SDG Updates | Universal Basic Income: นโยบายที่ครอบคลุมการพัฒนาอย่างรอบด้าน?

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสการพูดถึงนโยบายที่สามารถสร้างหลักประกันให้ผู้คนมีความสามารถในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือคุณสมบัติมาเป็นเกณฑ์ในการดำเนินนโยบาย หรือที่เราเรียกกันว่า “Universal Basic Income” (UBI) เพิ่มมากขึ้นในวงสนทนา แม้จะมีข้อถกเถียงมากมายถึงความเป็นไปได้ และวิธีการนำมาใช้ แต่ภายใต้การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำที่ถีบตัวสูงขึ้น และรวมไปถึง ณ ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบาง การพูดถึง UBI จึงอยู่ในกระแสของสื่อ แวดวงผู้กำหนดนโยบาย นักการเมือง และภาคประชาชนบางส่วนที่หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเรียกร้องต่อรัฐบาล ในฐานะแนวทางเพื่อเป็นสวัสดิการคุ้มครองทางสังคมอย่างถ้วนหน้า

SDG Updates ฉบับนี้ เชิญชวนผู้อ่านจับกระแสการอธิบายผลกระทบและความสัมพันธ์ระหว่าง UBI กับมิติการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในฐานะแนวทางที่มีความครอบคลุมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม ผ่านฐานข้อมูลที่รวบรวมการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ UBI หรือ The UBI Research Visualization ซึ่งจัดทำโดย Basic Income Lab โดยบทความชิ้นนี้ จะหยิบยกมิติการพัฒนาบางส่วนที่มีความเกี่ยวโยงกับ UBI เพื่อให้เห็นภาพรวมโดยสังเขปของการพยายามอธิบายความสำคัญของ UBI


| UBI คืออะไร?

Basic Income Lab ได้อธิบายลักษณะสำคัญของ UBI ว่าประกอบด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

1. Universal: เป็นการให้ที่ครอบคลุม ทั่วถึง ไม่มีการระบุกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจง ไม่มีมาตรวัดผู้ที่ควรจะได้รับ

2. Unconditional: ไม่มีเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ใด ๆ สำหรับการรับผลประโยชน์จากนโยบาย

3. Cash payment: เป็นนโยบายที่โอนตัวเงินให้กับผู้ได้รับโดยตรง ไม่ใช่กรณีที่ให้เป็นผลประโยชน์อย่างอื่น

4. Individual: นโยบายที่ให้เป็นรายบุคคล

5. Periodic: ให้เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ช่วงระยะเวลาการให้จะไม่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ใด ๆ ซึ่งแตกต่างกับสวัสดิการที่ช่วยเหลือเฉพาะช่วงที่ผู้คนตกอยู่ในความเปราะบาง อาทิ การช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือราคาสินค้าบางอย่างตกต่ำ

สรุปแล้วจะเห็นได้ว่า UBI เป็นนโยบายการโอนเงิน (หรือรายได้) ให้กับรายบุคคลโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการพิสูจน์คุณสมบัติของผู้ที่ควรได้รับ นับว่าเป็นนโยบายที่มีความก้าวหน้าและครอบคลุมเป็นอย่างมาก


| ภาพรวมการนำร่องนโยบาย UBI

จากข้อมูลของ The Stanford Basic Income Lab ที่ได้มีการรวมรวมการดำเนินการทดลอง โครงการนำร่อง และนโยบายที่มีลักษณะเข้าใกล้องค์ประกอบของ UBI  ทั้ง 5 โดยตลอดช่วง 60 ปีที่ผ่านมา การดำเนินงานของรัฐและภาคประชาสังคมที่มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ UBI มีโครงการหรือนโยบายที่เคยดำเนินการไปแล้วกว่า 15 โครงการ ที่กำลังดำเนินการ 26 โครงการ และอีกกว่า 22 โครงการที่อยู่ในขั้นตอนการเสนอเพื่ออนุมัติ

โครงการที่กำลังดำเนินการส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่มีโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการปฏิบัติกว่า 15 โครงการ และมีที่กำลังเสนออีก 16 โครงการ โดยลักษณะของการดำเนินการดังกล่าวครอบคลุมตั้งแต่การโอนเงินให้กับบุคคลโดยตรง หรือให้เป็นรายครัวเรือน ให้เป็นประจำสัปดาห์ ประจำเดือน และรวมถึงประจำปี แต่ส่วนใหญ่แล้ว ยังเป็นการดำเนินงานเพียงสั้น ๆ และจำกัดขอบเขตของกลุ่มบุคคลที่จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการ ซึ่งยังมีความห่างไกลจากการเป็นนโยบายแบบ UBI ตามนิยามและองค์ประกอบข้างต้น

ตัวอย่างของโครงการ – “GiveDirectly” หนึ่งในการทดลองการดำเนินนโยบายแบบ UBI ขนาดใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่ง มีมูลค่าของเม็ดเงินการทดลองถึง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งลักษณะการให้เงินเพื่อการศึกษาผลกระทบของ UBI ออกเป็น 4 กลุ่ม รวมทั้งหมด 295 หมู่บ้านทั่วประเทศเคนยา ซึ่งแบ่งออกเป็น

01 – กลุ่มที่ได้รับเงินระยะยาว – 44 หมู่บ้าน (4,966 คน) โดยได้รับเงินเป็นประจำทุกเดือนตลอดระยะเวลา 12 ปี

02 – กลุ่มที่ได้รับเงินระยะสั้น – 80 หมู่บ้าน (7,333 คน) โดยได้รับเงินเป็นประจำทุกเดือนตลอดระยะเวลา 2 ปี

03 – กลุ่มที่ได้รับเงินก้อน – 71 หมู่บ้าน (8,545 คน) ได้รับเงินเท่ากับกลุ่มที่ 2 แต่ได้รับเป็นเงินก้อน

04 – กลุ่มควบคุม – 100 หมู่บ้าน ไม่ได้รับเงินเลย

ผลการศึกษาโดยภาพรวม พบว่ากลุ่มคนที่ได้รับเงินเป็นระยะ ๆ มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตั้งแต่เรื่องความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพกายและจิต ประกอบกับการได้รับเงินในระยะยาวจะช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

[ดูรายละเอียดโครงการและผลการศึกษาเพิ่มเติม]


ผลกระทบและความสำคัญของ UBI

จากข้อมูลของการดำเนินโครงการ และการศึกษาผลลัพธ์ของโครงการ Basic Income Lab ในฐานะภาควิชาการที่ศึกษาเรื่อง UBI ได้ทำการวิเคราะห์และฉายภาพให้เห็นถึงความสัมพันธ์หรือผลลัพธ์ของการนำ UBI ไปปฏิบัติใช้จริงว่าจะสามารถส่งเสริมการพัฒนาในประเด็นใดได้บ้าง ดังนี้

| สุขภาพ

การโอนเงินให้เปล่าเป็นประจำจะช่วยสร้างเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต ข้อมูลจากหลากหลายงานศึกษาชี้ว่าคนที่อยู่ในภาวะยากจน หรือมีรายได้ต่ำมาก มีความเสี่ยงที่จะพบปัญหาทางสุขภาพมากกว่ากลุ่มบุคคลที่มีความมั่งคั่งหรือมีรายได้มากกว่า [1] ทั้งนี้ แม้จะมีข้อถกเถียงว่ารายได้อาจไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง แต่อาจจะมีความเชื่อมโยงกับบริบทแวดล้อมอื่น ๆ ในการดำรงชีวิต เช่น สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยโดยรอบ การเข้าถึงบริการสาธารณะ การศึกษา และการเข้าถึงการรักษาพยาบาล [2] โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การไม่มีงานทำ ฐานะทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ซึ่งหากมีรายได้ที่เพียงพอ คือ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผ่านการประกันรายได้พื้นฐาน ก็จะเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีได้[3]

ตัวอย่างที่แสดงว่า UBI มีส่วนต่อการเสริมสร้างสุขภาพที่ดี – Finland ในช่วงปี พ.ศ. 2560 – 2561 มีการทดลองให้รายได้เป็นประจำ และไม่มีเงื่อนไขในการรับ โดยพบว่ากลุ่มคนที่ได้รับรายได้ดังกล่าว กว่า 54% รู้สึกว่าตนเองมีสุขภาพที่ดีขึ้น[4] หรือจากการทดลองให้เงินเป็นประจำในหลายโครงการของสหรัฐฯ ช่วง พ.ศ. 2511 – 2525 (ค.ศ. 1968 – 1982) พบว่าการสนับสนุนทางการเงินจะช่วยให้ผู้คนที่มีที่อยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่อาจไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี มีแนวโน้มเคลื่อนย้ายตนเองไปยังพื้นที่ที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าเดิม[5] นอกจากนั้น มีการประเมินโครงการช่วยเหลือเด็กกำพร้าและเด็กที่มีความเปราะบางในเคนยา ด้วยการโอนเงินให้กับครอบครัวที่ดูแลเด็กเหล่านั้น พบว่าอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าในเด็กลดลงมากกว่า 24%[6]


| เศรษฐกิจ

UBI ส่งผลต่อเศรษฐกิจในหลากหลายด้าน อย่างแรก คือการทำให้ผู้คนหลุดพ้นจากความยากจน สามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต และมีโอกาสในการพัฒนาตนเอง ด้วยการสร้างความมั่นคงทางรายได้ โดยโครงการให้เงินให้เปล่าใน 4 ประเทศในแอฟริกา กลุ่มคนที่เข้าร่วมโครงการมีความมั่นคงทางอาหารมากขึ้นในมิติของปริมาณ และคุณภาพของอาหาร [7] มากไปกว่านั้น การให้เงินอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำ จะส่งผลให้การใช้เงินมุ่งเน้นไปในสิ่งที่ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตมากกว่ากลุ่มคนที่ได้รับเงินอย่างไม่สม่ำเสมอ และยังส่งผลให้เกิดแรงจูงใจเพื่อการสะสมทุนและออมเงินมากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจหรือการพัฒนามนุษย์มากขึ้น เช่น การลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในเภาคเกษตร [8]

ทั้งนี้ การส่งเสริมเพื่อการลงทุน การเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน และการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทุนมนุษย์ ย่อมทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจหดแคบลง เนื่องด้วยกลุ่มผู้มีความเปราะบางมีความสามารถในการจัดการตนเอง และมีรายได้พื้นฐานที่จะประกันคุณภาพชีวิตในยามที่เกิดวิกฤต [9]

อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงว่า UBI อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (hyperinflation) ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น ประกอบกับการลดมูลค่าของเงินที่ได้รับผ่าน UBI [10] ทำให้รัฐต้องเพิ่มระดับของเงินโอน ซึ่งก็จะกลับมาเพิ่มอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นอีก [11] แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายงานศึกษาที่แย้งว่านโยบายการให้เงินส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น [12]


| การจ้างงานและการทำงาน

อีกหนึ่งข้อกังวลสำคัญที่ UBI อาจส่งผลกระทบ คือ การลดแรงจูงใจในการทำงาน ซึ่งอาจนำไปสู่การพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐมากจนเกินไป ทำให้ผลผลิตโดยรวมของระบบเศรษฐกิจลดลง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนแรงงานที่พร้อมจะทำงานลดลง และธุรกิจจำต้องจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้นเพื่อดึงลูกจ้างเอาไว้ ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาหลายชิ้น ยังพบข้อมูลที่แตกต่างกันจนอาจไม่สามารถสรุปความสัมพันธ์ของ UBI กับการทำงานได้แน่ชัด ตัวอย่างเช่น แม้จำนวนชั่วโมงการทำงานจะลดลง แต่คนที่ได้รับเงินจากนโยบาย มีการจัดสรรเวลาที่เหลือไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ซึ่งอาจสร้างมูลค่าได้เช่นกัน [13] เช่น โครงการ Manitoba ของแคนาดา แรงงานบางส่วนลดลงชั่วโมงการทำงานของตนแล้วหันไปเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น [14] หรือการใช้เวลาในการร่วมกิจกรรมกับชุมชนในพื้นที่ของตน ซึ่งสามารถผลประโยชน์โดยรวมแก่สาธารณะได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ภายใต้การเกิดงานในเศรษฐกิจแบบ “gig economy” หรืองานจำพวก “alternative works” ซึ่งไม่มีรายได้ที่มั่นคง มีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความปราะบางต่อวิกฤตต่าง ๆ [15] ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์ และ AI ยิ่งทำให้แรงงานเข้าสู่สภาวะที่มีลักษณะไม่มั่นคงทางอาชีพและการเงินมากยิ่งขึ้น แม้ UBI จะไม่สามารถแก้ปัญหาปรับโครงสร้างเพื่อรักษางานที่มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นได้ แต่ UBI ก็สามารถช่วยประกันระดับรายได้ขั้นพื้นฐานในระดับหนึ่ง ช่วยไม่ให้แรงงานตกอยู่ในภาวะเปราะบางทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของงาน นอกจากนั้น การที่แรงงานมีรายได้ที่ไม่ขึ้นอยู่กับการทำงานเพียงอย่างเดียว ทำให้อำนาจการต่อรองกับนายจ้างเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานมีมากขึ้น [16]

● อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับ “Gig Workers”

ILO เผยแพร่ ‘World Employment and Social Outlook 2021’ : งานที่ดีสำหรับแรงงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม และ ‘Gig Workers’

แรงงาน “gig workers” ฝากเอเชีย เดินหน้าเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมายเฉกเช่นแรงงานในระบบ


| ความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและทางเพศ

UBI ยังมีส่วนช่วยในการลดความไม่เท่าเทียมระหว่างเชื้อชาติและเพศ ตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ ซึ่งมีประวัติศาสตร์การแบ่งแยกทางเชื้อชาติมาอย่างยาวนาน พบว่านโยบายการกีดกันคนที่มีเชื้อชาติอื่นตั้งแต่ในอดีต ส่งผลให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจและตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยค่าเฉลี่ยของความมั่งคั่งในครอบครัวคนผิวขาวอยู่ที่ 171,000 ดอลลารสหรัฐฯ แต่ค่าเฉลี่ยความมั่งคั่งในครอบครัวแอฟริกันอเมริกันอยู่ที่ 17,000 ดอลาร์สหรัฐฯ [17] ซึ่งการมีรายได้พื้นฐาน อย่างน้อยที่สุดคือการบรรเทาช่องว่างทางรายได้ระหว่างเชื้อชาติ เนื่องจาก UBI มีความครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ไม่คำนึงถึงคุณสมบัติของผู้รับ ทำให้ช่วยลดอดคติทางเชื้อชาติจากการให้ความช่วยเหลือของผู้ดำเนินนโยบาย

ในมิติของความเท่าเทียมทางเพศ UBI อาจจะช่วยให้ผู้หญิงมีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้นทั้งในพื้นที่ทำงาน และในครอบครัว โดยเฉพาะการปลดเปลื้องภาระการเลี้ยงดูคนในครอบครัวที่ถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสในการแสวงหาการทำงานหรือกิจกรรมอื่นที่มองว่ามีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งให้โอกาสผู้หญิงในการพัฒนาทักษะของตนเอง เช่น การสามารถทำงานพร้อม ๆ กันกับการเลี้ยงดูลูก ด้วยการเข้าถึงบริการการเลี้ยงเด็กเล็ก อย่างไรก็ตาม ความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ สาเหตุหนึ่งยังเกิดมาจากการมีอคติทางเพศ ซึ่ง UBI อาจจะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้มากนัก [18]


| ธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชน

หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของประชาธิปไตย คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมีงานศึกษาบางชิ้น คาดว่า UBI จะช่วยลดกำแพงทางเศรษฐกิจ (economic barriers) ที่ใช้ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ ด้วยการเพิ่มเวลาและโอกาสของประชาชนสำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะหรือกิจกรรมทางการเมือง [19] เช่น การลดเวลาการทำงานเพื่อใช้เวลาในการทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่ เป็นต้น นอกจากนั้น การมีส่วนร่วมของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมประชาธิปไตยในสังคมตามไปด้วย มีการส่งเสริมธรรมาภิบาลในสถาบันทางการเมือง เมื่อประชาชนมีทรัพยากรในการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะมากขึ้น ประชาชนก็จะมีความสามารถในการร่วมตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลให้มีความรับผิดรับชอบต่อประชาชนได้เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น การให้เงินโดยตรง มีประสิทธิภาพในเชิงการใช้จ่ายของรัฐมากกว่านโยบายที่ให้ทรัพยากรอื่น ๆ แทนตัวเงิน เช่น การให้เมล็ดพันธุ์ เนื่องจากภาครัฐต้องระบุชนิดของเมล็ดพันธุ์ให้ตรงกับพื้นที่เพาะปลูก การติดตามและตรวจสอบ ซึ่งมีต้นทุนตลอดการดำเนินนโยบาย ซึ่งต่างจาก UBI ที่ไม่ต้องเพิ่มต้นทุนการระบุความต้องการ ระบุตัวทรัพยากร หรือตัวบุคคลที่ควรได้รับเพิ่มเติม จึงเป็นการประหยัดงบประมาณในส่วนดังกล่าว ประกอบกับการให้เงินโดยตรง จะช่วยตอบโจทย์ประชาชนในวงกว้างมากกว่า เนื่องจากผู้ที่ได้รับเงินสามารถเลือกใช้เพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน ซึ่งแต่ละคนมีสภาวะที่ต้องเผชิญแตกต่างกันไป [20]


จากฐานข้อมูลของ Basic Income Lab ที่ได้ทบทวนและวิเคราะห์งานวิจัย ผลการทดลอง และการศึกษาจากโครงการนำร่องต่าง ๆ ในข้างต้น จะเห็นได้ว่า UBI มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาหลากหลายด้าน ไม่ใช่แค่เฉพาะในมิติของรายได้หรือเศรษฐกิจ แต่ UBI ยังได้เข้าไปช่วยบรรเทาความเปราะบางทางสังคมตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำทางเพศและเชื้อชาติ เสริมสร้างให้ผู้คนไม่รู้สึกด้อยค่าจากการมีสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง ทั้งยังช่วยเพิ่มสมรรถนะความสามารถในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชน และกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตยอีกทางด้วย

อย่างไรก็ตาม การอธิบายดังกล่าวยังคงมีข้อจำกัดของการศึกษาที่จะสรุปการเป็นนโยบายที่ครอบจักรวาลของ UBI ดังที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่า โครงการหรือนโยบายที่มีการศึกษาและวิเคราะห์ถึงผลกระทบของ UBI อาจจะยังไม่ครบองค์ประกอบของ UBI อย่างแท้จริง ประกอบกับส่วนใหญ่แล้วเป็นการทดลองและโครงการนำร่อง ดังนั้น ข้อมูลและบทสรุปต่อความสัมพันธ์ระหว่าง UBI และการพัฒนาในมิติต่าง ๆ อาจจะต้องการงานศึกษาเพิ่ม เพื่อเติมเต็มช่องว่างและข้อโต้แย้งของคำอธิบายให้รัดกุมและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น



ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
– (1.1) ขจัดความยากจนรุนแรงทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายวันต่ำกว่า $1.25 ต่อวัน
– (1.2) ลดสัดส่วนชาย หญิง และ เด็ก ในทุกช่วงวัย ที่อยู่ภายใต้ความยากจนในทุกมิติ (ตามนิยามของแต่ละประเทศ) ให้ลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2573
– (1.3) ดำเนินการให้เป็นผลตามระบบและมาตรการคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสมของแต่ละประเทศ และให้ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
– (1.4) ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนและกลุ่มผู้เปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน การถือกรรมสิทธิ์ และใช้ประโยชน์เหนือที่ดินและทรัพย์สิน
– (1.5) ภายในปี 2573 สร้างภูมิต้านทานและลดการเปิดรับและความเปราะบางต่อเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศและภัยพิบัติทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสภาวะเปราะบาง

#SDG2 ยุติความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบางอันรวมถึงทารกได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการและเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
– (2.2) ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบและแก้ไขปัญหาความต้องการสารอาหารของหญิงวัยรุ่นหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี 2573 รวมถึงบรรลุเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ภายในปี 2568

#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรคและสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้

#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม
– (4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่จำเป็นรวมถึงทักษะทางเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่ดีและการเป็นผู้ประกอบการภายในปี 2573
– (4.5) ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการศึกษาและสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็กเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573

#SDG5 ความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็ก
– (5.4) ยอมรับและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดเตรียมบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคมให้ และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัวตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่า ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในทาง การเมืองเศรษฐกิจและภาคสาธารณะ
– (5.6) สร้างหลักประกันว่า จะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนาและแผนปฏิบัติการปักกิ่งและเอกสาร ผลลัพธ์ของการประชุมทบทวนเหล่านั้น

#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
– (8.5) ส่งเสริมการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับหญิงและชายทุกคน และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคง

#SDG10 การลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคมเศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคนโดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติ พันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรืออื่นๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์รวมถึงโดยการขจัดกฎหมายนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติและส่งเสริมการออกกฎหมายนโยบายและการกระทำทีเหมาะสมในเรื่องนี้
– (10.4) เลือกใช้นโยบายโดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคม และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผล
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผลมีความรับผิดชอบและโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะ มีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วมและมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ


เอกสารอ้างอิง

[1] Office of the Assistant Secretary for Planning and Evaluation. (2019). 2019 Poverty Guidelines. Department of Health and Human Services. https://aspe.hhs.gov/2019-poverty-guidelines.

Braveman, P. A., & Egerter, S. (2013). Overcoming Obstacles to Health in 2013 and Beyond [RWJF Commission to Build A Healthier America]. Robert Wood Johnson Foundation. https://www.uab.edu/midsouthtcc/images/pdfs/RWJF_Overcoming_Obstacles_to_Health_in_2013_and_Beyond.pdf.

[2] Lauren Frohlich, Susan Hauan, Kendall Swenson, Sharon Wolf, & Suzanne Macartney. (2015). Financial Condition and Health Care Burdens of People in Deep Poverty. Office of the Assistant Secretary for Planning and Evaluation. https://aspe.hhs.gov/basic-report/financial-condition-and-health-care-burdens-people-deep-poverty.

[3] Mah, S. (2017, October 12). Is Basic Income the next big population health intervention? [Basic Income Earth Network]. https://basicincome.org/news/2017/10/basic-income-next-big-population-health-intervention/.

[4] Olli Kangas, Signe Jauhiainen, Miska Simanainen, Minna Ylikännö (2019). The Basic Income Experiment 2017–2018 in
Finland. Preliminary results. Ministry of Social Affairs and Health, Helsinki. The basic income experiment 2017–2018 in Finland Preliminary results (valtioneuvosto.fi)

[5] Kaluzny, R. L. (1979). Changes in the Consumption of Housing Services: The Gary Experiment. The Journal of Human Resources, 14(4), 496. https://doi.org/10.2307/145320.

[6] Kilburn, K., Thirumurthy, H., Halpern, C. T., Pettifor, A., & Handa, S. (2016). Effects of a large-scale unconditional cash transfer program on mental health outcomes of young people in Kenya. The Journal of Adolescent Health : Official Publication of the Society for Adolescent Medicine, 58(2), 223–229. https://doi.org/10.1016/j.jadohealth.2015.09.023.

[7] Tiwari, S., Daidone, S., Ruvalcaba, M. A., Prifti, E., Handa, S., Davis, B., Niang, O., Pellerano, L., Quarles van Ufford, P., & Seidenfeld, D. (2016). Impact of cash transfer programs on food security and nutrition in sub-Saharan Africa: A cross-country analysis. Global Food Security, 11, 72–83. https://doi.org/10.1016/j.gfs.2016.07.009.

[8] Banerjee, A., Niehaus, P., & Suri, T. (2019). Universal Basic Income in the Developing World. Annual Review of Economics, 11(1), 959–983. https://doi.org/10.1146/annurev-economics-080218-030229.

[9] Stanford Basic Income Lab (2020). Visualizing UBI Research. Online Research Visualization. Visualizing UBI Research | The Stanford Basic Income Lab.

[10] Tcherneva, P. R. (2012). The Job Guarantee: Delivering the Benefits That Basic Income Only Promises – A Response to Guy Standing. Basic Income Studies, 7(2). https://doi.org/10.1515/bis-2013-0010.

Tcherneva, P. R., & Wray, L. R. (2005). Can Basic Income and Job Guarantees Deliver on Their Promises? SSRN Electronic Journal. https://doi.org/10.2139/ssrn.1009629.

[11] อ้างแล้ว

[12] Egger, D., Haushofer, J., Miguel, E., Niehaus, P., & Walker, M. (2019). General Equilibrium Effects of Cash Transfers: Experimental Evidence from Kenya (No. w26600; p. w26600). National Bureau of Economic Research. https://doi.org/10.3386/w26600

[13] Stanford Basic Income Lab (2020). Visualizing UBI Research.

[14] Forget, E. L. (2018). Basic Income for Canadians: The key to a healthier, happier, more secure life for all. James Lorimer & Company.

[15] Stern, A. (2016). Raising the Floor: How a Universal Basic Income Can Renew Our Economy and Rebuild the American Dream (1st ed.). Public Affairs.

[16] Pateman, C. (2004). Democratizing Citizenship: Some Advantages of a Basic Income. Politics & Society32(1), 89–105. https://doi.org/10.1177/0032329203261100.

Zelleke, A. (2014, January 27). The Liberal Case for a Basic Income. Basic Income Earth Network. https://basicincome.org/news/2014/01/opinion-the-liberal-case-for-a-basic-income/.

[17] Oliver, M. L., & Shapiro, T. M. (2019). Disrupting the Racial Wealth Gap. Contexts18(1), 16–21. https://doi.org/10.1177/1536504219830672.

[18] Stanford Basic Income Lab (2020). Visualizing UBI Research.

[19] Scholzman, K. L., Brady, H., & Verba, S. (2018). Unequal and Unrepresented: Political inequality and the people’s voice in the new gilded age. Princeton University Press.

[20] Bregman, Rutger. 2017. Utopia for Realists. London, England: Bloomsbury Publishing PLC.

Last Updated on พฤศจิกายน 4, 2021

Author

  • Pattarawut Phaha

    Manager of Knowledge Communications: ผู้อยากเห็นการขับเคลื่อนการพัฒนาที่วางอยู่บนฐานของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ในทุกอณูของสังคม

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น