บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ


1. ประเด็นการพัฒนาที่พื้นที่ให้ความสำคัญ

การทบทวนความสำคัญของประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ปีที่ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 22 คน แบ่งเป็นภาครัฐ 8 คน ภาคเอกชน จำนวน 3 คน ภาคประชาสังคม/ภาคองค์กรชุมชน/ชาวบ้าน จำนวน 5 คน ภาควิชาการ จำนวน 3 คน และภาคส่วนอื่น ๆ อีกจำนวน 3 คน ได้ผลการทบทวนเปรียบเทียบกับโครงการปีที่ 1 ดังตารางต่อไปนี้

ตารางเปรียบเทียบการทบทวนความสำคัญของประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีที่ 1 และปีที่ 2

ลำดับปีที่ 1ปีที่ 2
1ปัญหาความยากจนปัญหาความเหลื่อมล้ำ
2ปัญหาความเหลื่อมล้ำภัยแล้งและคุณภาพของน้ำในพื้นที่
3ปัญหาการพัฒนาคนของภาคอยู่ในระดับต่ำการจัดการขยะและของเสีย
4ภัยแล้งและคุณภาพของน้ำในพื้นที่ปัญหาความยากจน
5การจัดการขยะและของเสียปัญหาการพัฒนาคนของภาคอยู่ในระดับต่ำ

จากตารางข้างต้น สรุปได้ว่าประเด็นการพัฒนา 5 ลำดับแรกที่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ความสำคัญในปีที่ 1 และปีที่ 2 นั้นตรงกันทุกประเด็น โดยแบ่งเป็นประเด็นภายใต้มิติเศรษฐกิจ 1 ประเด็น คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ประเด็นภายใต้มิติสังคม 2 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาความยากจน และ ปัญหาการพัฒนาคนของภาคอยู่ในระดับต่ำ ประเด็นภายใต้มิติสิ่งแวดล้อม 2 ประเด็น ได้แก่ ภัยแล้งและคุณภาพของน้ำในพื้นที่ และ การจัดการขยะและของเสีย อย่างไรก็ดีมีความเปลี่ยนแปลงในการลำดับประเด็น เนื่องจากประเด็นที่พื้นที่ให้ความสำคัญมากที่สุดในปีที่ 1 คือปัญหาความยากจน แต่ปีที่ 2 คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 


2. งานวิจัยที่พื้นที่ต้องการเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสำคัญ

การประชุมระดมความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สรุปได้ว่าพื้นที่ต้องการงานวิจัยเพื่อตอบสนองต่อปัญหาระดับพื้นที่ทั้งสิ้น 7 ประเด็น แบ่งตามมิติดังนี้

  • มิติเศรษฐกิจ ได้แก่
  1. งานวิจัยเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมแนวใหม่ที่เพิ่มมูลค่าให้กับภาคการเกษตรในพื้นที่ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำเกษตรกรรมให้กับเกษตรกร [SDG2, SDG8]
  2. งานวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจชีวภาพ และ เศรษฐกิจสีเขียว (bio circular economy) สำหรับบริบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ [SDG8, SDG12]
  3. งานวิจัยด้านเศรษฐกิจฐานรากซึ่งมีชุมชนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนวงจรของเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้น [SDG8]
  • มิติสังคม ได้แก่ 
  1. งานวิจัยเพื่อการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยในบริบทของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ [SDG4]
  2. งานวิจัยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในมิติต่าง ๆ อย่างรอบด้าน [SDG4, SDG10]
  3. งานวิจัยเพื่อหาทางออกของปัญหาสังคมที่เกิดจากเงื่อนไขครอบครัว เช่น ปัญหาท้องไม่พร้อม คุณแม่วัยใส [SDG3, SDG5]
  • มิติสิ่งแวดล้อม ได้แก่
  1. งานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการตั้งรับปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับภาคเกษตรกรรม [SDG2, SDG13]

นอกจากนี้ การประชุมระดมความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญยังระบุถึงหน่วยงานที่ได้ทํางานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ 

  • ชุมชน : บทบาทหน้าที่ เช่น กำหนดความต้องการและปัญหาของชุมชนที่ต้องการแก้ไขด้วยงานวิจัย /มีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกและแบ่งปันภูมิปัญญาของท้องถิ่นมาใช้ในงานวิจัย
  • สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ : บทบาทหน้าที่ เช่น สร้างองค์ความรู้เพื่อนำ ไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น/ ร่วมมือกับภาคนโยบายในพื้นที่เพื่อนำความรู้และงานวิจัยไปใช้ในการกำหนดนโยบายและการพัฒนาพื้นที่
  • สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด (พช.) : บทบาทหน้าที่ เช่น ดูแลและแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย/ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
  • องค์กรรัฐวิสาหกิจ : บทบาทหน้าที่ เช่น สนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อหาทางออกหรือแก้ไขโจทย์ความต้องการของพื้นที่/ แบ่งปันทรัพยากรที่องค์กรมีเพื่อเติมเต็มช่องว่างของการพัฒนาในพื้นที่
  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : บทบาทหน้าที่ เช่น ดูแลรับผิดชอบการปกครองและการบริหารจัดการท้องถิ่น/ ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและนักวิจัยในพื้นที่เพื่อกำหนดโจทย์วิจัยและทำวิจัยที่ตรงตามความต้องการของพื้นที่
  • หัวหน้าส่วนราชการระดับพื้นที่ (ผู้ว่าราชการจังหวัด/นายอำเภอ) : บทบาทหน้าที่ เช่น จัดสรรทรัพยากรของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสูดต่อพื้นที่ /บังคับใช้กฎหมาย ระเบียบ กติกา ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่อย่างถูกต้องและเป็นธรรม
  • ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน : บทบาทหน้าที่ เช่น ดูแลและจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กก่อนประถมวัยซึ่งเป็นกลไกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3. ข้อเสนอแนะสำหรับการทํางานร่วมกันของทุกภาคส่วน

จากกระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ให้ข้อเสนอแนะต่อการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนกลไก ววน. ระดับพื้นที่ เช่น 

  • การแก้ไขปัญหาของพื้นที่ควรให้ชุมชนเป็นตัวแสดงสำคัญที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดและทางออกในการแก้ไขปัญหา โดยนักวิจัยมีบทบาทของการเป็นผู้แสวงหาความรู้หรือพัฒนา นวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบริบทของพื้นที่ชุมชน และอยู่บนพื้นฐานการปรึกษาหารือร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ในชุมชน
  • ควรมีระบบพี่เลี้ยงการวิจัย (research mentor) เพื่อให้มีผู้สนับสนุนคำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการทำวิจัยซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยที่รับทุนที่อาจจะยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากได้มีที่ปรึกษา และสามารถดำเนินการวิจัยได้ตรงตามเป้าหมายและบรรลุผลสำเร็จตามแผน
  • กระบวนการขอทุนและรับทุนควรดำเนินการอย่างคงไว้ซึ่งการให้ความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างผู้ให้ทุนและผู้รับทุน มีบรรยากาศของความเป็นมิตรในกระบวนการบริหารจัดการทุนร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่างทั้งสองฝ่ายที่จะช่วยให้กระบวนการวิจัยบรรลุเป้าหมายได้อย่างราบรื่นรื่นมากขึ้น
  • ควรมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ความต้องการ และปัญหา จากคนกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ในพื้นที่ เนื่องจากสภาวะปัญหาที่คนแต่ละกลุ่มกำลังเผชิญมีความแตกต่างกัน โดยความคิดเห็นและข้อมูลทั้งหมดที่เกิดจากการรับฟังควรนำไปสู่การออกแบบกระบวนการวิจัย เพื่อหาทางออกอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในบริบทของพื้นที่ชุมชนด้วย
  • ควรมีการให้ความรู้และเครื่องมือสำหรับการถ่ายทอดนวัตกรรมสู่ชุมชนแบบครบวงจรที่ชุมชนบริหารจัดการเองได้อย่างยั่งยืน
คณะวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: ดร.อนิรุทธิ์ ผงคลี มหาวิทยาลัยนครพนม, ผศ.ดร.กัญญาณัฐ รัตนประภาธรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, อาจารย์ ทม เกตุวงศา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคณะ

● บทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Area Need 
– Introduction of Area Need | เราจะรู้ได้อย่างไรว่างานวิจัยที่มีอยู่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคเหนือ
 Area Need พื้นที่ต้องการอะไร? | ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออก 
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคกลาง
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้ชายแดน
Area Need 05 | Area Need 2: What’s next step? การติดตาม และวางแผนต่อไปสำหรับโครงการความต้องการของพื้นที่ ปีที่ 2 

ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1  และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 2 ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้ ไปจนถึง เมษายน 2566

อติรุจ ดือเระ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น