SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 4 ประจำเดือนมิถุนายน 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  19  – 23 มิถุนายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

‘ก้าวไกล’ ย้ำจุดยืนแก้ปัญหาเมียนมา ประสานเจรจาทุกฝ่ายสร้างสันติภาพ เตรียมตั้งคณะทำงานโดยเฉพาะ

‘พิธา’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ย้ำจุดยืนแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองเมียนมาหลังการรัฐประหารปี 2564 ยึดหลักฉันทามติ 5 ข้อ ของอาเซียน เตรียมเปิดการเจรจาทุกฝ่ายเพื่อนำเมียนมาไปสู่สันติภาพ และความมั่นคง เผยเตรียมตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่าน ดูแลปัญหาโดยเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ จึงขอย้ำถึงแนวคิดและจุดยืนเกี่ยวกับประเด็นนี้ ดังต่อไปนี้ 1. การยึดมั่นในความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) 2. ผลประโยชน์ที่เกื้อกูลกันของอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ของเมียนมา 3. การเปิดพื้นที่เจรจาและสร้างการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมเพื่อการรักษาเสถียรภาพ 4. การเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ และ 5. ความท้าทายเรื่องพม่าหลากหลายมิติ พรรคก้าวไกลตระหนักดีว่า ความท้าทายเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาครอบคลุมหลากหลายมิติ เช่น ความมั่นคงทางพลังงาน การหลังไหลเข้ามาของผู้อพยพ การค้าอาวุธเถื่อน การค้ามนุษย์ ปัญหาฝุ่นควัน อาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการลักลอบขนยาเสพติด รวมไปถึงปัญหาการสู้รบในเมียนมา

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และ 16.4 ลดการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธและเงิน และต่อสู้กับอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรทุกรูปแบบ 

เข้าถึงได้ที่ : ‘ก้าวไกล’ ย้ำจุดยืนแก้ปัญหาเมียนมา ประสานเจรจาทุกฝ่ายสร้างสันติภาพ เตรียมตั้งคณะทำงานโดยเฉพาะ | ประชาไท Prachatai.com 

กระทรวงอุตสาหกรรม เตือน 2.7 หมื่นโรงงาน ผู้ก่อกำเนิดของเสีย เร่งรายงานข้อมูลกากอุตสาหกรรม

กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดให้โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียทุกโรงงานต้องรายงานข้อมูลผ่านระบบการรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ iSingle Form ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน การป้องกันและปราบปรามการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยรายงานภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 หากฝ่าฝืนไม่รายงานหรือรายงานล่าช้ามีโทษปรับสุงสุด 20,000 บาท 

นอกจากนี้ ประเทศไทย มีโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียจำนวน 60,638 โรงงานทั่วประเทศ โดยมีโรงงานที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลกว่า 27,000 แห่ง จึงกำชับให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เร่งประสาน ติดตาม และเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการโรงงาน รายงานข้อมูลการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วผ่านระบบข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายในกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมาย

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ภายในปี พ.ศ. 2563 

เข้าถึงได้ที่ : กระทรวงอุตสาหกรรม เตือน 2.7 หมื่นโรงงาน ผู้ก่อกำเนิดของเสีย เร่งรายงานข้อมูลกากอุตสาหกรรม – The Reporters

พิจารณาอีกครั้งกับกฎหมาย ยา PrEP และ PEP เพื่อป้องกัน HIV 

จากกระแสเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในกรณีหน่วยให้บริการด้านการป้องกันเชื้อ HIV ของภาคประชาสังคมจำนวนมาก ไม่สามารถให้บริการด้านการป้องกันเชื้อ HIV เนื่องจากงบประมาณในส่วนของการป้องกันโรคของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวม 5,146.05 ล้านบาท ไม่ถูกอนุมัติ โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะการจ่ายยา PrEP และ PEP จัดสรรสิทธิให้เฉพาะคนที่มีบัตรทองเท่านั้น เนื่องจากความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ทำให้ไม่ครอบคลุมสิทธิข้าราชการและประกันสังคม ฉะนั้นเมื่อหมดปีงบประมาณ 2566 นี้ ในเดือนกันยายนอาจต้องมีการผลักดันในเรื่องนี้มากขึ้น เนื่องจากจะมีการพิจารณางบประมาณปี 2567 ในช่วงปลายปีนี้

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ และโรคติดต่ออื่น ๆ และ 3.b สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ 

เข้าถึงได้ที่ : ยา PrEP และ PEP ป้องกัน HIV กับกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน – thairath plus

EU เผยอุณหภูมิเฉลี่ยโลกในช่วงต้นเดือน มิ.ย. นี้ ร้อนที่สุดเท่าที่มนุษย์เผชิญมา

หน่วยงานเฝ้าติดตามสภาพอากาศของสหภาพยุโรป (EU) เผยว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วงต้นเดือนมิถุนายนร้อนมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาในช่วงเวลาเดียวกัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวอุณหภูมิโลกยังสูงเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส หรือทะลุเพดานที่ตกลงกันไว้ในข้อตกลงปารีสปี 2015ทำให้วิตกกังวลว่า ปีนี้อาจเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มนุษย์เคย เนื่องจากหลังปรากฏการณ์โลกต้องเจอกับเอลนีโญ ก็ทำให้เกิดภาวะสภาพอากาศสุดขั้ว ส่งผลให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นทำลายสถิติเดิม ข้อมูลในระหว่างวันที่ 7-11 มิถุนายน อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกรายวันอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส และแตะระดับสูงสุดที่ 1.69 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าฤดูร้อนนี้และถัด ๆ ไป โลกอาจมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทั้งบนบกและในทะเล

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ และ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ 

เข้าถึงได้ที่  : EU เผย อุณหภูมิเฉลี่ยโลกในช่วงต้นเดือน มิ.ย. นี้ ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ หวั่นปีนี้ร้อนที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยเจอ – thestandard

ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’

ในพื้นที่แห้งแล้ง (Dry land) ทั่วโลก คิดเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรเกือบ 40% ทั่วโลก ด้วยสัดส่วนนี้ มีผู้หญิงจำนวนมากกำลังรู้สึกถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยแล้ง และความเสื่อมโทรมของที่ดินอย่างมาก เนื่องจากชุมชนต่าง ๆ ต้องพึ่งพาป่า พื้นที่ป่าอื่น ๆ และทุ่งหญ้าเพื่อการดำรงชีวิตและเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน ตามรายงานสถานะของผู้หญิงขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ระบุว่า ผู้หญิงใช้เวลามากกว่าสองเท่าในการทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้างมากกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงมักมีหน้าที่ผลิตอาหาร เก็บกักน้ำ และหาฟืนให้ครอบครัว เมื่อเกิดภัยแล้งทำให้น้ำเหือดแห้ง ผู้หญิง มีหน้ายังต้องทำหน้าที่เหล่านี้ ทำให้เสียเวลาที่จะไปสร้างอาชีพหรือการศึกษา 

อย่างไรก็ดี ผู้หญิงมีความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบตัวและการตั้งรับปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของของผู้หญิง แต่ผู้หญิงกลับถูกกีดกันออกจากกระบวนการตัดสินใจเพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ผู้หญิงคิดเป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเพียง 10% และในละตินอเมริกาและแคริบเบียน (LAC) – เพียง 7% และในระดับสากล จากการประชุม Sharm el-Sheikh Climate Change Conference (UNFCCC COP 27) ประจำปี 2565 มีสัดส่วนผู้หญิงน้อยกว่า 34% ของผู้แทนประเทศ เช่นนั้นแล้ว จำเป็นต้องมีการหนุนเสริมในบทบาทระดับการตัดสินใจในการแก้ปัญหาอย่างครอบคลุม

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.5 สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณะ และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ และ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

เข้าถึงได้ที่ : Guest Article: Climate Response for Drylands Must Include Women | SDG Knowledge Hub | IISD 

โฆษณาไทย ‘Let Her Grow’ คว้ารางวัล Cannes Lions 2023 เล่าถึงกฎบังคับตัดผมใน ร.ร.

‘Let Her Grow’ ได้รับเข้าฉายเป็นวันแรกในเทศกาล Cannes Lions 2023 เป็นแคมเปญโฆษณาไทยจากแบรนด์ Dove ที่คอลเอาท์กฎบังคับตัดผมในโรงเรียน ได้รางวัล Bronze ในหมวด Health & Wellness Lions ที่คอลเอาท์กฎบังคับตัดผมในโรงเรียน คว้ารางวัลจาก Cannes Lions 2023 ประเทศฝรั่งเศส แสดงถึงสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของเด็ก และสะท้อนมุมมองการกำหนดกฎระเบียบที่อาจจะไปละเมิดสิทธิเหล่านี้ก็คือการทำผิดกฎอนุสัญญาสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child: CRC) ตามที่ประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคีตั้งแต่ปี 2535 ไว้

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573 และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก

เข้าถึงได้ที่ : ‘Let Her Grow’ โฆษณาไทย พูดถึงกฎบังคับตัดผมใน ร.ร. คว้ารางวัล Cannes Lions 2023 จากฝรั่งเศส 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น