‘เอเชีย’ ได้รับผลกระทบ Climate Change มากที่สุด รายงาน WMO ชี้ปี 2566 หลายประเทศร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ เสี่ยงภัยพิบัติรุนเเรงขึ้น

วันที่ 22 เมษายน 2567 องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) เผยแพร่รายงาน State of the Climate in Asia 2023 ชี้เอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภัยพิบัติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภัยจากพายุและน้ำท่วมมีความรุนแรงขึ้น พร้อมระบุว่าตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญมีค่าที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น อุณหภูมิผิวโลก ระดับธารน้ำแข็งละลาย และระดับน้ำทะเล ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และการดำรงชีวิตของมนุษย์ 

Celeste Saulo เลขาธิการ WMO ระบุว่า “หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ประสบกับปีที่ร้อนจัดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2566 และเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว ตั้งแต่ภัยแล้งและคลื่นความร้อน ไปจนถึงน้ำท่วมและพายุ”

ข้อค้นพบอื่น ๆ ที่ปรากฏในรายงานข้างต้น เช่น

  • ปี 2566 อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้แต่มหาสมุทรอาร์กติกก็ประสบปัญหาคลื่นความร้อนในทะเล ขณะที่หลายพื้นที่ของภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงทะเลอาหรับ ทะเลคาราทางตอนใต้ และทะเลลัปเตฟทางตะวันออกเฉียงใต้พื้นผิวทะเลกำลังอุ่นขึ้นเร็วกว่าทั่วโลกถึงสามเท่า นอกจากนี้ยังพบว่าทะเลแบเรนท์สเป็นจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • แรงหนุนจากการขยายตัวตามความร้อนและการละลายของธารน้ำแข็ง น้ำแข็ง และพืดน้ำแข็ง ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าช่วงปี 2536-2566 เอเชีย มีอัตราดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
  • ปี 2566 อุณหภูมิใกล้ผิวโลกเฉลี่ยของเอเชียสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่อันดับ 2 มากกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2534-2563 อยู่ 0.91 องศาเซลเซียส และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2504-2533 อยู่ 1.87 องศาเซลเซียส
  • ตั้งแต่ปี 2513 ถึง 2564 มีภัยพิบัติ 3,612 ครั้งที่เกิดจากสาเหตุสภาพอากาศ สภาพภูมิอากาศ และน้ำสุดขั้ว โดยมีผู้เสียชีวิต 984,263 ราย และความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ 
  • ปี 2566 เอเชีย มีภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับภัยน้ำ 79 ครั้งโดยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เชื่อมโยงกับน้ำท่วมและพายุ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 ราย และมีประชากร 9 ล้านรายได้รับผลกระทบ

ขณะที่ประเทศไทยก็นับว่ามีความน่าเป็นห่วง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2567 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้ว่าประเทศไทยจะแล้งฝนอย่างมาก ขณะฝนที่อาจตกบ้างในภาคใต้ก็เป็นฝนโลกร้อน ทะเลร้อน น้ำระเหยเยอะ อากาศร้อน ซึ่งต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากลมแรง ตกหนัก ฟ้าผ่า ไฟดับ น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เล็ก ๆ 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ทำความรู้จัก “Extreme Weather” สภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่เปลี่ยนท้องฟ้ากรุงเทพฯ ดำมืด ปัญหาท้าทายที่โลกต้องเร่งจัดการ
– รายงาน IPCC ฉบับใหม่เผยข้อมูลผลกระทบและความเสี่ยงจาก Climate Change ต่อปัญหาสุขภาพปัจจุบัน
รายงาน IPCC ล่าสุด เตือนว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จะทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วรุนแรงที่ “ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์”
UNICEF ย้ำ “คลื่นความร้อน” จะเป็นภัยคุกคามที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ แก่เด็กกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก ภายในปี 2593

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1)เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเตือนภัยล่วงหน้า

แหล่งที่มา 
WMO report: Asia hit hardest by climate change and extreme weather (UN News)
WMO เผย ปี 66 ‘เอเชีย’ รับเคราะห์ ‘สภาพอากาศรุนแรง’ มากสุดในโลก (กรุงเทพธุรกิจ)
ดร.ธรณ์ เตือนเข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” อีก 3 วัน ดำสนิทเกือบทั้งประเทศ ยิ่งกว่าโลกร้อน! (sanook)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น