คิดคำนึงผู้พิการในทุกสมการของการพัฒนา เพื่อ ‘รื้อ-เร่ง-สร้าง’ โลกที่ยั่งยืนของคนทุกคน

นายอติรุจ ดือเระ

การแสดงอคติ กีดกันสิทธิ และเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการที่ยังคงปรากฏในสังคมไทยนับเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อความพยายามดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs เนื่องจากหลักคิดสำคัญของเป้าหมายระดับโลกนี้คือ ‘การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ (leave no one behind) เช่นนั้นสังคมแห่งการพัฒนาใดที่ไม่คำนึงถึงหรือไม่นำผู้พิการมาคิดคำนวณในสมการทั้งทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม การพัฒนานั้นย่อมขาดความครอบคลุม (inclusive) และไม่อาจนับเป็นการพัฒนาที่มีความยั่งยืนได้

SDG Updates ฉบับนี้ ชวนผู้อ่านสำรวจความเชื่อมโยงของการพัฒนาที่ยั่งยืนกับผู้พิการ สถานการณ์ภาพรวมของความท้าทายต่อประเด็นผู้พิการ และแนวทางการนับรวมผู้พิการมาไว้ในทุกสมการของการพัฒนาทั้งในระดับประเทศและระดับโลก


สำรวจ ‘ผู้พิการ’ ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

‘ผู้พิการ’ ถูกระบุถึงใน SDGs หลายเป้าหมาย โดยหากพิจารณาเชิงลึกถึงระดับเป้าหมายย่อยจะพบว่ามีเป้าหมายที่ระบุเกี่ยวกับผู้พิการไว้ทั้งสิ้นกว่า 9 เป้าหมายย่อย ได้แก่ 

  • เป้าหมายย่อยที่ 1.3 ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงฐาน การคุ้มครองทางสังคม (floors) โดยให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบางให้มากพอ ภายในปี พ.ศ. 2573
  • เป้าหมายย่อยที่ 4.5 ขจัดความเหลื่อมล้ำและทำให้ผู้พิการเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม 
  • เป้าหมายย่อยที่ 4.a สร้างและยกระดับสถานศึกษา ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์การศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และเพศภาวะ และจัดให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ครอบคลุมและมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน
  • เป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี พ.ศ. 2573
  • เป้าหมายย่อยที่ 10.2 เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
  • เป้าหมายย่อยที่ 11.2 จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ พัฒนาความปลอดภัยทางถนน ขยายการขนส่งสาธารณะและคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็กผู้พิการ และผู้สูงอายุ ภายในปี พ.ศ. 2573
  • เป้าหมายย่อยที่ 11.7 ทำให้ผู้พิการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ปลอดภัย ครอบคลุม และเข้าถึงได้ 
  • เป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
  • เป้าหมายย่อยที่ 17.18 ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563

เป้าหมายย่อยข้างต้นสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับคนพิการอย่างครอบคลุมทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม จนนำมาซึ่งการพัฒนาทั้งเชิงนโยบาย นวัตกรรม และการสร้างการตระหนักรู้ ในหลายประเทศ  ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น นโยบายส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีและความเท่าเทียมของประชากรในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีการออกกฎหมายห้ามกีดกันการจ้างงาน เพื่อผลักดันและสร้างความเท่าเทียมให้คนพิการมีอาชีพและสามารถออกมาทำงานได้ พร้อมทั้งจัดให้มีองค์กรที่ให้ความรู้และช่วยเหลือจัดหางานที่เหมาะสม นอกจากนี้รัฐบาลยังให้เงินสนับสนุนอำนวยความสะดวกในการทำงาน เช่น ค่าเดินทาง แก่ผู้พิการที่ออกมาทำงานด้วย นโยบายนี้ส่งผลให้ออสเตรเลียมีคนพิการจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน โดยมากกว่าหนึ่งในสามสามารถพัฒนาให้เป็นพนักงานระดับมืออาชีพได้ [1] 

อีกหนึ่งนโยบายที่น่าสนใจ คือนโยบายการสร้างความครอบคลุมของการเข้าถึงสาธารณูปโภคของประเทศญี่ปุ่น โดยกรณีศึกษากรุงโตเกียว ซึ่งจากกลุ่มตัวอย่างของการศึกษามากถึง 74 เปอร์เซ็นต์ให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้พิการ เนื่องจากการเข้าถึงที่สะดวกสบายของระบบขนส่งสาธารณะ มีการออกแบบที่เอื้อสำหรับผู้พิการอย่างมาก เช่น ลิฟต์ในอาคารที่มีอักษรเบรลล์และเสียงบรรยายบอกตำแหน่งสิ่งของต่าง ๆ เครื่องใช้ในห้องน้ำสำหรับคนที่มีความบกพร่องทางการเห็น สัมผัสของพื้นถนนที่สามารถบอกความหมายให้แก่ผู้พิการได้อย่างชัดเจน รวมถึงราวกั้นระหว่างทางเดินเท้าและถนน อีกทั้งมีการออกแบบถนนที่ผู้ใช้วีลแชร์สามารถใช้ร่วมกับรถยนต์ จักรยาน และคนเดินเท้าได้อย่างปลอดภัย [2]

ขณะเดียวกันด้านภาคเอกชน เช่น “Microsoft” บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก ได้มี ‘การพัฒนา Inclusive Technology” หรือ เทคโนโลยีที่ครอบคลุมสำหรับทุกคน เพื่อให้ผู้พิการทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้งานผลิตภัณฑ์และบริการของ Microsoft ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ด้วย “Adaptive Accessories” อุปกรณ์เสริมสำหรับการใช้งานคอมพิวเตอร์ที่มีการคิดค้นและปรับดีไซน์ใหม่ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานที่มีเงื่อนไขทางร่างกาย [3]


ชวนพินิจสถานการณ์ของผู้พิการในประเทศไทย

เมื่อกลับมาสำรวจสถานการณ์ผู้พิการในไทย พบว่าข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ เดือนกันยายน ปี 2566 ระบุว่าประเทศไทยมีผู้พิการจำนวน 2,240,537 คน คิดเป็น 3.39% ของประชากรไทยทั้งหมด โดยแบ่งเป็นเพศหญิง 48.03% และเพศชาย 51.97% ขณะที่ประเภทของความพิการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ความพิการทางการเคลื่อนไหว 1,155,339 คน ความพิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย 415,999 คน และความพิการทางการมองเห็น 184,542 คน [4] 

จากจำนวนผู้พิการข้างต้น พบว่าผู้พิการที่ได้รับการจ้างงานตามมาตรา 33 (ให้สถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงาน) และมาตรา 35 (เเนวดำเนินการในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33) มีทั้งสิ้น 54,271 คน ส่วนคนพิการที่ได้รับการจ้างงานในหน่วยงานของรัฐมีทั้งสิ้น 3,765 คน ขณะที่จำนวนศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัดทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 94 ศูนย์ และศูนย์บริการคนทั่วไปอีกกว่า 2,484 ศูนย์ [5] 

อย่างไรก็ดี แม้ข้อมูลข้างต้นจะสะท้อนว่าคนพิการสามารถเข้าถึงงานและการบริการจากภาครัฐได้มากขึ้น แต่หากพิจารณาข้อมูลจากภาคส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคสื่อ พบว่ามีปัญหาและความท้าทายอีกจำนวนมากที่จำเป็นต้องเร่งรัดจัดการเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้คนพิการเข้าถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยสรุปปัญหาและความท้าทายสำคัญที่คนพิการต้องเผชิญมีอย่างน้อย 3 ประเด็น ได้แก่ 

ประเด็นแรก การอคติต่อคนพิการ โดยปัจจุบันแม้คนส่วนใหญ่มองว่าความพิการเป็นเรื่องปกติและผู้พิการสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้มากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ยังมีทัศนคติและมุมมองต่อผู้พิการในเชิงลบ ซึ่งมักมองว่าความพิการไม่ใช่ความปกติธรรมดาแต่เป็นความด้อยและอ่อนแอที่ต้องคอยให้ผู้อื่นช่วยเหลือเสมอ ดังเห็นได้จากข่าวตามสื่อต่าง ๆ ยังคงปรากฏการเหยียดและแสดงความเกลียดชังต่อผู้พิการอยู่บ่อยครั้ง

วิธีคิดเช่นนี้ทำให้เกิดการแบ่งแยกและแปลกแยกตามมา ยิ่งหากฝั่งรากในทัศนคติของเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือผู้ที่ทำงานด้านผู้พิการก็ยิ่งส่งผลให้การออกแบบเชิงนโยบายผิดเพี้ยน กล่าวคือแทนที่จะสนับสนุนการปฏิบัติต่อผู้พิการด้วย ‘แนวคิดเชิงสิทธิ’ แต่กลับใช้ ‘แนวคิดการสงเคราะห์’ มาเป็นหลักนำแทน ซึ่งทำให้การสร้างการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ของผู้พิการไม่ยั่งยืนอย่างแท้จริง  

ประเด็นต่อมา คนพิการยังขาดการเข้าถึงสาธารณูปโภคและบริการที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอจากภาครัฐ ส่งผลให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานที่ชีวิตต้องการได้อย่างทั่วถึงและมีความยากลำบากในการเชื่อมโยงตนเองกับสังคมโดยรอบ โดยข้อมูลจาก ‘รายงานการสำรวจผู้พิการ พ.ศ.2565’ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและองค์การยูนิเซฟ ระบุว่าผู้พิการสามารถเข้าถึงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลักของรัฐ และการส่งเสริมป้องกันโรคอย่างทั่วถึง (ร้อยละ 99.1 และ 94.7 ตามลำดับ) และผู้พิการที่ได้ขึ้นทะเบียนคนพิการมีอยู่ร้อยละ 42.6 ซึ่งได้รับเบี้ยยังชีพคนพิการเกือบทุกคน สำหรับผู้พิการที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนคนพิการอยู่ที่ร้อยละ 57.4 ทั้งเนื่องจากไม่ต้องการขึ้นทะเบียนรวมถึงไม่คิดว่าตนเองพิการ ร้อยละ 26.4 หรือความพิการไม่อยู่ในระดับที่ขึ้นทะเบียนได้ ร้อยละ 25.1 ในขณะที่ผู้พิการยังเข้าไม่ถึงการขึ้นทะเบียนมีเพียงร้อยละ 5.9 เนื่องจากไม่มีคนพาไป/เดินทางไม่สะดวก และไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน [6] 

อย่างไรก็ดี แม้จะเข้าถึงสวัสดิการข้างต้นได้ แต่รายงานฉบับดังกล่าวก็ยังระบุถึงสวัสดิการจากภาครัฐที่ผู้พิการต้องการแต่ยังไม่ได้รับ ได้แก่ การตรวจรักษาพยาบาล (ร้อยละ 4.1) และการฟื้นฟูสมรรถภาพ (ร้อยละ 9.2) เนื่องจากปัญหาอุปสรรคในการเดินทาง นอกจากนี้ ผู้พิการร้อยละ 16.6 ที่ต้องการอุปกรณ์ อวัยวะเทียม หรือเครื่องช่วยคนพิการ แต่ยังไม่ได้รับ 5 ลำดับแรก คือ เครื่องช่วยฟัง ไม้เท้า แว่นตาที่ตัดพิเศษ รถนั่งคนพิการ และไม้เท้าแบบสามขา รวมถึงยังมีการเรียกร้องจากภาครัฐให้เพิ่มเบี้ยความพิการ ส่งเสริมประกอบอาชีพอิสระ สนับสนุนผู้ช่วยคนพิการ การกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ และการให้คำแนะนำปรึกษา [7]

ประเด็นสุดท้าย การขาดพื้นที่ให้คนพิการได้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเด็นนี้เป็นผลสืบเนื่องจากสองประเด็นก่อนหน้า เนื่องจากการอคติทำให้ผู้พิการถูกกีดกันจากกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคม รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนา ขณะที่ความไม่อำนวยของพื้นที่หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ทำให้ผู้พิการไม่สามารถใช้ศักยภาพของตนในการมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างเต็มศักยภาพ 


รื้อสร้างภาพจำเก่า เร่งสร้างความครอบคลุม ร่วมสร้างความก้าวหน้าด้วยกัน 

การให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกับผู้พิการด้วยการระบุถึงในหลายเป้าหมายย่อยของ SDGs และสถานการณ์คนพิการที่ยังมีความท้าทายหลายด้าน จึงเป็นโจทย์คิดแก่สังคมไทยว่า “หากจะขับเคลื่อนการพัฒนาให้ก้าวหน้าไปพร้อมกับนานาประเทศ จำเป็นต้องคิดคำนึงถึงผู้พิการอย่างไรบ้าง” 

เมื่อปัญหาผูกโยงอยู่กับเรื่องของความเข้าใจและการรับรู้ต่อคนพิการ ประการแรกจึงอาจจำเป็นต้องรื้อสร้างมายาคติเดิม ๆ ต่อผู้พิการในทุกระดับ กล่าวคือต้องปลูกสร้างความคิดว่าผู้พิการก็เป็นมนุษย์ธรรมดา สามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ด้วยตัวเองและไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษใด ๆ เพียงต้องการเข้าถึงสิทธิตามที่ควรได้รับเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงตัวเองกับสังคมและคนอื่น ๆ ได้อย่างปกติ โดยอาจเริ่มจากการออกแบบบทเรียนและสร้างบทสนทนาในโรงเรียนที่เอื้อให้เด็กเข้าใจแนวคิดเช่นนี้มากขึ้น รวมทั้งสื่อในแพลตฟอร์มต่าง ๆ หากยุติการผลิตเนื้อหา ด้อยค่าคนพิการแล้วหันมาสร้างค่านิยม ‘คนเท่ากัน’ ก็จะมีพลังในการสร้างความรับรู้ของคนในสังคมได้ไม่น้อย 

ประการต่อมา คือการออกแบบนโยบายการพัฒนาต่าง ๆ จำเป็นต้องคำนึงถึงคนพิการด้วยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และบริการสาธารณะต่าง ๆ ต้องสามารถทำให้ผู้พิการเข้าถึงได้ ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกนิยมนำแนวคิดอารยสถาปัตย์ (universal design) มาปรับใช้ในการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ โดยเน้นทำให้ประชาชนทุกคนรวมถึงผู้พิการสามารถใช้งานได้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ การเข้าถึงบริการสุขภาพก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องเร่งรัดให้ผู้พิการเข้าถึงได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีความเหลื่อมล้ำอยู่มาก เช่นที่ Darryl Barrett หัวหน้าด้านเทคนิคขององค์การอนามัยโลก เผยว่า “ผู้พิการจำนวนมากเสียชีวิตก่อนวัยอันควร บางคนเสียชีวิตก่อนอายุ 20 ปี และสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขาเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องมาจากบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพต่ำ” ขณะที่ Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า “ระบบสุขภาพควรช่วยลดความท้าทายที่ผู้พิการเผชิญ ไม่ใช่เพิ่มความท้าทายมากขึ้น” เพื่อสร้างความสะดวกและลดความเสี่ยงในการใช้ชีวิต ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงอาจต้องเร่งรัดสร้างความครอบคลุมให้ผู้พิการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้น

ประการสุดท้าย คือการทำให้พื้นที่ของการพัฒนาเป็นพื้นที่ที่ผู้พิการสามารถเดินเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างสบายใจ ไม่ถูกกีดกันหรือจำกัดสิทธิเพียงเพราะขาดความสมบูรณ์ของร่างกายไปบางส่วน โดยเฉพาะการแสดงความเห็นในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากปัญหา โครงการ หรือนโยบายการพัฒนาทุกด้าน รวมถึงในกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและลงมือทำ กลุ่มคนพิการต้องสามารถมีที่ยืน ที่พูด และที่ทำอย่างเท่าเทียมกับคนทุกคนในสังคม 

ท้ายที่สุด เมื่อคนในสังคมไทยเข้าใจความพิการอย่างไร้อคติ ยุติการล้อเลียน และยุติการเลือกปฏิบัติมากขึ้น ภาครัฐออกแบบนโยบายและทำให้คนพิการเข้าถึงบริการสาธารณะได้ครอบคลุม พร้อมกับการมีพื้นที่ให้คนพิการได้มีส่วนร่วมทางสังคมในทุก ๆ ด้าน ย่อมเป็นหนึ่งในความก้าวหน้าที่ส่งผลดีให้สังคมไทยขยับใกล้การบรรลุ SDGs มากขึ้น แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงผู้พิการที่ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้านี้ แต่นี่คือการสร้างสังคมแห่งการเคารพและส่งต่อโลกที่น่าอยู่แก่คนรุ่นถัดไปด้วย 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
รายงานของ WHO เผยความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพเป็นเหตุให้ผู้พิการจำนวนมากเสียชีวิตก่อนวัยอันควร  โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำเเละรายได้ปานกลาง
เฟอร์นิเจอร์แบรนด์ ‘Pottery Barn’ ออกแบบผลิตภัณฑ์ภายในบ้านสำหรับคนพิการ 150 แบบ เพื่อให้บ้านเป็นสถานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน
บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ Microsoft เปิดตัวผลิตภัณฑ์เสริม “Adaptive Accessories” รองรับการใช้งานคอมพิวเตอร์ของผู้พิการ
การสำรวจต้องฟังเสียงทุกคน และไม่ตกหล่นผู้พิการ ‘iData’ แพลตฟอร์มสำรวจออนไลน์ที่เข้าใจเงื่อนไขผู้พิการ
90% ของผู้พิการทางสายตาทั่วโลกกระจุกอยู่ในประเทศรายได้น้อย แต่จำนวนอาจลดลงได้หากแก้ปัญหา ‘ความยากจนขั้นรุนแรง’

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงฐาน การคุ้มครองทางสังคม (floors) โดยให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบางให้มากพอ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.5) ขจัดความเหลี่อมล้ำและทำให้ผู้พิการเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม 
– (4.a) สร้างและยกระดับสถานศึกษา ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์การศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และเพศภาวะ และจัดให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ครอบคลุมและมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ 
– (10.2) เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.2) จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ พัฒนาความปลอดภัยทางถนน ขยายการขนส่งสาธารณะและคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็กผู้พิการ และผู้สูงอายุ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (11.7) ทำให้ผู้พิการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ปลอดภัย ครอบคลุม และเข้าถึงได้ 
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563

อ้างอิง: 
[1] Jureeporn Phuangnoi. (2563, 7 กรกฎาคม). Equality for Disability สำรวจแต่ละประเทศให้สิทธิผู้พิการกันอย่างไร. https://thematter.co/social/equality-disability/28643#google_vignette 
[2] ณัฐนิชกุล วนิชพิสิฐพันธ์. (2566, 11 มิถุนายน). ไม่มีผู้พิการ มีเพียงแต่ “เมืองที่พิการ”. https://theurbanis.com/public-realm/11/06/2023/14448 
[3] แพรวพรรณ ศิริเลิศ. (2565, 17 มิถุนายน). บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ Microsoft เปิดตัวผลิตภัณฑ์เสริม “Adaptive Accessories” รองรับการใช้งานคอมพิวเตอร์ของผู้พิการ. https://www.sdgmove.com/2022/06/17/microsoft-adaptive-accessories-with-disabilities/ 
[4] [5] กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. https://dep.go.th/images/uploads/files/PWD-situationSep66.pdf 
[6] [7] UNICEF Thailand. (2566, 8 สิงหาคม). การแถลงผลการสำรวจความพิการ พ.ศ. 2565. https://shorturl.asia/45woN

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Authors

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

  • Wijanee Sendang [Graphic designer]

    นักออกแบบนิเทศศิลป์

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น