คณะผู้แทนไทยนำเสนอรายงาน VNR ครั้งที่ 3 บนเวที HLPF 2025 – SDG Move ร่วมสะท้อนมุมมองภาควิชาการและประชาสังคม

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี ค.ศ. 2025 (High-Level Political Forum on Sustainable Development 2025: HLPF 2025) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

การประชุม HLPF 2025 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “Advancing sustainable, inclusive, science- and evidence-based solutions for the 2030 Agenda for Sustainable Development and its Sustainable Development Goals for leaving no one behind” การประชุมนี้เป็นเวทีสำคัญประจำปีของสหประชาชาติที่มุ่งติดตามและเร่งรัดการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของนานาประเทศ

ในการนี้ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้นำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจของไทย (Voluntary National Review: VNR) ร่วมกับนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการนำเสนอรายงาน VNR ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ของประเทศไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดการนำเสนอว่า “เราอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งในการเร่งรัดการดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs โดยเหลือเวลาอีกเพียง 5 ปีจนถึงปี ค.ศ. 2030” และได้ชี้ให้เห็นว่ารายงาน VNR ฉบับนี้มุ่งเน้นการใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงสถิติที่เข้มแข็ง เพื่อให้การประเมินอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ

รัฐมนตรีฯ ได้สรุปความท้าทายหลักของประเทศไทยที่ค้นพบจากกระบวนการทบทวนครั้งนี้ ได้แก่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่ยังคงมีอยู่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงภัยคุกคามอุบัติใหม่ เช่น ภัยจากออนไลน์และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

นอกจากนี้ ท่านรัฐมนตรีฯ ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอแนะเชิงโครงสร้างที่ได้รับจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงใน 4 ด้านสำคัญ คือ (1) การพัฒนาขีดความสามารถด้านข้อมูล SDGs อย่างต่อเนื่อง (2) การเพิ่มการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน (3) การจัดทำกรอบการจัดหาเงินทุนสำหรับ SDGs เพื่อระบุช่องว่างและหาแหล่งเงินทุน และ (4) การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อน SDGs ในระดับท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

จากนั้น นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. ได้นำเสนอในรายละเอียดว่า ประเทศไทยได้ผนวก SDGs เข้าไว้กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และใช้ข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญในการติดตามความก้าวหน้าผ่านระเบียบวิธี “trend-to-target” ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยความท้าทายและกำหนดนโยบายได้ตรงจุด

นายดนุชาได้เปิดเผยถึงความก้าวหน้าว่า “เรามีความก้าวหน้าที่ดีมากใน SDG 14 (ทรัพยากรทางทะเล) และ SDG 12 (การผลิตเเละการบริโภคที่ยั่งยืน) รวมถึงความก้าวหน้าที่น่าพอใจใน SDG 5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) และ SDG 10 (ลดความเหลื่อมล้ำ)” ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ายังต้องเร่งรัดความพยายามใน SDG 15 (ระบบนิเวศบนบก) SDG 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) และ SDG 17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)

เลขาธิการ สศช. ยังได้กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายที่แม่นยำและแก้ไขปัญหาของประชาชนในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมย้ำว่าความร่วมมือกับหน่วยงานสหประชาชาติ โดยเฉพาะ UN-Habitat และ UNDP เป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ไทยประสบความสำเร็จในการจัดทำรายงานการทบทวนระดับเมือง (VLRs) และจะเดินหน้าผนวก SDGs ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 ให้เข้มข้นขึ้นต่อไป

ในฐานะผู้แทนภาควิชาการและประชาสังคม ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move ได้ร่วมนำเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยระบุว่า แม้จะเห็นความตื่นตัวเรื่องความยั่งยืนในภาคธุรกิจและมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่การหารือเรื่อง SDGs ในระบบรัฐสภายังมีอยู่อย่างจำกัด

ผศ.ชล ได้สรุปผลการรับฟังความเห็นไว้ 3 ประการสำคัญ ได้แก่

  1. การใช้ SDGs เป็นกรอบความเข้าใจร่วมกัน โดยหลักการของ SDGs ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารกลางที่ช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ในระดับท้องถิ่นสามารถทำความเข้าใจประเด็นปัญหาที่ซับซ้อน และใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ความต้องการกระจายองค์ความรู้และทักษะสู่ท้องถิ่น โดยมีเสียงเรียกร้องที่ชัดเจนให้รื้อฟื้น “โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น” (Community-Based Research) ซึ่งเป็นกลไกที่เคยประสบความสำเร็จในการเสริมพลังให้ชุมชนสามารถทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาของตนเองได้ โดยมีสถาบันการศึกษาเป็นผู้สนับสนุน
  3. ความจำเป็นในการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ชุมชนและภาคประชาสังคมต้องการแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถร่วมออกแบบนโยบายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และผลักดันให้มีการนำ “ข้อมูลจากภาคประชาชน” (Citizen-Generated Data) มาใช้ในกระบวนการติดตามและประเมินผลของภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวสรุปปิดท้าย โดยย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ของไทยในการเร่งรัดการดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ในช่วงโค้งสุดท้าย และพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์กับนานาประเทศผ่านความร่วมมือรูปแบบต่างๆ เพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
–  นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงใน SDG Summit 2023 ประกาศไทยมุ่งมั่นส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ
– SDG Insights | ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นเส้นทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: บทวิเคราะห์และข้อเสนอเชิงนโยบาย
 ผู้ช่วย รมต. ประจำกระทรวงการต่างประเทศ ของไทย ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในการประชุม HLPF 2024
เปิดฉาก HLPF 2025 เร่งขับเคลื่อน SDGs ก่อนถึงเส้นตายปี 2030 ปีนี้ไทยร่วมเวทีโลกนำเสนอ VNR 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ติตตามข่าวสาร HLPF 2025
ได้ที่ :  https://hlpf.un.org/home
ข้อมูล HLPF ทั้งหมดที่ : https://hlpf.un.org/2025 
และ VNR ที่ : https://hlpf.un.org/2025/vnrs
หรือติดตามช่องทางของ SDG Move ที่ : https://www.sdgmove.com/category/sdg-news/hlpf-vnr/

Last Updated on กรกฎาคม 22, 2025

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น