SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 4 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  18 กุมภาพันธ์ – 24 กุมภาพันธ์ 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ครม. เลื่อนใช้มาตรฐานยูโร 5 เพื่อควบคุมมลพิษไอเสียจากยานพาหนะต่ออีก 1 ปี 

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปรับเปลี่ยนกำหนดเวลาบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ใหม่ ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ หรือ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป จากกำหนดเดิมเริ่มมีผลภายในปี 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลให้ภาคเอกชนไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดเวลาเดิม จึงจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดเวลาบังคับใช้ออกไปก่อน อีกทั้งภาคเอกชนบางส่วนอยู่ระหว่างลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต ส่วนมาตรการจูงใจในการปรับปรุงนั้น กระทรวงการคลังได้กำหนดให้รถกระบะดีเซลที่มีค่า PM ไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร (เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5) จะได้ลดภาษีสรรพสามิต นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานได้ออกประกาศกำหนดคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงที่เทียบเท่ามาตรฐานยูโร 5 รองรับไว้แล้ว ซึ่งเป็นการเลื่อนครั้งที่ 2 แล้ว ขณะเดียวกัน ครม. ก็ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการกำหนดแผนเพื่อบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 สำหรับผลิตภัณฑ์รถยนต์ใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะได้เตรียมความพร้อมและวางแผนการผลิตรถยนต์ได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดได้และไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ

สำหรับมาตรฐานยูโร 5 และยูโร 6 ได้มีการเริ่มอนุมัติใช้ในยุโรปตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบเครื่องยนต์ไอเสียสะอาดทั้งเบนซินและดีเซล โดยมีความแตกต่างจากมาตรฐานยูโร 4 หลายประการ อาทิ การเพิ่มมาตรฐานการวัดจำนวนอนุภาคฝุ่นขนาดเล็ก (PN) และกำหนดค่ามาตรฐานออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และสารไฮโดรคาร์บอน (HC) ซึ่งเป็นหนึ่งในสารที่ก่อให้เกิดมพิษ PM2.5 และการติดตั้งกรองเขม่าไอเสียดักจับฝุ่นละออง เป็นต้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573 และ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573  SDG 11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ

เข้าถึงได้ที่ : เลื่อนต่ออีก 1 ปี! ครม.เลื่อนใช้มาตรฐานยูโร 5 เพื่อควบคุมมลพิษไอเสียจากยานพาหนะสำหรับรถยนต์ใหม่ เริ่ม 1 ม.ค. 67 – Environman

 กลุ่มประมงพบ “คราบน้ำมันรั่วระยอง” อีกครั้ง – SPRC แถลงปฏิเสธไม่ใช่ต้นตอ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 กลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง พบคราบน้ำมันเป็นลักษณะแผ่นฟิล์มกระจายลอยกลางทะเลเป็นวงกว้าง จึงได้บันทึกคลิปไว้เป็นหลักฐานเพื่อนำไปแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบหาต้นตอ โดยในวันเดียวกันทาง บริษัท SPRC ต้นตอเหตุน้ำมันรั่วลงทะเลระยองเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า เหตุพบฟิล์มน้ำมันทะเลหนองแฟบที่ปรากฏบนสื่อโซเชียลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น บริษัทได้ทำการตรวจสอบแล้วพร้อมยืนยันว่าฟิล์มน้ำมันที่พบว่าไม่ใช่ของบริษัท และไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมของบริษัท ขณะที่ ความคืบหน้า “คดีน้ำมันรั่วระยอง” ที่ชาวบ้านผู้เสียหายยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงาน เครือข่ายประมงพื้นบ้านเผยว่า เครือข่ายฯ ต้องเรี่ยไรค่าธรรมเนียมศาลกว่า 1 ล้านบาท เหตุไม่มีหลักฐานนำมาแสดงเพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งหากรัฐจริงใจในการแก้ปัญหาต้องไม่ปล่อยให้ชาวบ้านต้องดิ้นรนกันเอง ทั้งศาลยังมีเวลาจำกัดในการให้ชาวบ้านนำหลักฐานมาแสดง เพียงเวลา 4-5 วันเท่านั้น ดังนั้น ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องเลือกแนวทาง คือ เอาเงินมาวางศาล เป็นเงิน 1,370 บาทต่อคน จากผู้ฟ้องทั้งหมด 834 คน ซึ่งการเรียกร้องดังกล่าวของชาวบ้าน คือ การมีส่วนรวมอยากให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูทะเลเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งต่อทรัพยากรทางทะเลและวิถีชีวิตของชาวระยอง 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 12 โดยเฉพาะเป้าหมายยย่อยที่ 12.4 บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.2 บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563 และ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่ : พบอีก “คราบน้ำมันรั่วระยอง” – SPRC แถลงปฏิเสธิ “ไม่ใช่จาก SPRC” – greennews

ศาลปกครองกลาง พิจารณา “สั่งระงับก่อสร้างโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองกลางนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก “คดีโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา” มีคำสั่ง “ระงับการก่อสร้าง-จัดรับฟังความคิดเห็น ในคดีที่มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชน และประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ได้ร่วมกันฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยให้ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดการรับฟังความคิดเห็น พ.ศ. 2548 และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กฎหมายกำหนด และดำเนินการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารต่ออธิบดีกรมศิลปากร ให้ดำเนินการทุกอย่างให้แล้วเสร็จ ภายใน 180 วัน และหากรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ผ่านการพิจารณา ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วภายใน 90 วัน 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 ผู้ฟ้องคดีจำนวน 12 ราย ได้ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) กระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) และกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา และการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา) เนื่องจากไม่ดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมายเรื่องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการจัดการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผิดกฎหมายผังเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.a สนับสุนนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ และ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่ : “ไม่ชอบด้วยกฏหมาย-สั่งระงับก่อสร้างโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา” – greennews

กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์ ‘โรคไวรัสมาร์บวร์ก’ เข้มคัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประกาศติดตามสถานการณ์การระบาดของ “โรคไวรัสมาร์บวร์ก” (Marburg virus disease: MVD) ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับไวรัสอีโบลา (Ebola) ให้ประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพราะเป็นสาเหตุการติดเชื้อ ทำให้เกิดอาการไข้และเลือดออก โดยมีค้างคาวผลไม้เป็นสัตว์นำโรค ถูกตั้งชื่อตามเมืองมาร์บวร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นที่ที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรก ซึ่งสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งที่ออกมาจากร่างกายของผู้ติดเชื้อได้เหมือนกับโรคอีโบลา โดยกำชับว่าด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางทุกคนที่มาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรค พร้อมแนะนำวิธีป้องกันเพื่อลดความเสี่ยง จากโรคไวรัสมาร์บวร์กในกลุ่มผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว และผู้ที่เสี่ยงต่อการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทย ยังไม่มีการประกาศห้ามการเดินทาง แต่เน้นมาตรการคัดกรองผู้เดินทางทุกคน ที่มาจากประเทศอิเควทอเรียลกินี และประเทศแคเมอรูน เพื่อเพิ่มระดับการเตรียมความพร้อมระบบการเฝ้าระวังและคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศทุกแห่ง 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573 และ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

เข้าถึงได้ที่ : กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์ โรคไวรัสมาร์บวร์กอย่างเข้มข้น เน้นตรวจคัดกรองผู้โดยสารทุกคน ที่มาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด – The Reporters

‘คนไร้สัญชาติ’ ทำโพลสำรวจ ‘สิทธิเลือกตั้ง’ หลังแบ่งเขตเลือกตั้งปี 66 นับรวมคนไร้สัญชาติ 

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ บริเวณ อ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายนักกิจกรรมคนไร้สัญชาติ เชียงใหม่ ทำโพลสำรวจความเห็น “คุณคิดว่าคนไร้สัญชาติควรมีสิทธิในการเลือกตั้งหรือไม่” หลังการคำนวณจำนวนประชากรในการแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 มีการนับรวมจำนวนคนไร้สัญชาติ 3 กลุ่ม มาคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย ได้แก่ คนไร้สัญชาติที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในไทย, คนไร้สัญชาติที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในไทยชั่วคราว และคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในไทยเป็นเวลามากกว่า 10 ปี มาคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย แต่คนไร้สัญชาติกลับไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่ง ปรีชา สายฟ้า นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในตัวแทนคนไร้สัญชาติ ระบุว่า การเลือกตั้งนั้น มีผลต่อการกำหนดนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลต่อค่าครองชีพ ขณะแรงงานขั้นต่ำของไทยไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ ตนเองจึงอยากที่จะมีสิทธิในการเลือกตั้งและอยากเห็นนโยบายของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งนักสิทธิแรงงาน เสนอว่า การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น รัฐควรจะขยายสิทธิให้คนกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่มีสัญชาติไทย ทั้งคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือคนต่างชาติที่มาอาศัยในไทยช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยกลุ่มคนที่ไม่มีสัญชาติไทย มีด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนมีสัญชาติอื่นที่มาอยู่ในไทย ไม่ควรมีสิทธิเลือกเลือกตั้ง แต่กรณีที่กลุ่มที่ไม่มีสัญชาติอื่นๆ และรัฐไทยสามารถพิสูจน์ได้ หรืออยู่ในกระบวนการขอสัญชาติไทย ควรมีสิทธิเลือกตั้งในระดับชาติตามปกติ หรือกระทรวงมหาดไทยควรให้สัญชาติของเขาโดยปริยาย เพื่อให้เขาสามารถมีสิทธิเลือกตั้ง

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.3 ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย และ SDG 10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ และ 10.3 การขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : ‘คนไร้สัญชาติ’ ทำกิจกรรมถามหา ‘สิทธิเลือกตั้ง’ หลังมีการนับรวมคนไร้สัญชาติ แบ่งเขตเลือกตั้ง 66 | ประชาไท Prachatai.com 

TikTok สร้างเครื่องมือตรวจสอบเนื้อหา เตรียมรับเลือกตั้ง 66 ป้องกันการบิดเบือน

TikTok เตรียมพร้อมรับการเลือกตั้ง 2566 สร้างเครื่องมือตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม ระบุห้ามโฆษณาทางการเมืองบนแพลตฟอร์เด็ดขาด เพื่อการนำเสนอข้อมูล ความปลอดภัยและความถูกต้องของเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ ผ่านเครื่องมือที่สามารถคัดกรองและตรวจสอบข้อมูลที่มีความบิดเบือนและไม่เป็นความจริง โดยจัดหาแหล่งข้อมูลที่มีการตรวจสอบได้ และมีความน่าเชื่อถือให้กับผู้ใช้งาน พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบข้อมูล รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดภายใต้หลักเกณฑ์สำหรับชุมชน และเครื่องมือด้านความปลอดภัยที่มีการพัฒนาและนำมาใช้บนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานส่งต่อเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องในช่วงของการเลือกตั้ง ก่อนที่ผู้ใช้งานจะกดยืนยันในการส่งต่อเนื้อหานั้น ๆ จะมีข้อความขึ้นเตือนให้ผู้ใช้งานพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสมอ และหากผู้ใช้งานเห็นว่าเนื้อหาดังกล่าวละเมิดหลักเกณฑ์สำหรับชุมชนหรือเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้ใช้งานสามารถใช้ปุ่ม Election Report Button หรือปุ่มรายงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งเพื่อรายงานเนื้อหา โดย TikTok จะคอยตรวจสอบเนื้อหาบนแพลตฟอร์มตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานรายงานเนื้อหาที่ละเมิดหรือมีความเสี่ยง ส่งให้ทีมปฏิบัติงานตรวจสอบและดำเนินการ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

เข้าถึงได้ที่ : TikTok พร้อมรับเลือกตั้ง 66 สร้างเครื่องมือตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา – thereporters

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น