ป.ป.ช. เปิดแฟ้มคดีทรัพยากรธรรมชาติฯ ระบุปี 2566 ต้องดำเนินการกว่า 254 คดี พบหลายคดี ‘ข้าราชการ-ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง’ มีเอี่ยว

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดแฟ้มคดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปี 2566 ณ โรงแรมลาโค่ เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยนายมงคล ศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่าปัจจุบันแผนการดำเนินการในปัจจุบันเกี่ยวกับการจัดการคดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมถึงการตรวจสอบบุกรุกครอบครองที่ดินของรัฐ การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและออกใบอนุญาตในการประกอบกิจการโรงแรมในเขตกำหนดเขตพื้นที่ มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมถึงคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การออกใบอนุญาตโรงงานทุกชนิด และคดีเกี่ยวกับเหมืองแร่ นั้นมีมากกว่า 254 คดี แบ่งเป็นการตรวจสอบเบื้องต้น 172 คดี และไต่สวนข้อเท็จจริง 82 คดี

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า

  • ภาคเหนือ มี 11 คดี ตรวจสอบเบื้องต้น 8 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 3 คดี โดย 1 ใน 3 เป็นคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 
  • ภาคกลาง มี 52 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 38 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 14 คดี โดยมีคดีใหญ่กว่าหมื่นไร่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ที่จะต้องตรวจสอบต่อไป 
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มี 58 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 40 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 18 คดี 
  • ภาคตะวันออก มี 15 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 13 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 2 คดี 
  • ภาคตะวันตกมี 29 คดี อยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 21 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 8 คดี
  • ภาคใต้ มี 89 คดี โดยอยู่ระหว่างตรวจสอบเบื้องต้น 52 คดี ไต่สวนข้อเท็จจริง 37 คดี โดยมีคดีเยอะสุดในพื้นที่ จ.ภูเก็ต

นายมงคล ยังระบุถึง 10 คดีที่น่าสนใจในปี 2566 ได้แก่

  1. การบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สนามทดสอบรถยนต์
  2. การบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาเสียดอ้า ป่าเขานกยูง และป่าเขาอ่างหิน เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สนามกอล์ฟ ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับคดีที่ 1 
  3. การออกโฉนดที่ดินโดยการเดินสำรวจในเขตเขาและความลาดชันเกิน 35% อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ประมาณ 300 ไร่ อยู่ในขั้นตอนแจ้งข้อกล่าวหา โดยเกี่ยวกับกลุ่มทุนน้ำเมา 
  4. อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตออกโฉนดที่ดิน 2 แปลง บนหาดฟรีด้อม ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถออกโฉนดได้ โดยได้เรียกรับเงินในการดำเนินการจำนวน 120 ล้านบาท ซึ่งเสร็จภายในปีนี้แน่นอน 
  5. การออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ ต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ และรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาพนมเบญจา โดยเป็นกรณีที่กรมป่าไม้ไปขีดแนวเขตแล้วไม่ตรงกับแผนที่ โดยขีดให้มีช่องว่างทำให้กลุ่มทุนที่เป็นบริษัทยาเข้าไปออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว และมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องโดยตรวจสอบพบกระแสการเงิน ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ 
  6. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกโฉนดที่ดิน ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เนื้อที่ 41-3-28 ไร่ เกินกว่าหลักฐานเดิมที่แจ้งไว้คือ 34-3-16 ไร่ หรือเพิ่มมากว่า 7-3-12 ไร่ โดยนำพื้นที่ป่าและที่ดินของนิคมสหกรณ์ทองผาภูมิมารังวัดรวมด้วย 
  7. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บุกรุกถือครองพื้นที่สวนป่าไม้สักของรัฐบาล รวมพื้นที่ 49 ไร่เศษ เหตุเกิดที่สวนป่ากิวทัพยั้ง และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ข้าวต้ม-ป่าห้วยลึก ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ซึ่งใกล้แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว 
  8. นายก อบต.เชิงทะเล จ.ภูเก็ต กับพวก ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในโครงการลาคอลิน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขารวก-ป่าเขาเมือง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ และพื้นที่ห้ามก่อสร้างตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลค่าหลายร้อยล้านบาท ซึ่งคดีดังกล่าวอาจจะมีการชี้มูลยกทั้งสภาท้องถิ่น มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนสถาบันการเงิน 
  9. เจ้าพนักงานที่ดิน จ.ภูเก็ต สาขาถลาง กับพวกรวม 16 ราย ออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบนเกาะแรด เนื่องจากพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ ไม่มีบุคคลใดเข้าไปถือครองและทำประโยชน์จำนวน 6 แปลง ซึ่งมีการแจ้งข้อหาแล้ว มีความเกี่ยวกับกลุ่มทุนประกอบกิจการรถยนต์ 
  10. การทุจริตออกใบจอง น.ส. 3 ก. และโฉนดที่ดินทับที่สาธารณประโยชน์ ในพื้นที่ ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ โดยเกี่ยวกับกลุ่มทุนด้านการเกษตร กว้านซื้อที่ดินเอาใบจองไปออกโฉนด และถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง

คดีเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติ โดยเฉพาะสถานการณ์ป่าไม้ไทยที่ปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหาการลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจล่าสุดของ พบว่า ณ ปี 2563 พื้นที่ป่าไม้ของไทยอยู่ที่ 102,353,484.76 ไร่ คิดเป็น 31.64% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ลดลงราว 35,213,391 ไร่ จากปี 2516 หรือเมื่อ 47 ปีก่อนหน้า ซึ่งมีพื้นที่ป่าอยู่ราว 138,566,875 ไร่ การหยุดยั้งการทำลายและยื้อแย่งครอบครองพื้นที่ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าของไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่หลายภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อน ซึ่งอาจเน้นไปที่การจัดการกับการทุจริตก่อนเป็นเรื่องแรก เนื่องจากเป็นสะพานสำคัญที่เปิดทางให้ผู้มีอำนาจ นักการเมือง และนักธุรกิจ สามารถบุกรุกและทำลายพื้นที่ทางธรรมชาติได้

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– CPI เผยดัชนีการรับรู้การทุจริตประจำปี 2565 พบไทยคะแนนดีขึ้น 1 คะแนน รั้งอันดับ 101 ของโลก แต่สถานการณ์ทุจริตในประเทศยังน่ากังวล
– รายงานสังเคราะห์ของ UNEP เผยภูมิภาคทั่วโลกเห็นร่วมหาทางยุติการฆ่าล้างสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันให้รับรองสิทธิ์ของธรรมชาติไว้ในกฎหมาย
– พื้นที่ป่ามรดกโลก 257 แห่ง ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้มากถึง 190 ล้านตันต่อปี
– 7 ข้อเรียกร้องจาก‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ’ ถึง รมว.ทรัพยากรฯ หวังนำเรื่องเข้าที่ประชุมเอเปคป่าไม้

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
– (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี 2563
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.5) ลดการทุจริตและการรับสินบนทุกรูปแบบอย่างมีนัยสำคัญ

แหล่งที่มา : ป.ป.ช.เปิดแฟ้ม 10 คดีรุกป่าปี 66 จับตา 2 “นักการเมืองดัง” ใกล้เสร็จแล้ว (กรุงเทพธุรกิจ)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น