ILO ชี้นโยบายคุ้มครองทางสังคมไทย ยังไม่ครอบคลุมถึง แรงงานทำ ‘งานบ้าน’ 

‘งานบ้าน’ เป็นหนึ่งในงานที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนอกครัวเรือน ปัจจุบันแรงงานทำงานบ้านทั่วโลกมีประชากรราว 75.6 ล้านคน โดยร้อยละ 80 เป็นผู้หญิง ในปีนี้องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ได้เผยเเพร่รายงาน ‘การทบทวนนโยบายประกันสังคมสำหรับแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย’ ระบุว่า งานทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร ดูแลสมาชิกในครัวเรือนเป็นงานที่อุทิศให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก หากขาดผู้รับผิดชอบในการทำงานบ้าน สมาชิกภายในบ้านอาจไม่สามารถออกไปทำงานหารายได้เต็มที่ ขณะเดียวกัน ‘งานบ้าน’ กลับเป็นงานที่ถูกลดทอนคุณค่าและขาดความคุ้มครองทางกฎหมายเมื่อเทียบกับงานอื่น ๆ เป็นงานที่มีค่าจ้างที่ต่ำและหลายคนมีความเชื่อว่าเป็น “งานที่ไม่สร้างรายได้” ส่งผลให้แรงงาน อาจถูกมองข้ามและเสี่ยงต่อการถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม พร้อมทั้งไม่ได้รับการคุ้มครองตามกลไกการคุ้มครองทางสังคมในเรื่องการจ้างงาน 

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลกำลังทบทวนกฎกระทรวงฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับหลักที่ยกเว้นแรงงานทำงานบ้านจากขอบเขตการคุ้มครองด้านแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม การทบทวนกฎหมายฉบับนี้ เอื้อให้เกิดการพิจารณาขยายสิทธิแรงงานให้กับแรงงานทำงานบ้าน รวมถึงการประกันสังคมด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าระบบการคุ้มครองทางสังคมหรือการประกันสังคมจะเกิดประโยชน์ต่อแรงงานทำงานบ้าน ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิง ด้วยการคำนึงถึงสิทธิและความต้องการของแรงงานทำงานบ้าน

รายงานสรุปข้อท้าทายและวิธีการแก้ไขปัญหาหลายประการ เช่น

  • การยกเว้นจากขอบเขตความคุ้มครองของกฎหมาย ในประทศไทย การใช้คำว่า “การดำเนินธุรกิจ” โดยไม่ได้มีคำจำกัดความภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ซึ่งข้อยกเว้นต่าง ๆ ที่มุ่งเป้าไปที่งานบ้านตามกฎกระทรวงฉบับที่ 14 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2560 ภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน เป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายความคุ้มครองทางกฎหมายแก่แรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย การยกเลิกกฎหมายดังกล่าวจะช่วยขยายความคุ้มครองของกรอบกฎหมายไปยังแรงงานทำงานบ้านโดยปริยาย โดยจะคุ้มครองภายใต้นิยามทางกฎหมายของ “ลูกจ้าง” ที่ระบุไว้ในกฎหมาย
  • การทำให้ความสัมพันธ์ในการจ้างงานเป็นทางการเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมาย การคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพ ควรได้การยอมรับความสัมพันธ์ในการจ้างงาน ในทางปฏิบัติ แรงงานทำงานบ้านเข้าหลักเกณฑ์ของลูกจ้างที่วางหลักโดยศาลฎีกาของไทย ด้วยเหตุนี้ จึงมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม แม้ว่าปัจจุบันมาตรฐานดังกล่าวจะยังไม่ได้ขยายไปถึงแรงงานทำงานบ้านก็ตาม
  • การออกแบบยุทธศาสตร์เพื่อขยายความคุ้มครองและการขจัดอุปสรรคด้านการบริหารจัดการ การกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนภาคบังคับเป็นสิ่งสำคัญในการขยายความคุ้มครองไปยังกลุ่มที่มีความท้าทาย เช่น แรงงานทำงานบ้าน ซึ่งสิ่งสำคัญ คือต้องออกแบบการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนเพื่อปรับให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของงานบ้าน โดยการขึ้นทะเบียนการจ่ายและเก็บเงินสมทบ ต้องมีความเรียบง่าย ในกรณีงานบ้าน จำเป็นต้องมีการออกแบบรองรับกรณีความสัมพันธ์หลายฝ่าย เช่น งานชั่วคราว หรืองานจ้างเหมา เพื่อเป็นแนวทางในการรับรองการทำงานแบบไม่เต็มเวลาและนอกเวลา เป็นต้น

กล่าวได้ว่า เพื่อการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานทำงานบ้าน จำเป็นต้องตระหนักบนพื้นฐานว่า “แรงงานทำงานบ้านก็คือแรงงาน” ไม่เพียงมองที่ตัวงานว่าก่อให้เกิดรายได้กับผู้จ้างหรือไม่ ซึ่งแม้ว่ารัฐบาล  จะพยายามรับรองสิทธิและการคุ้มครองแรงงานทำงานบ้านทั้งที่เป็นคนไทยและคนที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่การดำเนินนโยบายยังคงมีความท้าทายและมีช่องว่างทางนโยบายจำนวนมากที่จำเป็นต้องติดตามเพื่อสานต่อสิทธิให้เกิดขึ้นอย่างครอบคลุมแรงงานบ้านในทุกด้าน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
รายงานของ ILO ชี้ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ช่วยให้ความสมดุลระหว่างงานและชีวิตดีขึ้น
การทำงานบ้านควรคิดเป็นเงินมูลค่าเท่าไร ? เมื่อผู้หญิงทั่วโลกยังคงเป็นฝ่ายรับผิดชอบงานส่วนใหญ่ในบ้าน
ผู้หญิงญี่ปุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในปี 2020 อาจเพราะโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงรุนแรงกว่า
การลงทุนเพิ่มในระบบบริการดูแลเด็กให้มีค่าใช้จ่ายถูกลง จะช่วยเพิ่มรายได้ให้มารดาที่ต้องทำงานนอกบ้าน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
– (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดให้มีบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณะ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว

แหล่งที่มา: รายงานการทบทวนนโยบายประกันสังคมสำหรับแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทย – ILO 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น