แผนที่ ‘ดัชนีความเปราะบางโควิด-19’ ช่วยให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ จัดสรรวัคซีนและทรัพยากรไปถึงผู้เปราะบางที่สุดก่อน

South African COVID-19 Vulnerability Index Dashboard แผนที่ดัชนีออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นความเปราะบางของพลเมืองประเทศแอฟริกาใต้ต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่ เพื่อช่วยกำหนดรูปแบบการรับมือและบรรเทาผลกระทบได้อย่างตรงเป้าหมายและรวดเร็ว

South African COVID-19 Vulnerability Index Dashboard พัฒนาโดย Statistics South Africa โดยผู้ใช้งานจะได้เห็นความเปราะบางต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของประชาชนในประเทศแอฟริกาใต้รายหัว (headcount) ลงลึกไปถึงระดับเทศบาล (municipality) โดยประเมินจากตัวชี้วัดความเปราะบาง 8 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) กิจกรรมการมีงานทำ (2) การเข้าถึงสื่อ (3) การเข้าถึงน้ำสะอาด (4) การเข้าถึงสุขอนามัย (5) ชุมชนความแออัดยัดเยียด (6) ครัวเรือนที่มีสมาชิกหลายช่วงวัย (7) อายุ และ (8) การเจ็บป่วยเรื้อรัง บนฐานข้อมูลสำมะโนประชากรปี 2011 ซึ่งแม้จะเป็นข้อมูลเก่าแต่ยังคงสามารถช่วยค้นหาประชากรและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อโควิด-19 สูงที่สุดได้ ช่วยให้รัฐบาลทำงานเร็วกว่าไวรัสด้วยการปรับปรุงพัฒนาโครงการการช่วยเหลือของรัฐให้ไปถึงผู้ที่เปราะบางที่สุดก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

Helen North, Chief Director ของ Statistics Africa กล่าวถึงการมีแผนที่ดัชนีชี้วัดความเปราะบางนี้ที่ช่วยให้รัฐบาลจัดสรรและจัดการงบประมาณไปถึงบางพื้นที่ก่อนได้ “ด้วยจำนวนวัคซีนโควิด-19 ที่ขาดแคลน รัฐบาลจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของการแจกจ่าย และดัชนีนี้สามารถใช้เพื่อชี้ชัดและกำหนดเป้าหมายชุมชนที่มีความเปราะบางที่สุดได้”

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพและสังคมที่มีอยู่ในประเทศแอฟริกใต้ก่อนการระบาดใหญ่มีส่วนอย่างยิ่งต่อตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ และมีส่วนให้ผู้มีอำนาจเลือกและจัดให้มีโครงการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบที่แตกต่างกันไปให้เหมาะสม โดยมีแผนที่ดัชนีความเปราะบางต่อโควิด-19 นี้เป็นข้อมูลสนับสนุน ตัวอย่างเช่น บุคคลที่มีความเสี่ยงจากประเมินตัวชี้วัด ได้แก่ การมีที่อยู่อาศัยที่มีความแอและเป็นแรงงานนอกระบบ ก็จะถูกช่วยเหลือให้ไปอยู่ที่ศูนย์ฟื้นฟูเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของข้อมูลสำมะโนประชากรที่ไม่ทันสมัยทำให้การทำความเข้าใจความเปราะบางของพื้นที่หนึ่ง ๆ ในแอฟริกาใต้เป็นไปอย่างมีข้อจำกัด เพราะไม่สามารถสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพความเป็นอยู่ การเคลื่อนย้ายของประชากร และปัจจัยอื่น ๆ ได้ครบถ้วนและแม่นยำที่สุดอย่างที่ควรจะเป็น

ในประเทศไทยมีการจัดทำ ‘COVID-19 VULNERABILITY INDEX (CVI)‘ แผนที่ดัชนีความเปราะบางต่อวิกฤต COVID-19 ของแต่ละพื้นที่ พัฒนาโดย Siametrics ซึ่งทำการประเมินความเปราะบางในเชิงสาธารณสุขและความเปราะบางในเชิงเศรษฐกิจและปากท้องประชาชนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยใช้ข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนของไทย

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำภายในและระหว่างประเทศ
#SDG17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

- (17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563

ที่มา :
How South Africa is Data Mapping the Social Vulnerabilities of COVID-19 (IISD SDG Knowledge Hub)
รู้จัก “ดัชนีความเปราะบาง” ตัวช่วยวางแผนฝ่าวิกฤตโควิด-19 (The Active)

Last Updated on พฤศจิกายน 25, 2021

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น