SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 1 และ 2 ประจำเดือนเมษายน 2567

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  1 – 15 เมษายน 2567 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ไฟป่าที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ของเชียงใหม่ยังอยู่ในระดับอันตราย ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร จึงออกประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยกรณีฉุกเฉิน อัคคีภัย ไฟป่า รวม 317 หมู่บ้าน ใน 5 อำเภอ พร้อมสั่งการเร่งให้ความช่วยเหลือภายใน 3 เดือน แม้ก่อนหน้าเคยยืนยันว่าค่าฝุ่นละอองของเชียงใหม่ไม่ติดอันดับโลก โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยผลการศึกษาว่า ปัญหา PM2.5 สะสมมานานกว่า 10 ปีและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากอัตราการตายของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ตั้งแต่ปี 2553 – 2564 พบว่าภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดพุ่งสูงขึ้น 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน และ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ

เข้าถึงได้ที่ : เชียงใหม่ประกาศภัยพิบัติไฟป่า 5 อำเภอ หลังยืนยันฝุ่นเชียงใหม่ไม่ติดอันดับโลก – The Active  

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 สุลต่าน อัล จาเบอร์ ผู้นำของ UAE ในฐานะประธานงาน COP 28 มุกห์ตาร์ บาบาเยฟ รัฐมนตรีกระทรวงนิเวศวิทยาและทรัพยากรธรรมชาติของอาเซอร์ไบจาน ในฐานะประธาน COP 29 และมารินา ซิลวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมบราซิล ในฐานะประธาน COP 30 ได้ส่งจดหมายถึงสมาชิกประเทศต่าง ๆ ระบุเป้าหมายของ Troika ในการยกระดับและปรับกรอบความทะเยอทะยานสำหรับการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDC) ในการประชุมรอบถัดไป โดยประธาน COP ทั้งสามคน ได้เปิดตัวแผนงานภารกิจในการรักษาอุณหภูมิไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อเป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยระหว่างประเทศ และแสดงถึงความตั้งใจต่อการดำเนินงานต่อเรื่องดังกล่าว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการระดมและจัดหาทรัพยากร ทั้งด้านเทคนิคและการเงินในการแสดงความทะเยอทะยานถึงการเข้ามามีส่วนร่วมกับกระแสของการต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีส รวมถึงใช้กลไก กระบวนการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภายในและภายนอกระบบสหประชาชาติ เพื่อเป็นช่องทางในการดำเนินการที่มากขึ้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ 13.a ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และ 13.b ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผล และ 17.16 ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ 

เข้าถึงได้ที่ : Climate COP Presidencies Troika Launches ‘Roadmap to Mission 1.5°C’ – IISD 

กลุ่ม THAI for Palestine หรือกลุ่มคนไทยเพื่อสิทธิชาวปาเลสไตน์ ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องต่อสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย  ระบุว่าในขณะที่เพื่อนมนุษย์ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซากําลังถูกสังหารด้วยน้ำมือของกองทัพอิสราเอล รัฐบาลชาติต่าง ๆ มีพันธกิจทางมนุษยธรรมที่จะต้องยับยั้งการละเมิดชีวิตของประชาชนผู้เป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก แต่กลับปรากฏว่า รัฐบาลของชาติทั้งหลายในโลกนี้กลับสนใจเพียงผลประโยชน์ของตนเองและส่งอาวุธไปร่วมช่วยเหลือการฆ่า ทำร้าย และคุกคามพลเรือนในรัฐ ดังเช่นรัฐบาลเยอรมนี ที่มีการใช้ความรุนแรงปราบปรามและคุกคามผู้เคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพและเสรีภาพของชาวปาเลสไตน์มาโดยตลอด จึงขอ เรียกร้องให้เยอรมนีหยุดส่งมอบอาวุธให้อิสราเอล ใช้สังหารชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา เพื่อคืนสิทธิอันชอบธรรมแก่ประชาชนผู้เรียกร้องสันติภาพและเสรีภาพปาเลสไตน์ หยุดใช้ความรุนแรง หยุดจับกุม หยุดรื้อค้น หยุดสร้างความหวาดกลัว

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : กลุ่ม THAI for Palestine เรียกร้องเยอรมนี หยุดส่งมอบอาวุธให้อิสราเอล – ประชาไท 

รายงานจากโครงการพัฒนาแห่ง (United Nations Development Programme : UNDP) ระบุว่าสงครามกลางเมืองในเมียนมา ทำให้ประชากรเกือบครึ่งประเทศ ราวประมาณ 27 ล้านคน จากทั้งหมด 54 ล้านคน ตกอยู่ภายใต้เส้นความยากจน เนื่องจากโดยชนชั้นกลางที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศถูกกวาดล้างจากสงคราม ผู้คนส่วนใหญ่ในเมียนมากำลังเผชิญกับปัญหาความยากจนโดยมีรายได้น้อยกว่า 0.76 เซนต์ ประมาณ 28 บาทต่อวัน โดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงนั้นถูกบังคับให้กลายเป็นคนพลัดถิ่นและเผชิญกับภาวะอดอยาก

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.5 ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลม จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรง

เข้าถึงได้ที่ : รายงาน UN ชี้ สงครามกลางเมืองทำชาวเมียนมาเกือบครึ่งประเทศตกอยู่ภายใต้เส้นความยากจน – Thestandard

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  เนื่องจากปัจจุบันสัตว์ป่าบางชนิด เช่น ลิงแสม ลิงวอก และลิงกัง มีการแพร่พันธุ์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ รวมถึงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงกำหนดให้สามารถเพิกถอนสัตว์ป่าที่สร้างความเดือดร้อนออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองไม่มีความจำเป็นต้องคุ้มครองต่อไป เปิดทางเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากพื้นที่ รวมทั้งมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้น ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน จึงเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน เช่น เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร กับกรณีที่จะให้เพิกถอนรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งสามารถร่วมแสดงความเห็นได้ผ่านทาง ที่นี่

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.7 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อจะยุติการล่าและการขนย้ายชนิดพันธุ์พืชและสัตว์คุ้มครอง และแก้ปัญหาทั้งอุปสงค์และอุปทานต่อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : เปิดรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. – ประชาไท 

องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) คาดการณ์ว่าปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) และศูนย์ข้อมูล (Data Center) จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2569 เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งจะทำให้มีปริมาณเทียบเท่ากับที่ญี่ปุ่นใช้ทั้งประเทศ โดยการฝึกโมเดลภาษาขนาดใหญ่ เช่น GPT-3 ของ OpenAI ใช้พลังงานไฟฟ้าเกือบ 1,300 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) หรือเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของบ้านเรือนในสหรัฐอเมริกาประมาณ 130 หลังทั้งปี แม้ว่า AI จะช่วยให้ชีวติประจำวันของมนุษย์นั้นสะดวกสบายมากขึ้น แต่กลับไม่ได้ช่วยให้ประหยัดพลังงาน จึงเรียกร้องให้มีการใช้ AI ให้มีความโปร่งใสและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก่อนจะเกิดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573 และ SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.4 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

เข้าถึงได้ที่ : องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่าในปี 2026 การใช้พลังงาน เพื่อสนับสนุน AI อาจเทียบเท่าไฟฟ้าทั้งญี่ปุ่น – Thematter 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น