TU SDG Seminars | การทำงานวิจัยด้านอาหารและยาร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน ปัญหา อุปสรรค และประเด็นที่น่าสนใจ มีอะไรบ้าง – ชวนหาคำตอบจากบทสรุปการสัมมนาการวิจัยด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

ชวนอ่านบทสรุปการสัมมนาการวิจัยด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย โดย รศ. ดร.ประภาศรี เทพรักษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.สุเมธ คงเกียรติไพบูลย์ ศูนย์วิจัยค้นคว้าและพัฒนายา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิด โดยแบ่งประเด็นการพูดคุยออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) การนำเสนอผลงานวิจัยที่ผ่านมาของนักวิจัยและอุปสรรคที่เกิดขึ้น และ 2) การเสนอแนะหัวข้อการวิจัยที่น่าสนใจในปัจจุบันและการบูรณาการกับสาขาอื่น ๆ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้เวทีสัมมนาการวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ผ่านระบบ Zoom Meeting

ด้วยประเด็นที่กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและยาของประเทศไทย จึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม

01 – การนำเสนอผลงานวิจัยที่ผ่านมาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น

ผลงานวิจัยที่ผ่านมาของ รศ. ดร.ประภาศรี ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่ได้รับโจทย์มาจากผู้ประกอบการภาคเอกชน แล้วจึงพัฒนาเป็นโครงร่างการวิจัยขึ้นมา โดยแหล่งเงินทุนของโครงการจะมาจากผู้ประกอบการ 50% และจากหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รูปแบบการดำเนินงานสามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่ยังอยู่ในขอบเขตงานที่กำหนดไว้ ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมา เช่น อาหารโรคไตที่พัฒนาสูตรต้นแบบ (prototype) และกระบวนการผลิตร่วมกับบริษัทเอกชน เป็นต้น

ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการทำงานที่ผ่านมาของ รศ. ดร.ประภาศรี ร่วมกับผู้ประกอบการ สามารถสรุปประเด็นที่สำคัญได้ดังนี้

  • การร้องขอจากผู้ประกอบการที่นอกเหนือจากโครงร่างการวิจัย (proposal) ที่เคยเสนอไป จึงจำเป็นต้องมีตัวกลางที่เข้มแข็ง ในการประสานงานและจัดการปัญหาต่าง ๆ เพื่อลดการปะทะโดยตรงระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ
  • งบประมาณวิจัยส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาในเชิงการค้า หากผู้วิจัยต้องการนำตัวอย่างไปวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตีพิมพ์ผลงานในเชิงวิชาการ จำเป็นต้องขอทุนวิจัยอื่นเพิ่มเติม และต้องทำข้อตกลงร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อปกปิดสูตรอาหาร ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน
  • การจดทะเบียนสิทธิบัตรเป็นชื่อผู้ประกอบการ ไม่สามารถจดเป็นชื่อหน่วยงานได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้วิจัยและมหาวิทยาลัยเสียผลประโยชน์ตรงนี้ไป รศ. ดร.ประภาศรี เสนอว่า การขอทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผู้ประกอบการจะให้ทุนสนับสนุน 10-20% ดังนั้น การจดสิทธิบัตรจะสามารถจดร่วมกันได้ระหว่างผู้ประกอบการและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับ ดร.สุเมธ มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนายา โดยศึกษาค้นคว้าด้านเคมีทางยาจากพืชสมุนไพรไทยเป็นหลัก การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพของสมุนไพรไทย การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยา เครื่องสำอาง การพัฒนาสารสกัดดอกหางนกยูงเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิว การพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดอาการปวดข้อเข่าจากตำรับยาพอกดูดพิษ เน้นกระบวนการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพ (quality) ความปลอดภัย (safety) และประสิทธิภาพ (efficacy) การวิเคราะห์สารสำคัญที่เป็นองค์ประกอบ การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา การศึกษาเภสัชจลนศาสตร์  และกลไกการออกฤทธิ์ เป็นต้น โดยมีการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล Kunming Institute of Botany (KIB), Chinese Academy of Sciences (CAS) และ Botany and Biodiversity Research, University of Vienna, Austria

ปัญหาและอุปสรรคที่ ดร.สุเมธ พบเจอจากประสบการณ์ทำงานวิจัยที่ผ่านมา สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  • ความร่วมมือระหว่างสหสาขา ในการทำวิจัยเกี่ยวกับยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้น มีความเชื่อมโยงกับหลายสาขาวิชาชีพ ดังนั้นการทำวิจัยให้สำเร็จลุล่วงได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายด้านร่วมกัน
  • ระยะเวลาที่ยาวนานในการทำวิจัย การศึกษาวิจัยยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพใช้เวลานาน เริ่มตั้งแต่การค้นหาตัวยา การทดสอบคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล การทำวิจัยในสัตว์ทดลอง การทำวิจัยทางคลินิก ไปจนถึงการขึ้นทะเบียนยา
  • ใช้งบประมาณวิจัยสูง เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ชั้นสูงเพื่อช่วยในการศึกษาวิจัย
  • การศึกษาวิจัยในบางหัวข้อต้องใช้ความรู้และประสบการณ์มาก ประเทศไทยมีงานวิจัยเชิงลึกค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศทางฝั่งยุโรป
  • งานวิจัยในปัจจุบันมีความหลากหลายค่อนข้างมาก และไม่ค่อยมีการทำซ้ำเพื่อศึกษาในเชิงลึกมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องลงทุนใหม่บ่อยครั้ง จึงไม่เกิดกำไรจากการทำงาน

02 – การเสนอแนะหัวข้อการวิจัยที่น่าสนใจในปัจจุบันและการบูรณาการกับสาขาอื่น ๆ

รศ. ดร.ประภาศรี เสนอว่า งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการทำงานร่วมกับนักศึกษาปริญญาเอก โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และเน้นการตีพิมพ์ผลงานวิจัยมากขึ้น รวมถึงการจดสิทธิบัตรและเสนอขายแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ภาคเอกชนต่าง ๆ นำไปขยายผลในภาคอุตสาหกรรมต่อไป นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถให้ทุนเพื่อจ้างทำการวิจัยตามโจทย์ที่ต้องการ โดยหัวข้อการวิจัยที่น่าสนใจในปัจจุบัน ได้แก่

  • อาหารผู้ป่วย
  • อาหารสำหรับความต้องการเฉพาะ ตัวอย่างเช่น อาหารที่ทำมาจากพืช ผัก ผลไม้ เห็ดต่าง ๆ รวมไปถึงธัญพืชและถั่ว (plant-based food) เช่น ชีสจากพืช เป็นต้น
  • อาหารจากวัตถุดิบทางเลือกของไทย เช่น หนอน ดักแด้
  • อาหารจากขยะ เช่น กากมะพร้าวกะทิ หรือการนำอาหารที่ช้ำ มาทำให้สามารถนำไปรับประทานต่อได้
  • อาหารที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การฉายรังสี

นอกจากนี้ รศ. ดร.ประภาศรี เสนอการบูรณาการงานวิจัยกับงานด้านอายุรกรรมโภชนศาสตร์ โดยร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ ในการพัฒนาอาหารของผู้ป่วย เพื่อนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายจริง และการออกแบบอาหารสำหรับผู้ป่วยชนิดใหม่ ๆ

สำหรับ ดร.สุเมธ เสนอการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน รวมถึงใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมของไทย โดยหัวข้อการวิจัยที่น่าสนใจในปัจจุบัน คือ ยาสมุนไพรของไทย ซึ่งภาคเอกชนกำลังให้ความสนใจอย่างมาก รวมถึงมีกลุ่มรายชื่อสมุนไพรที่ภาครัฐให้ความสนใจด้วย ทำให้การขอทุนวิจัยเพื่อศึกษาทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ สมุนไพรบางชนิดที่ภาคเอกชนกำลังขายแต่ติดปัญหาการพัฒนาบางอย่าง เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจและทำให้ได้รับทุนสนับสนุนได้ง่ายขึ้น

ในการบูรณาการงานวิจัยกับสาขาอื่น ๆ ดร.สุเมธ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยค้นคว้าและพัฒนายามีการมุ่งเน้นไปที่เรื่องกัญชาทางการแพทย์ โดยยึดหลักประโยชน์ทางการแพทย์เป็นสำคัญ เช่น กลไกการรักษาโรค ซึ่งศูนย์วิจัยฯ มีการพัฒนาความก้าวหน้าในประเด็นนี้อย่างสม่ำเสมอ

กล่าวโดยสรุป งานสัมมนาการวิจัยด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย ของกลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ฉายภาพให้เห็นถึงแนวทางการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยการประยุกต์ใช้ความรู้จากการวิจัยเพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารและยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป

รับชมวิดีโอบันทึกจากงานสัมมนาย้อนหลัง ได้ที่นี่ : https://youtu.be/FaYMm6KUx48
ติดตามสรุปสัมมนาในโครงการทั้ง 12 เวที ได้ที่ : อ่านสรุปสัมมนาทั้งหมด

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยา สำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยา และวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุขซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลัง พัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติ ในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า 
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินที่เกี่ยวกับสุขภาพและการสรรหาการพัฒนา การฝึกฝนและการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก 
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีการวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงการให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

ขนิษฐา สมศรี – ถอดความ
กนกพร บุญเลิศ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น