รายงานสังเคราะห์ของ UNEP เผยภูมิภาคทั่วโลกเห็นร่วมหาทางยุติการฆ่าล้างสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันให้รับรองสิทธิ์ของธรรมชาติไว้ในกฎหมาย

ในการเตรียมการประชุมวาระครบรอบ 50 ปี ของ Stockholm+50 หรือ “การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” (United Nations Conference on the Human Environment) ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) ได้ตีพิมพ์รายงานสังเคราะห์การประชุมหารือทั้งห้าครั้งของภาคส่วนที่หลากหลายระดับภูมิภาค (Synthesis Report of the Five Regional Multi-stakeholder Consultations for the Stockholm+50 Meeting) ซึ่งจัดร่วมกับวาระระดับโลกว่าด้วยโอกาสเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Global Opportunities for Sustainable Development Goals: GO4SDGs) ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2565 

รายงานดังกล่าวเน้นย้ำข้อเสนอแนะทั่วไปเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายและการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ละตินอเมริกาและแคริบเบียน (LAC) แอฟริกา ยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมถึงเอเชียตะวันตก 

โดยการประชุมหารือทั้งห้าครั้งของภาคส่วนที่หลากหลายระดับภูมิภาคซึ่งจัดไปล่วงหน้าก่อนการประชุม Stockholm+50 ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้เสียระดับภูมิภาค รวมถึงเยาวชน ชนพื้นเมือง  รัฐบาล และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) มีโอกาสร่วมแสดงความเห็น รับรองแผนการดำเนินงานที่เน้นจาก “ล่างขึ้นบน” (bottom-up mapping) หรือจากระดับพื้นที่ขึ้นมา ในการมีส่วนร่วมกับการออกแบบและเสนอแนะแนวทางและการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ภายใต้บริบทความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศและแต่ละภูมิภาค พร้อมทั้งทบทวนและประเมินแนวทางในการยกระดับสิ่งแวดล้อมของมนุษย์เพื่อช่วยเหลือประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

ทั้งนี้ การประชุมหารือทั้งห้าครั้งจัดขึ้นโดยแบ่งย่อยตามแต่ละภูมิภาค ได้แก่

  1. การประชุมหารือของภาคส่วนที่หลากหลายของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia and the Pacific Regional Multi-Stakeholder Consultation) ระหว่างวันที่ 4 – 5 เมษายน 2565
  2. การประชุมหารือของภาคส่วนที่หลากหลายของภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน (Latin America and the Caribbean Regional Multi-Stakeholder Consultation) ระหว่างวันที่ 5 – 6 เมษายน 2565
  3. การประชุมหารือของภาคส่วนที่หลากหลายของภูมิภาคแอฟริกา (Africa Regional Multi-Stakeholder Consultation) ระหว่างวันที่ 12 – 13 เมษายน 2565 
  4. การประชุมหารือของภาคส่วนที่หลากหลายของภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือ (Europe and North America Regional Multi-Stakeholder Consultation) ระหว่างวันที่ 5 พฤษภาคม 2565
  5. การประชุมหารือของภาคส่วนที่หลากหลายของภูมิภาคเอเชียตะวันตก (West Asia Regional Multi-Stakeholder Consultation) ระหว่างวันที่ 11 – 12 พฤษภาคม 2565 

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมในแต่ละภูมิภาคได้ร่วมกำหนดหัวข้อหลักสำหรับช่วง “การหารือระดับผู้นำ” ในการประชุม Stockholm+50 ได้แก่ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. ความจำเป็นเร่งด่วนของการดำเนินการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมโลกและสร้างความมั่งคั่งของคนอย่างทั่วถึง 2. บรรลุการฟื้นตัวที่ยั่งยืนและครอบคลุม (inclusive recovery) จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และ 3. เร่งรัดการดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จในมิติสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาที่ยั่งยืน ในบริบทของทศวรรษแห่งการดำเนินการและการมุ่งสู่การบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน 

โดยสรุป รายงานสังเคราะห์ดังกล่าวเน้นข้อเสนอแนะที่สำคัญจากการเจรจาระหว่างผู้นำและจากคณะทำงานที่เกี่ยวกับภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบสูง ข้อเสนอแนะทั่วไป อาทิ 

  • กำหนดให้การฆ่าล้างสิ่งแวดล้อม (ecocide) เป็นความผิดตามกฎหมายและสนับสนุนให้มีการคุ้มครองดูแลผู้ทำหน้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม (environmental defenders)
  • ยกเลิกการให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกและเคลื่อนย้ายเงินทุนไปสู่ภาคส่วนที่มีความยั่งยืนมากกว่า
  • ตระหนักและรับรองสิทธิ์ของธรรมชาติไว้ในกฎหมายภายในประเทศและปฏิญญาระหว่างประเทศ (international declaration)
  • เคารพและบูรณาการเรื่องสิทธิและความรู้ของชนพื้นเมือง
  • ส่งเสริมกลไกการเงินที่ยั่งยืนและการลงทุนอย่างสมเหตุสมผล มีประสิทธิภาพ และเท่าเทียมกันเพื่อเร่งให้บรรลุการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจเส้นตรง (linear economy) ไปเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)
  • ส่งเสริมการปฏิรูปดิจิทัล
  • ส่งเสริมรูปแบบการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
  • จัดลำดับความสำคัญและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
  • จัดการกับมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งห้ามการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

สำหรับ การประชุม Stockholm+50 จัดขึ้น ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ 2 – 3 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาโดยมีเจ้าภาพร่วมกันระหว่างรัฐบาลของสวีเดนและรัฐบาลเคนยา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก UNEP และหน่วยงานภาคีอื่น ๆ ภายใต้แนวคิดหลัก “Stockholm+50: โลกที่สมบูรณ์เพื่อความมั่งคั่งของคนทั้งผอง – โอกาสและความรับผิดชอบของเรา” (Stockholm+50: A Healthy Planet for the Prosperity of All – Our Responsibility, Our Opportunity)

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | การประชุม ‘Stockholm+50’ ครบรอบ 50 ปี จุดกำเนิดความร่วมมือพหุภาคีเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก
“Still Only One Earth” โลกยังคงมีเพียงแค่ใบเดียว – ชวนอ่าน บทเรียนจาก 50 ปี ของนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของ UN
SDG Updates | ‘Ecocide’ อาชญากรรมฆ่าล้างสิ่งแวดล้อมกับการผลักดันให้มีความผิดทางอาญาระดับโลก
เวียดนามชูยุทธศาสตร์ชาติ Decision 450 หวังปกป้องสิ่งแวดล้อม-สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายในปี 2573
– เลขาธิการบริหาร UNECE เสนอว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่คือความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อโลก
– SDG Updates | เมื่อโลกต้องการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ไทยจึงมี ‘BCG’ (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติปี 2564
Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
มหาวิทยาลัยในแอตแลนติกร่วมจัดตั้งโครงการสนับสนุนเงินทุน เพื่อดึงดูดนักศึกษาชนพื้นเมืองและผิวสีเข้าเรียนโรงเรียนธุรกิจมากขึ้น
SDG Updates | กลไกทางการเงินกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม และให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตลอดจนการเข้าถึงบริการทางการเงิน
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.1) ดำเนินการให้เป็นผลตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนทุกประเทศนำไปปฏิบัติ โดยประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำ โดยคำนึงถึงการพัฒนาและขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.c) ทำให้การอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไร้ประสิทธิภาพและนำไปสู่การบริโภคที่สิ้นเปลืองมีความสมเหตุสมผล โดยกำจัดกการบิดเบือนทางการตลาดโดยให้สอดคล้องสภาวะแวดล้อมของประเทศ รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีและเลิกการอุดหนุนที่เป็นภัยเหล่านั้นในที่ที่ยังมีการใช้อยู่ เพื่อให้สะท้อนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงอย่างเต็มที่ถึงความจำเป็นและเงื่อนไขที่เจาะจงของประเทศกำลังพัฒนาและลดผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นที่จะมีต่อการพัฒนาของประเทศเหล่านั้นในลักษณะที่เป็นการคุ้มครองคนจนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ
#SDG15 ระบบนิเวศบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
– (15.c) เพิ่มพูนการสนับสนุนในระดับโลกสำหรับความพยายามที่จะต่อสู้กับการล่า การเคลื่อนย้ายชนิดพันธุ์คุ้มครอง รวมถึงโดยการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมเเละสถาบันเข้มเเข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา:
Regions Highlight Development Priorities Ahead of Stockholm+50 (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on มิถุนายน 14, 2022

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น