Editor’s pick 07 | ไตรมาสแรกของปี 2024  ‘โลกรวน’ ยังกระทบไทยเเละนานาชาติต่อเนื่อง พบคนอพยพ-สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ 

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เข้าสู่เดือนที่สี่ของปี 2024 ช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลายฟากฝ่ายต่างพูดถึงสภาพอากาศที่ดูเหมือนจะร้อนมากกว่าทุกปี ตอกย้ำสถานการณ์สภาพอากาศที่เลวร้ายซึ่งเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อุณหภูมิความร้อนพุ่งสูงขึ้นแตะ 40 องศาเซลเซียส พร้อมอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบให้สิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือสัตว์บนโลกใบนี้ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข ขณะเดียวกันรายงานสำคัญเกี่ยวกับประเด็นเป้าหมาย SDGs อย่าง รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2024 (Asia-Pacific SDG Progress Report 2024) โดย UNESCAP ได้เผยว่าเป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องจัดการ จดหมายข่าวฉบับนี้ จึงรวบรวมสถานการณ์ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข่าวสารหรือบทความ พร้อมอัปเดตเรื่องราวสำคัญและแนะนำสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมาให้ทุกท่านติดตาม 

เช่นเคย จดหมายข่าวฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 4 ส่วน

  • Editor’s note: ข้อความจากบรรณาธิการ หยิบยกประเด็นและข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อน SDGs 
  • Highlight issues : อัปเดตข่าวสาร  ความเคลื่อนไหวสำคัญ แนะนำคอลัมน์คัดสรรที่อยากให้ทุกคนอ่าน
  • Our Activities : แนะนำกิจกรรมสำคัญที่ SDG Move และเครือข่ายได้ดำเนินการในรอบเดือนที่ผ่านมา
  • Upcoming event : แนะนำกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นและอยากชวนทุกคนติดตามกิจกรรมน่าสนใจในแวดวง SDGs ที่กำลังจะเกิดขึ้น


Editor’s note

ภาพรวม 3 เดือนแรกของปี 2024

เมื่อนำข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs ทั้งในภาพรวมและเชิงประเด็นที่ได้ติดตามตลอด 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม มาประมวลผลทั้งหมด 151 ข่าว แบ่งเป็นข่าวภายในประเทศ 83 ข่าว ข่าวสถานการณ์ต่างประเทศและนานาชาติ 68 ข่าว ปรากฏจำนวนเป้าหมาย SDGs ที่เกี่ยวข้องรวม 232 ครั้ง (1 ข่าวอาจเกี่ยวกับ SDGs มากกว่า 1 เป้าหมาย)  ในจำนวนนี้มาจากข่าวสถานการณ์ภายในประเทศจำนวน  106 ครั้ง และสถานการณ์ระดับนานาชาติจำนวน 126 ครั้ง

ภาพที่ 1 จำนวนเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในประเทศไทย

ภาพที่ 2 จำนวนเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในระดับนานาชาติ

เมื่อพิจารณาจากการจำแนกเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในประเทศและนานาชาติ ยังคงพบว่าในรอบสามเดือนที่ผ่านมา SDG16 ยังเป็นประเด็นที่มีจำนวนเป้าหมายมากที่สุดจากการติดตามสถานการณ์ข่าวภายในประเทศโดยหน้าข่าวยังคงเน้นหนักที่ประเด็นหลักนิติธรรม โดยเฉพาะปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง การทุจริตของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยังน่ากังวล รวมถึงความลักลั่นในการปฏิบัติ

ตามมาด้วยประเด็นที่เน้นหนักมาตั้งแต่ปีที่แล้ว  เช่นเดียวกันกับ SDG 3 ประเด็นด้านสุขภาพ เนื่องจากตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนมาถึงต้นปีนี้ เหมือนว่าปัญหา PM2.5 ที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทยที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นว่าเรื่อง PM2.5 นั้นแทบจะไม่หายไปจากหน้าข่าว และยังกระทบต่อโรคภัยไข้เจ็บของคนไทยจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องสารพิษจากแคดเมียมที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยประชาชนต่างออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งเดินหน้า  กฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ภาคประชาชน เพื่อผลักดันให้มีการควบคุมสารพิษและปกป้องชีวิตของผู้คนอย่างเป็นรูปธรรม 

ขณะที่สถานการณ์ในระดับนานาชาติรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่าข่าวที่รวบรวมเกี่ยวข้องกับ SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนามากที่สุด โดยประเด็นส่วนใหญ่เกี่ยวกับการผลักดันความร่วมมือ การระดมทรัพยากรด้านการเงิน รวมถึงระดมความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนนานาประเทศในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ประเด็นความสนใจที่ตีคู่กันมาคือ SDG13 และ SDG16 ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความสงบสุข เนื่องจากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากตกอยู่ในสงครามของความขัดแย้งทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ เช่น สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ สงครามกลางเมืองเมียนมาส่งผลต้องอพยพและย้ายถิ่นฐาน ซึ่งมีคนเสียชีวิตจากการโยกย้ายถิ่นฐานจำนวนมาก ขณะเดียวกันปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั้นทวีความรุนแรงในทุกด้าน โดยพบว่าสัตว์ป่ามากกว่า 1 ใน 5 กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และอย่างน้อย 54 ประเทศและดินแดนกำลังประสบปัญหาสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ ซึ่งล้วนเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้น

ภาพที่ 3 จำนวนเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการติดตามข่าวในประเทศและนานาชาติ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในรอบ 3 เดือนช่วงต้นปี 2024 นั้นไม่แตกต่างจากช่วงปลายปีที่ผ่านมาในแง่ของความรุนแรงและผลกระทบที่กำลังขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ยิ่งตอกย้ำว่าเส้นทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในช่วงเวลาที่เหลือนั้นยังมีหลายเป้าหมายที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน จากการฉายภาพรวมของสถานการณ์ดังกล่าว เป็นการย้ำเตือนว่าก่อนครบกำหนดวาระ ไทย นานาชาติ หรือแม้แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั้นยังเหลือเป้าหมายหรือประเด็นใดที่ต้องมุ่งเน้นในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในครึ่งทางต่อจากนี้ 


สรุปประเด็นสำคัญ รายงานความก้าวหน้า SDGs ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
(Asia-Pacific SDG Progress Report 2024)

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2024 คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: UNESCAP) ได้เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประจำปี 2024 (Asia-Pacific SDG Progress Report 2024) อย่างเป็นทางการ โดยนำเสนอผลการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และเป็นรายงานอีกฉบับที่ย้ำเตือนความเป็นไปได้ของภูมิภาคนี้ที่จะไปถึงเป้าหมายปลายทางให้ทันในปี 2030 นั้นยังอยู่ไกลเกินเอื้อม

สำหรับข้อค้นพบที่สำคัญจากรายงาน “Asia and the Pacific SDG Progress Report 2024: Showcasing Transformative Actions” จากการประเมินความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน SDGs ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจากข้อมูลทั้งหมด 58 ประเทศ/เขตปกครอง ระบุว่าความก้าวหน้าในภูมิภาคนี้เชื่องช้าจนน่าเป็นห่วง และเป็นอีกปีที่รายงานชุดนี้ยืนยันการคาดการณ์ว่า จะไม่มี SDGs เป้าหมายใดที่บรรลุได้ทันภายในปี 2030 และหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับพลิกโฉม ด้วยแนวโน้มระดับนี้ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะสามารถบรรลุทั้ง 17 เป้าหมายนี้ได้ในปี 2062 ซึ่งช้ากว่าที่ประชาคมโลกกำหนดไว้ถึง 32 ปี หากคิดเป็นตัวเลขสถิติ ความก้าวหน้าในภาพรวมของภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย คือจาก 4.4% ในปี 2017 มาถึงแค่ 17% ในปี 2023

โดยแนวโน้มการถดถอย (regression) ของการพัฒนาของเป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องจัดการ แม้ว่าสถานการณ์สภาพอากาศเลวร้ายที่รุนแรงและคาดการณ์ไม่ได้ ตลอดจนภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงและเกิดถี่ขึ้นในภูมิภาคนี้ แต่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกก็ยังคงเป็นต้นกำเนิดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของโลก ตัวชี้วัดที่ต้องดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาคือ การบูรณาการมาตรการด้านการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนของชาติ และเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวและศักยภาพในการปรับตัวเพื่อรับมือกับอันตรายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ

SDG Updates | สรุปประเด็นสำคัญ รายงานความก้าวหน้า SDGs ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific SDG Progress Report 2024)

Highlight issues

จากการติดตามข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ทั้งระดับนานาชาติ และประเทศไทย ภายใต้โครงการ SDG Watch ในช่วงเดือนมีนาคม จนถึง เมษายน 2567 พบว่ามีข่าวสารที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังสรุปได้ ดังนี้

ระดับนานาชาติ

  1. หลายพื้นที่ทั่วโลกประสบ สภาวะ ‘ปะการังฟอกขาว’ ครั้งใหญ่ เหตุจากภาวะโลกร้อน-กระทบต่อระบบนิเวศ
    องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) และโครงการริเริ่มแนวปะการังนานาชาติ (International Coral Reef Initiatives : ICRI) ประกาศว่าโลกกำลังประสบสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ (Mass Bleaching) เป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่มีการจดบันทึกมา ซึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 พบว่าอย่างน้อย 54 ประเทศและดินแดนกำลังประสบปัญหาสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำในพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น โดยก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ครั้งเกิดขึ้นเมื่อปี 2541 ปี 2553 และระหว่างปี 2557 ถึงปี 2560 ซึ่งล้วนเกิดขึ้นในช่วงของปรากฏการณ์เอลนีโญ   
  2. การประชุม CMS COP14 เตือนสัตว์อพยพทั่วโลกกำลังลดลง-เสี่ยงสูญพันธุ์ เหตุจากกิจกรรมของมนุษย์
    สัตว์ป่าที่อพยพทั่วโลกกำลังลดลงเกือบครึ่ง และมากกว่า 1 ใน 5 กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงปลาเกือบทั้งหมดที่อยู่ในรายการอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น (Convention on the Conservation of Migratory Species of Wild Animals: CMS) เสี่ยงสูญพันธุ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  มลภาวะ รวมถึงภัยคุกคามจากชนิดพันธุ์รุกรานที่เพิ่มขึ้น  โดยได้ประเมินสถานการณ์ชนิดพันธุ์ที่อพยพของโลกที่ครอบคลุมทั้งภาพรวมของสถานะการอนุรักษ์ และแนวโน้มจำนวนประชากรของสัตว์อพยพทั้งชนิดพันธุ์ที่อยู่ในรายการและไม่อยู่ในรายการของอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น
  3. IOM ชี้ในปี 2566 มีผู้เสียชีวิตถึง 8,541 ราย จากการโยกย้ายถิ่นฐานทั่วโลก สูงสุดในรอบทศวรรษ
    องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เผยว่า 1 ใน 3 ของการเสียชีวิต ผู้อพยพเกิดขึ้นขณะหลบหนีจากความขัดแย้ง และผู้อพยพมากกว่า 2 ใน 3 ได้รับการบันทึกว่าเสียชีวิต แต่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ ในปี 2566 เป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีผู้อพยพที่เสียชีวิตและสูญหายระหว่างการย้ายถิ่นฐานถึง 8,541 ราย และพบว่าในปี 2566 จำนวนผู้เสียชีวิตเกือบร้อยละ 60 มีสาเหตุมาจากการจมน้ำ และจำนวนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกา และเอเชีย ซึ่งสองภูมิภาคหลังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
  4. Ocean Decade Conference 2024 ประเทศทั่วโลกเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเฝ้าระวังติดตามมลพิษทางทะเล
    รัฐบาลของประเทศสเปนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทศวรรษแห่งมหาสมุทร (Ocean Decade Conference) ประจำปี 2567 ณ เมืองบาร์เซโลนาประเทศสเปน โดยมีองค์กรหุ้นส่วนร่วมมือจัดการประชุมดังกล่าว ได้แก่ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสมุทรศาสตร์ (Intergovernmental Oceanographic Commission) รัฐบาลท้องถิ่นคาตาลูญญา สภาแห่งเมืองบาร์เซโลนา และหน่วยงานอื่น ๆ โดยมีสิ่งสำคัญ 3 ประการที่ระบุไว้ในถ้อยแถลงบาร์เซโลนา (Barcelona Statement) ได้แก่  ความรู้เกี่ยวกับมหาสมุทรและการกำเนิดทางวิทยาศาสตร์สำหรับเป็นข้อมูลในการตัดสินใจบริหารจัดการ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการเฝ้าระวังติดตามมลพิษทางทะเล และการสังเกตการณ์มหาสมุทร
  5. คลื่นความร้อน คุกคาม ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ รัฐบาลทั้งภูมิภาคเตรียมมาตรการรับมือ – ภาคเกษตรไทยได้รับผลกระทบ
    ก่อนหน้านี้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) ออกมาเตือนว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับความร้อนอย่างรุนแรง ซึ่งเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่พบอุณหภูมิสูงแตะถึง 30 องศาเซลเซียสอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยตามฤดูกาลอย่างมาก ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัดที่เกิดขึ้นนี้ มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งและสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้รัฐบาลทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างหามาตรการต่อสู้เพื่อรับมือกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น โรงเรียนหลายพันแห่งในประเทศฟิลิปปินส์ประกาศหยุดการเรียนการสอนในห้องเรียน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ขณะที่ในน่านน้ำทะเลไทย มีอุณหภูมิสูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ปะการังถูกทำลาย

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ

คลื่นความร้อน คุกคาม ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ รัฐบาลทั้งภูมิภาคเตรียมมาตรการรับมือ – ภาคเกษตรไทยได้รับผลกระทบ

ประเทศไทย

ความเคลื่อนไหวสำคัญของประเทศไทยในรอบเดือนมีนาคม จนถึง เมษายน 2567 ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเด็นด้านสุขภาพ และด้านความสงบสุข ยุติธรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs และการดำเนินการที่ส่งผลบวกต่อการขับเคลื่อนในบางประเด็น ดังนี้


  1. ภาคประชาชนยื่นหนังสือ ขอให้แก้ปัญหาการใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. เหตุกระทบผู้ป่วยที่เคยมีนัดกับโรงพยาบาลรับส่งต่อ
    ตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบบัตรทองในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกลุ่มเพจ Facebook “รวมคนได้รับผลกระทบจากใบส่งตัว บัตรทอง นโยบายใหม่ของ สปสช.” เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อขอให้แก้ปัญหาการใช้สิทธิบัตรทองในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ข้อเรียกร้องสำคัญในหนังสือดังกล่าว เช่น ขอให้กำกับดูแลให้คลินิกชุมชนอบอุ่นส่งตัวผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับบริการที่โรงพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพ  และขอให้กำหนดให้คลินิกชุมชนอบอุ่นเขียนใบส่งตัวในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนในกรณีโรคไม่เรื้อรัง และ ไม่ต่ำกว่า 1 ปีในกรณีโรคเรื้อรัง
  2. เชียงใหม่ประกาศภัยพิบัติไฟป่า 5 อำเภอ ผลการศึกษาชี้อัตราการเสียชีวิตมะเร็งปอดสูงขึ้น
    ไฟป่าที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ของเชียงใหม่ยังอยู่ในระดับอันตราย ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร จึงออกประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยกรณีฉุกเฉิน อัคคีภัย ไฟป่า รวม 317 หมู่บ้าน ใน 5 อำเภอ พร้อมสั่งการเร่งให้ความช่วยเหลือภายใน 3 เดือน แม้ก่อนหน้าเคยยืนยันว่าค่าฝุ่นละอองของเชียงใหม่ไม่ติดอันดับโลก โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยผลการศึกษาว่า ปัญหา PM2.5 สะสมมานานกว่า 10 ปีและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากอัตราการตายของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ตั้งแต่ปี 2553 – 2564 พบว่าภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดพุ่งสูงขึ้น
  3. ครบ 1 สัปดาห์ พบกากแคดเมียมกว่า 13,688 ตัน – ห่วงพิษเรื้อรังก่อมะเร็ง สังคมไทยต้องเร่งคลอดกฎหมาย PRTR
    ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2567 จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2567 รวมระยะเวลา 1 สัปดาห์ ที่ตรวจพบกากแคดเมียมแล้วกว่า 13,688 ตัน จาก 5 แห่ง สร้างความกังวลใจต่อประชาชนโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบจุดพบ เนื่องจากแคดเมียมเป็นสารพิษที่สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพ มีพิษเฉียบพลันทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอก และอาจส่งผลต่อความเป็นพิษของไต กระดูก และอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก หากสัมผัสสารนี้มาอย่างยาวนานต่อเนื่อง ทั้งนี้ การซุกซ่อนกากแคดเมียมอย่างปกปิดทั้งจากการรับรู้ของหน่วยงานภาครัฐและประชาชนนับว่าเป็นปัญหาการปกปิดข้อมูลสารเคมี ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามที่จะผลักดัน กฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ภาคประชาชน แต่ถูกตีตกไปในรัฐบาลสมัยก่อนหน้า
  4. ค่ายลี้ภัยชายแดนไทยติดรัฐกะเหรี่ยง วิกฤตเด็กนับร้อยขาดอาหารและน้ำสะอาด
    เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 รัฐกะเหรี่ยง จังหวัดพะอัน ประเทศเมียนมา บริเวณชายแดนติดกับประเทศไทย พร้อมกับทีมบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก ลงพื้นที่ช่วยเหลือ มอบอาหาร ฉีดวัคซีน เช่น วัคซีนโปลิโอ หัด ไอกรน รวมถึงวัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือ HPV มาฉีดให้กับเด็ก ๆ เพื่อป้องกันโรคระบาด​ รวมถึงวางระบบน้ำประปา แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำไม่สะอาด เพื่อสุขอนามัยค่ายอพยพ ซึ่งค่ายลี้ภัยนี้พบเด็กหลายคนพลัดหลงพ่อแม่ระหว่างหนีภัยสงคราม หวั่นเด็กหลายคนกลายเป็นเด็กกำพร้า นอกจากนี้ ยังหวังที่จะยกระดับระเบียงมนุษยธรรมในพื้นที่ เนื่องจากอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ยังไม่มีมีความเคลื่อนไหว ในการยกระดับเป็นพื้นที่ปลอดการสู้รบ ซึ่งพยายามผลักดันให้พื้นที่นี้เป็นระเบียงมนุษยธรรม ปลอดภัย และความช่วยเหลือเข้าถึง
  5. ร่าง พ.ร.บ. สันติภาพ คืบหน้า หวังพึ่งเจตนารมณ์ทางการเมืองที่เข้มแข็งทุกฝ่ายขับเคลื่อน
    สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สมาคมร่วมสร้างชุมชนศรัทธา กัมปงตกวา Minority Rights Group สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป (EU) จัดเสวนาเรื่อง ชุดกฎหมายสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ทบทวน ท้าทาย ที่ทาง ณ โรงแรมซีเอส อ.เมือง จ.ปัตตานี สาระสำคัญจากงานข้างต้น เช่น 1) คณะกรรมาธิการฯ กำลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่มีผู้เสนอมาจำนวน 2 ฉบับ โดยจะรวมให้เป็นร่างฉบับเดียวกัน คือ ร่าง พ.ร.บ.สันติภาพในภาพรวม และ ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการปกป้องคุ้มครองผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ และ 2) ปัญหาสำคัญที่ทำให้การพูดคุยสันติภาพไม่เกิดผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือยังขาดเจตจำนงทางการเมืองที่เข้มแข็งของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional: BRN)


อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ

SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 4 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567

Our Activities

ผอ. SDG Move ได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกในงานประชุมวิชาการระดับชาติ คณะศิลปศาสตร์ มทร. ศรีวิชัย

ผอ. SDG Move ได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้าน SDGs แก่บุคลากร คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Upcoming event

ฟอรั่ม ฟรี! ‘The Igniting Power of Well-being in Education’ รับเปิดเทอม สร้างสรรค์พื้นที่ให้เด็กไทยมีสุขภาวะที่ดี

กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ บริษัท พรอสเพอร์ เวล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เดลินิวส์และเดลินิวส์ออนไลน์ จัดฟอรั่ม The Igniting Power of Well-being in Education ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และนักพัฒนาเด็กและเยาวชน ผ่านเวทีเผยแพร่องค์ความรู้ แนวโน้มกระแสนิยม (Trends) การนำเสนอกิจกรรมทางกายที่ประยุกต์จากวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อส่งเสริมเด็ก – เยาวชนไทยให้มีสุขภาวะที่ดี และสามารถพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย รับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) (ผู้เข้าร่วมจะได้รับ e-Certificate)

จัดขึ้นวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้องสื่อมวลชน อาคาร ท.103 ชั้น 3 กฟผ. สำนักงานใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมฟรี ! รับจำนวนจำกัด สมัครทาง ได้ที่นี่


แพรวพรรณ ศิริเลิศ – เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Last Updated on เมษายน 26, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น