โลกกำลังจะมีอนุสัญญาปกป้องไรเดอร์ ILO หวังเป็นก้าวสำคัญช่วยคุ้มครองความปลอดภัยเเละลดภาระของแรงงานแพลตฟอร์ม

วันที่ 2 – 13 มิถุนายน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ได้จัดการประชุมแรงงานนานาชาติ (International Labour Conference – ILC) ครั้งที่ 113 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีตัวแทนจากรัฐบาล ภาคเอกชน และตัวแทนแรงงานจากทั่วโลกเข้าร่วม

หนึ่งในประเด็นที่น่าจับตามองที่สุดคือการเจรจาและลงมติที่จะจัดทำอนุสัญญาที่มีผลบังคับใช้เพื่อปกป้องแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์รับส่งคน/ส่งอาหาร ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 150 ล้านคนทั่วโลก แต่กลับกำลังเผชิญปัญหาและความท้าทายหลายรูปแบบ เช่น การไม่มีสัญญาจ้างงานที่ชัดเจน ไม่มีสวัสดิการหรือประกันคุ้มครองอุบัติเหตุและสุขภาพ ไม่มีแม้ประกันสังคม รวมถึงการไม่สนับสนุนค่าอุปกรณ์หรือซ่อมแซมรถ เป็นผลให้แรงงานกลุ่มนี้มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสูงและต้องแบกรับภาระที่เกินล้นพ้นตัว 

การเจรจาข้างต้นแม้มีแรงต้านจากตัวแทนนายจ้างและรัฐบาลบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และสวิตเซอร์แลนด์ แต่ในท้ายที่สุดปรากฏว่าผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ลงมติให้จัดทำอนุสัญญาข้างต้นขึ้น โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะมีการเริ่มประชุมในปี 2569 เพื่อวางกรอบของอนุสัญญา ซึ่งเนื้อหาในการประชุมจะครอบคลุมถึงการกำหนดรูปแบบ นิยาม ขอบเขต และการยอมรับสิทธิของแรงงานและสหภาพแรงงานในการเข้าถึงข้อมูลการทำงานของระบบอัลกอริทึมและระบบปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงประเด็นความปลอดภัยในการทำงาน การคุ้มครองและป้องกันจากความรุนแรง ระบบประกันสังคม และการเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงานแพลตฟอร์ม 

Lena Simet นักวิจัยจาก Human Rights Watch กล่าวว่า “เรื่องนี้สำคัญมาก ILO ควรปิดช่องโหว่ทางกฎหมายที่บริษัทต่าง ๆ ใช้หาผลกำไร หากทำไม่ได้ จะเป็นการเสียโอกาสในการสร้างรากฐานระดับโลกสำหรับเงื่อนไขการทำงานที่ยุติธรรมในยุคดิจิทัล”

หากอนุสัญญาข้างต้นสามารถบรรลุได้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อแรงงานแพลตฟอร์มทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยเองที่แม้ปัจจุบันจะมีการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงงานอิสระ แต่ก็ยังถูกกังขาว่าเนื้อหานั้นเป็นการควบคุมแรงงานมากกว่าการคุ้มครอง อีกทั้งไม่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงานไรเดอร์อย่างแท้จริง เช่นนั้นเองหากไทยลงนามรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับใหม่นี้ในอนาคต ก็จะเป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยหนุนเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิแรงงานแพลตฟอร์มให้ดีขึ้น 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ILO ชี้นโยบายคุ้มครองทางสังคมไทย ยังไม่ครอบคลุมถึง แรงงานทำ ‘งานบ้าน’ 
– (ร่าง) ระเบียบปรับเงื่อนไขทำงานของบริษัทแพลตฟอร์ม จะทำให้ gig workers ใน EU เป็น “พนักงาน” ที่มีสิทธิแรงงาน
– พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ประกาศเพิ่มบทบัญญัติ มาตรา 23/1 สนับสนุนสิทธิลูกจ้างในการทำงาน Work from Home
– ILO รายงานสภาพการทำงานภาคเกษตรไทย พร้อมชี้แรงงานข้ามชาติ ยังเผชิญการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม
รัฐบาลไทยเร่งผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงฐาน การคุ้มครองทางสังคม (floors) โดยให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบางให้มากพอ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG8 งานที่ดี และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม และให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ผ่านการเข้าถึงบริการทางการเงิน
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
– (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา
ILO เตรียมร่างอนุสัญญาคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม (ประชาไท) 
‘แรงงานแพลตฟอร์ม’ จี้รัฐยกระดับ สิทธิ สวัสดิการเท่าเทียม – เครือข่ายแรงงาน ยื่นนายกฯ 6 ข้อเรียกร้องเร่งด่วน (The Active)

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น