Policy Brief | จัดการความท้าทายปัญหาการทุจริตและติดสินบน ผ่านการใช้ ‘Open Data’ เพื่อสร้างความโปร่งใส และความรับผิดชอบต่อสังคม

สถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยจากการประเมินโดยหน่วยงานและองค์กรระหว่างประเทศ ระบุว่า สถานการณ์ยังคงแย่ลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566) จากการรายงาน SDG Index ระบุ SDG 16 (ความสงบสุขยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง) ไทยอยู่ในสถานะท้าทายมาก (สีแดง) และไม่มีความคืบหน้าในทิศทางที่ดีขึ้น กอปรกับผลจากการสำรวจโดย Global Corruption Barometer (GCB) ปี 2563 ระบุว่าไทยอยู่อันดับที่ 5 จาก 17 ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีการจ่ายสินบนสูงมาก สอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดย SDG Move ในปี 2565 ที่คนส่วนใหญ่มองว่าปัญหาการทุจริตและการติดสินบนในรัฐบาล เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของไทยที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งท้าทายมากต่อการบรรลุเป้าหมายของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ด้วยประเด็นข้างต้นนำมาสู่การค้นคว้าของโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ยั่งยืน 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) ในประเด็นท้าทายด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน” (โครงการย่อยที่ 4) โดย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้แผนงานการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา 2030


งานวิจัยข้างต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อการมีส่วนร่วมของภาคส่วนนอกภาครัฐในการเปิดพื้นที่เชิงนโยบาย (policy space) ซึ่งได้ดำเนินงานวิจัยโดยการสังเกตการณ์ ผ่านกรณีศึกษาโครงการ Open Bangkok ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการใช้ข้อมูลเปิดในการส่งเสริมความมีประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร

แม้ที่ผ่านมาภาครัฐจะมีความพยายามอย่างเต็มที่ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ผ่านการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันหลายฉบับ ทว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่รุนแรงที่สุด กลับเป็นการทุจริตที่เกิดขึ้นในภาครัฐที่ทำกันอย่างเป็นระบบ (corruption systems) ไม่ใช่การทุจริตโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นครั้งคราว เนื่องจากปัจจัยจากระบบการเมืองที่อ่อนแอ สถาบันที่ไม่มีประสิทธิภาพ และภาคประชาสังคมที่ไม่เข้มแข็ง 

ด้วยประเด็นดังกล่าว จึงมุ่งหาแนวทางการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และเพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของรัฐทั้งหมด เพราะรูปแบบการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกับการผูกขาด การใช้ดุลพินิจ และการขาดกลไกความรับผิดชอบของภาครัฐ เพื่อเพิ่มอำนาจประชาชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการร่วมตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และสร้างสังคมที่เอื้อต่อการเข้ามามีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชันในระยะยาว งานวิจัยนี้สอดคล้องความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 16  ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


จากงานวิจัยดังกล่าว มีผลการศึกษาที่น่าสนใจ ดังนี้

  • หนึ่ง การลดการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่สามารถชี้วัดได้ด้วยเป้าประสงค์ที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนตัวชี้วัดย่อยอื่น ๆ ของเป้าหมายที่ 16 ที่เชื่อมโยงกับการสร้างความโปร่งใสของรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อสร้างองค์ประกอบของกลไกการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ  ได้แก่ การสร้างความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) การสร้างความมีส่วนร่วมด้วยการให้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน (Right to information) และการสร้างกลไกความรับผิดชอบที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิด (Accountability) 
  • สอง เพื่อพัฒนาองค์ประกอบของกลไกการต่อต้านคอร์รัปชันและสร้างความโปร่งใสของรัฐบาล ต้องเริ่มจากการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างระบบที่ดีเพื่อตรวจจับและป้องกันการคอร์รัปชัน ตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมตรวจสอบจากภาคประชาชน และ
  • สาม แนวทางผลักดันการเปิดเผยชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชัน (Open Data for Anti-Corruption) จำนวน 25 ชุดข้อมูล 
    • ประการแรก คือการเปิดเผยข้อมูลที่มีความต่อเนื่องและมีมาตรฐาน (data) เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล 
    • ประการที่สาม คือการหนุนเสริมองค์ความรู้  ผ่านการผลักดันให้หน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน โดยสามารถนำข้อมูลที่ถูกเปิดเผยไปประยุกต์ใช้ สำหรับช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับความเสี่ยงการคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงผลลัพธ์ของการเปิดเผยข้อมูลทั้ง 25 ชุดข้อมูล
    • ประการที่สอง คือการสนับสนุนประชาชน  ด้วยการปรับปรุงกระบวนการของหน่วยงานที่เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ในชุดข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานเป็นเจ้าของอยู่ 

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าวได้ให้ข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นท้าทายด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะเริ่มต้น วางรากฐานชุดข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน (Open Data for Anti-Corruption) โดยชุดข้อมูลที่มีความพร้อมที่จะเป็นต้นแบบในการทำงานด้านการเปิดเผยข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ คือ กลุ่มข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรหรือทรัพย์สินสาธารณะ 
    • ได้แก่ ข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (Government Spending) และข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Public Procurement) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับหน่วยงานอื่น และการเปิดเผยข้อมูลที่พร้อมใช้งานผ่านกลไกอุปทาน – อุปสงค์ข้อมูล เพื่อสร้างต้นทุนทางทรัพยากรที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยคำนึงถึงแนวทางและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลที่ยึดโยงอยู่กับผู้ปฏิบัติงานและประชาชนเป็นสำคัญ 
  • ระยะสนับสนุน กระตุ้นกลไกของการเข้ามามีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน 
    • เช่น การทำงานของเพจต้องแฉ (Must Share) เป็นพื้นที่สื่อกลางแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ทำให้ประชาชนเห็นว่าข้อมูลเปิดเหล่านี้ สามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการป้องกัน ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินความเสี่ยงของการคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นในสังคมได้ 
  • ระยะเป้าหมาย ผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายไปสู่วาระระดับชาติเพื่อการต่อต้านการคอร์รัปชันของประเทศไทย (National agenda for Anti-corruption) โดยสนับสนุนให้สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งมีบทบาทโดยตรงในการรับผิดชอบเป้าหมายที่ 16.5 ร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการเปิดเผยข้อมูล
    • ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร) ทำหน้าที่สนับสนุนหน่วยงานที่มีความพร้อมในด้านการเปิดเผยข้อมูล เพื่อเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่น และนำชุดข้อมูลเปิดไปใช้ในการตรวจจับความเสี่ยงการคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้น หรือนำไปใช้กับกระบวนการติดตามการกระทำความผิดและตรวจสอบคดีทุจริตของภาครัฐ เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงผลลัพธ์ของการนำชุดข้อมูลไปใช้ประโยชน์ อันเป็นการสร้างหลักประกันถึงความมีประสิทธิภาพของการใช้ชุดข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน 

อย่างไรก็ดี ข้อเสนอเชิงนโยบายเป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่มีสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็น (21) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยสอดคล้องกับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เป้าหมายที่ 2 คดีทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง ด้วยการมุ่งเน้นการพัฒนามาตรการ กระบวนการในการป้องปรามการทุจริตให้เท่าทันต่อพลวัตของการทุจริต สามารถระงับยับยั้งการทุจริตได้อย่างรวดเร็ว ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ผ่านโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) และการพัฒนาเครื่องมือและมาตรการเพื่อสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และทำให้การทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐมีโอกาสสูงที่จะถูกตรวจพบและลงโทษ

กล่าวโดยสรุป จากสถานการณ์และความท้าทายที่เกิดขึ้น โครงการวิจัยจึงมุ่งศึกษาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่ 16.5 (ลดการทุจริตและรับสินบน) ที่มีสถานะวิกฤติด้วยการวิเคราะห์ช่องว่างระหว่างแผนยุทธศาสตร์ ความรู้เชิงวิชาการ และแนวทางการปฏิบัติงานจริงไปพร้อมกับการวางรากฐานกลไกการต่อต้านคอร์รัปชันและการสร้างความโปร่งใสของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.5) ลดการทุจริตและการรับสินบนทุกรูปแบบอย่างมีนัยสําคัญ
– (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Policy Brief ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้โครงการวิจัยและสนับสนุนระบบการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) แบบข้ามภาคส่วนเพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา สนับสนุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง 1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 2. เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) 3. ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) 4. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5. หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง (Urban Futures & Policy)  6. ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) 7. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 8. คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ 9. สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUSRI) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น