บทสรุป COP29 – BBC ชี้ ‘จีน’ แสดงบทบาทผู้นำเรื่อง Climate ส่วนหลายประเทศกำลังพัฒนายังไม่พอใจเงินสนับสนุน 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สิ้นสุดเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 หรือ COP29 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2567  กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน โดยได้ข้อตกลงที่สำคัญเรื่องเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศที่จะสนับสนุนแก่ประเทศกำลังพัฒนา จำนวน 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 10.2 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2578 

แมตต์ แมคกราธ ผู้สื่อข่าวด้านสิ่งแวดล้อมสรุป 5 ประเด็นสำคัญจากการประชุมข้างต้น ดังนี้

  • เงินทุนสนับสนุนด้านสภาพภูมิอากาศยังไม่เพียงพอ แม้มีข้อตกลงให้เงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศกว่า 10.2 ล้านล้านบาท แก่ประเทศกำลังพัฒนา แต่ประเทศกลุ่มนี้ยังตำหนิว่าเงินจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอและเป็นแค่จำนวนเงินรวมระหว่างเงินให้เปล่าและเงินกู้ด้วย ขณะที่ประเทศร่ำรวยมองว่าเงินจำนวนดังกล่าวมากเพียงพอและเป็นยอดที่ปรับปรุงจากเงินบริจาคเดิมที่กำหนดไว้ที่ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.4 ล้านล้านบาท) ต่อปีในปัจจุบัน
  • ความไม่พร้อมขับเคลื่อนด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศเจ้าภาพ มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาเซอร์ไบจานไม่ได้มีส่วนช่วยให้การประชุม COP29 ครั้งนี้ เป็นไปในทางทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศนี้ไม่ได้มีประวัติเข้าร่วมกระบวนการ COP อย่างแท้จริง และเศรษฐกิจสำคัญยังเกี่ยวข้องกับการส่งออกก๊าซ น้ำมัน และถ่านหิน โดยผู้นำการเจรจาระดับอาวุโสหลายคนได้เขียนจดหมายเปิดที่กล่าวว่าการประชุม COP มีความไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของมัน และเรียกร้องให้มีการปฏิรูป
  • จีนอาจก้าวขึ้นเป็นผู้นำการจัดการสภาพภูมิอากาศ  แม้ถูกกำหนดเป็นประเทศกำลังพัฒนา และไม่มีภาระผูกพันที่จะต้องสนับสนุนเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศและช่วยเหลือประเทศยากจน แต่จีนก็ลงนามในข้อตกลงทางการเงินในฐานะผู้สมัครใจให้เงินอุดหนุนกองทุนรวมสำหรับประเทศที่มีความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับแนวโน้มของโดนัล ทรัมป์ ที่ไม่ได้สนใจจัดการปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ อาจลดบทบาทสหรัฐอเมริกาและเปิดทางให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำสำคัญในเรื่องนี้ 
  • ความกังวลต่อบทบาทของโดนัล ทรัมป์ แม้ยังไม่ได้เข้าร่วมประชุม COP29 แต่การกลับมาเป็นประธานาธิบดี สมัยที่ 2 ของทรัมป์ สร้างความกังวลใจและเป็นเรื่องที่หลายประเทศคำนึงในระหว่างการเสนอแนวทางหรือข้อตกลงต่าง ๆ ซึ่งเห็นได้ว่าประเทศร่ำรวยกว่าต้องการความมุ่งมั่นอย่างมากในการระดมทุนภายในปี 2578 พวกเขาเชื่อว่าการกำหนดกรอบเวลาจะช่วยให้สหรัฐฯ สามารถเข้ามาร่วมสมทบเงินทุนได้อีกครั้งเมื่อทรัมป์สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี
  • บทบาทของนักรณรงค์ที่เพิ่มมากขึ้น  พบว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศพึ่งพาเอ็นจีโอเพื่อขอการสนับสนุนในการจัดการกับเหตุการณ์ที่ซับซ้อน เช่น COP โดยระหว่างที่มีการพูดคุยนั้น ก็เกิดการผลักดันอย่างหนักจากนักรณรงค์หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าท่าทีขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากมีความก้าวร้าวมากขึ้นในบางช่วง

นอกจากเรื่องเงินสนับสนุนด้านสภาพภูมิอากาศแล้ว ที่ประชุม COP29 ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น 

  • ประเทศภาคีต้องจัดทำ ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ (Nationally Determined Contributions: NDCs) ฉบับใหม่ในปี 2568 โดยเฉพาะ NDC 3.0 ซึ่งเป็นเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2578 เพื่อให้สามารถควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส
  • การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอน ต้องมีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ไม่ซับซ้อน และไม่ก่อให้เกิดภาระเพิ่มเติมเกินจำเป็น
  • การแก้ไขปัญหาความโปร่งใสของรายงานสภาพภูมิอากาศผ่านการเสนอเครื่องมือรายงานใหม่ให้แก่กรอบความโปร่งใส หรือ ETF ของข้อตกลงปารีสเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

จึงน่าจับตามองต่อไปว่าทิศทางความร่วมมือระดับโลกในเรื่องการจัดการเเละรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศจะขยับไปในทิศทางใด เงินทุนที่ตกลงกันจะเพียงพอไหม บทบาทของจีนจะมีส่วนช่วยหนุนเสริมอย่างไร เเละการกลับมาของทรัมป์จะเป็นความท้าทายมากน้อยเเค่ไหน 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ไทยชู 5 ประเด็นสำคัญ ด้านสภาพภูมิอากาศใน ‘COP29’ พร้อมหารือแผนเงินทุนการลดก๊าซเรือนกระจก
– เปิดฉากการประชุม ‘COP29’ จับตาประเด็นการจัดหาเงินทุน – เร่งแก้ปัญหา Climate Change ในประเทศกำลังพัฒนา 
– สารจากประธาน COP29 เน้นย้ำความทะเยอทะยานและเร่งรัดการลงมือทำเกี่ยวการเงินเพื่อการต่อสู้กับ Climate Change
– ชวนจับตา 4 ประเด็นสำคัญการประชุม ‘COP28’ พร้อมสำรวจความกังวลต่อท่าทีเจ้าภาพในการยุติการใช้พลังงานฟอสซิล
– ไทยเตรียม 4 ข้อเสนอ ในการประชุม ‘COP 28’ พร้อมร่วมแก้ปัญหาโลกเดือดกับผู้นำโลก
– ทำความเข้าใจ Loss & Damage และผลกระทบที่คนไทยต้องเผชิญ เมื่อ Climate change รุนแรงขึ้น ประเด็นน่าสนใจงานเสวนาวิชาการศูนย์วิจัยนโยบายและเศรษฐกิจสีเขียว (Pro-green)

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา : 
สรุป 5 ประเด็นสำคัญจากการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศ COP29 (BBC Thai)
บทสรุป COP29: เกิดอะไรขึ้นบ้าง และไทยได้ประโยชน์อะไร (The Standard) 
การประชุม COP 29 ไม่สามารถบรรลุผลงานที่คาดหวัง (VOV World)

Last Updated on พฤศจิกายน 28, 2024

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น