“จะเป็นอย่างไรหากอีกสิบปีข้างหน้า ไม่มีสัตว์น้ำในทะเลไทยให้เรากิน”
โจทย์คำถามข้างต้นดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวและเกินกว่าจะเกิดขึ้นจริง แต่เมื่อพิจารณารายงานประมาณการผลผลิตและมูลค่าสัตว์น้ำจากการประมงของประเทศไทย พ.ศ. 2564 – 2566 พบว่าในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2554 – 2563) มีผลผลิตจากการทำการประมงทะเลเฉลี่ย 1,445,005 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่า 56,961 ล้านบาทต่อปี โดยผลผลิตมีแนวโน้มลดลงในอัตราร้อยละ 0.78 ต่อปี ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการทำประมงเกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ (overfishing)
สถิติสอดคล้องกับความกังวลของ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ผู้จัดการสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า “ไม่ควรมีเรืออวนลากคู่ในประเทศนี้ โลกนี้ไม่ควรมีด้วยซ้ำ เพราะเป็นวิธีการทำประมงที่ทำลายล้างมาก จับทุกอย่างเลยตั้งแต่พื้นทะเลยันผิวน้ำ สัตว์น้ำไม่ว่าตัวเล็กตัวใหญ่หนีไม่ได้เลย การทำประมงแบบนี้แหละเป็นการเอาเปรียบคนทั่วโลก” [1]
การตื่นตัวต่อผลกระทบจากการใช้อวนลากเป็นการเตรียมพร้อมที่ยั่งยืนหรือเป็นเพียงกระต่ายตื่นตูมมากกว่ากัน และมีข้อเสนอแนะใดบ้างที่เป็นแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหา ชวนผู้อ่านสำรวจและร่วมหาคำตอบผ่านรายงาน “อุตสาหกรรมอวนลากในประเทศไทย” ที่จัดทำและเผยแพร่โดยมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF)
01 – ‘อวนลาก’ การประมงกินรวบแบบโนสนโนแคร์
การประมงที่ใช้อวนลากเป็นเครื่องมือถูกจัดให้อยู่ใน ‘กลุ่มเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง’ เช่นเดียวกับอวนล้อมจับมีสายมานและเรือปั่นไฟ โดยลักษณะของเครื่องมืออวนลากคือมีอวนจับปลาผูกไว้ท้ายเรือในระดับผิวน้ำ หรือใต้น้ำ โดยมีการถ่วงน้ำหนักไว้ ขณะที่กรมประมงนิยามอวนลากว่าคือ “เครื่องมืออวนที่มีลักษณะคล้ายถุง เมื่อทำงานจะใช้เรือลากจูงให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง” [2]
ทั้งนี้ อวนลากมีทั้งสิ้น 3 รูปแบบ ได้แก่
- อวนลากคู่ (pair trawls) หมายถึง อวนลากที่ใช้เรือสองลำช่วยถ่างปากอวน
- อวนลากแผ่นตะเฆ่ (otter board trawls) หมายถึง อวนลากที่ใช้แผ่นตะเฆ่ช่วยถ่างปากอวน ได้แก่ อวนลากปลา อวนลากกุ้ง อวนลากเคย และอวนลากแมงกะพรุน
- อวนลากคานถ่าง (beam trawls) หมายถึง อวนลากที่ใช้คานช่วยถ่างปากอวน ได้แก่ อวนลากคานถ่างแบบลากกุ้ง (บางแห่งเรียกว่าอวนลากข้างหรืออวนลากแขก) และอวนลากคานถ่างแบบลากแมงกะพรุน (ชาวประมงเรียกว่าอวนลากจอหนัง)
อวนลากทั้ง 3 รูปแบบล้วนเป็นวิธีการทำประมงที่สร้างปัญหาแก่ระบบนิเวศทางทะเล เนื่องจากเป็นการประมงที่จับสัตว์น้ำเกินขนาด ทำลายแนวปะการัง รบกวนตะกอนและเลน และบ่อนทำลายสัตว์น้ำในพื้นที่ซึ่งใช้พื้นทะเลเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร หรือพื้นที่ขยายพันธุ์ ทั้งนี้ EJF ระบุในรายงายว่ามีการประมาณการไว้ว่า การลากอวนนั้นสามารถจับสัตว์น้ำได้ถึง 30 ล้านตันต่อปี ซึ่งสูงกว่าวิธีการทำประมงแบบอื่น ๆ อย่างไรก็ดีปริมาณที่จับได้มากนี้ตอบโจทย์เพียงเจ้าของกิจการประมงเท่านั้น จึงนับว่าการประมงด้วยอวนลากที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในไทย เป็นปัญหาสำคัญที่สวนทางกับความพยายามของนานาชาติที่ร่วมมือกันอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรประมงทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
02 – สถานการณ์เรืออวนลากไทย เดินหน้าทำลายล้างสัตว์น้ำเศรษฐกิจ
ไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชีย ปัจจุบันมีเรือประมงมากถึง 61,832 ลำ แบ่งเป็นเรือประมงพาณิชย์ 10,595 ลำ และเรือประมงพื้นบ้าน 51,237 ลำ ในจำนวนดังกล่าวจัดเป็นเรือประมงอวนลากทั้งสิ้น 3,370 ลำ โดยจดทะเบียนอยู่ที่อ่าวไทยจำนวน 2,752 ลำ และจดทะเบียนไว้ที่ทะเลอันดามันจำนวน 618 ลำ [3]
แม้ประเทศไทยจะเริ่มปฏิรูปการประมงมาตั้งแต่ปี 2558 แต่การฟื้นตัวของระบบนิเวศในปี 2564 ยังคงเชื่อมโยงกับปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง โดยหากพิจารณาสถิติเกี่ยวกับปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ต่อหน่วยลงแรงประมง (catch per unit effort: CPUE) ซึ่งเป็นหน่วยที่มักใช้วัดความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ จะพบว่าบริเวณท่าเรือสำคัญ 3 แห่ง ที่มักใช้จดทะเบียนเรืออวนลาก ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเขต 3 และเขต 7 นั้นล้วนเป็นพื้นที่ที่มีค่า CPUE ต่ำสุดในประเทศ โดยปี 2554 อยู่ที่ 8.990 กก./ชม. และ 9.480 กก./ชม. ตามลำดับ ขณะที่ข้อมูลล่าสุดปี 2563 พบว่าค่า CPUE ของเขต 3 และเขต 7 อยู่ในช่วง 6-10.99 เช่นเดิม สะท้อนว่าพื้นที่ทำประมงดังกล่าวยังคงมีค่า CPUE ต่ำสุดในอ่าวไทย อย่างไรก็ดีการวัด CPUE ในไทยยังค่อนข้างมีข้อจำกัด กล่าวคือ การเก็บข้อมูลวัดจากประชากรสัตว์น้ำประเภทผิวหน้า ปลาหน้าดิน หมึก กุ้ง ปู หอย ปลาเป็ด และอื่น ๆ เป็นการวัดโดยไม่จำกัดว่าจะต้องวัดจากประชากรสัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่งทำให้อาจสรุปผลได้ยาก [4]
นอกจากนี้ ข้อมูลการจับสัตว์น้ำของเรืออวนลากตั้งแต่ปี 2551-2562 แสดงให้เห็นว่ามีปริมาณสินค้า (หน่วยวัดเป็นตัน) ลดลงจาก 784,991 ตันในปี 2551 เหลือ 637,213 ตันในปี พ.ศ. 2562 นับเป็นสัดส่วน 19% ในขณะเดียวกัน น้ำหนักตันกรอสรวมของเรือลากอวนกลับเพิ่มสูงขึ้นจาก 154,972 ตันในปี 2551 เป็น 201,426 ตันในปี 2562 (เพิ่มขึ้น 30%) สะท้อนว่าผู้ประกอบการมีการทำประมงเกินขนาดด้วยความคิดว่าการใช้เรือเชิงอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้จับสัตว์น้ำได้มากขึ้นซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริงในปัจจุบัน [5]
การประมงอวนลากที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องในไทยข้างต้น จึงส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาทางทะเลที่สำคัญคือการทำลายล้างสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็ก เนื่องจากประมงอวนลากเป็นวิธีที่ทำให้เกิดการจับปลาเป็ดแท้และปลาเป็ดเทียมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก กล่าวคือเรืออวนลากจับทั้งปลาเป็ดแท้ซึ่งหมายถึงปลาที่มีมูลค่าทางทางเศรษฐกิจต่ำ และปลาเป็ดเทียมซึ่งหมายถึงสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ถูกทำให้ช้ำหรือถูกบดขยี้จากการการลากจนโดนลดค่าเป็นปลาเป็ด โดยส่วนใหญ่มักเป็นเป็นลูกปลาเศรษฐกิจหลายสายพันธุ์ เช่น ปลาทู ปลากะตัก และหมึก ซึ่งหากปล่อยให้สัตว์น้ำเหล่านี้โตต่อไปอีก 3-6 เดือน จะสามารถสร้างมูลค่าได้มากขึ้นหลายเท่าตัว นอกจากนี้ สัตว์น้ำประเภทดังกล่าวยังสามารถขยายพันธุ์และเพิ่มปริมาณประชากรอีกด้วย ดังนั้น การจับปลาก่อนถึงวัยแรกเริ่มเจริญพันธุ์ (วัดจากว่าปลาตัวนั้นเคยสืบพันธุ์และเพิ่มปริมาณประชากรหรือไม่) จึงสร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล สกัดกั้นไม่ให้ประชากรปลาในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ยั่งยืนและเป็นภัยคุกคามต่อรายได้ของชาวประมงพื้นบ้านและชาวประมงพาณิชย์[6]
ทั้งนี้ ในบรรดาประเภทของเรือลากอวนทั้งหมด พบว่าเรืออวนลากคู่สร้างความเสียหายมากกว่าอวนลากชนิดอื่น ๆ เป็นอย่างมาก โดย EJF อ้างถึงงานวิจัยของกรมประมงในปี 2560 ที่เปิดเผยว่าแม้เรืออวนลากคู่จะออกเรือน้อยกว่า 20% ของการออกเรืออวนลากทั้งหมดในปีนั้น ๆ แต่เรืออวนลากคู่สามารถจับสัตว์น้ำได้ถึง 56% ของปริมาณการจับสัตว์น้ำทั้งหมด โดยอัตรา CPUE ของเรืออวนลากคู่ในปี 2560 สูงกว่าของเรืออวนลากแผ่นตะเฆ่และเรืออวนลากคานถ่างรวมกันถึง 3 เท่า นอกจากนี้สัตว์น้ำที่เรืออวนลากคู่จับได้มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 (264,814 ตัน) ถึงปี 2562 (366,724 ตัน) ซึ่งคิดเป็น 38% แม้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 จะบังคับให้ขยายขนาดก้นอวน (ส่วนที่ใช้จับปลา) โดยตาอวนต้องมีขนาดขั้นต่ำ ที่ 4 เซนติเมตร อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของการจับสัตว์น้ำที่เป็นปลาเป็ดและจำนวนเครื่องมือทำประมงที่เพิ่มขึ้นต่างชี้ให้เห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวไม่ประสบผลสำเร็จ อีกทั้งในปี 2565 EJF ได้ลงพื้นที่สำรวจและพบว่าเรือที่มีการจับปลาเป็ดยังใช้อวนที่มีขนาดตาต่ำกว่า 4 เซนติเมตรอยู่ [7]
อย่างไรก็ดี การห้ามประมงอวลลาก โดยเฉพาะเรืออวนลากคู่ก็อาจต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานที่ทำงานบนเรืออวนลาก ซึ่งปี 2564 พบว่ามีอยู่มากถึง 14,612 คน ภาครัฐจึงอาจต้องพิจารณาวิธีแก้ปัญหาอย่างถี่ถ้วนและครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากที่สุด โดย EJF แนะนำว่าให้มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มดำเนินการจากเรืออวนลากคู่ที่มีขนาดใหญ่และเครื่องยนต์แรงที่สุดก่อน ซึ่งต้องคำนึงถึงการให้เงินสนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการและชาวประมงที่ต้องเปลี่ยนไปใช้เครื่องมือลักษณะอื่น
03 – “ขาดข้อมูล” และ “ไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมาย” สองสาเหตุสร้างหายนะระยะยาว
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยต้องเผชิญปัญหาจากการประมงอวนลากมีอยู่ 2 ประการ ดังนี้
สาเหตุประการแรก การขาดการบันทึกและรายงานข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการประมงอวนลาก โดย EJF ระบุว่าข้อมูลการประมงอวนลากของไทยไม่มีความน่าเชื่อถือและขาดความสม่ำเสมอในการรายงาน ส่งผลให้เกิดความยากลำบากที่จะวัดหรือเปรียบเทียบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือทำประมงแบบทำลายล้าง
ทั้งนี้ พบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมากรมประมงซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการประมง ยังขาดการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้สัดส่วนของชนิดสัตว์น้ำและการประเมินประชากรสัตว์น้ำที่สำคัญต่อเศรษฐกิจซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุด้วยกัน ได้แก่ 1. มีการจำกัดการเข้าถึงข้อมูล และ 2. ช่องโหว่ด้านข้อมูลที่เป็นปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ
EJF ยังระบุด้วยว่า ระบบการรายงานสัตว์น้ำที่จับได้ในปัจจุบันยังคงหละหลวมเป็นอย่างมาก ชาวประมงจึงสามารถบิดเบือนปริมาณที่จับได้จริง อีกทั้งระบบจัดเก็บข้อมูลปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ยังอนุญาตให้มีปริมาณสัตว์น้ำเหลื่อมล้ำจากที่บันทึกไว้ในสมุดปูมเรือได้้บวกลบ 20% ซึ่งมากกว่าข้อกำหนดปกติิที่่ตั้งไว้้ที่่ 10% เมื่อปี 2559
การไม่บันทึกและขาดการรายงานยังส่งผลต่อการประเมินประชากรสัตว์น้ำ ปัญหานี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนผ่านรายงานดัชนีการประมงโลก ปี 2564 ที่จัดทำโดยมูลนิธิมินเดอรู ซึ่งวัดความพยายามในการประเมินประชากรสัตว์น้ำของ 142 ประเทศทั่วโลก เช่น ตัวชี้วัดเกี่ยวกับกับจำนวนประชากรสัตว์น้ำ และตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน โดยให้ผลเป็นเกรด A ถึง เกรด F ซึ่ง A หมายถึงมีความก้าวหน้าและยั่งยืนมากที่สุด ส่วน F หมายถึงมีความก้าวหน้าและยั่งยืนน้อยที่สุด ผลพบว่าไทยอยู่ที่ระดับเกรด E โดยได้คะแนนเพียง 7.9 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน กล่าวคือมีความพยายามปรับปรุงการประเมินประชากรสัตว์น้ำและความยั่งยืนน้อย โดยข้อค้นพบสำคัญที่ปรากฏในรายงานฉบับดังกล่าวคือกว่า 88% ของสัตว์น้ำที่จับได้ในไทยไม่ได้ผ่านการประเมินใด ๆ และมีเพียง 11 เท่านั้นที่ผ่านการประเมิน ขณะที่อีก 1 % ผ่านการประเมินจากองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาค (Regional Fisheries Management Organisation: RFMO) [8]
สาเหตุประการที่สอง ไม่มีการบังคับใช้บทลงโทษอย่างจริงจัง กล่าวคือปัจจุบันยังไม่มีการบังคับใช้บทลงโทษต่อผู้ประกอบการเรือประมงที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเป็นประจำอย่างจริงจัง ผู้กระทำผิดจึงไม่มีเหตุให้ปฏิบัติตาม อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดหรือบังคับใช้โควตาปริมาณสัตว์น้ำทั้งหมดที่อนุญาตให้ทำการประมง (total allowable catch: TAC) ทำให้ไม่มีการบังคับให้เรือประมงที่จับสัตว์น้ำเกินกำหนด 20% ต้องลดปริมาณการจับสัตว์น้ำในการออกเรือแต่ละครั้งลง
ทั้งนี้ กรมประมงได้ระบุถึงสาเหตุที่ยังไม่สามารถใช้ระบบการควบคุมโควตาปริมาณการจับสัตว์น้ำได้โดยตรง เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น การจัดทำสมุดบันทึกการทำประมงยังไม่บังคับกับเรือประมงทุกลำ โดยเฉพาะเรือประมงพื้นบ้าน ทำให้ไม่สามารถติดตามปริมาณการจับสัตว์น้ำของเรือแต่ละลำได้ การควบคุมโควตาการจับสัตว์น้ำมีความเสี่ยงที่จะเกิดการทิ้งสัตว์น้ำที่ไม่ต้องการลงทะเล เนื่องจากชาวประมงจะบันทึกน้ำหนักสัตว์น้ำที่มีราคาดีเท่านั้น และเมื่อหมดโควตาการจับสัตว์น้ำจะเกิดปัญหาการว่างงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ [9]
05 – มองทางออกผ่านข้อเสนอแนะของ EJF
ผลกระทบจากประมงอวนลากไม่เพียงแต่ทำลายระบบนิเวศทางทะเลและลดจำนวนสัตว์น้ำลงเท่านั้น แต่มนุษย์ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์จากทะเลก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบที่น่ากังวลได้ การมองหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาข้างต้นจึงเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน โดย EJF ระบุถึงข้อเสนอแนะที่น่าสนใจสำหรับภาครัฐ ดังนี้ [10]
- พิจารณาวิธียกเลิกการใช้เครื่องมือทำประมงแบบอวนลากคู่ที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศทางทะเลของไทย และทำให้ประชากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญในน่านน้ำไทยลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป และควรมีการวางแผนยกเลิกอย่างถี่ถ้วน โดยให้ความสำคัญกับเรืออวนลากคู่ขนาดใหญ่ที่สุดก่อน และควรดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสามปี
- เร่งนำหลักปฏิบัติด้านความโปร่งใสสำหรับการทำประมงสากล 10 ประการของ EJF มาปรับใช้โดยเน้นการแก้ไขปัญหาการติดตามเรือประมงพาณิชย์ รวมถึงการบังคับใช้และดำเนินคดีกับเรือประมงผิดกฎหมาย
- พิจารณาแก้ไขปัญหาช่องโหว่เกี่ยวกับเรืออวนลากด้วยการให้ความสำคัญกับหลักปฏิบัติดังต่อไปนี้เป็นพิเศษ ได้แก่ ข้อที่ 4 เผยแพร่บทลงโทษเมื่อมีการก่ออาชญากรรมทางการประมง ข้อที่ 5 การนำคำสั่งห้ามไม่ให้มีการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลกลับมาใช้ ข้อที่ 9 ลงโทษทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
- สนับสนุนกฎบัตรด้านความโปร่งใสในการทำประมงของ EJF อย่างเปิดเผยและนำไปปรับใช้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านสามารถยุติการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และปัญหาการทำประมงเกินขนาดอย่างมีประสิทธิภาพได้
- จำกัดการอุดหนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการจับสัตว์น้ำ เช่น การอุดหนุนน้ำมันเขียวในกลุ่มเรืออวนลากคู่ เพราะไม่ก่อให้เกิดการทำประมงแบบยั่งยืน อีกทั้งยังทำให้เรือประมงพาณิชย์ที่อาศัยการอุดหนุนดังกล่าวสามารถทำกำไรจากการจับสัตว์น้ำมูลค่าต่ำอย่างปลาเป็ดมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ EJF ยังให้ข้อเสนอแนะที่เจาะจงถึงกรมประมง ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการประมง เช่น
- ทดลองระบบติดตามเรือ (Vessel Monitoring System: VMS) กับเรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 30GT อย่างเร่งด่วน โดยเน้นไปที่เรืออวนลากคู่และเรืออวนลากแผ่นตะเฆ่ซึ่งสร้างความเสียหายมากเป็นพิเศษ
- ตรวจสอบให้มั่นใจว่าศูนย์ติดตามและควบคุมเรือประมงได้ติดตามและตรวจสอบระบบ VMS ที่่มีีสัญญาณขาดหาย เพื่อพิจารณาว่ามีการกระทำผิดหรือไม่
- ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การจัดการเรืออวนลากตามขนาดของเรือ โดยเรือขนาด 30GT 60GT และ 100GT ต้องมีกฎควบคุมการดำเนินงานที่เข้มงวดขึ้นตามขนาด
- บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อห้ามไม่ให้เรืออวนลากจับปลาอ่อนวัยและลดจำนวนสัตว์น้ำอ่อนวัยที่อนุญาตให้จับติดมาได้ลง
06 – บทส่งท้าย
เมื่อพิจารณาข้อมูลจากรายงานของ EJF ข้างต้น จะเห็นว่าการประมงอวนลากเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการและการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ ต้นสายปลายเหตุหรือรากของปัญหาประการแรกเกิดจากการหลับหูหลับตาไม่รับรู้ว่ามีการประมงเกินขีดจำกัดหรือไร้การควบคุมอย่างไรบ้าง เพราะไม่ติดตามและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการประมงอวนลากให้ชัดเจน ถูกต้อง และสม่ำเสมอ ส่งผลกระทบต่อการประเมินประชากรสัตว์น้ำและความยั่งยืนของท้องทะเล และเปิดช่องโหว่ให้ผู้ประกอบกิจการประมงและชาวประมงบางกลุ่มใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลโดยยึดประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่คำนึงถึงกฎระเบียบและผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศทางทะเล อีกสาเหตุสำคัญคือความปวกเปียกของการบังใช้กฎหมาย ช่วยหนุนเสริมพลังให้กลุ่มประมงทำประมงผิดกฎหมายได้อย่างไม่เกรงกลัวบทลงโทษ
หากปล่อยให้กระแสการทำประมงอวนลากดำเนินต่อไปเช่นนี้ความกังวลต่อคำถามที่ขึ้นต้นบทความก็คงไม่ใช่การตื่นตูมแน่นอน และคงไม่ใช่แค่คนรุ่นเราเท่านั้นที่จะได้รับแรงกระแทกแต่คนรุ่นถัดจากเราก็คงลำบากไม่น้อย คำถามพ่วงต่อมาคือเราจะส่งต่อท้องทะเลที่เสียหาย ว่างเปล่า และอาหารทะเลราคาแพงให้กับคนรุ่นหลังอย่างนั้นหรือ ข้อเสนอแนะของ EJF อาจเป็นทางออกหนึ่งของปัญหานี้ แต่ถ้าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ลุกขึ้นมาพูดคุยและดำเนินการสิ่งที่เป็นรูปธรรม “ทะเลไทยก็ยากที่จะดิ้นหลุดจากอวนแห่งความหายนะ”
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– Global Tuna Alliance ย้ำความร่วมมือและวิสัยทัศน์ที่รับผิดชอบร่วมกันจะทำให้ทะเลไม่บอบช้ำและมีทูน่าพอสำหรับโลก
– Parties to the Nauru Agreement (PNA) – ข้อตกลงของแปดประเทศเกาะในแปซิฟิกเพื่อการประมงทูน่าที่ยั่งยืน
– SDG Recommends | เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับทะเลและมหาสมุทรมากขึ้นผ่าน Ocean Literacy
– อินโดนีเซียประเมินประชากรสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ในเขตประมงทั่วประเทศ เพื่อวางแผนการประมงและอนุรักษ์สัตว์น้ำได้ยั่งยืนขึ้น
– จังหวัดปาปัวตะวันตกคงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้ดีขึ้น เพราะการกำหนดพื้นที่คุ้มครองและบทบาทนำของชุมชนรอบชายฝั่ง
– ชาวประมงพื้นบ้านล่องเรือจากปัตตานีถึง กทม. ติด #ทวงน้ำพริกปลาทู เรียกร้องทุกภาคส่วนหยุดจับ-ซื้อ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.4) ภายในปี 2563 ให้กำกับในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลายอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลสัตว์น้ำ (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงระดับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น
– (14.6) ภายในปี 2563 ห้ามการอุดหนุนการประมงบางประเภทซึ่งก่อทำให้เกิดศักยภาพการทำประมงที่มากเกินไป ขจัดการอุดหนุนที่มีส่วนทำให้เกิดการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และระงับการริเริ่มการอุดหนุนในลักษณะดังกล่าว ตระหนักว่าการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดควรเป็นส่วนสำคัญในการเจรจาการอุดหนุนการประมงขององค์การการค้าโลก
– (14.c) เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินการให้เกิดผลตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่สะท้อนใน UNCLOS ซึ่งเป็นกรอบทางกฎหมายสำหรับการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ 158 ของเอกสาร The Future We Want
อ้างอิง:
[1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [10] มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม. (2565). อุตสาหกรรมอวนลากในประเทศไทย ผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลของไทยจากการลากอวนและข้อเสนอแนะในการปฏิรูปอุตสาหกรรมฯ จาก EJF. https://ejfoundation.org/resources/downloads/EJF-INTERNAL-FACING-TH-Final-Update-Revise-ES-03022023.pdf
[9] รัฐบาลไทย. (2565, 7 พฤศจิกายน). กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงข้อเรียกร้องยกเลิกมาตรการกำหนดโควตาจำนวนวันทำประมง.https://www.thaigov.go.th/news/contents/ministry_details/61341
Last Updated on เมษายน 27, 2023