‘ผู้หญิงและเด็กผู้หญิง’ ในประเทศที่เกิดวิกฤต ประสบกับภาวะทุพโภชนาการ เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 25

วัยรุ่นหญิงและผู้หญิงมากกว่าพันล้านคน ต้องเผชิญกับภาวะโภชนาการต่ำ ภาวะขาดสารอาหาร และภาวะเลือดจาง (anemia) ซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ โดย ภาวะทุพโภชนาการ มีผลต่อการลดศักยภาพในการเรียนรู้ ค่าจ้าง และโอกาสในดำรงชีวิตของวัยรุ่นหญิงและผู้หญิง ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่องสามารถป้องกันการติดเชื้อได้น้อยลง รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่คุกคามต่อชีวิตในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร

ยูนิเซฟ หรือ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund : UNICEF) เผยแพร่รายงานใหม่ Undernourished and Overlooked: A Global Nutrition Crisis in Adolescent Girls and Women’ โดยได้ตรวจสอบสถานะปัจจุบัน แนวโน้ม และความเหลื่อมล้ำในภาวะโภชนาการ (nutritional status) ของวัยรุ่นหญิงและผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุระหว่าง 15-49 ปี และอุปสรรคที่ต้องเผชิญในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ การบริการด้านโภชนาการที่จำเป็น และการได้รับประโยชน์จากโภชนาการเชิงบวกและแนวทางการดูแลโภชนาการ

รายงานมุ่งเน้นการวิเคราะห์ไปที่ภาวะโภชนาการต่ำ ภาวะขาดสารอาหารที่ต้องการปริมาณน้อย  (micronutrient deficiency) เช่น ธาตุสังกะสีและวิตามินดี และภาวะเลือดจาง เนื่องจากภาวะทุพโภชนาการรูปแบบเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อวัยรุ่นหญิงและผู้หญิงที่เปราะบางที่สุดในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านอาหารและโภชนาการ

จากรายงานดังกล่าว ค้นพบผลการวิจัยที่สำคัญหลายประการ ดังนี้

  • ความก้าวหน้าด้านโภชนาการของวัยรุ่นหญิงและผู้หญิงยังคงเชื่องช้าและอยู่ในภาวะที่คุกคาม รวมถึงไม่มีภูมิภาคใดสามารถดำเนินการตามเป้าหมายลดภาวะเลือดจาง และลดจำนวนทารกแรกเกิดที่มีนํ้าหนักน้อยกว่ามาตราฐาน (low birth weight หรือ LBW) ได้ทันปี 2573 ขณะที่ ภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลัน (acute malnutrition) เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ตั้งแต่ปี 2563 ในประเทศที่เกิดวิกฤต
  • วัยรุ่นหญิงและผู้หญิงที่ด้อยโอกาส รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่ยากจนต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะโภชนาการต่ำและภาวะเลือดจาง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จำนวน 51 ล้านคนทั่วโลก มีการเจริญเติบโตอยู่ในภาวะแคระแกร็น (stunting) โดยประมาณครึ่งหนึ่งของเด็ก จะมีภาวะแคระแกร็นเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ หรือเกิดอาการช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องพึ่งพาโภชนาการจากแม่
  • ภัยทางสังคม บรรทัดฐานและการปฏิบัติทางเพศ ขัดขวางความก้าวหน้าของโภชนาการของวัยรุ่นหญิงและผู้หญิง
  • วิกฤตอาหารโลก (global food crisis) ทำให้วิกฤตทางโภชนาการของวัยรุ่นหญิงและผู้หญิงยิ่งแย่ลงไปอีก โดย 12 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหารในปัจจุบันมากที่สุด ได้แก่ มาลี ไนเจอร์ เคนยา ไนจีเรียตะวันออกเฉียงเหนือ บูร์กินาฟาโซ ชาด โซมาเลีย ซูดานใต้ อัฟกานิสถาน ซูดาน เยเมน และเอธิโอเปีย เป็นต้น
  • การบริการด้านโภชนาการและโครงการการคุ้มครองทางสังคม กำลังล้มเหลวในการตอบสนองความต้องการด้านโภชนาการของวัยรุ่นหญิงและผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านมนุษยธรรม
  • ขาดนโยบายป้องกันภาวะโภชนาการต่ำในวัยรุ่นหญิงและผู้หญิง

จากรายงานสะท้อนให้เห็นว่าขนาดและผลกระทบของภาวะโภชนาการต่ำ ภาวะขาดสารอาหาร และภาวะเลือดจางในวัยรุ่นหญิงและผู้หญิงกำลังถูกมองข้ามและขัดขวางการเติบโต การพัฒนา และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้หญิงทุกคน ซึ่งหลากหลายฝากฝ่ายควรเร่งความก้าวหน้าให้มากขึ้นต่อการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อให้สามารถเข้าใกล้เป้าหมายในการจัดการกับปัญหาด้านโภชนาการของวัยรุ่นหญิงและผู้หญิงที่กำลังเกิดขึ้นในทั่วโลก

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
Fed to Fail? เมื่อ 10 ที่ผ่านมาโลกยังทำให้ 2 ใน 3 ของเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีไม่พ้นไปจากภาวะทุพโภชนาการ 
โลกอาจไม่บรรลุ #SDG2 ภายในปี 2573 หากพืชผลที่ผลิตไม่ถูกใช้เป็นอาหารเพื่อเลี้ยงปากท้องประชาชน
WHO และ UNICEF สนับสนุน “การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” แม้รัฐในอินเดียยังพบว่าเด็กอายุ 6-8 เดือน ร้อยละ 61 ยังขาดสารอาหารที่สำคัญตามช่วงวัยและน้ำนมแม่ 
12 ข้อมูลตัวเลขชี้สถานการณ์ความแร้นแค้นและความอดอยากในอัฟกานิสถาน
SDG Updates | Climate Change และผลกระทบต่อผู้หญิงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ และมีอาหารเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 รวมถึงการบรรลุเป้าประสงค์ที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเน้นความต้องการโภชนาการของหญิงวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2568
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารกลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อ การเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายในปี 2573
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

แหล่งที่มา:
Undernourished and Overlooked | UNICEF 
Undernourished and overlooked | Executive Summary | UNICEF Data 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กรกฎาคม 17, 2023

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น