ท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก โดยมี SDGs มาเป็นเป้าหมายที่จะบรรลุถึง อีกทั้งการเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่รุกคืบและรุนแรงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้ธุรกิจทั้งเล็ก ย่อม และขนาดใหญ่จำนวนมากต่างปรับตัวเพื่อตอบโจทย์การช่วยคุ้มครองและฟื้นฟูสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในแนวคิดที่ได้รับความนิยมคือ “ESG” ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงการเงินการลงทุนเนื่องจากถูกระบุไว้ในหลักปฏิบัติการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ ขององค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) และมักถูกใช้เป็นปัจจัยเพื่อประเมินด้านความยั่งยืนและผลกระทบทางจริยธรรมของการลงทุนในธุรกิจหรือบริษัท
ความหมายของอักษรย่อแต่ละตัวมีดังนี้
- “E” ย่อมาจาก “Environment” หมายถึง สิ่งแวดล้อม โดยมุ่งพิจารณาการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ ประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษทางอากาศ
- “S” ย่อมาจาก “Social” หมายถึง สังคม โดยมุ่งพิจารณาการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม รวมถึงความเป็นอยู่ของสังคมทั้งภายในและภายนอกบริษัท ประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิมนุษยชน สุขภาพเละความปลอดภัยของพนักงาน และ สัมพันธภาพในที่ทำงาน
- “G” ย่อมาจาก “Governance” หมายถึง ธรรมาภิบาล โดยมุ่งพิจารณาการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีแนวทางบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน ต่อต้านและทำให้ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชัน ประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดค่าตอบแทนผู้บริหาร การดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์และโปร่งใส และความรับผิดรับชอบ
สำหรับประเทศไทย พบว่าภาคธุรกิจมีความพยายามนำ “ESG” มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจของตนบ้างแล้ว และหลายบริษัทก็ทำได้ในระดับดี โดยหากพิจารณาจาก ‘The Sustainability Yearbook 2023’ จัดทำโดย S&P Global ซึ่งเป็นการประเมินความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability Assessment) โดยมีการให้คะแนนตามการดำเนินงานที่สอดคล้องกับ ESG พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนในไทย 12 บริษัท ที่ได้รางวัลระดับ Gold Class ธุรกิจที่มีความยั่งยืน ได้แก่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
หมายเหตุ – คำอธิบายข้างต้นสรุปโดยทีมงาน เพื่อให้อ่านแล้วทำความเข้าใจง่ายเท่านั้นไม่แนะนำให้นำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ผอ. SDG Move ร่วมพูดคุยงาน PSDS Talks – ESG Series หัวข้อ “บทบาทของ SMEs ในการขับเคลื่อน SDGs” จัดโดยวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์
– ตลาดบริการให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนและ ESG สำหรับภาคธุรกิจ จะเติบโตมากกว่า 2 เท่าภายใน 5 ปีนี้
– 11 บริษัทไทยติดอันดับ Gold Class ‘ธุรกิจที่มีความยั่งยืน’ ของ The Sustainability Yearbook 2021 จากการประเมินให้คะแนนตาม ESG – สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
– Environmental, Social and Governance: ESG ตัวชี้วัดที่นำมาช่วยวัดผลการดำเนินงานของบริษัทเพื่อสรรค์สร้างอนาคตที่มีความยั่งยืน
คำศัพท์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี พ.ศ. 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.1) ดำเนินการให้เป็นผลตามกรอบระยะ 10 ปีของแผนงานว่าด้วยแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ทุกประเทศนำไปปฏิบัติโดยประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำ โดยคำนึงถึงการพัฒนาและขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนา
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และบูรณาการข้อมูลด้านความยั่งยืนไว้ในรอบการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
แหล่งที่มา
– ESG…ปัจจัยสำคัญสู่แนวทางการประกอบธุรกิจตามหลักความยั่งยืน (สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย)
– รู้จัก Sustainability Yearbook การจัดอันดับองค์กรที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG จาก S&P Global (Brand Inside)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
Last Updated on พฤษภาคม 15, 2024