SDG Updates | ‘Ecocide’ อาชญากรรมฆ่าล้างสิ่งแวดล้อมกับการผลักดันให้มีความผิดทางอาญาระดับโลก

โลกคุ้นชินกับ ‘Genocide’ ตั้งแต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าด้วยเรื่อง ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ เจตจำนงในการฆ่าจากเหตุของความเป็นชาติพันธุ์-เชื้อชาติ-ศาสนา-กลุ่มทางการเมืองหนึ่ง ที่จำต้องได้รับโทษทางอาญาฐานเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ มาในวันนี้ โลกปรากฏคำใหม่ ‘Ecocide’ หรือจะแปลให้คล้องกันก็คือ ‘การฆ่าล้างสิ่งแวดล้อม’ กับความเคลื่อนไหวทางสังคมระดับนานาชาติในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งที่มีความพยายามผลักดันให้ผู้กระทำและ ‘การก่อการทำลาย’ สิ่งแวดล้อมในทุกรูปแบบบรรจุเป็นความผิดทางอาญาสมควรมีการพิพากษาในศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court – ICC) มาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนามในทศวรรษที่ 1970

SDG Updates ในวันนี้ จึงชวนสำรวจคำจำกัดความ การส่งเสียงเรียกร้องและสนับสนุนไอเดียดังกล่าวจากประเทศต่าง ๆ ในช่วงปี 2562 ถึง 2564 ทั้งประเทศหมู่เกาะวานูอาตู มัลดีฟส์ ฝรั่งเศส เบลเยียม สวีเดน บราซิล รวมทั้งพระสันตะปาปาฟรานซิส นครรัฐวาติกัน ตลอดจนความคืบหน้าของการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน ที่ต้องการผลักดันให้ Ecocide เป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติที่ต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ


Ecocide ประเด็นร้อนของโลก ณ เวลานี้

ประเทศหมู่เกาะวานูอาตูที่ตั้งอยู่บริเวณแปซิฟิกทางตอนใต้ เป็นหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่แท้จริงและร้ายแรง โดยเฉพาะต่อบรรดาประเทศหมู่เกาะ แต่การกระทำที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นกลับมาจากที่อื่น นั่นจึงทำให้วานูอาตูเดินหน้าเรียกร้องให้นานาประเทศ (ที่ใหญ่กว่า) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเสีย จนเมื่อปลายปี 2562 ทูตจากประเทศหมู่เกาะวานูอาตูประจำสหภาพยุโรป ร่วมกับหมู่เกาะมัลดีฟส์ ก็ได้มีข้อเสนอที่ ‘ก้าวหน้า’ มาก ด้วยการเสนอแก้ ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระบุให้การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมหรือ Ecocide เป็น ‘อาชญากรรม’ ที่มีความผิดทางอาญา พร้อมกับที่พระสันตะปาปาฟรานซิส นครรัฐวาติกัน ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายเอมมานูเอล มาครอง นักเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อน เกรตา ธันเบิร์ก และนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรี มะลาละห์ ยูซัฟซัย ได้สนับสนุนให้ Ecocide เป็นอาชญากรรมที่ 5 ต่อจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) อาชญากรรมสงคราม (war crimes) อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (crimes against humanity) และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน (crime of aggression)

โดยพระสันตะปาปาฟรานซิสก็ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ประชาคมโลกตระหนักว่า Ecocide เป็นอาชญากรรม เกรตา ธันเบิร์กบริจาคเงินสมทบ 100,000 ยูโรให้กับมูลนิธิ Stop Ecocide ขณะที่ มากกว่า 99% ของกลุ่ม French Citizen’s Assembly ในฝรั่งเศสสนับสนุนไอเดียนี้เพื่อเป็นหนทางนำนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ซึ่งประธานาธิบดีมาครองเองก็ได้ประกาศว่าจะเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ของการบรรจุไอเดียนี้ไว้ในกฎหมายฝรั่งเศส เพื่อให้กฎหมายระหว่างประเทศสามารถปรับให้สอดคล้อง-เติมเต็มกันได้ (to complement) ความคืบหน้าในลักษณะเดียวกันยังเกิดขึ้นในเบลเยียม ที่พรรคการเมืองซึ่งมีนโยบายสนับสนุนสิ่งแวดล้อมได้เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับ Ecocide โดยเฉพาะ เพื่อให้มีการจัดการในระดับประเทศและระหว่างประเทศ พร้อมกับกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการต่อ ICC ในปี 2563 เช่นเดียวกับสวีเดนที่สนับสนุนวิสัยทัศน์นี้สู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ข้อกฎหมาย

ส่วนบราซิลนั้น เมื่อต้นปี 2564 ก็มีการเคลื่อนไหวจากผู้ปกป้องผืนป่าอะเมซอนอย่างผู้นำชุมชนชนพื้นเมือง ที่เรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศสืบสวนประธานาธิบดี จาอีร์ บอลโซนาโร ในความผิดฐาน Ecocide กับนโยบายการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือทำลายป่าอะเมซอนโดย ‘ไม่มีการควบคุม’ มาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2562 เพื่อนำพื้นที่ไปใช้สำหรับการขุดเจาะเหมืองแร่ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซ้ำยังมีการข่มขู่คุกคามองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ปราบปราม/บังคับผู้อยู่อาศัยให้ย้ายถิ่น และสังหารกลุ่มผู้นำชนพื้นเมืองด้วย


ทำลายสิ่งแวดล้อมแค่ไหน แค่ไหนที่เรียกว่า ‘ทำลายล้าง’ ขนานใหญ่แบบ Ecocide ?

เมื่อปี 1972 (พ.ศ. 2515) มีคำจำกัดความแรก ๆ โดยนายกรัฐมนตรีสวีเดน ขณะนั้นที่เสนอต่อที่ประชุมด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติว่าเป็น ‘ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม’ แต่ก็ยังคงจำกัดอยู่ที่เหตุจากสงครามเวียดนาม และไม่มีความคืบหน้าของการดำเนินการด้าน Ecocide จนกระทั่ง 40 ปีให้หลัง (พ.ศ. 2555) ทนายความด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดังสัญชาติสกอตแลนด์ พอลลี่ ฮิกกินส์ (Polly Higgins) ได้เสนอแก้ไขธรรมนูญกรุงโรมและส่งข้อเสนอไปยังคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ เพื่อพิจารณาให้ Ecocide มีความผิดทางอาญา พร้อมกับคำจำกัดความที่เป็นหมุดหมายการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญว่าเป็น ‘ความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อการสูญเสียระบบนิเวศของดินแดนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเพราะการกระทำของมนุษย์หรือสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่จากมนุษย์ จนผู้คนในดินแดนนั้นมีความสงบสุขลดลงอย่างมาก’ ตามมาด้วยการออกหนังสือชื่อ ‘Eradicating Ecocide’ และออกแคมเปญ Stop Ecocide ในปี 2560

Ecocide is the extensive destruction, damage to or loss of ecosystem(s) of a given territory, whether by human agency or by other causes, to such an extent that peaceful enjoyment by the inhabitants of that territory has been severely diminished

– Polly Higgins

● เข้าถึงแคมเปญ Stop Ecocide ได้ที่: https://www.stopecocide.earth/

ขณะที่บางความเห็นเสนอว่า ควรขยายความกิจกรรมจากมนุษย์เพิ่มเป็น ‘ที่เกิดจากบุคคล องค์กร รัฐ’ ด้วย เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงผู้กระทำความผิดต่อสิ่งแวดล้อมได้

Jojo Mehta ผู้ร่วมก่อตั้งแคมเปญดังกล่าว มองว่าการให้การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมเป็นอาชญากรรมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ผู้คนจะมีมุมมองต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการผลักดันผ่านกฎหมายระหว่างประเทศ ให้เกิด ‘ความยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อสิ่งแวดล้อม’ ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นตัวเชื่อมกับรัฐสมาชิกที่จะสามารถยับยั้งการทำลายสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้ เพราะถ้าประเด็นนี้ไม่มีความผิดทางอาญา การขอใบอนุญาตเพื่อทำเหมืองบนบกและท้องทะเล หรือการขุดเจาะน้ำมันจะเป็นสิ่งที่ทำได้อยู่ทั่วไป ทว่าก็จำต้องมีการจำกัดให้บังคับใช้กฎหมายในกรณีของความเสียหายอย่างร้ายแรงจากกิจกรรมของมนุษย์ อาทิ น้ำมันรั่วไหล (Oil Spills) การทำเหมืองใต้ท้องทะเล (Deep-sea Mining) และการทำเหมืองทรายน้ำมัน (Tar Sand Extraction)

นอกจากคำจำกัดความของฮิกกินส์แล้ว Ecocide ยังขยายไปถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความเสียหายของระบบนิเวศอันเป็นผลมาจากระบอบทุนนิยมและบริโภคนิยม จนถึงการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 (sixth mass extinction) ขณะที่ พระสันตะปาปาฟรานซิส อธิบาย Ecocide ครอบคลุมไปถึงว่าเป็น ‘การปนเปื้อนอย่างมากในอากาศ ดิน และน้ำ’ และ ‘การกระทำใด ๆ ที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทางระบบนิเวศ’ พร้อมกับกล่าวประณามว่าเป็น ‘บาป’ สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกด้วย


ความคืบหน้าของกฎหมายระหว่างประเทศ
เพื่อให้ความยุติธรรมกับสิ่งแวดล้อมตอนนี้เป็นอย่างไร ?

แม้จะเป็นการเดินทางที่ยาวนาน แต่ตั้งแต่ที่มีแคมเปญช่วยขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ตอนนี้จึงเริ่มเห็นบรรดาผู้นำและรัฐสภาในประเทศต่าง ๆ อภิปรายถึง Ecocide กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นภาพแทน ‘ความห่วงกังวล’ ของประชาคมโลกที่ส่งผลให้ศาลอาญาระหว่างประเทศนำมาพิจารณาได้ มิเช่นนั้นก็จะซ้ำรอยกับปี 1998 (พ.ศ. 2541) ที่บรรดานักกฎหมายร่วมกันร่างธรรมนูญโรมใหม่ แต่กลับไม่มีความคืบหน้าเป็นผลสำเร็จเพราะไม่มี ‘เสียง’ จากประชาชนที่ตระหนักรู้และสนับสนุนมากพอ

ทั้งนี้ หากจะมีกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอยู่บ้างตอนนี้ ก็มีธรรมนูญกรุงโรมของศาลอาญาระหว่างประเทศ มาตรา 8(2)(b)(iv) ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญากับ ‘อาชญากรรมสิ่งแวดล้อม’ ที่จำกัดแค่การทำลายสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลาของ ‘สงคราม’ และต้องเป็นการกระทำที่เป็นการโจมตีอย่างตั้งใจที่ส่งผลให้มีความเสียหายอย่างรุนแรง ระยะยาว และเป็นวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อม (an intentional attack that causes widespread, long-term and severe damage to the environment) ทำให้ไม่มีการดำเนินคดีกับกรณีเหล่านี้จากนิยามข้างต้นเลย โดยจุดที่มีการกล่าวถึงบ่อยครั้งคือการที่ไม่มีการเอาผิดกับบริษัทและรัฐ ทั้งที่บริษัทและรัฐอาจเป็นตัวการก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำและอากาศ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าที่ผิดกฎหมาย หรือเป็นตัวการทำให้น้ำมันรั่วไหล ในห้วงเวลาปกติ เป็นต้น

โครงการ EJOLT (Environmental Justice Organisations, Liabilities and Trade) ฉายภาพพื้นที่ที่มีข้อพิพาททางระบบนิเวศที่เข้าข่ายเป็น Ecocide เข้าถึงได้ที่ https://www.ejatlas.org/

จึงเป็นเหตุที่นักเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็น endecocide.org หรือ stopecocide.earth มองว่าจำเป็นต้องผลักดันไปไกลกว่านั้นให้อยู่ใน ‘เขตอำนาจศาลสากล’ (universal jurisdiction) เพราะขอบเขตของ Ecocide มันเป็นการทำลายล้าง ‘สังหาร’ (- cide) ที่ ‘กว้างขวาง’ มากกว่า (mass environmental destruction) เกิดใน ‘ยามสงบ’ และบางประเทศที่ยากจนโดยเฉพาะในแถบแอฟริกาอาจไม่สามารถเอาผิดกับบริษัทต่างชาติที่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมภายในประเทศเหล่านั้นได้ ทำให้เขตอำนาจศาลสากลมีบทบาทสำคัญในมุมนี้ นอกจากนี้ Ecocide ไม่ได้มีแต่สิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่ถูกทำลาย เพราะผู้ที่ถูกทำลายและได้รับผลกระทบก็คือมนุษย์เราทั้งหมดด้วย ทำให้เมื่อปลายปี 2563 ที่เป็นโอกาสอันดีครบรอบ 75 ปี การพิพากษาคดีนูเรมเบิร์กของเจ้าหน้าที่นาซีระดับสูง 24 คน กับการเป็น ‘อาชญากรสงคราม’ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล่านักกฎหมายจากทั่วโลก จึงได้ร่วมกันเดินหน้าร่างคำจำกัดความ Ecocide ทางกฎหมาย (และจะใช้เวลาหารือกันต่อในช่วงแรกของปี 2564) แสดงให้เห็นว่า Ecocide เป็นภัยอันตรายต่อมวลมนุษยชาติ โดยหากประสบความสำเร็จก็จะเป็นการปักหมุดแรกให้การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมถูกจัดประเภทเป็นอาชญากรรมลำดับที่ 5 ตามศาลอาญาระหว่างประเทศในกลุ่มเดียวกับอาชญากรรมสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน ที่จะเปลี่ยนแนวคิดทาง ‘ศีลธรรม’ ว่าอะไรควรไม่ควรไปสู่การบังคับใช้ทางกฎหมายได้จริง กล่าวคือ ผู้กระทำความผิด ‘ตัวจริง’ จะถูกประณาม ถูกจับกุมดำเนินคดี และได้รับบทลงโทษทางอาญา เช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานก่ออาชญากรรม 4 ประเภทที่มีอยู่ พร้อมกับการอนุรักษ์ไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมโลก

อย่างไรก็ดี แม้จะมีกฎหมายระหว่างประเทศที่ระบุ Ecocide ก็ยังคงมีคำถามในเชิงกฎหมายที่ต้องถกเถียงกันอยู่มาก โดยศาสตราจารย์ David Whyte ด้านการศึกษาสังคม-กฎหมาย จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร ผู้เขียนหนังสือ Ecocide ชี้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศไม่ใช่เกราะป้องกันเหตุ เพราะบริษัทไม่สามารถถูกดำเนินคดีทางอาญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศได้ จะมีก็แต่ ‘ปัจเจกบุคคล’ เท่านั้น และถึงจะเอาผิดกับ CEO ของบริษัทก็ใช่ว่า CEO จะเป็นผู้ก่อการตัวจริง คำถามคือ กฎหมายนั้นจะต้องครอบคลุมเรื่องอะไร ใครคือผู้ก่อการตัวจริงที่ต้องรับผิดชอบ? และถ้ามุ่งไปที่เจตนาแล้ว จะพิสูจน์ทราบได้อย่างไรถึงเจตจำนงของการทำลายล้างเขตแดนหนึ่ง (destruction of a territory)?  ขณะเดียวกัน ก็มีข้อสังเกตว่า อาจจะมีข้อจำกัดเรื่องการกำหนดขอบเขตว่าการกระทำใดที่ผิด บุคคลใดที่ผิด กล่าวคือ จะแคบเกินหรือกว้างเกินไปนั้นย่อมกระทบกับเสียงสนับสนุนทางการเมืองเพื่อให้แนวคิดไปถึงจุดหมาย

ทำให้ Philippe Sands ประธานร่วมร่างกฎหมาย Ecocide มองว่า แม้ว่ากฎหมายอาญาระหว่างประเทศจะเป็นเครื่องมือสนับสนุนแนวคิดที่ส่งอิทธิพลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในประเทศ แต่หากจะผลักดันได้จริงในทางปฏิบัติ น่าจะสามารถเริ่มทำได้ในระดับกฎหมายภายในประเทศมากกว่า

ถึงอย่างไรก็ตาม การเดินหน้าให้ Ecocide เป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้นยังคงมีต่อไป ทั้งนักเคลื่อนไหวรณรงค์แคมเปญ นักกฎหมาย และประเทศหมู่เกาะข้างต้น และรัฐบาลหรือพรรคการเมืองของประเทศที่ให้ความสำคัญ จะต้องช่วยกัน ‘นิยามขอบเขต’ ความท้าทายในเชิงกฎหมายให้ชัดเจน เปิดพื้นที่ถกเถียง ร่างกฎหมายใหม่ และกลับไปพูดคุยกัน ณ กรุงเฮก ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เพื่อผ่านกระบวนการโหวตให้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ไปจนถึงขั้นการให้สัตยาบัน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยหรืออาจใช้เวลายาวนานถึง 3 – 7 ปี (ตามข้อมูลของ Mehta) ทว่าที่จำเป็นและทำได้จากนี้ คือการส่งเสียงให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงความสำคัญของ Ecocide มากขึ้น และเน้นย้ำว่ามันกำลังเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพ ความมั่นคง และความเป็นอยู่ที่ดีของโลก ณ ตอนนี้


The International Criminal Court building is seen in The Hague, Netherlands, January 16, 2019. REUTERS/Piroschka van de Wouw
ภาพจาก http://www.icc-permanentpremises.org/

หากมีกฎหมายที่สามารถเอาผิดผู้ก่อ Ecocide ได้ จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ เป้าหมาย SDGs ด้านสิ่งแวดล้อมรุกหน้าแทบทุกเป้าหมาย โดยเฉพาะ #SDG14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเล เนื่องจากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลจะลดลงหรือคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสหยุดยั้งการสูญเสียทางชีวภาพ ความหลากหลายทางระบบนิเวศ #SDG15 ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ซึ่งเมื่อการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและบนบกลดลงย่อมส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจก – ตัวการสำคัญของภาวะโลกร้อนที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดลงไปด้วย ทำให้การบรรลุ #SDG13 เป็นไปได้มากขึ้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 (6.3) มลพิษทางน้ำ (6.6) ปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำ
#SDG10 (10.6) เสียงของประเทศกำลังพัฒนาในองค์การระหว่างประเทศ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (12.6) แนวปฏิบัติที่ยั่งยืนในภาคเอกชน
#SDG13 การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ
#SDG14 (14.1) การลดมลพิษทางทะเล (14.2) ปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร (14.4) กำกับและยุติประมงเกินขนาด IUU (14.c) การอนุรักษ์และใช้มหาสมุทรตามกรอบ UNCLOS
#SDG15 (15.1) อนุรักษ์ ฟื้นฟูระบบนิเวศบนบกและน้ำจืดบนแผ่นดิน (15.2) จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ยุติการตัดไม้ทำลายป่า (15.3) ต่อสู้การกลายเป็นทะเลทราย (15.4) อนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขา (15.5) หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ป้องกันการสูญพันธุ์ (15.c) สนับสนุนการต่อสู้กับการล่า การเคลื่อนย้ายชนิดพันธุ์คุ้มครอง
#SDG16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุข มีส่วนรวม ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สถาบันมีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุม (16.8) ขยายและเสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันโลกาภิบาล
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ทั้ง (17.16) ระดับโลก และ (17.17) ภายในประเทศ

ติดตามการรณรงค์เกี่ยวกับ Ecocide ที่:
Stop Ecocide : https://www.stopecocide.earth/
End Ecocide: https://www.endecocide.org/en/
และแหล่งรวมข้อกฎหมายเร็ว ๆ นี้ที่ : https://ecocidelaw.com/

แหล่งอ้างอิง:
ชนพื้นเมืองในบราซิล ยื่นฟ้องศาลโลกกรณี ‘บอลโซนาโร’ ถางป่าอเมซอน สังหาร-ปราบปรามประชาชน
BBC Future Planet: Ecocide: Should killing nature be a crime?
TIME: Lawyers Are Working to Put ‘Ecocide’ on Par with War Crimes. Could an International Law Hold Major Polluters to Account?
NBC News: ‘Ecocide’ movement pushes for a new international crime: Environmental destruction

Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น