SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 2 ประจำเดือนกรกฎาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  7  – 14 กรกฎาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ภาคประชาสังคม ร่วมกับ สปสช. ตั้งหน่วยงานรับร้องเรียนปัญหาของหน่วยบริการตามสิทธิ

วันที่ 9 กรกฎาคม 2566  เครือข่ายภาคประชาชน ‘กลุ่มทำทาง’ ได้รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงท้องไม่พร้อมให้เข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จัดตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) “การถูกเลือกปฏิบัติจากการเข้ารับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ตามสิทธิบัตรทอง” ตามกลไก พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยจัดตั้งให้มีทีมงานภาคประชาชน สำหรับรับเรื่องร้องเรียนเวลาเกิดปัญหาจากการรับบริการหรือรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการในระบบบัตรทอง เช่น ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์จากโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่ถูกแพทย์ปฏิเสธ ไม่ส่งต่อไปยังสถานบริการที่มีความพร้อม หรือได้รับการบริการที่ไม่เป็นมิตร สามารถแจ้งปัญหาและปรึกษากับเจ้าหน้าที่ เพื่อเสาะหาข้อเท็จจริง และช่วยเหลือจัดการข้อร้องเรียนดังกล่าวของผู้ร้อง เพื่อปรับระบบบริการป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์อื่น ๆ เช่น การถูกเรียกค่าบริการฝากครรภ์ ฝังยาคุมกำเนิด บริการถุงยางอนามัย จากหน่วยบริการตามสิทธิ ซึ่งที่ผ่านมามีกรณีร้องเรียนเข้ามาไม่มากนัก เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนหรือทำให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิรู้สึกอับอาย โดยหน่วยร้องเรียนเบื้องต้นจะเปิดให้บริการ 1 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.7 สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573 SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.6 สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า 

เข้าถึงได้ที่ : ตั้งศูนย์รับเรื่อง ‘ถูกเลือกปฏิบัติ’ – ปฏิเสธส่งต่อ ‘ทำแท้งปลอดภัย’ | The Active 

HSBC ประเทศไทย ออกนโยบายให้พนักงาน LGBTQIA+ ลาเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมได้

HSBC ประเทศไทย ออกนโยบายให้พนักงาน LGBTQIA+ ที่รับอุปการะบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายที่อายุไม่เกิน 7 ปี สามารถมีเวลาเพียงพอในการดูแลบุตรที่เป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัวได้อย่างเท่าเทียม สามารถลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมได้สูงสุด 126 วัน หรือกว่า 4 เดือน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ เพื่อให้พนักงานทุกคนรวมถึงพนักงานหญิงที่คลอดบุตร พนักงานชายที่เป็นผู้ดูแลหลักในการเลี้ยงดูบุตรกรณีมารดามีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ เป็นการสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานทุกเพศ

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ปรับเพิ่มสวัสดิการให้กับพนักงานที่ไม่ใช่ผู้ดูแลหลัก สำหรับการเลี้ยงดูบุตรไม่ว่าจะเพศหญิง เพศชาย หรือเพศที่หลากหลาย ให้สามารถลาเพื่อช่วยดูแลบุตรหลังคลอดและบุตรบุญธรรมได้สูงสุด 30 วัน โดยยังได้รับค่าจ้างตามปกติอีกด้วย

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.4 ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดให้มีบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคนให้มีการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียม SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ หรือสถานะทางเศรษฐกิจ และ 10.3 สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ 

เข้าถึงได้ที่ : HSBC ประเทศไทย ออกนโยบายให้พนักงาน LGBTQIA+ ลาเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมได้สูงสุด 126 วัน โดยได้รับค่าจ้างตามปกติเท่าเทียมกันทุกเพศ – thestandard

ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษา พล.อ.ประยุทธ์และ กก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฐานละเลยต่อหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองเชียงใหม่ได้พิพากษาทั้ง  2 จำเลย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฐานละเลยต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ล่าช้าเกินสมควรในการป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหาควันหรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่ นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ว่าในการดำเนินการเพื่อการป้องกัน บรรเทาและแก้ไขปัญหาควันหรือฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ดำเนินการสั่งการไปแล้ว 30 กว่าครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามภาระหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นวาระปัญหาร่วมกันของโลก นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาระดับชาติ รวมถึงเป็นประเด็นมลพิษข้ามพรมแดน ที่ต้องอาศัยกลไกและมาตรการการจัดการมลพิษทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งต่อไปจะเร่งกำชับให้มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573 และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7  สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาประยุทธ์และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฐานละเลยต่อหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่เชียงใหม่ โดยประชาชน – Environman

การประชุมแสดงความพยายามการจัดการกับ ‘มลพิษจากพลาสติก’ ในเขตพื้นที่ภูเขา

ประเทศออสเตรียและจอร์เจียจัดการสัมมนา การขจัดการทิ้งพลาสติกในพื้นที่ภูเขา ร่วมกับนอร์เวย์และรวันดา และ High Ambition Coalition to End Plastic Pollution (HAC) เปิดโอกาสร่วมอภิปรายว่าทำไมมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากพลาสติกในพื้นที่ภูเขาจึงมีความสำคัญต่อการจัดการ ซึ่งการประชุมดังกล่าว ผู้เข้าร่วมได้อภิปรายว่า จากผลที่ตามมาของจำนวนประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การบริโภคที่มากเกินไป และการท่องเที่ยว ทำให้เกิดขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นตามพื้นที่ภูเขา ซึ่งเป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำจืด ความหลากหลายทางชีวภาพ และคุกคามพื้นที่ปลายน้ำ เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ต้องเผชิญความท้าทาย ได้แก่ ความห่างไกล ขาดการประหยัดจากขนาด (economy of scale) ในการลดต้นทุนการผลิต ทรัพยากรทางการเงินและบุคคลที่มีอย่างจำกัด รวมถึงต้นทุนการขนส่งที่สูงและขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

อย่างไรก็ดี เพื่อขจัดปัญหาพลาสติกในพื้นที่ภูเขา ต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญอื่น ๆ  เช่น บทบาทของนโยบายระดับชาติและแผนปฏิบัติการกำจัดขยะพลาสติกในพื้นที่ภูเขา ความจำเป็นในการรายงาน การตรวจสอบ และกลไกการปฏิบัติตาม รวมถึงการส่งเสริมความเชื่อมโยงกันระหว่างสนธิสัญญาพลาสติกและกรอบอนุสัญญาบาเซลฯ รอตเตอรดัมฯ และ สตอกโฮลมฯ (BRS conventions)  โดยหลีกเลี่ยงการกระทำที่ซ้ำซ้อนและส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงาน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดิน  12.6 สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงในวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.1 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง เเละ 15.3 ต่อสู้การแปรสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูแผ่นดินที่เสื่อมโทรม และพยายามที่จะบรรลุถึงความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดินภายในปี 2573

เข้าถึงได้ที่ : Webinar Outlines Efforts to Address Plastic Pollution in Mountain Regions | News | SDG Knowledge Hub | IISD

รายงาน UN พบผู้คนกว่า 783 ล้านคนทั่วโลก ต้องเผชิญกับความหิวโหย

ผู้คนจำนวนกว่า 783 ล้านคนทั่วโลก ต้องเผชิญกับความหิวโหย ในปี 2565 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลกระทบจากสภาพอากาศ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยูเครน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 122 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2562 โดยรายงานระบุว่าความหิวโหยเพิ่มขึ้นในเอเชียตะวันตก แคริบเบียน และทั่วทั้งแอฟริกา ถึงหนึ่งในห้าคน ซึ่งมากกว่าสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก ที่ต้องเผชิญกับความหิวโหย มีเพียงเอเชียและละตินอเมริกาเท่านั้นที่มีความก้าวหน้าในการปรับปรุงความมั่นคงด้านอาหาร นอกจากนี้ ความสามารถของผู้คนในการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพก็ลดลงเช่นกันทั่วโลก โดยผู้คนมากกว่า 3.1 พันล้านคนทั่วโลกไม่สามารถซื้ออาหารเพื่อสุขภาพได้ในปี 2564 ขณะที่ ภาวะโภชนาการของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 148 ล้านคน พบว่า มีภาวะแคระแกร็น และ 45 ล้านคน มีน้ำหนักตัวน้อย และ 37 ล้านคนมีน้ำหนักเกิน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า ภาวะโภชนาการที่ไม่ดี (poor nutrition) ที่เกิดขึ้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG2 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 2.1 ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีอาหารตามหลักโภชนาการ 2.2 ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 และ SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

เข้าถึงได้ที่ : Hunger afflicts one in ten globally, UN report finds – un  news

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กรกฎาคม 17, 2023

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น