SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 2 ประจำเดือนมกราคม 2567

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  6 – 12 มกราคม 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 กรุงเทพมหานคร ได้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) หลังจากที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาแล้วรวม 4 ครั้ง โดยสภาผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน พรรคการเมือง และประชาชน ร่วมกันคัดค้านร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ชี้ว่าขัดมาตรา 9 พ.ร.บ. ผังเมืองที่ขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่แรกไม่รับฟังชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการตัดถนน โดยต้องการให้จัดทำร่างผังเมืองใหม่ที่มีกระบวนการรับฟังประชาชนตั้งแต่ต้น ซึ่งยังมีประชาชนจำนวนมากยังไม่เข้าใจและไม่รับรู้เรื่องผังเมือง 

ตามที่มาตรา 9 ระบุว่าต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบด้วยวิธีการที่หลากหลายและทั่วถึง โดยข้อมูลเพียงพอต่อการที่ประชาชนจะเข้าใจถึงผลกระทบต่อตัวเอง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องแจ้งแนวทางการเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายต่อประชาชนหรือชุมชนด้วย

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 11  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.3 ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573 และ SDG 16  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ และ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : “แถลงคว่ำร่างผังเมืองใหม่ กทม.” เครือข่ายภาคปช.-สภาผู้บริโภค-กรณ์-ก้าวไกล –  Greennews

คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ลงพื้นที่หารือเรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ” ณ จังหวัดภูเก็ต กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติ ซึ่งนำโดย กัณวีร์ สืบแสง รองประธานคณะกรรมาธิการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคเป็นธรรม และคณะตัวแทนจากพรรคก้าวไกลร่วมลงพื้นที่ กัณวีร์ ระบุว่า ในฐานะอนุกรรมาธิการที่จัดตั้งภายใต้คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน จำเป็นจะต้องดำเนินการเรื่องสิทธิมนุษยชนที่มีมาอย่างยาวนานทั้งปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ บุคคลไร้รัฐ บุคคลไร้สัญชาติ  ซึ่งเป็นปัญหาที่เรายังเอาไปซุกอยู่ใต้พรมและถูกละเลยในการเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ในการเป็นมนุษย์ จึงมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ 

ขณะที่ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้สะท้อนปัญหาหลักของแรงงานข้ามชาติ โดยเน้นย้ำ 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ด้านสถานะการเข้าเมืองและการขออนุญาตทำงานสำหรับแรงงานข้ามชาติ นโยบายมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ค่าใช้จ่ายสูง กระบวนการมีความยุ่งยากซับซ้อน 2.ด้านความคุ้มครองทางสังคม แรงงานข้ามชาติรวมถึงผู้ติดตาม เช่น บุตรและครอบครัวมีอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและความคุ้มครองทางสังคม และ 3.ด้านสิทธิแรงงาน ประเด็นปัญหาค่าจ้างค่าแรงที่ต่ำกว่ากฎหมาย รวมถึงการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ การได้ค่าแรงที่ไม่เท่าเทียมกันของแรงงานหญิงและชาย จึงจำเป็นต้องนำเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาบนพรมและมีการพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนให้กลุ่มคนเหล่านี้ 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 1  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.3 ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานให้ครอบคลุมถึงทุกกลุ่ม SDG 8  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงมีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน และ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคง SDG 10  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2  เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : กัณวีร์-ทนายแจม นำ กมธ.ลงภูเก็ต หารือแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ – Prachatai.com

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผย ถึงความคืบหน้าการผลักดัน ร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ซึ่งได้ยืนยันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเชื้อสาย ที่อยู่ในประเทศไทย มีกฎหมายรองรับ ที่จะอยู่อย่างภาคภูมิใจมากขึ้น ซึ่ง 1 ใน 4 ร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน อย่าง ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คือให้มีกลไกสภาชนเผ่าพื้นเมืองด้วย เพื่อกำหนดถิ่นที่อยู่ อาชีพ และการบริหารจัดการกันเอง โดยมีร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ 1 ฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างอภิปรายเห็นชอบในหลักการ และมีมติให้ คณะรัฐมนตรีนำกลับไปพิจารณาตามกรอบระยะเวลา 60 วัน ภายใต้เงื่อนไขให้นำร่าง พ.ร.บ.อีก 3 ฉบับ คือ ฉบับของรัฐบาล, พรรคก้าวไกล และภาคประชาชน โดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) รวมเป็น 4 ฉบับ เข้ามาพิจารณาในสภาฯ พร้อมกัน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 1  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  SDG 1  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.3 ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสม รวมถึงการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานให้ครอบคลุมถึงทุกกลุ่ม  SDG 10  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้ และ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : “เสริมศักดิ์” คาด 2 สัปดาห์ ดันร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ (ฉบับรัฐบาล) เข้า ครม. –  The Active 

กรมควบคุมโรค ออกมาคาดการณ์สถานการณ์โรคที่อาจเกิดการระบาด และโรคที่ต้องเฝ้าระวังจากข้อมูลการระบาดและปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษในปีนี้ที่อาจพบการระบาดของโรคทั้ง 3 โรค ได้แก่ 1. โรคโควิด 19 เนื่องจากมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง แม้ส่วนใหญ่จะมีภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อ แต่ต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเปราะบาง 608 เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง โรคอ้วน มะเร็ง และหญิงตั้งครรภ์ ที่ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 2. โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่มีความรุนแรง สามารถทำให้เสียชีวิตได้ โดยข้อมูลสถานการณ์ในปี 2566 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 460,325 ราย และ 3. โรคไข้เลือดออก โดยในปี 2566 พบผู้ป่วยทั้งหมด 156,097 ราย นอกจาก 3 โรค ดังกล่าวที่ได้คาดการณ์ไว้ กรมควบคุมโรคยังเฝ้าระวังโรคที่มีโอกาสเกิดการระบาดอย่างโรคตามฤดูกาล ซึ่งเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกําลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

เข้าถึงได้ที่ : กรมควบคุมโรค คาด อาจพบ ‘โควิด 19 – ไข้หวัดใหญ่ – ไข้เลือดออก’ ระบาดปี 67 เฝ้าระวังอีก 12 โรค – The Reporters 

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) ได้เปิดเผยสถิติจำนวนนักกิจกรรมภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งถูกดำเนินคดีที่เข้าข่ายฟ้องปิดปาก หรือ SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) ตั้งแต่ช่วงปี 2561 – 2566 ว่ามีจำนวนอย่างน้อย 39 คน แบ่งออกเป็น ผู้ชาย 30 คน และผู้หญิง 9 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ทำกิจกรรมการแสดงออกทางการเมืองอย่างน้อย 22 คน ส่วนใหญ่มาจากคดีการชุมนุมคาร์ม็อบที่จัดขึ้นช่วงปี 2564 ที่จังหวัดยะลาและปัตตานี และเป็นการเคลื่อนไหวในส่วนภูมิภาคที่ต้องการสนับสนุนการชุมนุมในกรุงเทพฯ ของกลุ่มราษฎร 

ด้านโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ระบุว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนในกฎหมาย และรัฐไม่เคยใช้กระบวนการฟ้องร้องเพื่อปิดปากใคร ซึ่ง กอ.รมน. มีในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย เพียงแต่ว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่พิเศษ ด้วยเป้าประสงค์เพื่อระงับเหตุร้ายและติดตามผู้ต้องสงสัยได้อย่างทันท่วงที เพื่อนำส่งฟ้องศาลภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาติดตามและส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันว่าต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่ดังกล่าวให้ได้ พร้อมกับพยายามส่งเสริมการเจรจาสันติภาพหรือการพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐไทยและกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ควรมุ่งเน้นไปที่การกระจายอำนาจ และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบราชการมากกว่า

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

เข้าถึงได้ที่ : เปิดสถิติ นักกิจกรรมภาคใต้ถูกฟ้องปิดปาก (slapp) หรือไม่ กองทัพชี้แจงอย่างไร –  BBC Thai

ข้อมูลใหม่เผยว่าในปี 2566 มหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนเนื่องจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 90% เป็นเครื่องบ่งชี้ภาวะโลกร้อนได้อย่างชัดเจนซึ่งถือได้ว่ามหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามการศึกษาใหม่ของวารสาร Advances in Atmospheric Sciences ระบุว่า ในปี 2566 มหาสมุทรได้รับความร้อนเพิ่มขึ้นเป็น 15 เซตตะ จูล (Zetta Joules) และเมื่อเทียบกับปี  2565 มนุษย์ได้ใช้พลังงานประมาณครึ่งเซตตะ จูลต่อปีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกทั้งหมด ทำให้สุทธิแล้วมหาสมุทรดูดซับความร้อนไปถึง 287 เซตตะจูลในปี 2566 ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความร้อนที่สูงขึ้นในมหาสมุทร อันมีสาเหตุหลักมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นและปรากฎการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นผลให้อุณหภูมิในมหาสมุทรสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 13  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ เป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และเป้าหมายย่อยที่ 13.3 พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

เข้าถึงได้ที่ : ‘Astounding’ ocean temperatures in 2023 intensified extreme weather, data shows –  Theguardian

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on มกราคม 15, 2024

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น