UNFPA ย้ำความสำคัญของ ‘อนามัยการเจริญพันธุ์’ หลังพบผู้หญิงจำนวนมาก ยังมีข้อจำกัด ในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทางเพศ 

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund : UNFPA) หน่วยงานด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของสหประชาชาติ รายงานว่าอัตราการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจทั่วโลกลดลงเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันจำนวนผู้หญิงที่ใช้วิธีการคุมกำเนิดสมัยใหม่เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า และอย่างน้อยกว่า 162 ประเทศ ได้นำกฎหมายต่อต้านความรุนแรงในครอบครัวมาบังคับใช้ และตั้งแต่ปี 2543 การเสียชีวิตของมารดาลดลงถึง 34 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้จะมีความก้าวหน้าในหลายด้าน แต่กลับพบว่ายังมีผู้หญิงที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์

จากรายงาน Interwoven Lives, Threads of Hope: Ending Inequalities in Sexual and Reproductive Health and Rights ระบุว่าความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์มีอยู่ทั่วทุกแห่ง แต่ความพิการและภูมิประเทศที่อยู่ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ การจำกัดการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาที่รอบด้าน (comprehensive sexuality education) ล้วนเป็นปัจจัยที่ขัดขวางความก้าวหน้าด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ (sexual and reproductive health) ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ติดอยู่ในกับดักความยากจน มีแนวโน้มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เพียงพอ โดยเฉพาะถ้าเป็นชนกลุ่มน้อยหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เกิดความขัดแย้ง ยิ่งทำให้การเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์นั้นเป็นเรื่องยาก

อย่างไรก็ดี ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ยังขาดความคืบหน้าในการลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาทั่วโลกในแต่ละปี และปัจจุบันผู้หญิงกว่า 1 ใน 4 ไม่สามารถปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์กับสามีหรือคู่รักของตนได้ และเกือบ 1 ใน 10 ไม่ได้พูดถึงเรื่องการคุมกำเนิด ขณะที่นับตั้งแต่ปี 2559 มีผู้หญิงราว 800 คนเสียชีวิตทุกวันหลังการคลอดบุตร และเกือบทั้งหมดของผู้หญิงที่เสียชีวิตด้วยสาเหตุนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตบางส่วนสามารถป้องกันได้ แต่กลับขาดความก้าวหน้าและข้อมูลในการช่วยชีวิตผู้หญิงจากการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันอันมีสาเหตุเกี่ยวกับตั้งการครรภ์และการคลอดบุตร

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้หญิงแอฟริกันมีแนวโน้มจะเสียชีวิต เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์หรือการคลอดบุตรมากกว่าผู้หญิงในแถบยุโรปและอเมริกาเหนือถึง 130 เท่า ขณะที่ชนพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร เช่น สาธารณรัฐแอลเบเนีย พบว่าผู้หญิงโรมามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จากกลุ่มชายขอบส่วนใหญ่มีปัญหาในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างมาก เมื่อเทียบกับผู้หญิงเชื้อสายแอลเบเนียในกลุ่มที่มีสิทธิพิเศษ ซึ่งมีเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ภาพจาก : United Nations

เพื่อเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ยังไม่ได้รับการเข้าถึงสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์  รายงานระบุว่าจำเป็นต้องมีระดมการลงทุนเพิ่มเติมราว 79 พันล้านดอลลาร์ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางภายในปี 2573 จึงจะสามารถช่วยผู้หญิงและเด็กผู้หญิงได้กว่าหนึ่งล้านชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้วางแผนที่เกิดขึ้น 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
การตายของหญิงมีครรภ์ลดลงได้ โดยใช้ Google Maps ช่วยวิเคราะห์เหตุความล่าช้าของการเดินทางเข้ารับบริการสุขภาพ
UNFPA คาดการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้หญิงหลายล้านคนไม่สามารถเข้าถึงบริการคุมกำเนิดได้
ข้อมูลการใช้ยาคุมกำเนิดที่หายไปช่วงโควิด-19 ทำให้ขาดข้อมูลอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงและอัตราการเกิดในอนาคต
ผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้เด็กหญิงกว่า 10 ล้านคนเสี่ยงกับการแต่งงานก่อนวัยอันควร
#EndFistula ร่วมกันกำจัดปัญหาช่องทะลุทางสูติกรรมในผู้หญิง 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.b) สร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ บนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สนับสนุนความยากจน (pro-poor) และคำนึงถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender-sensitive) เพื่อจะสนับสนุนการเร่งการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.1) ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิดมีชีพ 1 แสนคน ภายในปี 2573
– (3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารกลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อ การเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายในปี 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.3) ขจัดแนวปฏิบัติที่เป็นภัยทุกรูปแบบ อาทิ การแต่งงานในเด็กก่อนวัยอันควรโดยการบังคับ และการขลิบอวัยวะเพศหญิง
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และปฏิญญาปักกิ่งและเอกสารทบทวนผลลัพธ์จากการประชุมเหล่านั้น
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้

แหล่งที่มา : 
Violations of women’s reproductive health rights trigger rise in preventable deaths – UN News 
UNFPA Report Reveals Inequalities in Reproductive Health – IISD 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on เมษายน 24, 2024

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น