Director’s Note: 19: บทบาทมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: ฉบับขยายความ [1/2]

สวัสดีครับทุกท่าน

Director’s Note ฉบับนี้เขียนออกมาเพื่อแสดงความยินดีกับสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากประเทศไทยที่เข้าร่วมการจัดอันดับมหาวิทยาลัย THE SDG University Impact Ranking ประจำปี 2022 ซึ่งได้ประกาศผลอย่างเป็นทางการในช่วงเวลา 01.00 น. ของวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2565 ตามเวลาประเทศไทยที่ผ่านมา โดยปีนี้มีความพิเศษกว่าปีก่อน ๆ โดยเฉพาะในด้านของจำนวนมหาวิทยาลัยที่เข้ารับการจัดอันดับที่ภาพรวมนั้นมากกว่า ปี 2021 ร้อยละ 23 โดยมีสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด 1,525 แห่งจาก 110 ประเทศเข้าร่วมการจัดอันดับ (แม้ว่าท้ายที่สุดจะมีมหาวิทยาลัยถูกรวมเข้าไปในการจัดอันดับ 1,406 แห่งก็ตาม) สำหรับประเทศไทยเองมีมหาวิทยาลัยเข้ารับการจัดอันดับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 112 จากเดิม 26 แห่งในปี 2021 เป็น 55 แห่งในปี 2022 (ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับ THE Impacts Rankings อื่น ๆ ได้ที่นี่)

ในโอกาสนี้ผมถือโอกาสขยายความเรื่องบทบาทของมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ละเอียดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีหลายมหาวิทยาลัยสนใจเรื่องนี้มากขึ้น จึงเห็นว่าน่าจะพอเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ โดยในบทความนี้จะกล่าวถึงว่า

  1. ทำไมมหาวิทยาลัยจึงสำคัญกับการขับเคลื่อน SDGs
  2. การขับเคลื่อน SDGs เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยอย่างไร
  3. การนำ SDGs ไปขับเคลื่อนในมหาวิทยาลัยมีกี่ระดับ และ
  4. SDGs สามารถนำไปประยุกต์กับงานด้านใดของมหาวิทยาลัยได้บ้าง โดยจะยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพกับการนำ SDGs ไปประยุกต์ในการวิจัย การจัดการศึกษา การบริหารจัดการภายใน และการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อการพัฒนา

สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบว่า SDGs คืออะไรและต้องการความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ SDGs ขอให้ท่านติดตามบทความอื่น ๆ ในเว็บไซต์ SDG Move ได้ครับ สำหรับข้อเขียนนี้จะเจาะไปเฉพาะในส่วนของบทบาทของมหาวิทยาลัยกับ SDGs เท่านั้น


01 ทำไมมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาจึงสำคัญกับการขับเคลื่อน SDGs

ความท้าทายที่มีอยู่ในโลกนี้ที่เป็นประเด็นสาธารณะ มีผลกระทบกับสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในทุกระดับย่อมมีความเกี่ยวพันกับ SDGs ไม่มากก็น้อย เนื่องจากประเด็นที่ครอบคลุมอยู่ใน SDGs มีอย่างน้อย 169 ประเด็น ตามจำนวนเป้าหมายย่อย (targets) ประเด็นเหล่านี้มักเป็นประเด็นทีมีความซับซ้อน (complex problems) ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย แต่ต้องการทางออกใหม่ ๆ ต้องอาศัยมุมมองจากหลายศาสตร์ในการแก้ไข บางปัญหาเป็นปัญหาที่ใช้เวลานานในการจัดการ ต้องอาศัยคนหลายรุ่นมาร่วมกันขับเคลื่อน

ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งความรู้ของศาสตร์ต่าง ๆ การให้การศึกษาและการทำวิจัยจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน SDGs แหล่งความรู้ที่สะสมไว้ในฐานข้อมูลและห้องสมุด (Independent Group of Scientists appointed by the Secretary-General 2019) หากเปิดกว้างและใช้ประโยชน์ได้ จะเป็นฐานของการออกแบบทางออกใหม่ ๆ สำหรับสังคม การทำวิจัยแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ (Bergmann et al. 2012) จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น การผลิตบัณฑิตที่มีความตระหนักในเรื่องความยั่งยืน มีความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมสามารถดำเนินการเรื่องความยั่งยืนได้ต่อเนื่องในระยะยาว (SDSN Australia/Pacific 2017)

ยิ่งไปกว่านั้น เลขาธิการและรองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติยังได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า มหาวิทยาลัยจะเป็นจุดคานงัดที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความยั่งยืน เพราะ (1) ภาควิชาการอยู่ในตำแหน่งที่สามารถสื่อสารความรู้และข้อเสนอแนะไปสู่ผู้กำหนดนโยบายได้ (2) มีความสามารถพอที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ (3) มหาวิทยาลัยและภาควิชาการในภาพรวมยังอยู่ในจุดที่เชื่อมประสานและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและยึดโยงภาคส่วนที่อาจจะมีความขัดแย้งกันเดิมให้มาร่วมขับเคลื่อน SDGs ร่วมกันได้ด้วย[1]

สำหรับการขับเคลื่อนภายในประเทศนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เลขานุการคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) อันเป็นคณะกรรมการระดับชาติที่ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน วางตำแหน่งของภาควิชาการว่าควรจะทำงานร่วมกับหน่วยงานในประเด็นตามเป้าหมายและเป้าหมายย่อยต่าง ๆ และทำงานร่วมกับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการผลักดันการนำ SDGs ไปขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ (SDG Localization)


02 การขับเคลื่อน SDGs เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยอย่างไร

การเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับอาจเป็นทางหนึ่งที่จะจูงใจให้มหาวิทยาลัยและคนในมหาวิทยาลัยหันมาสนใจการขับเคลื่อน SDGs บ้าง

เหตุผลประการแรก คือ การขับเคลื่อน SDGs มีส่วนในการสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยในระดับโลก และเป็นการนำเสนอว่า มหาวิทยาลัยมีความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งในระดับชาติและระดับโลก ส่วนนี้ค่อนข้างมีความชัดเจนในสถานการณ์ปัจจุบัน การเข้าร่วมการจัดอันดับ THE SDGs University Impact Ranking เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยของไทย ทั้งนี้เพราะในขณะที่การจัดอันดับนี้ให้ความสำคัญกับการตีพิมพ์บทความวิชาการในฐาน Scopus และคำนึงถึงผลกระทบก็ตาม แต่นั่นเป็นเพียงประมาณ 25% ของคะแนนทั้งหมด คะแนนส่วนที่เหลือเป็นผลจากการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย หากมหาวิทยาลัยมีการดำเนินการที่มุ่งสร้างผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ รวมถึงเก็บข้อมูลไว้นำเสนอ จะมีโอกาสได้คะแนนมาก และยิ่งมีการดำเนินการที่จริงจังจนออกเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัย ยิ่งทำให้มีโอกาสได้คะแนนมากขึ้นไปอีก ดังนั้นการจัดอันดับ SDGs ของมหาวิทยาลัยจึงเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยที่เน้นส่งผลกระทบต่อสังคมมีโอกาสสร้างชื่อเสียงในระดับโลกด้วย

เหตุผลประการที่สอง คือ ในความพยายามจะดำเนินการให้ได้อันดับสูงนั้น ย่อมมีการดำเนินการจริงเกิดขึ้นเกี่ยวข้องด้วยเสมอ การดำเนินการที่ยั่งยืนจริงนี่เองที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แท้จริงกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดของมหาวิทยาลัย นักศึกษา เจ้าหน้าที่ และอาจารย์มีสวัสดิการทางโภชนาการและสุขภาพที่ดี มีที่อยู่อาศัย มีการคมนาคมที่ดี มีพื้นที่สาธารณะ และได้รับการคุ้มครองจากการถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ชุมชนโดยรอบ รัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลระดับชาติ ได้ประโยชน์จากการดำเนินการของมหาวิทยาลัยจริง ทั้งนี้เพราะ การดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs เป็นการดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกคนนั่นเอง

เหตุผลประการที่สาม SDGs ช่วยสร้างความต้องการการเรียนรู้ให้กับวิชาหรือหลักสูตรบางอย่างที่เดิมทีอาจไม่ได้รับความนิยมนัก โดยมากหลักสูตรหรือวิชาที่ได้รับความนิยมมักมีประโยชน์ในทางธุรกิจ แต่วิชาทางสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อาจไม่ได้รับความนิยมนัก เพราะเป็นวิชาทำความเข้าใจปรากฏการณ์ในโลกและนำไปสู่การแก้ปัญหายังไม่สามารถนำไปหากินได้โดยตรง แต่ด้วยแนวโน้มของ SDGs ทำให้เกิดงานสาขาความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ซึ่งงานสายความยั่งยืนต้องการคนที่มีความรู้หลากหลายที่ทำให้เข้าใจสาเหตุของปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหากเราเชื่อมโยง SDGs กับวิชาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบก็สามารถเพิ่มความต้องการการเรียนรู้ให้กับสาขาวิชาเหล่านั้นได้

เหตุผลประการที่สี่ ปัจจุบันองค์กรและแหล่งทุนระหว่างประเทศ มีการให้ทุนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทั้ง SDGs ในภาพรวมและเชิงประเด็น ทุนวิจัยในประเทศก็เริ่มให้ความสนใจในหลายประเด็นของ SDGs แล้วเช่นกัน และจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปีที่จะถึงนี้ก่อนสิ้นปี ค.ศ. 2030

เหตุผลประการที่ห้า ประการสุดท้ายคือ ตอนนี้ SDGs กลายเป็นคำศัพท์การพัฒนาที่ใช้ร่วมกันทุกภาคส่วน เป็นบรรทัดฐานของการพัฒนาที่ทุกภาคส่วนยอมรับอีกด้วย ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยรู้จักใช้ภาษา SDGs และสามารถดำเนินนโยบาย SDGs ได้ ย่อมสามารถสร้างความร่วมมือและระดมทรัพยากรในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่มหาวิทยาลัยเองและสังคมได้อีกมาก


03 การนำ SDGs ไปขับเคลื่อนในมหาวิทยาลัยมีกี่ระดับ

จากประสบการณ์ของ SDG Move เราพบว่า ระดับของการนำ SDGs ไปใช้ในองค์กรต่าง ๆ อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ

ระดับที่ 1: Reporting – ใช้ SDGs เป็นภาษาในการรายงานสิ่งที่หน่วยงานทำ

ระดับนี้เป็นการนำ SDGs ไปใช้ในระดับที่พื้นฐานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในระดับนี้องค์กรยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานเดิมแต่อย่างใด เพียงแต่เริ่ม “ใช้ภาษา SDGs” มาอธิบายการทำงานขององค์กร อาจมีการใช้ตัวชี้วัด SDGs ในการประเมินเบื้องต้นเกี่ยวกับงานที่หน่วยงานทำบ้าง

สำหรับหน่วยงานที่อยู่ในขั้น Reporting นั้น อาจมีลักษณะการทำงานเดิมในระดับที่สอดคล้องกับ SDGs เพียงใดก็ได้ อาจเป็นหน่วยงานที่ไม่สอดคล้องเลยแล้วใช้ SDGs ในการ “Greenwashing” ก็ได้ หรืออาจเป็นหน่วยงานที่ทำงานในประเด็นที่สอดคล้องกับ SDGs อยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยรู้จักหรือใช้ประโยชน์จาก SDGs แล้วเริ่มนำภาษา SDGs มาใช้ประโยชน์ก็ได้

ระดับที่ 2: Mainstreaming – ใช้ SDGs เป็นกรอบในการวางนโยบายขององค์กรให้ยั่งยืนขึ้น

ในระดับนี้หน่วยงานเริ่มนำ SDGs มาเป็นกรอบในการพิจารณาสถานการณ์ขององค์กรในด้านต่าง ๆ (ซึ่งจะกล่าวต่อไป) และมีการปรับนโยบายและการดำเนินการขององค์กรให้สอดคล้องกับ SDGs มากขึ้น กล่าวคือ ใช้ SDGs เป็นกรอบเพื่อดูว่าปัจจุบันหน่วยงานมีการดำเนินงานด้านใดบ้าง สอดคล้องกับ SDGs ข้อใดมากน้อยต่างกัน หรืออาจวิเคราะห์ลงลึกไปอีกว่า การดำเนินการที่มีอยู่ทำให้เกิดผลลัพธ์ทางบวกหรือลบอย่างไร แล้วหาทางเพิ่มผลบวก ลดผลลบที่เกิดขึ้น

ในส่วนของ mainstreaming นี้ หน่วยงานสามารถใช้ SDGs เป็นกรอบในการปรับปรุงนโยบายได้ทั้งในส่วนของงานตามภารกิจ การบริหารจัดการภายใน การสื่อสารสาธารณะ และการทำงานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น

เช่นเดียวกัน หน่วยงานอาจมีการดำเนินการที่สอดคล้องกับ SDGs อยู่แล้วโดยไม่รู้ตัว แต่ในระดับนี้มีการนำ SDGs มาใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์การทำงานของตน และปรับนโยบายตามผลที่ได้จากการวิเคราะห์นั่นเอง

ระดับที่ 3: Transformation – รับเอาหลักการของ SDGs ไปเป็นวัฒนธรรมองค์กรและปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการหลักให้ยั่งยืนขึ้น

ในระดับนี้หน่วยงานมีการทบทวนวัฒนธรรมและสินค้าบริการหลักขององค์กร และมีการนำเอาหลักการของ SDGs ไปใช้เป็นพื้นฐานสำหรับวัฒนธรรมองค์กร หลักการพื้นฐานที่ว่านี้เช่น หลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หลักการพัฒนาที่สมดุล หลักการพัฒนาที่ครอบคลุม เป็นต้น รวมถึงปรับปรุงให้สินค้าและบริการหลักของหน่วยงานมีสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของ solutions การแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น

บางหน่วยงานอาจมีวัฒนธรรมองค์กรที่สอดคล้องกับหลักการของ SDGs อยู่แล้วก็เป็นได้แต่อาจจะยังไม่เคยทบทวนอย่างเป็นระบบและดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จุดสำคัญของระดับนี้คือการนำหลักการของ SDGs มาทบวนและปรับปรุงวัฒนธรรมองค์กรนั่นเอง


● ติดตาม Director’s Note: บทบาทมหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: ฉบับขยายความ [2/2] ได้ในวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม 2565


[1] เนื้อหาของคำกล่าวของเลขาธิการและรองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติในการประชุมผู้แทนมหาวิทยาลัยทั่วโลกกับเลขาธิการและรองเลขาธิการสหประชาชาติ วันที่ 9-10 กรกฎาคม 2020 จัดโดยเครือข่าย SDSN ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วม

Last Updated on พฤษภาคม 2, 2022

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น