วิชาเรียนมีผลต่อพัฒนาการสมอง: เมื่อหยุดเรียนคณิตศาสตร์ ส่งผลให้สารเคมีในสมองด้านตรรกะและเหตุผลลดลง

การศึกษาจากมหาวิทยาลัย Oxford เผยแพร่ใน Proceedings of the National Academy of Sciences ชี้ความสัมพันธ์ระหว่างสารเคมีในสมอง-พัฒนาการด้านสติปัญญา-วิชาคณิตศาสตร์ ว่าการที่เด็กวัยรุ่นในสหราชอาณาจักร ไม่ได้เลือกเรียนวิชาคณิตศาสตร์หลังจากอายุ 16 ปีไปแล้ว จะมีผลทำให้สารเคมีในสมองที่สำคัญ (ในจุดที่เป็นเรื่องของคณิตศาสตร์ ความทรงจำ การเรียนรู้ ตรรกะเหตุผล และการแก้ไขปัญหา) ลดลง เป็นผลลบต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา (cognitive development) และยังมีความแตกต่างในเชิงคุณภาพชีวิตโดยทั่วไประหว่างเด็กที่ยังคงเรียนคณิตศาสตร์กับเด็กที่ไม่ได้เรียนคณิตศาสตร์ด้วย


เราทราบว่าการศึกษาในระบบส่งผลระยะยาวต่อชีวิตของนักเรียนหนึ่งคน แต่องค์ความรู้ที่จะทำความเข้าใจว่าการศึกษาในวิชาความรู้ใดจะส่งผลอย่างไร ในมิติไหนที่แน่ชัด ยังไม่อาจทราบได้ ที่พอจะเห็นได้โดยคร่าวก็คือความแตกต่างของแต่ละประเทศในด้านหลักสูตรการศึกษาและการเข้าถึงการศึกษา ที่ส่งผลต่อชีวิตของนักเรียนแตกต่างกันไป

อย่างไรก็ดี ความสนใจในระยะหลังของแวดวงการศึกษาเริ่มมาดูที่ความสัมพันธ์ทางประสาทสมองกับการพัฒนาสติปัญญาและการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ เช่นเดียวกันกับการศึกษาของมหาวิทยาลัย Oxford ชิ้นนี้ที่สำรวจว่าสารสื่อประสาทในสมองของวัยรุ่นนั้นสามารถบ่งชี้ได้หรือไม่ว่า นักเรียนคนนั้นกำลังขาดความรู้ในเรื่องใด หรือ ขาดความรู้ในวิชาคณิตศาสตร์หรือไม่ แล้วจะส่งผลอย่างไรต่อ

โดยการศึกษามาจากนักเรียนอายุ 14-18 ปี จำนวน 133 คน ได้เข้ามามีส่วนร่วมทดลองของนักวิจัยภาคจิตวิทยาการทดลองของมหาวิทยาลัย โดยบริบทเฉพาะของสหราชอาณาจักรก็คือ เด็กวัยรุ่นอายุ 16 ปี สามารถเลือกที่จะหยุดเรียนหรือไม่เลือกวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่จะศึกษาในหลักสูตร A-level (ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) ได้ และด้วยบริบทเช่นนี้ ทำให้ทางผู้วิจัยสามารถศึกษาได้ว่า เด็กรุ่นเดียวกัน ที่มาจากสภาพแวดล้อมเดียวกัน แต่ต่างกันเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ที่เลือกหรือไม่เลือกเรียนนั้น จะส่งผลต่อการพัฒนาสมองและสติปัญญาของเด็กแต่ละคนอย่างไร

ผลพบว่า เด็กที่ไม่ได้เรียนคณิตศาสตร์มีระดับสารเคมีที่สำคัญ ‘gamma-Aminobutyric acid’ ใน ‘brain plasticity’ (ความยืดหยุ่นและความสามารถของสมองในการเรียนรู้) ในระดับต่ำ จนสามารถแยกแยะได้เลยว่าเด็กคนไหนที่เรียนคณิตศาสตร์และไม่ได้เรียน กล่าวได้ว่าระดับสารเคมีในสมองสัมพันธ์กับผลการเรียนคณิตศาสตร์ ไปจนถึงว่าความแตกต่างนั้นส่งผลต่อคุณภาพชีวิต สถานะทางเศรษฐกิจสังคมและรายได้ สุขภาพกายและจิตใจด้วย

อย่างไรก็ดี ทางทีมผู้วิจัยระบุว่า ยังไม่สามารถทราบได้ว่าจะสามารถป้องกันผลกระทบหรือ ‘ความไม่เท่าเทียม’ เหล่านั้นได้หรือไม่ เพราะหากเด็กที่ไม่ได้ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์แล้ว จะต้องทำอย่างไรต่อ ? บางที่อาจจะต้องหันมาทบทวน ‘ทางเลือกที่เป็นไปได้’ เสียใหม่ ที่เป็นการกระตุ้นสารเคมีและส่วนสมองจุดเดียวกับที่ให้ผลลัพธ์เช่นเดียวกับการเรียนคณิตศาสตร์ เช่นการฝึกฝนตรรกะและการให้เหตุผล เป็นต้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
– (3.4) ในด้านสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศีกษาที่มีคุณภาพ­
– (4.6) สร้างหลักประกันว่าเยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิง สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ (literacy and numeracy) ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
https://www.ox.ac.uk/news/2021-06-07-lack-maths-education-negatively-affects-adolescent-brain-and-cognitive-development

Last Updated on กรกฎาคม 7, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น