเครียดการใช้ที่ดินเฉลี่ย และผลกระทบด้านสาธารณสุข (SWMN(Fc, Fu, Fh)

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าทั้งโมเดลค่าเหมาะสมที่สุดที่มีวัตถุประสงค์เดียวและสองวัตถุประสงค์ไม่สามารถบรรลุไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้ จึงนำมาสู่การสร้างโมเดลสามวัตถุประสงค์ ซึ่งทำให้เกิดการจัดวางระบบการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่มีความสมดุลทั่วทั้งจังหวัด โมเดลนี้เสนอสถานจัดการขยะขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นหลัก (ภาพที่ 2d) โดยปกติแล้ว เป็นการยากที่จะโมเดลการจัดการที่มีวัตถุประสงค์ขัดแย้งกันจะมีระดับความพึงพอใจสูงในทุกด้าน อย่างไรก็ตาม โมเดล SWMN(Fc, Fu, Fh) นี้มีระดับความพึงพอใจเฉลี่ยสูงสุด (69%) และมีระดับความพึงพอใจของแต่ละด้านสูงกว่า 50%

ภาพที่ 2 แผนผังค่าเหมาะสมที่สุดของระบบการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนภายใต้การวิเคราะห์แบบหลายวัตถุประสงค์

ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้สรุปได้ว่า โมเดลค่าเหมาะสมที่สุดในการออกแบบโครงข่ายใหม่สำหรับการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงความยั่งยืนอย่างครอบคลุม โดยการรวมตัวชี้วัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้ากับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ กรณีศึกษาในจังหวัดปทุมธานีนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของโมเดล แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพิ่มการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น โมเดลการวิเคราะห์แบบวัตถุประสงค์เดียวแสดงให้ว่าการมุ่งเน้นเฉพาะต้นทุนทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่สร้างภาระร้ายแรงต่อสังคม โดยเฉพาะการใช้ที่ดินและผลกระทบด้านสาธารณสุขนั้นยังห่างไกลจากความยั่งยืน ขณะเดียวกันโมเดลการวิเคราะห์แบบวัตถุประสงค์เดียวที่เน้นด้านสาธารณสุขหรือการใช้ที่ดินนั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพพอ สิ่งนี้กระตุ้นให้เกิดการศึกษาแนวทางการวิเคราะห์แบบหลายวัตถุประสงค์ ซึ่งเสนอโมเดลค่าเหมาะสมที่สุดที่มีความสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์ต่าง ๆ

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืนเพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรโดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศและการจัดการของเสียของเทศบาลและอื่นๆ ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในทางบวกระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับชาติและระดับภูมิภาค
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดิน อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.3) ต่อสู้การแปรสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูแผ่นดินที่เสื่อมโทรม รวมถึงที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ความแห้งแล้ง และอุทกภัย และพยายามที่จะบรรลุถึงความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดินภายในปี 2573

รายการอ้างอิง
Olapiriyakul, S., Pannakkong, W., Kachapanya, W., & Starita, S. (2019). Multiobjective optimization model for sustainable waste management network design. Journal of Advanced Transportation, 2019.

ชื่อผู้วิจัย – สังกัด
สัณห์ โอฬาพิริยกุล, วรุธ ปานนักฆ้อง, วฤทธิ์ คชาปัญญา, และ สเตฟาโน สตาริตา
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและระบบการผลิต สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Kanokphorn Boonlert

    Manager of Knowledge Communications | "The good life is a process, not a state of being. It is a direction not a destination." − Carl R. Rogers

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น